เรื่อง : ปรียาภรณ์ เมฆแสน
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ Pexels
ก่อนที่จะยื่นคะแนนแอดมิชชั่นเพื่อเข้ามาเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรารู้แค่ว่าคณะนี้สอนเกี่ยวกับการทำสื่อบันเทิงที่น่าสนุก อย่างภาพยนตร์ ละคร รายการโทรทัศน์เพียงเท่านั้น ไม่ได้สนใจคำว่า ‘สื่อสารมวลชน’ ที่ห้อยอยู่ตรงท้ายชื่อแต่อย่างใด รู้ตัวอีกทีก็ได้เข้ามาเป็นเด็กปี 1 ที่นั่งเรียนนั่งท่องแบบจำลอง ทฤษฎีการสื่อสาร และบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนเสียแล้ว จริง ๆ เราคิดว่าตัวเองเป็นผู้เรียนที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะจำแบบจำลองการสื่อสารที่เรียนมาทั้งหมดไม่ได้ ทฤษฎีการสื่อสารก็ลืมไปบ้าง ส่วนหน้าที่ของสื่อมวลชน จำได้ขึ้นใจจริง ๆ แค่สองข้อ คือ การเป็นสุนัขเฝ้ายามหรือ Watchdog ที่ต้องคอยสอดส่องดูแลความผิดปกติของสังคมและคอยส่งสัญญาณเตือนภัยให้กับประชาชน กับการเป็น นายทวารข่าวสารหรือ Gatekeeper ที่ต้องคัดกรองข่าวหรือเลือกนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ตอนนั้นเรารู้แค่นั้น
พอขึ้นปี 2 – ปี 3 เรารู้แล้วว่าตัวเองกำลังเรียนเพื่อจบไปเป็นสื่อมวลชน การเป็น watchdog และ gatekeeper ถูกพูดถึงซ้ำ ๆ จากอาจารย์ทุกคน นอกจากนั้น ในทุก ๆ วิชา เรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนก็ถูกย้ำควบคู่กันไปด้วย ในวิชาปฏิบัติของสาขาวิชาวารสารศาสตร์ (หรือชื่อเดิมคือสาขาหนังสิ่งพิมพ์ฯ) เราจะต้องหาและเลือกประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาเขียนเป็นข่าวหรือบทความ และทุกครั้งต้องพิจารณาว่าเนื้อหาแบบไหนที่ควรเขียน เนื้อหาแบบไหนที่เผยแพร่แล้วเป็นประโยชน์กับผู้อ่านหรือผู้รับสาร และสุดท้ายสิ่งที่ต้องจำให้ได้ขึ้นใจเลยก็คือ การเป็นนักวารสารศาสตร์และนักสื่อสารมวลชนที่ดี ‘ต้อง’ ยึดถือจริยธรรมของสื่อมวลชนตลอดเวลาที่ทำหน้าที่นั้น ๆ ด้วย เช่น รายงานข่าวอย่างถูกต้อง ไม่มีอคติส่วนตัว และรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ตอนนั้นเรารู้สึกเบื่อกับสิ่งที่ได้เรียน เพราะมันมีแต่เนื้อหาที่วน ๆ ซ้ำ ๆ นักศึกษาทุกคนต้องคิด ต้องตระหนัก ต้องคำนึง ต้องเป็น watchdog และ gatekeeper ที่มีจริยธรรม เรื่อยไป
ไม่ใช่ว่าไม่อยากเป็นสื่อมวลชนที่ดี มีจริยธรรม เพียงแต่ว่าในตอนนั้นเราเรียนจนจำได้ และทำคะแนนในห้องได้ดีพอสมควร ประกอบกับช่วงนั้น (ปลายปี 63 – ต้นปี 64) มีประเด็นหลายอย่างเกิดขึ้นกับวงการสื่อมากมาย เช่น การนำเสนอข่าวผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งจนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือการเลือกไม่นำเสนอข่าวการชุมนุมจนเกิดกระแสเรียกร้องและประณามในทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็กต่าง ๆ อย่าง #สื่อไทยต้องทำงาน #สื่อมีไว้ทำไม #แบนสื่อช่องหลัก #สื่อไทยขยะสังคม ฯลฯ รวมถึงแถลงการณ์ประณามการทำงานของสื่อมวลชนไทย จากภาคีนิสิตนักศึกษาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และไม่บิดเบือน เราจึงมีความหยิ่งผยองปนอวดเก่งนิด ๆ ว่าการเป็นสื่อมวลชน ‘ที่ดี’ นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย และเราสามารถทำได้ดีกว่าสื่อมวลชนจริง ๆ บางเจ้าเสียอีก
