เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง
สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี นวนิยาย เป็นต้น.
สำนักพิมพ์ (ในมุมผู้เขียน) หมายถึง กลไกสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของวงการหนังสือ เพราะถ้าหากไม่มีสำนักพิมพ์ ก็คงไม่มีผู้จัดทำและผลิตหนังสือจำนวนมากออกมาสู่ตลาด เพื่อให้เหล่านักอ่านได้เลือกอ่านกัน

พบกับเหล่าตัวแทน 3 คนจากสำนักพิมพ์ 3 แห่ง 3 สไตล์ ที่จะแวะเวียนมาบอกเล่าถึงกระบวนการการทำงาน พร้อมทั้งพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งการันตีจากความยาวของตัวงานได้เลยว่า…
งานนี้อ่านสนุกแน่!
อย่างไรก็ตาม ฉันเล็งเห็นว่า ถ้าให้ทุกคนอ่านรวดเดียวจบอาจจะเป็นงานที่ท้าทายมากเกินไป ดังนั้นฉันจึงสร้าง ‘สารบัญปัญหา’ ไว้ หากใครสนใจในสำนักพิมพ์ใด หรือสนใจในประเด็นใด จะได้สามารถเลือกอ่านได้ตามสะดวก
แต่ขอแนะนำไว้เสียก่อนว่า ถ้าอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์และสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญได้ดียิ่งกว่า
กดเพื่อเลือกชมปัญหานับสารพันของสำนักพิมพ์
AmarinBooks : แม้จะเป็นเครือใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา
Biblio : ผู้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความเปราะบาง
Marshmallow : สำนักพิมพ์ไซส์มินิที่ทำงานตามหัวใจ
AmarinBooks
แม้จะเป็นเครือใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา
หากพูดถึงสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์แล้ว คนอ่านจำนวนมากคงรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จากความคร่ำหวอดในแวดวงหนังสือและการมีทรัพยากรครบครันในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การจัดจำหน่าย รวมถึงการมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จึงอาจเรียกได้ว่าอมรินทร์บุ๊คส์เป็น ‘ผู้นำ’ ในตลาดของวงการหนังสือไทย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความยิ่งใหญ่ราวกับเป็นอาณาจักรแห่งหนึ่งนี้เอง ที่ทำให้เหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยในวงการหนังสือและกลุ่มคนอ่านจำนวนหนึ่งมองว่า อมรินทร์บุ๊คส์แห่งนี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘นายทุน’ ผู้ครอบครองพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของกระบวนการการผลิต
ฉันจึงอยากชักชวนให้ทุกคนมาคลายข้อสงสัยไปด้วยกันว่า สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์เป็นนายทุนในวงการหนังสือจริงหรอกหรือ…
“บางทีมันก็น่าน้อยใจอยู่นิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะหลายๆ ครั้ง ทุกอย่างจะโยนใส่เราด้วยคำว่า โอ๊ะ! ก็เป็นนายทุนสินะ…”
แม้ว่า ‘พิมพ์ชนก ศิริวรรณนาวี’ หรือ ‘ดิว’ จะพูดด้วยน้ำเสียงที่เจือปนอารมณ์ขันสักเท่าไร แต่เธอก็ไม่สามารถปกปิดความรู้สึกน้อยใจในฐานะบุคลากรภายใต้บริษัทเครือใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอทำงานอยู่ภายในสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์มากว่า 10 ปี จนในปัจจุบันได้รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์กลุ่ม Lifelong Learning: Literature1 ที่ต้องคอยดูภาพรวมของสำนักพิมพ์ย่อยอย่าง prism, piccolo, page, word, แพรวสำนักพิมพ์ และแพรวเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นภาระงานหนักอึ้งสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

“อย่างล่าสุด ตอนที่ทางสำนักพิมพ์เราประกาศลิขสิทธิ์งานรางวัลโนเบลปี 2024 ของ ‘ฮัน คัง’ ก็คือ ‘The Vegetarian’ ทีมการตลาดของพี่ก็ประกาศว่าเราได้ลิขสิทธิ์ของ ฮัน คัง มาสองเล่ม ก็จะมีคนมาเหน็บแนมว่า เร็วเชียวนะ คงเพราะเราเป็นนายทุนล่ะสิ” คุณดิวเล่าว่า หากอิงจากความเป็นจริงแล้ว เธอตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มดังกล่าวไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังผ่านกระบวนการแปลเสร็จสิ้นก่อนจะประกาศให้คนอ่านรับรู้เสียอีก
ระหว่างการพูดคุยกับคุณดิวในครั้งนี้ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพของตัวละครอย่าง ‘โอดีล’ (Odile) อดีตบรรณารักษ์สาวผู้หลงรักในหนังสือจากหนังสือเรื่อง ‘แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส’ (The Paris Library)2 ฉันเชื่อเลยว่าทั้งคุณดิวและโอดีลต่างหลงใหลในหนังสือเหมือนกัน แม้บทบาทหน้าที่ของพวกเธอจะต่างกันก็ตาม
ส่วนฉันก็คงเป็นเพียง ‘ลิลลี’ (Lily) เด็กหญิงที่อยู่ๆ ก็เดินเข้าไปในบ้านของโอดีลเพื่อไขความสงสัยของตัวเองว่า แท้จริงแล้ว ผู้หญิงคนนี้มีความลับอะไรซ่อนอยู่กันแน่
นายทุนเงินหนา?
แล้วสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์เป็นนายทุนในวงการหนังสือจริงไหม?
แน่นอนว่า ต่อให้ลิลลีคนนี้จะถามคำถามชวนเจื่อนสักเท่าไร โอดีลคนตรงหน้าก็ยังคงช่วยไขความกระจ่างให้เธออย่างไม่ถือสา…
“ถ้าจะบอกว่าเราเป็นนายทุนในด้านของการมีโอกาสมากกว่าในการเข้าถึงตัวลิขสิทธิ์ พี่ว่าไม่ใช่ เรามีโอกาสเท่ากัน”
หลายๆ คนอาจคิดว่า การเป็นสำนักพิมพ์ภายใต้เครือใหญ่อย่างอมรินทร์นั้นมีข้อได้เปรียบในการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศ เพราะมีเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทจำนวนมหาศาล ทำให้สามารถเพิ่มเงินสำหรับการประมูลลิขสิทธิ์ได้โดยง่าย เห็นได้จากการที่สำนักพิมพ์ภายในเครืออมรินทร์ต่างออกหนังสือปกใหม่กันเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี
ทว่าคุณดิวอธิบายว่า เงินเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยหนึ่งในการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเท่านั้น เพราะทางต่างประเทศที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือจะดูเรื่องประสบการณ์การทำงานของบริษัทนั้นๆ ด้วยเช่นกัน โดยคุณดิวยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าหากอยู่ดีๆ เธอกระโจนลงไปขอลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูน เธอก็คงซื้อมาไม่ได้ เพราะสำนักพิมพ์ที่เธอดูแลอยู่ทั้งหมดต่างไม่เคยทำการ์ตูนมาก่อน และทางสำนักพิมพ์การ์ตูนชื่อดังอย่าง Siam Inter Comics คงมีโอกาสได้ลิขสิทธิ์นี้ไปมากกว่า ทั้งๆ ที่ลงเงินน้อยกว่าเธอ

