เรื่องและภาพประกอบ : ปุญยภา เรืองสุวรรณ
หลังกระแสโด่งดังของซีรีส์เน็ตฟลิกซ์สัญชาติเกาหลีอย่าง ‘Squid Game’ (2564) เป็นที่พูดถึงในกลุ่มผู้ชมทั่วโลกและประเทศไทย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวเตือนถึงพฤติกรรมการลอกเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงจากซีรีส์ดังกล่าว รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังออกนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ เตือนและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการรับชมสื่อ ให้ใช้วิจารณญาณ แยกแยะเนื้อหา ส่วนเด็กก็ควรมีผู้ปกครองดูแลให้คำแนะนำขณะรับชม
น่าสนใจว่า อะไรคือหลักหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสม ข้อดี ข้อเสีย ของเนื้อหาของภาพยนตร์และวิดีทัศน์ในไทย เพราะเป็นที่พูดถึงเสมอว่า หลักและกฎเกณฑ์เหล่านั้นยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและถกเถียงถึงมาตรฐานการตัดสิน รวมถึงปัญหาที่อาจส่งผลต่อวงการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ในประเทศไทย
ครั้งนี้วารสารเพรสขอชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและกฎเกณฑ์การพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ในประเทศไทย รวมถึงภาพรวมและผลกระทบในวงการภาพยนตร์ไทย ผ่านมุมมองของคุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
หลักหรือกฎหมาย Censorship ในประเทศไทย : จุดเริ่มต้นและพัฒนาการ
คุณสัณห์ชัยเริ่มเล่าให้เราฟังว่า เดิมทีในประเทศไทยนั้น ยุคแรกเริ่มยังไม่มีการตั้งกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์ เมื่อพระมหากษัตริย์ (สมัยรัชกาลที่ 5-6) โปรดภาพยนตร์เรื่องใดที่เข้ามา ก็จะอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนั้นในประเทศ ต่อมามีภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการโจรกรรม อาชญากรรม ขณะนั้นเกิดการโต้เถียงระหว่างหัวหนังสือพิมพ์สองฝั่ง ฝั่งแรกกล่าวว่าภาพยนตร์ในลักษณะนี้จะทำให้ประชาชนลอกเลียนแบบพฤติกรรมได้ ส่วนอีกฝั่งกล่าวว่าหากเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากภาพยนตร์จริง ตำรวจที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ก็คงจะหาวิธีมาป้องกันหรือรับมือสถานการณ์ได้
หลังการถกเถียงนั้น ประเทศไทยก็เกิด พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับรูปแบบ censorship (การปรับเปลี่ยน ตัดทอน เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในมุมมองของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่ง ๆ) ในภาพยนตร์ไทย ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาตัดทอนเนื้อหา แก้ไข เบลอภาพ ต่อมาภายหลังก็มีการอัปเดตเนื้อความของกฎหมายบ้าง เช่น พิจารณาให้ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์และวิดีทัศน์ หรือเปลี่ยนผู้พิจารณาจากหน่วยสันติบาลมาเป็นตำรวจ เป็นต้น
เมื่อเวลาผ่านไป พ.ร.บ. ภาพยนตร์ 2473 ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความล้าหลัง เนื่องจากบัญญัติขึ้นตั้งแต่สมัยประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณสัณห์ชัยเล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณปี 2541 นั้น ก็มีการจัดเสวนาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. ภาพยนตร์ 2473 มีการทำประชามติ ลงชุมชนเพื่อสอบถามแนวทางการแก้ไข แต่เมื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์เข้าสู่สภาจนออกมาเป็น ‘พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พุทธศักราช 2551’ แล้ว เนื้อหาก็เปลี่ยนแปลงไปจากร่างที่เสนอมาก โดยจากการเสนอจะไม่ให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหา แต่จะใช้ระบบการจัดเรตติ้งเนื้อหาให้เหมาะสมกับช่วงอายุต่าง ๆ แต่เมื่อ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ออกมา ปรากฏว่า มีระบบการจัดเรตติ้งจริง แต่ระบบการเซ็นเซอร์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
