SocietyWritings

คนสั่งไม่รู้ แต่คนรู้ต้องทำตาม : นโยบายห้ามเผาที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาฝุ่น PM 2.5

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“ไฟป่าไม่ได้คร่าเพียงแค่ผืนป่า แต่ยังคร่าชีวิตผู้พิทักษ์ฯ ของเราไปด้วย”

คำอุทิศจากบุคลากรของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่พลัดหลงจากกลุ่ม หลังภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ป่าทางทิศตะวันออกของบ้านห้วยมะยม ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา และเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น

ไฟป่า ปัญหาเรื้อรังที่คร่าชีวิตคนและสัตว์ป่ามานับครั้งไม่ถ้วน ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากทะเลเพลิงที่เกิดขึ้น หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องเผชิญกันอยู่แทบทุกวันนี้

สาเหตุหลักของการเกิดการเผาไหม้ภายในป่าแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน เป็นต้น อีกประเภทเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งความประมาท ทั้งตั้งใจเผาป่าเพื่อเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการ “ชิงเผา” เพื่อป้องกันไฟป่า

“ชิงเผา” (Early Burning) หรือการเผาตามกำหนด (Prescribed Burning) คือกระบวนการเผาใบไม้แห้งและพืชที่ตายแล้วภายในพื้นที่ป่าในบริเวณและเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อเพลิง และนำไปสู่การลดโอกาสการเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ในอนาคต

อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การชิงเผาไม่ได้ทำให้ปัญหาฝุ่นควันหายไปทั้งหมด แต่จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากได้ควบคุมการเกิดไฟป่าด้วยการชิงเผา จนบริเวณนั้นปลอดเชื้อเพลิงและกลายเป็นแนวกันไฟไว้แล้ว

วิธีการดังกล่าวเป็นที่นิยมทำกันทั่วไป โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐบางแห่งและประชาชนที่ดูแลป่า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อย ใช้แรงไม่มาก แต่ข้อเสียคือหากจัดการพื้นที่ไม่ดี อาจส่งผลให้ไฟลุกลามออกนอกบริเวณที่กำหนดจนกลายเป็นไฟป่าได้ ทำให้การชิงเผากลายเป็น “ตัวร้าย” ในสายตาของใครหลายๆ คนในที่สุด

ภาครัฐอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มองว่าการชิงเผาเป็นตัวอันตราย นโยบายห้ามเผาทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาจเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของภาครัฐต่อการชิงเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงหลังการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ​ทุกอย่างต้องห้ามเผา หากใครเผาถือว่าผิดกฎหมาย และต้องเจอกับบทลงโทษอย่างรุนแรง ผู้ว่าฯของจังหวัดนั้นๆ มีสิทธิ์โดนสั่งย้ายหากเกิดการเผาในพื้นที่ อีกทั้งยังรณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเผาเตรียมหน้าดินที่ใช้สำหรับทำกิน ไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น เครื่องบีบอัดเศษพืชผลทางการเกษตร เพื่อให้ปัญหาฝุ่นมลพิษหมดไป

การแถลงข้างต้นแสดงให้เห็นว่าภาครัฐอาจกำลังเหมารวมว่าการเผาทั้งหมดคือปัญหา ทั้งที่จริงแล้วยังมีการเผาป่าที่เกิดประโยชน์อย่างเช่นการชิงเผาอยู่ การออกมาตรการเช่นนี้อาจส่งผลให้การชิงเผาต้องทำแบบหลบซ่อน ไม่ถูกตามหลักการ และกลายเป็นไฟป่าที่ร้ายแรงกว่าเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2556 สื่อมวลชนเผยแพร่ภาพชาวบ้านในพิษณุโลกช่วยกันทำแนวกันไฟด้วยการชิงเผา ส่งผลให้ผู้ใหญ่บ้านไม่พอใจ ตั้งข้อหาชาวบ้านว่าเป็นผู้จุดไฟเผาป่า และข่มขู่ว่าจะมีคนมาสั่งเก็บชาวบ้านที่ปรากฏในข่าว