นอกจากประสบการณ์แล้ว โปรไฟล์หรือความน่าเชื่อถือของบริษัทก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน เพราะถ้าหากสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ยังไม่มีผลงานมาก ทางเอเจนซี่ที่นำมาเสนอลิขสิทธิ์หนังสือก็ยังไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ จะสามารถจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ได้ตามตกลงหรือไม่ ซึ่งทางสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์อาจจะได้เปรียบในข้อนี้ เนื่องจากเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำงานอยู่ในวงการหนังสือมาเนิ่นนาน ดังนั้นโปรไฟล์ของทางบริษัทจึงน่าเชื่อถือ
ปัจจัยสุดท้ายซึ่งสำคัญอย่างมากก็คือ ‘ความเร็ว’
“ความเร็วเป็นเรื่องของพระเจ้า” คุณดิวพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง “ถ้าคุณคาดการณ์ได้เร็ว คุณรู้ว่าหนังสือเล่มไหนจะมาแน่ๆ คุณก็มีโอกาสหาซื้อลิขสิทธิ์เล่มนั้นได้ก่อน” เธอเล่าให้ฟังต่อว่า ในสมัยก่อนจะมีแต้มต่อทางโอกาสมากกว่านี้ เพราะถ้าหากทางเอเจนซี่เห็นว่าสำนักพิมพ์เคยซื้อลิขสิทธิ์และตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนคนหนึ่ง ถ้าหากสำนักพิมพ์ดังกล่าวติดต่อไปซื้อลิขสิทธิ์ของนักเขียนคนเดิม ก็จะมีโอกาสได้ลิขสิทธิ์ไปครองมากกว่า ทว่าแต้มต่อดังกล่าวหายไปจากวงการหนังสือแล้ว เพราะการต่อสู้ในวงการหนังสือรวดเร็วมากขึ้น ใครที่เล็งเป้าได้เร็วกว่า แม่นยำกว่า ย่อมมีโอกาสได้ลิขสิทธิ์มากกว่า…

แม้ว่าคุณดิวจะคงไม่อาจพูดได้ว่า การซื้อลิขสิทธิ์ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับสำนักพิมพ์ในเครือขนาดใหญ่ แต่เธอก็กล่าวว่า…
“ถ้าเป็นนายทุนในแง่ของสายป่านยาวสำหรับการลงทุน แล้วเราพลาดได้บ่อยกว่า พลาดได้เยอะกว่า อันนี้ใช่”
คุณดิวอธิบายว่า คนที่จะเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์จำเป็นต้องมี ‘สายป่านยาว’ หรือก็คือการมีเงินทุนก้อนใหญ่มากสำหรับการผลิตหนังสือและการเก็บสำรอง เพราะกว่าจะผลิตหนังสือออกมาได้สักเล่มหนึ่ง อย่างน้อยต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน และถ้าหากใช้ตัวแทนจัดจำหน่ายหรือสายส่งสำหรับการวางขายหน้าร้านหนังสือ ก็ต้องรอเวลาอีกอย่างน้อย 2 เดือนหลังจากที่จัดจำหน่ายแล้ว ถึงจะนำเงินส่วนแบ่งจากการขายมาคืนให้ทางสำนักพิมพ์
“ด้วยความที่เราทำงานภายใต้บริษัทขนาดใหญ่ เรามีเงินที่ใช้ลงทุนไปก่อนได้ สามารถวางแผนซื้อลิขสิทธิ์ได้เรื่อยๆ ในทางกลับกันถ้าคุณไม่มีเงินสำรองระหว่างรอ เงินเดือนลูกน้องจะทำยังไง การซื้อและผลิตหนังสือเล่มใหม่จะทำยังไง” คุณดิวเล่าว่า แม้กระทั่งสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์เอง ก็ต้องรอรายได้จากร้านหนังสือเหมือนกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ใช้บริการสายส่งของอมรินทร์เช่นกัน
แต่อย่างน้อยคุณดิวก็มีเงินเดือนที่แน่นอน
“ใช่”
ส่วนเงินที่เอาไปซื้อพวกลิขสิทธิ์ก็เป็นเงินกองกลางของบริษัทสำหรับใช้ทำงาน
“ใช่ๆ ก็คือเป็นเงินลงทุน การมีสายป่านยาวก็คือการทำงานอยู่ภายใต้นายทุนนี่แหละ”
นายทุนนักสร้างสำนักพิมพ์?
หากใครเคยซื้อเคยอ่านหนังสือจากสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์อาจเห็นว่า ในปัจจุบัน ทางอมรินทร์มีสำนักพิมพ์ย่อยในเครือมากกว่า 10 สำนักพิมพ์ โดยแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีแนวหนังสือที่ชัดเจนและแตกต่างกันออกไป
ฉันจึงเกิดความสงสัยในใจเสมอว่า…
เพราะอะไรกันที่ทำให้ต้องมีการสร้างแบรนด์สำนักพิมพ์ย่อยอยู่เรื่อยๆ
“ตอนที่เราอยากทำหนังสือแนวใหม่ที่ใกล้เคียงกับของเดิม…” คุณดิวอธิบาย “แต่พอเราเอาหนังสือเล่มนั้นมาอยู่ในสำนักพิมพ์เดิมที่มีอยู่แล้วยอดขายมันไม่ขยับ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเรามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้ไปได้ไกลกว่านี้ มันก็เลยเป็นแนวคิดว่าเราต้องทำแบรนด์ใหม่แล้วนะ”