พิจารณาผ่านสายตาของผู้มีอำนาจ : เมื่อบุคคลกลุ่มเล็กตัดสินสื่อของคนทั้งประเทศ
คุณสัณห์ชัยเล่าถึงกระบวนการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ในประเทศไทยว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พุทธศักราช 2551 อยู่ในความดูแลของสำนักงานพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งให้อำนาจกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกมาจากวงการต่าง ๆ เช่น นักวิชาการ นักวิจารณ์ ผู้แทนสื่อมวลชน ผู้แทนของศาสนา จัดเป็นชุด ชุดละ 7 คน ในการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ และจัดเรตติ้ง
ส่วนลำดับขั้นของการ censorship อย่าง เตือน-ตัด-เลื่อน-ห้าม ซึ่งเรามักเคยได้ยินกันบ่อย ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ censorship สื่อต่าง ๆ อย่างกรณีล่าสุด squid game ก็เห็นคำว่า ‘เตือน’ หรืออย่างกรณีภาพยนตร์เรื่อง ‘อาบัติ’ หรือ ‘อาปัติ’ (2558) ซึ่งได้รับมติจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ว่า ‘ห้ามฉาย’ หรือระงับการฉาย เป็นต้น
ในกระบวนการพิจารณาภาพยนตร์นั้น คุณสัณห์ชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ไม่สามารถ ‘เตือน’ ก่อนได้ เพราะกระบวนการพิจารณาจะเริ่มเมื่อผู้สร้างส่งภาพยนตร์มาให้ ดังนั้น การเตือนเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหาก่อนผลิตภาพยนตร์นั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เว้นเสียแต่ว่ายังมีระบบที่ให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ส่งบทมาให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน ซึ่งวิธีการนี้ไม่บังคับ เหมือนจะดูเป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้ผลิตภาพยนตร์จะไม่ทำกัน เพราะต้องเสียเวลาส่งพิจารณาถึง 2 รอบ ทั้งส่งบท และส่งภาพยนตร์ ที่สำคัญคือ วิธีนี้ไม่ได้การันตีว่า เมื่อส่งภาพยนตร์ฉบับเสร็จสมบูรณ์ไปพิจารณาแล้วจะไม่ถูกสั่งตัดหรือสั่งห้าม แม้บทจะผ่านก็ตาม
ต่อมาในประเด็น ‘ตัด’ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีอำนาจในการพิจารณาตัดเนื้อหาบางส่วนที่เห็นว่าไม่เหมาะสมออกได้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการ ‘เลื่อน’ ตรงที่ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิมีอำนาจแค่สั่งตัดเท่านั้น แต่เมื่อมีการสั่งตัดแล้ว ผู้สร้างภาพยนตร์ก็จะต้องนำไปดำเนินการต่อซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลา และอาจจะนานเกินกว่ากำหนดการฉาย จึงเกิดการเลื่อนตามมา และในกรณีสุดท้าย การ ‘ห้าม’ คณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิมีอำนาจในการสั่งห้ามฉายได้เช่นเดียวกับการสั่งตัดนั่นเอง
นอกจากกระบวนการ ก็มีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมและมาตรฐานของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในอดีตจะเปิดเผยชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย แต่ต่อมาเมื่อเกิดการแบนภาพยนตร์บางเรื่อง ก็ได้รับคำถามถึงความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้อง จึงต้องทำให้ปิดชื่อผู้พิจารณาเป็นความลับ อย่างไรก็ตาม ปัญหามาตรฐานของผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล คือมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่อ่อนไหวกับบางประเด็นมาก แต่ในประเด็นเดียวกันผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรก็ได้
คุณสัณห์ชัยยกตัวอย่างให้เราฟังในกรณีภาพยนตร์เรื่อง ‘เอหิปัสสิโก (2564)’ หรือชื่ออังกฤษ ‘Come and See’ ซึ่งคุณไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ เล่าว่า เมื่อพิจารณารอบแรกเสร็จ เจ้าหน้าที่ออกมาแจ้งว่าอาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง คือกรรมการรู้สึกว่าอยากให้มีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศาสนาเข้ามาพิจารณาด้วย หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านเข้าพิจารณาอีกครั้ง แล้วก็แจ้งว่าไม่เป็นไร ดูได้ ไม่มีปัญหา