แต่แล้วความคิดนั้นก็ถูกทำลายลงหลังจากที่ได้ฝึกปฏิบัติเป็นสื่อมวลชนจริง ๆ จากวิชาบังคับของสาขาวารสารศาสตร์ เราได้เรียนรู้ว่าการเป็นสื่อมวลชนที่ดี มีจริยธรรมนั้น เหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ได้ง่าย และไม่มีวันง่าย ไม่ว่าจะทำหน้าที่นี้มานานแค่ไหน เพราะสำหรับเรา การเป็นสื่อมวลชนต้องกระตือรือร้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลกได้อย่างรวดเร็วและจำนวนมาก ประกอบกับสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สื่อมวลชนจะไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ แล้วปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นผ่านตาไปได้เฉย ๆ แต่ต้องคอยปรับตัวแล้วเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะผลิตข่าวสารออกไปเพื่อนำเสนอได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วได้ไม่ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องความรวดเร็ว เราเคยสงสัยว่าทำไมสื่อมวลชนบางเจ้าถึงนำเสนอข่าวได้ล่าช้า ไม่ทันการ แตกต่างจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กที่มีการอัปเดตเหตุการณ์ทันทีทันใด แต่พอได้มาลองฝึกปฏิบัติเองจริง ๆ แล้ว ถึงได้รู้ว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ทำงานกันเป็นทีม และการจะผลิตข่าวหนึ่งข่าว หรือคอนเทนต์ใด ๆ ออกมาหนึ่งชิ้นเพื่อนำเสนอแก่ประชาชนในฐานะของสื่อมวลชนนั้น เราไม่สามารถตัดสินใจได้เองคนเดียว เราจะต้องส่งชิ้นงานไปให้หลาย ๆ คนในทีมพิจารณาและตรวจสอบก่อนว่าเนื้อหาที่ผลิตออกมานั้นมีความถูกต้องทั้งในด้านของที่มา ข้อมูล ภาษา รวมถึงกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ทำให้คอนเทนต์บางชิ้นไม่สามารถเผยแพร่ได้ทันที
ส่วนขั้นตอนการทำงาน ทุก ๆ องค์กรสื่อจะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างคล้ายกัน อาจแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่องค์กร แต่วิชาฝึกปฏิบัติที่เรากำลังเรียนอยู่นี้ สมาชิกในทีมทุกคนจะต้องผลิตชิ้นงานออกมาคนละ 2 ชิ้นในทุก ๆ 10 วัน ไม่ว่าจะเป็นข่าว บทความ สารคดี ฯลฯ เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งให้บรรณาธิการ (บก.) ตรวจความถูกต้อง ความเหมาะสมในเบื้องต้นก่อน ถ้าผ่าน บก. แล้วต้องส่งให้อาจารย์ประจำสาขาตรวจอีกครั้งเพื่อดูว่ามีจุดที่ผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรมสื่อหรือไม่ หลังจากนั้นงานชิ้นนั้นของเราจะถูกส่งไปให้พิสูจน์อักษรตรวจความถูกต้องของการใช้ภาษาว่ามีตรงไหนสะกดผิดบ้าง ถ้าผ่าน 3 ขั้นตอนนี้แล้วจึงสามารถเผยแพร่งานชิ้นนั้นได้ สำหรับตำแหน่งต่าง ๆ อย่าง บก. หรือพิสูจน์อักษร จะไม่ได้ตายตัวเหมือนองค์กรที่เป็นสื่อมวลชนจริง ๆ โดยทุกคนในทีมจะต้องเปลี่ยนตำแหน่งกันทุก ๆ 10 วัน ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน หลังจากที่ได้ทำตำแหน่งพิสูจน์อักษรแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การตรวจทานคำผิดไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องอ่านเนื้อหาเดิมหลาย ๆ รอบเพื่อไม่ให้คำที่สะกดผิดเล็ดลอดจากสายตาไปได้ และถึงแม้ว่าจะอ่าน จะตรวจจนมั่นใจไปไม่รู้กี่รอบ งานที่เผยแพร่ออกไปบางครั้งก็ยังคงมีจุดที่เขียนไม่ถูกต้องอยู่ ซึ่งนั่นเราถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่เจอ และยังต้องปรับปรุงต่อไปอีกเรื่อย ๆ
พอถึงเวลาที่ได้มาเป็น บก. สิ่งที่รู้จากการทำงานด้วยตัวเองนั้นไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่วิทยากรเคยมาบรรยายในห้องเรียนเลย วิทยากรเล่าว่าเป็น บก. จะต้องทำงานหนัก เรารู้สึกแบบนั้นตอนเป็น บก. เช่นกัน แม้ว่าอาจจะไม่หนักเท่ากับการทำงานจริง ๆ ก็ตาม เราต้องคอยตรวจงานของเพื่อน ๆ ในทีมทุกคนก่อนที่จะส่งให้อาจารย์ตรวจอีกรอบ ซึ่งในระหว่างที่ตรวจงานของเพื่อนนั้น ก็ต้องทำงานของตัวเองไปควบคู่กันด้วย แล้วการตรวจงานนั้นใช่ว่าจะสามารถแก้ทุกอย่างที่ไม่ถูกใจได้ เราต้องแก้ตามความถูกต้อง เหมาะสม และยังต้องคงภาษากับสำนวนของเจ้าของผลงานเอาไว้ นอกจากนี้ บางครั้งอาจจะให้คำแนะนำกับเพื่อน ๆ ไปด้วย ซึ่งการแนะนำก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน เพราะต้องมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องต่าง ๆ มาก่อน จึงจะสามารถให้คำแนะนำได้ ที่สำคัญคือการเป็น บก. สอนให้เรารู้ว่าต้องกล้าตัดสินใจเวลาเพื่อนมาปรึกษาเกี่ยวกับงานที่จะเผยแพร่ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากเผยแพร่งาน และต้องกล้าที่จะยอมรับผลที่ตามมาด้วย
และที่ขาดไม่ได้เลย คือการเป็น ‘Content Creator’ หรือนักเขียนที่เพื่อน ๆ ในสาขามักจะเรียกกัน ถึงแม้ว่าคนที่เรียนสาขาวารสารศาสตร์จะได้เขียนข่าว เขียนบทความบ่อย ๆ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความคุ้นเคยไปแล้ว แต่การเขียนนั้นไม่ได้ง่ายเสมอไป ประกอบกับครั้งนี้เราไม่ได้ผลิตงานชิ้นหนึ่งออกมาเพื่อส่งอาจารย์แล้วได้คะแนนเท่านั้น แต่ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย ดังนั้นจึงต้องคิดมากขึ้นกว่าเดิมว่า นอกจากจะมีประโยชน์ ไม่ขัดกับจริยธรรมสื่อแล้ว เนื้อหาที่อยากเขียนออกมานั้นจะตรงตามที่กลุ่มเป้าหมายชอบหรือไม่ หรือเนื้อหาแบบไหนที่จะไม่ผลิตซ้ำค่านิยมบางอย่างซึ่งอาจนำไปสู่การกดทับหรือสร้างบาดแผลให้กับคนบางกลุ่มในสังคมได้ ที่สำคัญ เนื้อหาเหล่านั้นควรนำเสนอมุมมองของนักศึกษาเองที่มีต่อประเด็นนั้น ๆ ซึ่งนั่นทำให้เราต้องคิดและเขียนออกมาอย่างรอบคอบที่สุด เพราะการเผยแพร่ทุกครั้งเป็นการเผยแพร่บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊กที่ไม่มีทางรู้เลยว่า ชิ้นงานที่ผลิตออกมาจะถูกพูดถึง ถูกแชร์ไปไกลมากแค่ไหน
เมื่อ 1 เดือนก่อน เราได้เผยแพร่งานข่าวออกไปหนึ่งชิ้น และงานชิ้นนั้นมีคนกดเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ประมาณ 3,000 กว่าคน มีคนแชร์ในเฟซบุ๊กอีกประมาณ 5,000 กว่าครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับนักศึกษาอย่างเรา ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากที่ข่าวได้ถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่การถูกพูดถึงในครั้งนั้นกลับทำให้แหล่งข่าวคนหนึ่งได้รับผลกระทบอย่างที่เพื่อน ๆ ในทีมไม่คาดคิดมาก่อน โดยรายละเอียดนั้นแม้จะไม่สามารถพูดถึงได้ เพราะแหล่งข่าวอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม แต่ปัญหาในครั้งนั้นทำให้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น การพูดถึงแหล่งข่าวอย่างเปิดเผยนั้นสำคัญเพราะสื่อมวลชนไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริงที่มีลอย ๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกันการปกปิดตัวตนของแหล่งข่าวก็สำคัญเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่างานของเราจะทำให้แหล่งข่าวคนไหนได้รับผลกระทบร้ายแรงอะไรบ้าง ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องคิดให้รอบคอบมากถึงมากที่สุด ครั้งนั้นเรารู้ตัวว่าตัวเองทำผิดพลาดไป จึงอยากพยายามให้มากขึ้นเพื่อที่จะไม่ทำพลาดอีกครั้ง
สุดท้ายนี้ เราคิดว่าเพื่อน ๆ ในทีมอาจจะได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับการเป็นสื่อมวลชนในระหว่างการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ แม้ว่าบทเรียนที่ได้จะแตกต่างกันไปบ้าง แต่เราเชื่อว่าทุกคนรวมถึงตัวเราเองจะนำบทเรียนนั้นไปปรับประยุกต์ใช้กับการเป็นสื่อมวลชนในอนาคตข้างหน้า และสามารถเติบโตไปเป็นสื่อมวลชนที่ดี มีคุณภาพในแบบที่ตัวเองตั้งใจไว้เพื่อสังคมต่อไป