คุณดิวมองว่าการแบ่งสำนักพิมพ์ย่อยคือการเข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดของทางสำนักพิมพ์ เพราะเมื่อทางสำนักพิมพ์มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนมากๆ จะทำให้หนังสือติดตลาด และคนอ่านก็จะรู้จักเป็นวงกว้าง
แม้ว่าการสร้างสำนักพิมพ์ย่อยๆ จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ง่าย และช่วยให้มีแนวทางการทำหนังสือที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วการทำแบรนด์ที่แข็งแรงนี้กลับย้อนมาทำร้ายตัวสำนักพิมพ์เอง เพราะเมื่อทางทีมกองบรรณาธิการอยากลองทำหนังสือแนวคล้ายเดิมที่มีเนื้อหาใหม่ๆ ลูกค้าฐานเดิมของสำนักพิมพ์นั้นๆ กลับไม่เปิดรับหนังสือเล่มใหม่
“อย่างตัวสำนักพิมพ์ page เองที่เป็นน้องใหม่สุด จริงๆ แล้วหนังสือใน page เป็นหนังสือที่เคยวางแผนไว้ว่าจะออกภายใต้แบรนด์ prism, piccolo แต่เนื้อหาดันเป็นเฉดที่อ่อนลงมากกว่า เป็นแนวสะท้อนสังคม หรือเป็น cozy mystery ซึ่งฐานลูกค้าเดิมของ prism, piccolo ไม่รับเนื้อหาแนวใหม่เลย เราเลยต้องแตกแบรนด์ใหม่ออกมา”
แต่ถึงอย่างไรคุณดิวก็ยืนยันว่า กว่าจะสร้างแบรนด์สำนักพิมพ์ย่อยใหม่ๆ ออกมาได้สักแบรนด์หนึ่ง ก็ต้องมีการศึกษาตลาดและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่แน่นอนเสียก่อน ไม่ใช่ว่าหนังสือแนวไหนเริ่มมาแรงแล้วจะกระโดดลงไปทำได้เลย
“การทำงานในเครือใหญ่มันไม่คล่องตัว ต้องยอมรับว่าไม่คล่องตัวเลย” คุณดิวเล่า “เพราะมันมีขั้นตอนในการทำงานค่อนข้างเยอะ จุกจิก สมมติว่าอยากจะทำหนังสือที่มันเป็นกระแสมากๆ แล้วต้องออกสักเดือนหน้า มันก็ทำไม่ได้หรอก” เธอหัวเราะเสียงดัง “หรืออยากทำหนังสือที่มันต้นทุนสูงมากๆ เป็นงานศิลปะสุดๆ ไปเลย แต่ไม่หวังยอดขายเลย หวังเอาโล่รางวัลอย่างเดียว พี่ก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ”
ทำงานในเครือใหญ่เครียดมากไหมคะ
“ค่อนข้างกดดันในแง่ของธุรกิจนะ” คุณดิวตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง เพราะผลิตภัณฑ์อย่างหนังสือนั้นต้องลงทุนสูงในด้านการผลิตและวางขาย ทว่าราคาขายต่อเล่มตกอยู่แค่ประมาณ 200-300 บาท กว่าจะขายคืนทุนได้ก็ต้องใช้ระยะเวลานาน อีกทั้งยังต้องขยันออกหนังสือเล่มใหม่ๆ มากระตุ้นให้คนอ่านซื้อเพิ่มตลอดทั้งปีด้วย
ดังนั้น การบริหารธุรกิจสำนักพิมพ์ภายใต้เครือขนาดใหญ่ให้ได้กำไรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
นายทุนคุมต้นน้ำยันปลายน้ำ?
กระบวนการทำหนังสือแต่ละเล่มมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน อย่างในกรณีของสำนักพิมพ์ที่คุณดิวดูแลอยู่ จะเริ่มต้นจากการติดต่อเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศ จากนั้นก็ผ่านกระบวนการการแปลและบรรณาธิการ ซึ่งจะทำคู่ขนานไปกับการออกแบบรูปเล่ม เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะส่งให้ทางโรงพิมพ์ตีพิมพ์ตามจำนวนที่คาดการณ์ไว้ และส่งให้กับตัวแทนจัดจำหน่ายหรือสายส่งนำไปวางขายตามร้านหนังสือ chain store หรือร้านหนังสืออิสระ
แน่นอนว่า เครืออมรินทร์มีทั้งโรงพิมพ์ ตัวแทนจัดจำหน่ายหรือสายส่งของอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านหนังสือนายอินทร์อยู่ใต้บริษัทเดียวกัน การทำงานกับ ‘คนกันเอง’ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไร
“โรงพิมพ์ของทางอมรินทร์เอง จะลำดับความสำคัญเรารองลงมาจากสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่มาตีพิมพ์กับทางโรงพิมพ์” คุณดิวเล่าให้ฟังว่าสำนักพิมพ์ย่อยๆ ในเครืออมรินทร์เป็นเหมือน ‘ของตาย’ สำหรับโรงพิมพ์ เนื่องจากสำนักพิมพ์เหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตีพิมพ์กับโรงพิมพ์ในเครือเท่านั้น แต่ลูกค้านอกหรือสำนักพิมพ์อื่นๆ ยังหันไปพึ่งพาโรงพิมพ์อื่นได้
ทั้งนี้ เท่าที่คุณดิวทราบมาคือ ทางโรงพิมพ์จะแบ่งการทำงานออกเป็น ทีมสำหรับรองรับลูกค้านอก และทีมสำหรับรองรับสำนักพิมพ์ในเครือ ซึ่งจะมีการแบ่งอุปกรณ์สำหรับการตีพิมพ์ไว้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน
“เช่นเครื่องพิมพ์” คุณดิวยกตัวอย่าง “เครื่องพิมพ์นี้ของลูกค้านอก เครื่องพิมพ์นี้ของเรา สมมติเราส่งงานไปให้เขาช้ากว่าแผน เราไม่มีโอกาสไปบอกเขาเลยว่าคุณเร่งให้เราหน่อย เพราะเขาก็จะมีลูกค้านอกที่ต้องดูแล ซึ่งสำคัญกับเขามากกว่า”

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะทางทางอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายหรือสายส่งของทางอมรินทร์เองก็ยังมีอำนาจต่อรองเกี่ยวกับการจัดพิมพ์สูงกว่าตัวสำนักพิมพ์เองอีกด้วยเช่นกัน โดยทางสายส่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดจำนวนเล่มในการตีพิมพ์ เพราะทางสำนักพิมพ์ในเครือต้องพึ่งพาโกดังจากสายส่งสำหรับการสต็อกหนังสือทั้งหมด ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าโกดังสำหรับเก็บหนังสือ หรือค่ารักษาสภาพหนังสือในกรณีที่หนังสือเกิดความเสียหาย
“สมมติเราเอง เราก็อยากพิมพ์เยอะๆ ใช่ไหม แต่สายส่งประเมินว่ามันคงขายได้แค่ 2,000 แล้วเขาต้องเสียค่าโกดังเยอะ เขาก็เลยมีอำนาจต่อรองเยอะ”
ฝั่งสายส่งเขามีกำลังต่อรองกว่าเรา ฉันขมวดคิ้วด้วยความไม่เข้าใจ
“ม๊ากเลยแหละ” คุณดิวขึ้นเสียงสูงพร้อมหัวเราะเสียงดังเมื่อเห็นสีหน้ามึนงงของฉัน
นึกว่าอยู่เครือเดียวกันแล้วจะคุยง่าย
“ไม๊” เธอขึ้นเสียงสูงอีกครั้งและหัวเราะเสียงดังกว่าเดิม “ไม่เลย”

