เรื่อง: วิวิศนา อับดุลราฮิม
ภาพ: asiasociety.org
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ผ่านร่องรอยการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ต้องอยู่กับการสูญเสีย และบอบช้ำจากระบอบเผด็จการมานานถึง 39 ปี แต่การต่อสู้ของประชาชนและบริบทสังคมก็บีบให้เผด็จการทหารต้องยอมจำนน และคืนอำนาจอันชอบธรรมให้แก่ประชาชนในที่สุด
สาธารณรัฐเกาหลีในอดีต
เกาหลีใต้ในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่ปี 1948 จะพบว่าแม้เกาหลีใต้จะมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่ได้นับว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ
ย้อนกลับไปในปี 1945 หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เกาหลีซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนานถึง 35 ปี จะได้รับเอกราช แต่ก็ถูกมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ฉีกเกาหลีออกเป็นสองส่วน โดยสหภาพโซเวียตได้เข้ามาดูแลเกาหลีเหนือ วางรากฐานการปกครองประเทศแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาดูแลตอนใต้ของเกาหลีและวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย
อีซึงมัน ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ ในปี 1948 แม้ว่าเขาจะเป็นพลเรือน แต่ก็ปกครองประเทศแบบเผด็การ อยู่ในอำนาจนานถึง 12 ปี อาศัยจังหวะที่ประเทศอยู่ในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ ประกาศกฎอัยการศึก พร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดอายุให้ตัวเอง จนถูกประชาชนออกมาต่อต้าน ทำให้ต้องลงจากอำนาจในที่สุด
จากวารสารวิชาการเรื่อง ‘เกาหลีใต้ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมัน’ ระบุว่าแม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับ 1948 แต่การผูกขาดอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น ก็ทำให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ดังที่ควรจะเป็น มีประชาชนนับหมื่นที่ถูกจับกุมในความผิด ‘เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์’ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์เลยก็ตาม
รศ.ดร. ดำรงค์ ฐานดี ระบุไว้ในหนังสือเรื่อง ‘สังคมและวัฒนธรรมเกาหลี’ ว่าหลังจากยุคอีซึงมัน ประเทศเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐสภา แต่ด้วยปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมือง ก็ทำให้เกาหลีใต้ในยุคนั้นไร้เสถียรภาพและไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ต่อมาพลตรีพัคจองฮีจึงใช้ข้ออ้างนี้รัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 1961 ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา
พัคจองฮีสืบทอดอำนาจของตัวเองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับยูชิน ที่ประกาศใช้ในปี 1972 เพื่อให้เขาสามารถครองอำนาจได้โดยไม่มีกำหนด เขาได้ออกกฤษฎีกาหลายฉบับ โดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นใบเบิกทางในการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานรัฐ เช่น องค์การข่าวกรองกลางเกาหลี การปราบปรามสื่อมวลชนและพลเมือง เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้กลับไปใช้ระบอบประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม
ในยุคนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลดำเนินนโยบายเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจ เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน หรือที่เรียกว่ารวยกระจุก จนกระจาย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานและคนที่ไม่ชอบเผด็จการจึงออกมาประท้วง ซึ่งรัฐบาลก็ตอบโต้กลับด้วยการออกมาปราบปรามผู้ที่ต่อต้าน และใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ปิดปากประชาชน
พัคจองฮีอยู่ในตำแหน่งนานถึง 18 ปี จนกระทั่งถูกลอบสังหารโดยคนสนิท ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1979 ชอนดูฮวาน ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคงในขณะนั้นทำรัฐประหาร โดยให้เหตุผลว่า ‘เพื่อปราบปรามคนที่สังหารอดีตประธานาธิบดี’ ขบวนการแรงงานและนักศึกษาจึงเริ่มกลับมาต่อต้านเผด็จการทหาร จนนำไปสู่เหตุการณ์การนองเลือดที่กวางจู
เหตุการณ์การนองเลือดที่กวางจูสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
จากงานวิจัยเรื่อง ‘Protesting Identity: Memories of the Kwangju Uprising and Effects on Identity Formation of Youths’ ของ Sheena Choi ระบุว่า เหตุการณ์ปฏิวัติกวางจูหรือ The Uprising of Gwangju เกิดขึ้นในวันที่ 18-27 พฤษภาคม ปี 1980 รัฐบาลสั่งล้อมปราบประชาชนที่ออกมาต่อต้านด้วยความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม แก๊สน้ำตา ระเบิดมือ ฯลฯ ทหารเข้าควบคุมสื่อ ปกปิดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกวางจู จนกระทั่งมีนักข่าวชาวเยอรมัน Jürgen Hinzpeter ลักลอบเข้าไปบันทึกเหตุการณ์แล้วเผยแพร่วิดีโอในสัปดาห์ต่อมา ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ต่างประเทศจึงทราบข่าวแล้วโทรกลับมาสอบถามครอบครัวในเกาหลีใต้ เหตุการณ์ในกวางจูจึงเริ่มกระจายออกไปแบบปากต่อปาก จนสุดท้าย รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่าทำไปด้วยเหตุผลเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์