เมื่อคนสั่งการไม่ได้ลงไปเข้าใจปัญหาจริงในพื้นที่ การแก้ปัญหาที่คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดอาจไม่ตอบโจทย์เสมอไป นโยบายของรัฐในการห้ามเผากับการชิงเผาของชาวบ้านเป็นการทำงานที่สวนทางกันนานนับสิบปี ชาวบ้านเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าหากปล่อยให้ไฟลุกลามแล้วจะเกิดความเสียหายมากกว่าเดิม

แสดงให้เห็นว่านโยบายของภาครัฐที่ออกมาอาจไม่ตอบโจทย์กับการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ (องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่) กล่าวในเวที Coffee Talk เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า นโยบายห้ามเผาของภาครัฐขัดแย้งและกระทบต่อมาตรการจัดการไฟป่าเดิมของจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมกันดำเนินการมากว่า 5 ปี

แนวทางการบริหารจัดการไฟและควบคุมการเผากำลังได้ผลดี ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็น 2 เขต ได้แก่ เขตบริหารจัดการเชื้อเพลิง สามารถทำการชิงเผา และเผาวัสดุทางการเกษตรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งได้ อีกส่วนคือเขตควบคุมการเผา พื้นที่นอกเขตบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ห้ามเผาเด็ดขาด

ชัชวาลย์เล่าถึงผลลัพธ์จากวิธีการนี้ว่า ส่งผลให้ค่าฝุ่นภายในจังหวัดลดลง และยังกล่าวอีกว่า “นโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น”

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเผยว่า การชิงเผาคือการควบคุมการเผาป่าไม้ และพื้นที่ธรรมชาติอื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ เป็นการเผาพื้นที่เพื่อกำจัดพืชที่ตายแล้วและแห้ง เป็นการลดปริมาณเชื้อเพลิงที่มีอยู่สำหรับไฟป่า และทำให้ง่ายต่อการควบคุมไฟป่าหากเกิดขึ้น ต่างจากการเผาวัสดุทางเกษตรที่ทำไปเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมหน้าดินเพื่อการเพาะปลูกครั้งใหม่เท่านั้น

การชิงเผาต้องทำก่อนฤดูแล้ง (เดือนธันวาคมถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ต้องดำเนินการในช่วงที่ต้นไม้ยังคงมีความชื้นอยู่ และควรดำเนินการในช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงบ่ายที่มีลมต่ำ และความชื้นสูง ทำให้สามารถควบคุมไฟได้ และมีโอกาสน้อยที่ไฟจะลุกลาม และการชิงเผาไม่ควรเกิน 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ต่อการชิงเผาหนึ่งครั้ง

ประโยชน์ที่สำคัญของการชิงเผาคือสามารถช่วยควบคุมไฟป่าไม่ให้มีความรุนแรงแรงมากเกินไป เนื่องจากมีการเผาไหม้ทำลายเชื้อเพลิงไปก่อน และทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น

กล่าวได้ว่า การออกนโยบายที่ไม่สนใจเงื่อนไขที่ต่างกันไปในพื้นที่ อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของภาครัฐ  ในกรณีนี้การเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับการชิงเผา และการปล่อยให้คนในพื้นที่ที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงจัดการกับปัญหา

อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาระยะยาว


บรรณานุกรม

MGR Online. (2556). รัฐสั่งห้ามเผาทำวุ่น-ชาวพิษณุโลกชิงเผาก่อนลาม เจอขู่ฆ่า. สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/9560000010422

สนง.ปภ.น่าน สาขาเชียงกลาง. (2557). ไฟป่า. สืบค้นจาก https://dpmpotckg.disaster.go.th/ckg/cms/4848?id=7317

The Citizen Plus Thai PBS. (2562). EP.1“ชิงเผา” ก่อนวันอันตราย และทางเลือกคืนลมหายใจบริสุทธิ์ให้เชียงใหม่. สืบค้นจาก https://thecitizen.plus/node/25474