นอกจากนี้ คุณดิวยังพูดถึงโครงสร้างราคาหนังสือว่า ในกรณีสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ใช้บริการสายส่งของทางอมรินทร์สำหรับการนำหนังสือไปวางขายหน้าร้านต่างๆ จะโดนหักค่าบริการของสายส่งประมาณ 45% ของราคาหนังสือที่ขายได้จากหน้าร้านนั้นๆ ทว่าทางสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ จะโดนหักค่าบริการสายส่งของอมรินทร์มากกว่าสำนักพิมพ์อื่นเกือบ 10% เลยทีเดียว
“เราไม่ได้มีแต้มต่ออะไรมากมาย ยกเว้นการสต็อกหนังสืออย่างเดียวเลยที่เขาเก็บให้เราแน่นอน และเขาก็มีอำนาจที่จะช่วยระบายสต็อกให้เรา” คุณดิวอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า อย่างในงานบุฟเฟ่ต์หนังสือ ซึ่งคืองานระบายหนังสือค้างสต็อกออก จะเห็นว่าหนังสือส่วนใหญ่นั้นจะเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์ เนื่องจากสายส่งใช้พื้นที่สำหรับเก็บหนังสือภายในเครือกันเองค่อนข้างเยอะมาก
ส่วนเรื่องการมีหน้าร้านหนังสือในเครือของตัวเอง คุณดิวมองว่า การที่ร้านนายอินทร์จัดวางหนังสือของสำนักพิมพ์ในเครือ เกิดจากความแข็งแรงของตัวแบรนด์สำนักพิมพ์เองเสียมากกว่า เพราะอันที่จริงแล้ว สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์เองก็ทำงานคล้ายกับว่าตัวเองเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เวลาจะขอจัดวางหนังสือภายในร้านหนังสือ หรือขอทำโปรโมชันต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องไปนำเสนอและขออนุญาตกับทางร้านด้วยเช่นกัน
คุณดิวเปิดเผยว่า ยอดขายหนังสือในกลุ่มสำนักพิมพ์ที่คุณดิวดูแลอยู่ก็ไม่ได้มาจากร้านหนังสือนายอินทร์เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในปัจจุบัน ร้านนายอินทร์ก็ทยอยปิดตัวลงไปเยอะเช่นกัน โดยคุณดิวมองว่า ลูกค้าเข้าร้านหนังสือด้วยมุมมองที่แตกต่างจากเดิม หลายๆ คนเข้าร้านหนังสือเพียงเพราะอยากเดินดูหรืออยากสัมผัสบรรยากาศเท่านั้น
สำนักพิมพ์จะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรคะ
“หนึ่งเลยคือลูกค้า เราต้องฟังเสียงลูกค้าค่อนข้างเยอะ สองคือคุณต้องทันโลกว่ามันไปถึงไหนกันแล้ว ถึงวันที่มันไปต่อไม่ได้ในแนวนี้ คุณก็ต้องมีแผนสำรอง เพราะมีคนบอกพี่ว่าเทรนด์การอ่านหนังสือของคนไทยมันไปไวกว่าร้านอาหารอีกนะ”
ตลอด 10 ปีที่อยู่วงการนี้มา เทรนด์หนังสือเปลี่ยนไปขนาดไหนคะ
“มันวน สิ่งที่พี่จับได้คือเทรนด์การอ่านมันวน มันไม่ได้ไปแล้วไปเลย สักวันหนึ่งมันก็จะกลับมา”
แสดงว่าหนังสือไม่หมดอายุเหรอคะ
“พี่อ่านคินดะอิจิมาตั้งแต่มัธยม ตอนนี้มันก็ยังขายได้ และยังมีคนที่ซื้ออยู่ ทั้งคนเดิมและลูกค้าใหม่ จริงๆ สำหรับพี่แล้ว ในวงการหนังสือนี้ ถ้าให้พูดคำสวยๆ คือ Content Never Die แล้วถ้าคุณทำ content ได้ ยังไงก็ไม่มีวันตาย” คุณดิวตอบพร้อมรอยยิ้ม
– จบตอนที่ 1 –
Biblio
ผู้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความเปราะบาง
“เราเลือกทางที่เสี่ยง แต่เราก็คิดว่าเราเลือกทางที่ถูก…เป็นทางเสี่ยงที่ถูก”
ประโยคดังกล่าวของ ‘จีระวุฒิ เขียวมณี’ หรือ ‘จี’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Biblio (บิ-บลิ-โอ) เป็นถ้อยคำที่สามารถสะท้อนภาพเหตุการณ์ในปี 2020 ของเขาได้ดีที่สุด เพราะขณะที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มต้นขึ้นในปีดังกล่าว สำนักพิมพ์ Biblio ก็ตัดสินใจปล่อย line up หนังสือชุดแรกของทางสำนักพิมพ์ออกมา
เรียกได้ว่าเป็นการก่อร่างสร้างตัวแข่งกับโรคระบาดอย่างไม่เกรงกลัว
“การตัดสินใจเดินหน้าต่อเต็มที่ในตอนนั้นเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แต่ตอนนั้นพี่กับทีมตัดสินใจไม่รอ เพราะถึงคนอยู่บ้านก็ยังซื้อสินค้าออนไลน์ได้ แล้วช่วงกักตัวทุกคนต่างอยากได้คอนเทนต์ มันก็เลยกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของเรา พอสถานการณ์ดีขึ้น คนเลยจดจำ Biblio ได้”

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio
ภาพจำแรก Biblio ในความทรงจำของคนอ่านหลายๆ คน คงหนีไม่พ้นนิยายแปลเอเชียที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา มีเนื้อหาที่มอบความรู้สึกดีๆ ส่งมอบกำลังใจให้คนอ่าน จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่ Biblio จะกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ขึ้นมาครองใจนักอ่านในช่วงที่โควิด-19 เข้ามาพรากเรื่องราวดีๆ จากชีวิตของใครต่อใครไป
แม้แต่ฉันเองก็ได้รู้จักกับหนังสือของ Biblio ในระยะเวลาดังกล่าวเช่นกัน…
ความแข็งแรงทางด้านอาชีพ
คุณจีไม่ได้มองว่า การที่ Biblio ประสบความสำเร็จนั้นเป็นโชคช่วยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใด ทว่าเป็นเพราะก่อนที่เขาจะลงมือเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ เขาได้วางแผนระยะยาวไว้อย่างละเอียด โดยคุณจีตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีแรก สำนักพิมพ์จะต้องมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอย่างหนังสือหรือตัวเลขของผลประกอบการ
“แน่นอนว่าเราทำสำนักพิมพ์เป็นทำธุรกิจ เราอยากทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ ซึ่งต้องมีรูปแบบการเป็นบริษัทที่ชัดเจน มีแผนงานตลอดทั้งปี แล้วก็ค่อยๆ มีพนักงานตามตำแหน่ง เราเลยมองว่าการมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ”



2024 mid-year wrap up ของ Biblio
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio (1), Biblio (2) และ Biblio (3)
เคยคิดไหมว่าถ้าไม่สำเร็จจะทำอย่างไรต่อ
เมื่อได้ยินคำถามนี้ไป คุณจีก็นิ่งเงียบไปสักครู่ก่อนจะตอบว่า…
“ถ้าพูดตามตรงตอนนั้นคือเราไม่เคยคิดว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเราเองก็ค่อนข้างระมัดระวังในหลายๆ เรื่อง เราไม่ได้บ้าระห่ำลงทุนอย่างเดียว มันค่อยๆ เริ่มไปทีละก้าว”
ทว่าสุดท้ายแล้วคุณจีก็จบคำตอบด้วยประโยคที่ว่า “เคยคิดเล่นๆ ไว้แค่ว่า ถ้า 6 เดือน – 1 ปีไม่เวิร์ก เราก็คงไม่ดันทุรังทำต่อ เพราะเราไม่อยากให้ใครมาเสียเวลากับเรา”
นับเป็นโชคดีของคนอ่านอย่างเราที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือของ Biblio ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความแข็งแรงทางด้านคาแรกเตอร์
ถ้าหากการแบ่งย่อยสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ เกิดจากความพยายามทางการตลาดในการสร้างแบรนด์สำนักพิมพ์ที่แข็งแรง และเพื่อกระตุ้นยอดขายหนังสือเนื้อหาใหม่ๆ ในอีกทางหนึ่ง สำนักพิมพ์ Biblio มองว่าการแบ่งย่อยสำนักพิมพ์ในเครือของตัวเองจะสามารถแก้ pain point ในด้านการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าได้
“เรารู้สึกว่า pain point อย่างหนึ่งของการสื่อสารหนังสือก็คือตัวคาแรกเตอร์ของหนังสือที่แตกต่างกัน” คุณจีอธิบายถึงสำนักพิมพ์ย่อย 3 สำนักพิมพ์ในเครือตัวเอง “หนังสือกลุ่มนิยายแปลเอเชียก็แบบหนึ่ง นิยายแปลตะวันตกฝรั่งก็อีกแบบหนึ่ง หรือแนว non-fiction ก็อีกแบบหนึ่ง หนังสือในแต่ละประเภทมันทำงานแตกต่างกัน”
โดยหนังสือ 3 ลักษณะที่คุณจีกล่าวถึง ก็คือประเภทของหนังสือที่เขารู้สึกสนใจและตั้งใจจะทำ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทาง Biblio ก็มีแบรนด์สำนักพิมพ์ย่อย 3 แบรนด์ ได้แก่ Bibli นิยายแปลเอเชีย, Beat นิยายแปลตะวันตก และหนังสือประเภท non-fiction จะอยู่ภายใต้แบรนด์ Being คุณจีกล่าวว่าการทำสำนักพิมพ์ย่อยนั้นไม่ได้ใช้เวลานาน ไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะเขาชัดเจนตั้งแต่ต้น