ผลกระทบจากกระบวนการ Censorship และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
คุณสัณห์ชัยกล่าวถึงผลกระทบของกระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ที่มีต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ไว้ว่า ระบบ censorship อาจทำลายความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากผู้ผลิตจะเกิดคำถามว่า ‘ทำภาพยนตร์ไปแล้วจะโดนพิจารณาอย่างไร?’ ‘เนื้อหาแบบนี้เรียกว่าสุ่มเสี่ยงหรือไม่?’ คำถามเหล่านี้ก็คือ self-censorship (การปิดกั้นเนื้อหาโดยตัวผู้ผลิตสื่อ) แบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นในประเทศที่รับรองว่าสามารถทำภาพยนตร์แบบใดก็ได้ ปัญหา self-censorship ก็จะไม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองได้อีกแง่ว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์บางรายก็ใช้ข้อจำกัดที่มีมาสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่แปลกใหม่ได้เหมือนกัน เช่น ในบ้านเราประเด็นการเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหวและมักถูกจำกัดความคิด ผู้ผลิตภาพยนตร์จึงเล่าเรื่องการเมืองแบบ abstract หรือนามธรรมแทน (“คนดูดูไม่รู้เรื่องหรอก” คุณสัณห์ชัยเสริม) หรืออย่างในยุคหนึ่งของประเทศอิหร่าน ห้ามใช้นักแสดงหญิงในภาพยนตร์ ผู้ผลิตก็พยายามสรรหาวิธีมาสร้างภาพยนตร์ให้ได้ แม้จะดูผ่าน ๆ ก็เหมือนเป็นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ แต่แน่นอนว่าคุณสัณห์ชัยก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับระบบ censorship เช่นเดิม
การ self-censorship ของผู้ผลิตภาพยนตร์ คือข้อจำกัดในการสร้างสรรค์เนื้อหา ทำให้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยขาดความหลากหลายไป ซึ่งคุณสัณห์ชัยมองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ดีควรจะมีภาพยนตร์ที่หลากหลาย คือมีทั้งภาพยนตร์ขนาดเล็ก ภาพยนตร์ต้นทุนน้อย ภาพยนตร์ทดลอง เนื้อหาแปลกแหวกแนว ไปจนถึงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งภาพยนตร์ทุกประเภทจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน และช่วยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ให้ล้มหายตายจากไป
เมื่อมองถึงกลุ่มผู้รับชม ระบบ censorship ขัดขวางไม่ให้เกิดการเรียนรู้ ผู้ชมไม่มีทางรู้ว่าภาพยนตร์ที่ถูกสั่งตัดฉากหรือห้ามฉายมีเนื้อหาอย่างไร ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิเพียงเท่านั้น
อนาคตของการ Censorship และ ‘วิจารณญาณ’ อาวุธทางปัญญาที่ผู้รับสื่อต้องมี
คุณสัณห์ชัยกล่าวว่า การพิจารณาภาพยนตร์ในประเทศไทยต้องก้าวหน้ากว่านี้ เมื่อมองประเทศที่พัฒนาแล้ว การพิจารณาจะไม่ได้เป็นการใช้อำนาจรัฐตัดสิน ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา รัฐไม่ได้เข้ามาควบคุม แต่จะเป็นหน่วยงานที่รวมตัวแทนของค่ายภาพยนตร์ กลุ่มเอ็นจีโอ มาพิจารณาเรตติ้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ แต่จะคำนึงถึงการคุ้มครองกลุ่มผู้เปราะบาง คือ เด็กและเยาวชน ไม่ให้ได้รับสารที่รุนแรงเกินกว่าอายุ แต่ทุกวันนี้ระบบเรตติ้งประเทศไทยไม่ได้มองประเด็นนั้น แต่มักพิจารณาในเรื่อง ‘บั่นทอนสถาบันต่าง ๆ หรือไม่’ ‘สั่นคลอนสถาบันต่าง ๆ หรือไม่’แทน
คุณสัณห์ชัยกล่าวเพิ่มว่าควรจะยกเลิกการพิจารณาตัดหรือห้ามฉายภาพยนตร์ เพราะหากมองเชื่อมโยงกับโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ระบบนี้ก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องปรับระบบให้ทันโลก “กฎหมายมันไม่นำสังคม มันตามสังคมอยู่ สังคมไปเร็วมากเลยทุกวันนี้ แล้วกฎหมายก็ตามไม่ทัน คราวนี้การตามไม่ทันของกฎหมาย มันก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องปรับกฎหมายใหม่ให้ตามให้ทัน แต่เราต้องเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ เราต้องคิดกันใหม่แล้วว่ากฎหมายที่เป็นอยู่อาจจะไม่เวิร์คกับโลกแห่งความเป็นจริง”