จากการศึกษาของ Hyun Choe ในเรื่อง ‘South Korea’s democratization movements, 1980-1987: Political Structure, political opportunity, and framing’ พบว่า ประชาชนในประเทศเริ่มออกมาประท้วงรัฐบาล ถามหาความจริงในเหตุการณ์การลุกฮือที่กวางจู รัฐบาลจึงใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามมวลชน ประกาศกฎอัยการศึก สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง จับกุมนักศึกษาด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์
การตัดสินใจใช้ความรุนแรงของชอนดูฮวานในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนทั่วไป แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลเข้าปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรง และเป็นข้อยืนยันว่าเหตุการณ์การนองเลือดที่กวางจูเกิดขึ้นจริงอีกด้วย
ความสงบของเกาหลีใต้ กับความโกรธแค้นของประชาชนที่ถูกซุกไว้
เมื่อการเมืองเริ่มกลับมา ‘เงียบสงบ’ ด้วยกฎอัยการศึก ในปี 1983 ชอนดูฮวานประกาศนโยบายประนีประนอม ปล่อยตัวนักศึกษา ข้าราชการที่ถูกจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมือง อนุญาตให้ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองได้ในขอบเขตที่จำกัด
ในรายการ spoke dark ดำเนินรายการโดยโรซี่ – จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ ตอน ‘เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร?’ ระบุว่า ชอนดูฮวานมั่นใจว่าเขามีความสามารถในการบริหารประเทศ เพราะเศรษฐกิจเติบโตขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น จึงเลือกใช้นโยบายประนีประนอม เพื่อรักษาฐานเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยถัดไป แต่นโยบายนี้กลับเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้แสดงความไม่พอใจที่มีต่อเผด็จการทหาร ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อม เป็นเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ชอนดูฮวานเลือกที่จะไม่เจรจากับฝั่งนักศึกษา อีกทั้งยังออกประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 เมษายน ปี 1987 ว่าอย่างไรก็จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ห้ามประชาชนวิจารณ์รัฐธรรมนูญยูชิน รัฐบาลต้องมาจากการจัดหาตามรัฐธรรมนูญ และให้บังคับใช้การเลือกตั้งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญยูชิน (ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม) ในปลายปี 1987
การปิดปากประชาชนและขจัดความเห็นต่าง ไม่ได้เป็นวิธีการคลี่คลายสถานการณ์ และไม่ได้เป็นหนทางที่ทำให้เผด็จการทหารอย่างชอนดูฮวาน ได้รับความชอบธรรมจากประชาชนในการปกครองประเทศ
ชัยชนะของขบวนการนักศึกษา กลุ่มพลังใหม่ที่ขับไล่เผด็จการ
ในหนังสือเรื่อง ‘สังคมและวัฒนธรรมเกาหลี’ ระบุว่า นักศึกษาในภาพจำของประชาชนคือ “กลุ่มพลังทางสังคมที่ได้รับการยอมรับ และไว้วางใจให้เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทำให้เป็นกลุ่มที่มีพลังสำคัญทางการเมืองของเกาหลีจนถึงปัจจุบัน” ภาพลักษณ์ที่ดีของนักศึกษาในฐานะวีรบุรุษที่ถูกนำมาฉายซ้ำในการประท้วงครั้งนี้ ทำให้การโน้มน้าวจิตใจประชาชนง่ายขึ้น และการที่รัฐเลือกใช้กำลังปราบปรามนักศึกษา ก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับรัฐบาลทหาร
ขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมเดินขบวนต่อต้านซึ่งมีตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ 1.4 ล้านคน นับว่าเป็นตัวเลขที่มากเกินพอสำหรับการกดดันรัฐบาลชอนดูฮวานในบริบทสังคมที่ไม่ต้อนรับเผด็จการ เมื่อประกอบกับการเรียนรู้จากเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู ทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่ารัฐบาลจะหาความชอบธรรมในการปราบปรามการประท้วงของพวกเขาได้ ก็ด้วยเหตุผลว่าผู้ชุมนุมเป็นสายลับคอมมิวนิสต์จากเกาหลีเหนือ นักศึกษาจึงหาจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้ คือในเหตุการณ์กวางจูมีหลักฐานว่าสหรัฐอเมริกา ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือชอนดูฮวาน นักศึกษาจึงชูประเด็นการต่อต้านสหรัฐอเมริกา ขึ้นมา รวมทั้งยังใช้แนวคิดชาตินิยมเข้ามาฟื้นฟูศิลปะ-วัฒนธรรมโบราณของเกาหลี เข้าหาคนในพื้นที่ชนบท บอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งยกประเด็นเหตุการณ์กวางจูและความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐ ทำให้ประชาชนรู้สึกสะเทือนใจ อยากเข้าร่วมกับนักศึกษา
บริบทโลก แรงผลักดันที่ทำให้เผด็จการทหารพินาศ
บริบทสังคมโลกในตอนนั้น นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนประสบความสำเร็จ
เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัด Asian Games 1987 และ Summer Olympic 1988 ทำให้ชอนดูฮวานกลัวว่าหากประเทศยังอยู่ในการประท้วงเผด็จการทหารเช่นนี้ ต่างชาติจะพากันบอยคอตต์การแข่งขัน และต้องล้มเลิกไปในที่สุด เนื่องจากสถานการณ์โลกโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย ชอนดูฮวานจึงยอมใช้นโยบายประนีประนอม ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่เคยจับ และอนุญาตประชาชนออกไปชุมนุมได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด
ในรายการ spoke dark ระบุว่า การเมืองโลกในตอนนั้นตรงกับยุคที่ Ferdinand Marcos ประธานาธิบดีเผด็จการของฟิลิปปินส์ที่อยู่ในอำนาจนานกว่า 21 ปี ต้องหนีออกนอกประเทศเพราะการลุกฮือของประชาชน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนเผด็จการทหารในเอเชียมาตลอดหันไปสนับสนุนประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมคนใหม่ของฟิลิปปินส์แล้ว เป็นสัญญาณว่าการปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารในเกาหลีใต้ไม่มั่นคงอีกต่อไป
บทสรุปของการต่อสู้ที่ยาวนาน
ในช่วงปลายของการต่อสู้ครั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ‘South Korea’s democratization movements, 1980-1987: Political Structure, political opportunity, and framing’ ระบุว่า ในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 1987 ชอนดูฮวานรวมกำลังตำรวจกว่า 6 หมื่นนาย เข้าปราบปรามขบวนการประท้วงซึ่งมีผู้ชุมนุมในวันนั้นมากกว่า 4 แสนคน และในวันที่ 26 มิถุนายน มีตัวเลขผู้ร่วมเดินขบวนประท้วงกว่า 1.4 ล้านคน ภายใต้ข้อเรียกร้องเดียวกันคือ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญยูชิน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
แรงกดดันมหาศาลจากมวลชนและบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1987 ชอนดูฮวานประกาศทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เกาหลีใต้จึงเปลี่ยนเป็นประเทศประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในปี 1995 และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการต่อสู้ของประชาชนในตอนนั้นก็ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
– ประชาไท. 22 มีนาคม 2013. ศาลรธน.เกาหลีใต้ ฟันคำสั่ง ‘ปักจุงฮี’ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน. https://prachatai.com/journal/2013/03/45895
– William E. Smith. 25 February 1985. South Korea a Challenge for President Chun. http://content.time.com/time/subscriber/article/0,33009,961238,00.html
– Kim Bo-gyung. May 15, 2019. [Feature] We saw helicopters firing in Gwangju: US missionary. http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20190515000699
-Lee Suh-yoon. 17 May 2019. ‘Libel suit against Chun needed to bring justice to Gwangju citizens’. http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2019/05/251_269006.html
– So Yon Jun. May 2019. Columbia University. “REMEMBERING GWANGJU: Pro-Democratization Student Movements in the 1980s and Their Aims, Ideals, and Sacrifices”.
– Sheena Choi. 2013. “Protesting Identity: Memories of the Kwangju Uprising and Effects on Identity Formation of Youths”.
-Hyun Choe. March 2012. Jeju National University. “South Korea’s democratization movements, 1980-1987: Political Structure, political opportunity, and framing”.
– เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์. รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มกราคม-มิถุนายน 2556. พลวัตภายในแนวทางการวิเคราะห์ขบวนการทางสังคม
– ดำรงค์ ฐานดี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. AN353 สังคมและวัฒนธรรมเกาหลี
– วิเชียร อินทะสี. เกาหลีใต้ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมัน. วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ตรีนุช อิงคุทานนท์. 7 พฤษภาคม 2020.ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ. https://thepeople.co/chun-doo-hwan-the-dictator-south-korea/
-จักรกริช สังขมณี. 25 มิถุนายน 2020.เมื่อวันนั้นมาถึง: สามัญชนกับกระบวนการประชาธิปไตย. https://www.the101.world/june-struggle/
-มติชน. 23 พฤษภาคม 2559. “10 วันที่กวางจู” เกิดอะไรที่เกาหลี เมื่อปี 2523. https://www.matichon.co.th/foreign/news_144818
-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ แห่ง SpokeDark. 20 เมษายน 2020. เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร?. https://www.youtube.com/watch?v=4dRcCDf7S6g
– MBC. 19 November 2016. 그들의 광주, 우리의 광주. https://www.youtube.com/watch?v=z6ycdzF1Lso&t=646s
– Arirang. 18 May 2016. 5/18 Remembering history of May 18 Democracy Movement. https://www.youtube.com/watch?v=33n83NaLXzU
– SBS. 5 september 2017. ‘택시운전사‘ 김사복 아들 “아버지 광주 다녀온 뒤 암으로 사망” @본격연예 한밤 36회 20170905. https://www.youtube.com/watch?v=JR6pHu49eN4