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio
“ความชัดเจนในการแบ่งสำนักพิมพ์มีประโยชน์กับการขาย เพราะร้านหนังสือที่เป็นช่องทางการขายหนังสือสำคัญของเราจะมีวิธีจัดกลุ่มหนังสือของเขาต่างกันไป พอแบ่งคาแรกเตอร์สำนักพิมพ์ย่อยชัดเจน ทางร้านเขาจัดได้ง่ายกว่า เขาจะได้ไม่ต้องมาจำว่าเรามีหนังสือแนวนู้นแนวนี้ผสมๆ ปนๆ กันภายใต้ชื่อ Biblio อย่างเดียว”
นอกจากนี้ ประโยชน์ของการแบ่งสำนักพิมพ์ย่อยอีกอย่างก็คือการสื่อสารกับกลุ่มคนอ่านได้อย่างตรงกลุ่ม ดังนั้นคุณจีจึงเปิดเพจ Facebook ขึ้นมา 3 เพจสำหรับสำนักพิมพ์ย่อยแต่ละแบรนด์เพื่อคอยสร้างบรรยากาศในแต่ละเพจให้มีความแตกต่างกัน ทว่าความยุ่งยากก็ปรากฎ เนื่องจากทีมงานที่คอยดูแลทั้ง 3 เพจเป็นทีมเดียวกันทั้งหมด การรับมือกับคนอ่านในแต่ละเพจจึงกลายเป็นเรื่องสับสนสำหรับคนทำงาน
สุดท้ายคุณจีตัดสินใจรวม 3 เพจเข้าเป็นเพจเดียวกันภายใต้เครือ Biblio โดยยังคงไว้ซึ่งการสื่อสารคาแรกเตอร์ของแต่ละแบรนด์ให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นผลดีต่อสำนักพิมพ์ไปโดยปริยาย เพราะนอกจากจะมีภาระที่ลดน้อยลงแล้ว ยังสามารถทำให้กลุ่มลูกค้าเดิมผสมผสานรสนิยมของพวกเขาไปด้วย เช่น หลายๆ คนที่ชอบอ่านแต่นิยายแปลเอเชีย เมื่อเห็นนิยายแปลตะวันตกไปนานๆ ก็เริ่มอยากลองอ่าน



ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio (1), Biblio (2) และBiblio (3)
เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่าที่อยากให้กลุ่มคนอ่านได้อ่านหนังสือหลายๆ แนว
“จริงๆ ใจของคนทำหนังสือ เราก็อยากให้คนอ่านได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย คนอ่านจะได้เข้าถึงเรื่องราวที่มันแตกต่างกัน” คุณจีพูดอย่างตั้งอกตั้งใจ
ความเปราะบางของวงการหนังสือ
เมื่อบทสนทนาของเราทั้งคู่เข้ามาถึงประเด็นเรื่อง ‘ความหลากหลาย’ ของหนังสือในแวดวงหนังสือไทยแล้ว คุณจีก็ดูเหมือนเริ่มเครื่องติด จนฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึง ‘โทระ’ จากหนังสือเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’3 ตัวละครแมวลายเสือจอมวุ่น เพราะเรื่องราวที่คุณจีเล่าได้นำทางฉันเข้าไปในวังวนของวงการหนังสือไทย เหมือนกับที่เจ้าแมวโทระนำทางเด็กชายอย่าง ‘นัตสึกิ รินทาโร่’ เข้าไปในเขาวงกตไม่มีผิด
ถึงแม้ว่าเขาวงกตแห่งนี้จะยังหาทางออกไม่เจอก็ตาม…

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio
“ถ้าจะเทียบการอ่านของประเทศไทยกับประเทศอื่นที่เขาเติบโตด้านนี้กัน อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เราจะเห็นได้เลยว่าประเทศเขามีหนังสือที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหนังสือที่วิพากษ์ทั้งหน่วยงานรัฐ รัฐบาล หรือเรื่องราวในสังคม ทั้งจากมุมมองของคนในประเทศเอง หรือมุมมองจากคนรอบโลกที่ได้รับการแปลเป็นภาษาของเขา มันทำให้ภาวะการตื่นรู้ทางปัญญาของผู้คนมันเบ่งบาน”

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio
คุณจีมองว่า ความแข็งแรงด้านวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยต้องเริ่มต้นจากการสร้างเสรีภาพทางการอ่าน เพื่อให้เหล่านักเขียนและคนทำหนังสือทั้งหลายสามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านตัวอักษรได้โดยไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันคนในวงการหนังสือส่วนใหญ่ยังคงต้อง ‘กดปุ่มเซฟตัวเอง’ อยู่
“การกดปุ่มเซฟตัวเองนี่แหละที่ทำให้เราไม่เติบโตขึ้น” คุณจีกล่าวพลางถอนหายใจ “เราไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ท่ามกลางสังคมที่คอยเซนเซอร์คนทำงานอยู่เรื่อยๆ”
ในทางกลับกัน หากภาครัฐมาช่วยสนับสนุนวงการหนังสือ ช่วยเปิดทางให้คนสามารถผลิตงานเขียนมีโอกาสได้สร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ๆ อย่างเสรี วัฒนธรรมการอ่านของคนในประเทศไทยก็จะแข็งแรงมั่นคง และสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ เด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศของการอ่านก็อาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นบุคลากรในวงการหนังสือที่มีคุณภาพได้
“ดังนั้นการส่งเสริมวงการหนังสือต้องไม่ใช่การจัดงานอิเวนต์หนึ่งขึ้นมา เชิญคนในวงการสื่อมาถ่ายรูปรวมร่วมกันแล้วก็จบไป ทุกภาคส่วนของวงการหนังสือต้องมาร่วมกันวางแผนระยะยาวโดยมีคนจากทางรัฐมารับฟังด้วย” คุณจีเปรียบให้เห็นภาพว่า กำลังเสริมจากรัฐเป็นดั่งการหว่านเมล็ดพืชที่จำเป็นต้องรอคอยจนกว่าเมล็ดดังกล่าวจะเจริญเติบโตขึ้น ไม่สามารถเร่งให้ออกดอกออกผลได้ในเร็ววัน

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio
ทั้งนี้ คุณจีคิดว่าภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทรัพยากรขั้นพื้นฐานได้ เช่น การสร้างบุคลากรในวงการมากขึ้นเพื่อให้เกิดกำลังการผลิตผลงานมากขึ้นตามไปด้วย หรืออาจเข้ามาสำรวจตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางของกระบวนการการผลิตหนังสือว่า รัฐบาลจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายใดได้บ้าง เพื่อช่วยให้ราคาหนังสือในท้องตลาดถูกลง
คุณจียกตัวอย่างกรณีของสำนักพิมพ์ Biblio ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศให้ฉันเข้าใจ โดยเล่าว่า เงื่อนไขการขอเงินทุนคือทางสำนักพิมพ์ต้องเลือกหนังสือของทางไต้หวันมาแปลเป็นภาษาไทย โดยเลือกเล่มที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันมองว่าเป็น Soft Power ที่สามารถส่งออกนอกประเทศได้ เพียงเท่านี้ทางกระทรวงก็จะมอบเงินทุนสำหรับการทำหนังสือแล้ว ซึ่งเงินก้อนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตหนังสือของทางสำนักพิมพ์ Biblio