สิ่งที่ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ควรจะทำคือ กลับมาปกป้องเยาวชน ไม่ใช่สร้างอำนาจให้ตัวเองในฐานะไปปิดบัง ปิดกั้น ไม่ให้คนเห็นอะไร ดูอะไร ซึ่งล้าสมัยและเป็นไปไม่ได้แล้ว โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่ไม่ต้องไปโรงภาพยนตร์ก็เห็นโลกกว้างได้ เพียงเข้าอินเตอร์เน็ตก็เห็นโลกกว้างได้มากกว่าเข้าโรงภาพยนตร์อีก ซึ่งโลกของอินเตอร์เน็ตนั้น กว้างกว่าในโรงภาพยนตร์มาก ดังนั้น พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ก็แทบจะไร้ความสำคัญ ถ้าปรับตัวไม่ทันก็จะกลายเป็นแค่กฎหมายฉบับหนึ่ง เป็นแค่อีกหนึ่ง พ.ร.บ. ที่ทุกคนรู้ว่าประเทศไทยมี แต่ไม่สามารถใช้อะไรได้
นอกจากนี้อีกสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ คือ การต้องสร้าง ‘อาวุธทางปัญญา’ ให้แก่เด็ก เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะดูลูก 24 ชั่วโมง สิ่งสำคัญคือการคิดว่าจะให้เด็กเรียนรู้จากภาพยนตร์อย่างไร ซึ่งต้องทำควบคู่กันไปกับ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ เพราะเด็กทุกวันนี้ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง อยู่กับสื่อภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา ผู้รับสารเสพความรุนแรง เสพสื่อที่มีเนื้อหาเรตติ้งเหมาะสำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป จนเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือผู้รับสารจะเสพสื่อแบบรู้เท่าทันได้อย่างไร
“ผมคิดว่าการเรียนรู้การเท่าทันสื่อ media literacy เป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็เป็น competency (สมรรถนะ) สำคัญของคนในอนาคต หมายถึงว่าเป็นสมรรถภาพสำคัญของคนในอนาคต เพราะว่าเด็กทุกวันนี้เกิดมาก็อยู่กับภาพเคลื่อนไหวแล้ว เขาเรียนรู้ภาษาภาพเร็วกว่ารู้ภาษามนุษย์อีก คือเขาดูการ์ตูน เขาดูทีวี แท็บเล็ต ก่อนเขาจะพูดคำแรกได้ด้วยซ้ำ แล้วเขาดูรู้เรื่อง เขาหัวเราะกับมันได้ อันนี้แปลว่าเขารับรู้ภาพเหล่านี้ได้เร็วกว่าภาษามนุษย์ ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้คิดจะปกป้องอะไรแบบนั้นเลย อนาคตมันก็จะมีอะไรอีกมากมาย ปกป้องไม่ได้แปลว่าไปห้ามเขา การปกป้องหมายถึงการให้ความรู้สอนให้เข้าใจ อันนี้คือโจทย์ใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่ผมมองว่าอนาคตต้องไปตามนั้น”
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสื่อหลากประเภทหลายแพลตฟอร์ม ที่เอื้อให้ผู้รับสารเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าอดีต สิ่งสำคัญคงจะไม่ใช่การเข้าไปจำกัด หรือปิดกั้นสื่อ ไม่ให้สารไปถึงผู้รับชม แต่คงเป็นการสร้างความรู้เพื่อให้ผู้รับสารมี ‘วิจารณญาณ’ เพียงพอที่จะสามารถวิเคราะห์สื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้มุมมองของผู้มีอำนาจซึ่งไม่รู้ที่มาเป็นผู้ตัดสินสิ่งที่เราควรหรือไม่ควรดู
เป็นเรื่องน่าติดตามว่าประเทศไทยจะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ‘อาวุธทางปัญญา’ มากเท่าใด และจะทำอย่างไรเพื่อนำอาวุธนี้ส่งต่อให้ประชาชนในประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดจากระบบ censorship ที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึง จำกัดความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นการเรียนรู้ และลดความหลากหลายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย
อ้างอิง
thairath.co.th
banglamphumuseum.treasury.go.th
prachatai.com
นพดล อินจันทร์. (2554). ภาพยนตร์ไทย : พัฒนาการความคิดด้านศิลปวัฒนธรรมในสังคมไทย. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 13(1), 31-35 จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jica/article/view/2491
thairath.co.th