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2564). ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ สรุปบทเรียนการทำงาน 1 ปีแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในเมือง “ม.แม่โจ้” โชว์ผลงานหนุนชาวบ้านเพาะเห็ดป่าแก้ปัญหาเผาป่า 20,000 ไร่.สืบค้นจาก https://web.codi.or.th/20210606-24684/

อัครวิชญ์ จันทร์พูล. (2566). ชิงเผา อีกหนึ่งวิธีลดความเสี่ยงของการเกิดไฟป่า. สืบค้นจาก https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-109/

อัครวิชญ์ จันทร์พูล. (2566). เมื่อไหร่มีไฟเมื่อนั้นมีควัน แต่เราสามารถจัดการควันได้ด้วยการ ‘ชิงเผา’ อย่างถูกวิธี. สืบค้นจาก https://www.seub.or.th/bloging/interviews/2023-168/

Today. (2566). ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาใหญ่ไทย มาจากไหนบ้าง?. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/why-we-have-pm-25-in-thailand/

Thai PBS. (2568). “อนุทิน” เข้มใช้ กม.แก้ฝุ่น “ห้ามเผา 3 เดือน” ชงของบช่วยเกษตรกร. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/348702

ไทยรัฐ ออนไลน์. (2568). อาลัยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก พลัดหลงขณะเข้าดับไฟป่า พบเสียชีวิตแล้ว. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/north/2853048

Green News. (2568). แถลงค้านนโยบายแก้ฝุ่น มท. “ห้ามเผาที่โล่งเด็ดขาด 3 เดือน”.สืบค้นจาก https://greennews.agency/?p=40297

สสก. 6 เชียงใหม่. (2568). ร่วมใจหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อสิ่งดีๆ.สืบค้นจาก https://ndoae.doae.go.th/news.php?n=256

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Writings

ตรรกะวิบัติของนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การอภิปรายฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลอย่างรอบด้าน ทว่าสิ่งที่มักปรากฏให้เห็นในการอภิปรายคือ ‘ตรรกะวิบัติ’ หรือที่เรียกว่า ‘Logical fallacy’ หมายถึงการบิดเบือนของตรรกะในการชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีทั้งหลายที่มีหน้าที่ต้องอธิบายทุกประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอก การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ ...

Articles

ภัยพิบัติในไทยกับความสนใจ ‘แค่กรุงเทพ’

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพ: Wiroj Sidhisoradej จาก Freepik 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ...

Writings

การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน “กลับบ้าน” กับ ฉากหลังสิทธิมนุษยชนไทย

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย “ดิฉันยืนยันว่ากลับโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็มีการลากสิ ไม่มีการลาก เดินขึ้นไปปกติ ไม่มีอะไรทั้งนั้น สมัครใจค่ะ” คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ...

Writings

บ้านที่กลับไม่ได้ เพราะไม่มี “ตั๋ว”

เรื่อง : กัลย์สุดา ทองดี, ฐิตารีย์ ทัดพิทักษ์กุล, ณัฏฐณิชา มาลีวรรณ, ณิชกุล หวังกลุ่มกลาง, เบญจรัตน์ วิรัตรมณี, พิชชาสรรค์ ฉายภมร, สลิลทิพย์ ...

Writings

ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ หรือการบนบาน….จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แสดงตัวตนของคน Gen Z?

เรื่อง : สมิตานันท์ จันสุวงษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ถ้าผลสอบไฟนอลได้ A ล้วนจะงดกินน้ำหวานหนึ่งเดือน” “ถ้ากดบัตรคอนเสิร์ตได้โซนที่ต้องการ เดี๋ยวจะมาแจกเงินให้ follower” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ...

Writings

อคติสู่มุมมองใหม่: การเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยกับภาพลักษณ์ของเมียฝรั่งในเพลงลูกทุ่ง

เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร พลอยชมพู วงศ์ยาไชย ศิรภัสษร ศิริพานิช อภิวัฒน์ สุชลพานิช ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ลักษณะของเมียฝรั่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save