จูนเสียงหัวใจใส่ทำนองชีวิต จักรยานที่หายไป และปริศนาตะเกียบอาถรรพ์
หนังสือของสำนักพิมพ์ Biblio ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Biblio (1), Biblio (2) และ Biblio (3)
“ถึงมันจะไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยค่าตีพิมพ์ของเราได้ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระค่าทำหนังสือเราไปได้เยอะเลย” คุณจีเล่าด้วยความยินดี เขาเล่าเพิ่มเติมว่าเงินทุนนี้ไม่ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมทัศนคติของคนอ่านด้วย เพราะเมื่อคนอ่านเห็นว่าหนังสือเล่มดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ พวกเขาก็จะมองว่าหนังสือเล่มนี้ดี มีประโยชน์ อีกทั้งยังราคาถูก คุ้มค่าแก่การซื้อไปอ่าน
สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะไปตกอยู่ที่คนอ่าน…
“พี่เชื่อว่าความอยากที่จะเข้าถึงหนังสือของผู้คนมันยังมีอยู่เท่าเดิม แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจมันตกต่ำ กำลังซื้อของเขาก็น้อยลง เราจะไปทำอะไรได้” คุณจีชี้ให้เห็นว่า ในช่วงยุคหลังๆ มานี้ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เน้นการขายโดยใช้โปรโมชันลดราคาหนังสือ ซึ่งถือเป็นการดิ้นรนของสำนักพิมพ์กันเอง โดยยอมเฉือนกำไรตัวเองทิ้งเพื่อให้คนอ่านตัดสินใจซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้น
“แต่มันเป็นแค่วิธีการแก้ไขระยะสั้น” คุณจีว่า “ถ้าเศรษฐกิจมันยังชะลอตัวอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แผนระยะยาวคืออะไร เราในฐานะคนทำหนังสือนั้นไม่มีพลังมากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจได้ แค่เราทำหนังสือออกมาต่อเนื่องมันก็มีช่วงเวลาที่ลำบากอยู่แล้ว”
– จบตอนที่ 2 –
Marshmallow
สำนักพิมพ์ไซส์มินิที่ทำงานตามหัวใจ
หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้จักสำนักพิมพ์ Marshmallow มาก่อน ฉันจะขออธิบายคร่าวๆ ว่า…
Marshmallow สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ออกหนังสือตามรายสะดวก ปัจจุบันอายุ 3 ปี ออกหนังสือภายใต้แบรนด์มาทั้งหมด 3 เล่ม เน้นผลิตหนังสือแปลจากฝั่งยุโรปที่ละลายหัวใจคนอ่าน ทว่ามีหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นอบอุ่นใจหรือบอกเล่าชีวิต และในอนาคตก็มีแผนว่าจะผลิตเพิ่มอีกหลายแนว โดยทางเจ้าของสำนักพิมพ์อย่าง ‘ปรมัตถกร ปรเมธีกุล’ หรือ ‘เขียง’ มองว่าหนังสือที่ละลายหัวใจคนอ่านไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของความอบอุ่นเท่านั้น ขอเพียงแค่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนอ่านก็พอ
“พนักงานในสำนักพิมพ์เรามีอยู่ 4 คน มีหนึ่ง…สอง” คุณเขียงชี้นิ้วเข้าหาตัวเองก่อนจะชี้ไปหา ‘ณิชาภา ธิวะสุจินต์’ หรือ ‘ณิชา’ ที่นั่งอยู่ข้างๆ “…แล้วก็มีแมวอีก 2 ตัว เพราะเรานับแมวเป็นพนักงานด้วย มีแมวดำกับแมวส้ม ช่วยเยียวยาจิตใจครับ” เขาเล่าพลางหัวเราะเบาๆ

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งสำนักพิมพ์ คุณเขียงพูดอย่างติดตลกว่า หากให้เขาตอบอย่างหล่อๆ ก็คงเป็นเพราะเขาเติบโตมากับหนังสือ มีหนังสือในดวงใจหลายๆ เล่ม ส่วนคุณณิชาก็ทำงานเกี่ยวกับการแปลหนังสือมา เลยตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน แต่ถ้าให้เขาตอบตามความเป็นจริง ก็ต้องบอกตามตรงว่า พวกเขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจในวงการหนังสือ…
คุณเขียงเล่าให้ฟังว่า ตัวเองมีประสบการณ์การทำงานในแวดวงสื่อรูปแบบต่างๆ มานานหลายปี จึงมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการผลิตหนังสือ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดเป็นอย่างดี เมื่อมารวมกับความสามารถด้านการบรรณาธิการและการแปลภาษาของคุณณิชาแล้ว จึงถือว่าทั้งคู่ต่างพื้นฐานการเริ่มต้นธุรกิจหนังสือที่ค่อนข้างครบครันเลยทีเดียว

“พี่แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 อย่าง หนึ่งเรื่องเงิน สำคัญที่สุด สองคือองค์ความรู้ สามคือการต่อยอด” คุณเขียงชูนิ้วขึ้นมาทีละนิ้วตามจังหวะการพูดแต่ละข้อ “ปรากฏว่าธุรกิจหนังสือเล่มมันมีครบ เม็ดเงินก็เอาเท่าที่เราทำไหวในตอนแรก องค์ความรู้เรามีจากประสบการณ์การทำงาน และการต่อยอดจากหนังสือเราก็สามารถออกเล่มใหม่ได้เรื่อยๆ ในกรณีที่ยังมีเงินอยู่” เขากล่าว “เราเลยมองว่าหนังสือเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุด”
ทำไมถึงยอมเสี่ยงลงทุนในธุรกิจที่หลายๆ คนมองว่าอยู่ในช่วงขาลง
“เราพูดว่ามันขาลงมาเป็น 10 ปีแล้วนะ” คุณเขียงว่าพลางหัวเราะ “เวลาคนพูดว่าธุรกิจหนังสืออยู่ในช่วงขาลง พี่สันนิษฐานว่า คนที่พูดคงแสดงความห่วงใย แต่เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมหนังสืออย่างแท้จริง เพราะถ้าเขามาอยู่จริงๆ ก็จะรู้เลยว่ามันแข่งขันกันสูงมาก การต่อสู้ด้านค่าลิขสิทธิ์หนังสือดุเดือดมากสำหรับเรา”
คุณเขียงเสริมเพิ่มเติมว่า คำพูดที่บอกว่าธุรกิจหนังสืออยู่ช่วงขาลง อาจเป็นถ้อยคำที่มาจากสถานการณ์ที่โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการหนังสือ ทำให้คนตั้งคำถามว่าหนังสือเล่มจะหมดไปหรือไม่ แต่พอกลับมาดูภาพในปัจจุบันแล้ว ทั้งหนังสือเล่มและ e-book หรือการอ่านหนังสือรูปแบบอื่นๆ ต่างเกื้อกูลกันมากกว่า
ความลำบากยามเริ่มต้น
ตอนที่ฉันเดินซื้อหนังสืออยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ‘คุณตาหนังสือ เด็กหญิง และแมวสามขา’ (Der Buchspazierer)4 เป็นหนังสือที่สะกิดใจฉันอย่างบอกไม่ถูก แต่ติดใจตรงที่เป็นหนังสือฝากขาย ซึ่งพนักงานประจำสำนักพิมพ์นั้นไม่สามารถแนะนำให้ฟังได้ ฉันจึงลองมองหาเล่มอื่นแทน ทว่าสุดท้ายแล้วฉันก็พ่ายแพ้ให้กับแรงดึงดูดนั้น และยอมจ่ายเงินซื้อมาทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าเนื้อหาภายในจะเป็นเรื่องราวที่ตรงใจหรือเปล่า

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Marshmallow Publishing
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวังเลยสักนิด เพราะหนังสือเล่มแรกของ Marshmallow นี้เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจฉันอย่างไม่รู้ลืม…
ในตอนนี้ฉันเริ่มรู้สึกเหมือนหนูน้อย ‘ชาช่า’ (Schascha) เด็กผู้หญิงแสนสดใสจากหนังสือเล่มดังกล่าว ที่จะตามติด ‘คุณตา
คาร์ล คอลล์ฮอฟฟ์’ (Carl Kollhoff) ชายชราผู้ทำหน้าที่ส่งหนังสือไปทั่วเมือง เพื่อดูว่าการทำงานของคุณ (ตา) คาร์ลเป็นอย่างไร…
คุณเขียงเล่าให้ฟังว่า พวกเขาทั้งคู่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน โดยคุณเขียงจะดูแลฝั่งธุรกิจและการตลาดเป็นหลัก ส่วนคุณณิชาจะดูแลเรื่องการเลือกซื้อหนังสือและบรรณาธิการเป็นหลัก

เมื่อลองสำรวจตลาดหนังสือในเวลานั้นก็พบว่า ตลาดหนังสือของประเทศไทยยังไม่มีนวนิยายแนวอบอุ่นใจจากประเทศเยอรมันเหมือนเรื่องคุณตาหนังสือ เด็กหญิง และแมวสามขา คุณณิชาจึงไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการผลิตหนังสือของจริง…
เนื่องด้วยสำนักพิมพ์ Marshmallow มีพนักงานหลักอยู่ 2 คน (กับอีก 2 ตัว) คุณเขียงและคุณณิชาจึงเลือกใช้บริการจากภายนอก (outsource) สำหรับการแปล การออกแบบปกและภาพประกอบ รวมถึงการพิสูจน์อักษร ทว่าถ้าหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นภาษาที่ 3 อาจมีการจ้างบรรณาธิการที่เชี่ยวชาญด้านภาษานั้นๆ เพิ่มเติม ซึ่งกระบวนการแปลกับบรรณาธิการจะทำคู่ขนานไปกับกระบวนการออกแบบปก
“การใช้ outsource สะดวกกว่าเพราะเราไม่ต้องรับผิดชอบ fixed cost รายเดือน ถ้าเรามีพนักงานประจำ มันจะมีการแบกค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย” คุณเขียงอธิบาย
ส่วนการคำนวณจำนวนเล่มในการตีพิมพ์ คุณเขียงตอบอย่างรวดเร็วว่า “ขึ้นอยู่กับตังในกระเป๋าล้วนๆ”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง Marshmallow ก็มีการประเมินเสียงตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเบื้องต้นอยู่บนพื้นที่โซเชียลมีเดียของทางสำนักพิมพ์ คุณเขียงอธิบายว่า “ตอนที่เราปล่อยปกให้คนอ่านดู พี่คิดแค่ว่า ขอแค่ 10% จากจำนวนคนที่มาไลค์ มาแชร์ไป…ซึ่งเราพิมพ์น้อยมาก เรากลัวขายไม่หมด”

แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นว่า คุณตาหนังสือ เด็กหญิง และแมวสามขา กลายเป็นนามบัตรที่มอบให้กับกลุ่มคนอ่านเพื่อทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ Marshmallow
ปัจจัยไหนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จ
นอกเหนือจากการออกแบบปกที่ดึงดูดคน คุณเขียงยังวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า “องค์ประกอบของคุณตาหนังสือฯ เหมือนการ์ตูน Pixar ซึ่งมีสูตรคือ คนแก่โดดเดี่ยว เด็กถูกทิ้ง และแมวพิการ” เขานิ่งรอให้ฉันคิดภาพตามก่อนจะเฉลยว่า “เหมือนเรื่อง UP ไหมล่ะ…แล้วที่ต่างประเทศหนังสือเล่มนี้ดังมากๆ เลยด้วย แสดงว่าของตั้งต้นมันดีมาตั้งแต่แรกแล้ว”

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Marshmallow Publishing
อย่างไรก็ตาม แม้คุณเขียงจะมั่นใจว่าหนังสือเล่มแรกนี้จะขายได้มากเท่าไร สุดท้ายแล้วเขายอมเปิดเผยว่าก่อนที่หนังสือเล่มแรกจะประสบความสำเร็จ เขาทั้งไหว้เจ้า บนบาน ขอพรเทพเจ้าต่างๆ เพื่อขอให้ธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเชื่อเรื่องพวกนี้มาก่อน ส่วนทางคุณณิชาก็กังวลใจอยู่หลายต่อหลายวันว่าทำไปแล้วจะไม่มีใครอ่าน
แม้คุณเขียงจะเล่าเรื่องราวดังกล่าวด้วยน้ำเสียงขำขัน แต่สิ่งนี้ทำให้ฉันได้รับรู้เลยว่า การเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์และการผลิตหนังสือออกมาสักหนึ่งเล่มนั้นเป็นความเสี่ยงที่น่าหนักใจจริงๆ
ความลำบากยามงบจำกัด
ในปัจจุบัน คุณเขียงและคุณณิชาเริ่มอยากปรับให้ Marshmallow กลายเป็นธุรกิจที่มั่นคงมากขึ้น โดยมีความตั้งใจจะออกหนังสืออย่างต่อเนื่องและมีหนังสือหลากหลายแนวมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่ค่อยๆ เติบโตทีละขั้นเช่นเดิม เนื่องจากรูปแบบการลงทุนของทาง Marshmallow คือต้องรอคอยรายได้จากหนังสือเล่มก่อนหน้าเข้ากระเป๋าก่อน จึงจะนำเงินที่เป็นรายได้นั้นไปผลิตหนังสือเล่มใหม่อีกที เพื่อไม่ปล่อยให้ธุรกิจเกิดหนี้สิน
นอกจากนี้ ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ยังทำให้พวกเขาไม่สามารถเลือกซื้อลิขสิทธิ์หนังสือได้ตามใจชอบ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการแข่งขันทางราคาลิขสิทธิ์หนังสือค่อนข้างเป็นไปอย่างดุเดือด

“บางครั้งเรามีงบประมาณซื้อได้แค่ 2 เล่ม ดังนั้นถึงจะไปเจอเล่มดีๆ รวม 5 เล่ม แต่เราไม่ซื้อ เราต้องมาซื้อเล่มที่เราซื้อไหว” และในหลายๆ ครั้งทาง Marshmallow ก็ต้องยอมปล่อยหนังสือที่อยากทำไป เพราะไม่สามารถสู้ราคาได้ไหว
คุณเขียงได้เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานของเขา เขาพบว่าการทำงานในสำนักพิมพ์เล็กและใหญ่แตกต่างกันมหาศาล อย่างในกรณีของการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ ถ้าหากเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ คนทำหนังสือจะไม่ต้องกังวลเพราะว่ามีเงินทุน
“มันมีอะไรให้เราทดลองเยอะ” คุณเขียงเล่า “เช่นสมมติว่าเราลงทุนเล่มนี้ไป แล้วมันยังไม่ปัง ไม่เป็นไร เล่มหน้าเอาใหม่ เราก็เอาบทเรียนจากตรงนั้นมาทำได้ แต่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเราทดลองไม่ได้เลย ต้องกำไรเท่านั้น สมมติเราทำออกมาปุ๊บแล้วมันขายไม่ได้ เราจะไม่มีเงินไปซื้อเล่มถัดไปมาทำ”
ทว่าจุดแข็งอย่างหนึ่งของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กก็คือ การทำงานที่มีความละเอียดอ่อนได้โดยไม่มีเวลามาบีบบังคับ โดยคุณเขียงยกกรณีหนังสือเล่มล่าสุดของทาง Marshmallow อย่างเรื่อง ‘In Memoriam’ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของเด็กผู้ชายสองคนท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Marshmallow Publishing
“ดูจากเนื้อหาแล้ว มันควรได้สัมผัสอะไรสากๆ สักหน่อย แล้วพี่ณิชาก็เสริมว่าอยากให้ชื่อเรื่องมันนูนขึ้นมา เพราะว่าการนูนมันทำให้เรารู้สึกตะปุ่มตะป่ำ ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องมันมีความขรุขระอะไรบางอย่าง” คุณเขียงเล่าอย่างตั้งใจ อีกทั้งยังบอกว่า กระดาษที่ทำปก พวกเขาก็ตั้งใจเลือกเนื้อกระดาษที่สะท้อนกับแสงไปเพื่อสื่อถึงพลังระเบิดด้วย โดยคุณเขียงมองว่าเป็นจุดที่สำนักพิมพ์ใหญ่ไม่สามารถมอบให้คนอ่านได้โดยง่าย เพราะโดนบีบด้วยระยะเวลาที่ต้องทำตามแผนงานอย่างชัดเจน
“เหตุผลที่พวกพี่ออกหนังสือได้ปีละเล่มคืองานคราฟต์นี่แหละ เพราะเราใส่ใจกับการแปลและการออกแบบงานมากๆ เรากลัวว่าเรื่องที่ดีอยู่แล้วมันจะมาเสียคามือเรา ก็เลยต้องให้ละเอียดมากที่สุด” คุณเขียงเสริม



ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Marshmallow Publishing (1), Marshmallow Publishing (2) และ
Marshmallow Publishing (3)
หากฉันเป็นเด็กหญิงชาช่าแล้ว คำถามต่อไปที่เธอคงจะถามคุณตาคาร์ล ก็คงเป็น…
ถ้าหนังสือออกได้ปีละเล่ม แล้วทุกวันนี้คุณมีเงินกินข้าวเหรอคะ
“หนังสือ 1 เล่มกว่าจะเสร็จมันใช้เวลา 6-7 เดือน เงินไม่ทันกินแน่ๆ เพราะเรากินข้าวทุกวัน”
คุณเขียงเล่าให้ฟังว่า สำนักพิมพ์ Marshmallow เป็นเพียงธุรกิจรองเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วทั้งตัวเขาเองและคุณณิชาต่างรับงานเป็นฟรีแลนซ์ให้บริษัทอื่นๆ อยู่ โดยคุณเขียงระบุว่า Marshmallow เปรียบเสมือนงานหล่อเลี้ยงวิญญาณ ทว่ายังไม่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตร่างกายได้ พวกเขาจึงต้องทำงานอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
ถ้าหากฉันเป็นชาช่าจริงๆ ฉันคงจะไปซื้อไอศกรีมแสนอร่อยมาเลี้ยงปลอบใจพวกเขาแล้ว
ความลำบากยามแบ่งรายได้
ความตั้งมั่นอย่างหนึ่งของทาง Marshmallow คือการไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้คนอ่าน โดยคุณเขียงและคุณณิชาจะจัดโปรโมชันเพื่อลดราคาหนังสือ 15-20% หรือไม่ก็ทำโปรโมชันส่งฟรี ซึ่งทำให้ทางสำนักพิมพ์เองได้กำไรน้อยมาก แต่สุดท้ายแล้วทั้งคู่ต่างเห็นตรงกันว่าขอแค่ให้พออยู่ได้ก็พอใจแล้ว
“ตอนนี้ทางรอดอย่างเดียวของสำนักพิมพ์เราตอนนี้คือเราต้องขายโดยตรงกับนักอ่าน” คุณเขียงเล่าให้ฟังอย่างเคร่งเครียด “ขายผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของเรา เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เรามีเงินสดมาหมุนเวียนธุรกิจได้”

แล้วรายได้จากร้านหนังสือล่ะคะ
หากถามถึงรายได้จากร้านหนังสือ ฉันอาจจะต้องพาทุกคนย้อนกลับไปดูโครงสร้างราคาหนังสือสักเล็กน้อยว่า ในปัจจุบัน ถ้าเราขายหนังสือได้ 1 เล่ม สายส่งหนังสือจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ไปเป็นเงิน 40-45% จากราคาขายและอีก 55% ที่เหลือจะถูกแบ่งออกให้คนหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นค่าพิมพ์ของโรงพิมพ์ ค่าจ้างบุคลากรในการทำหนังสือทั้งหมด หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของทางสำนักพิมพ์ ดังนั้นกำไรที่จะหลงเหลือมาถึงทางสำนักพิมพ์นั้นร่อยหรอเต็มที
“มันเป็นข้อถกเถียงกันมานาน เรื่องที่สายส่งเขาแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายหนังสือไปเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้ว 45% ก็ค่อนข้างโหด” คุณเขียงถอนหายใจ “จริงๆ มันมีวิธีแก้ไขนะ คือสำนักพิมพ์อย่างเราก็เพิ่มราคาหนังสือให้สูงขึ้นเพื่อทำให้ได้กำไรมากขึ้น แต่มันเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุและเป็นการผลักภาระให้ผู้อ่าน แล้วสุดท้ายบริษัทจัดจำหน่ายหรือสายส่งก็ได้เงินส่วนของเขาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเราไปขึ้นราคาขาย”

ทั้งนี้ คุณเขียงแสดงความเห็นว่า สายส่งก็คงมีปัญหาเรื่องหนังสือค้างสต็อกเช่นกัน แต่ในมุมของสำนักพิมพ์แล้ว ก็อยากให้สายส่งดูแลสำนักพิมพ์ให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เช่น ให้โอกาสที่หนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ได้ขึ้นไปวางบนชั้นหนังสือแนะนำในร้านหนังสือ chain บ้าง เพราะเท่าที่เห็นหนังสือส่วนใหญ่ก็มักจะถูกนำไปวางเข้าสัน ซึ่งทำให้คนซื้อมองเห็นแต่สันหนังสือเท่านั้น
“พี่เลยคิดว่าการให้บริษัทสายส่งที่เอาเข้าร้านหนังสือ เราก็ปล่อยให้มันกลายเป็น marketing onsite ไป หรือก็คือการมีสินค้า ณ จุดขาย เผื่อมีคนอ่านไปเดินซื้อในร้านหนังสือ” คุณเขียงเล่าก่อนจะเสริมต่อว่า การทำโปรโมชันลดราคา 15-20% ของทาง Marshmallow ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงดูดใจให้คนอ่านหันมาซื้อหนังสือผ่านสำนักพิมพ์โดยตรง เนื่องจากร้านหนังสือส่วนมากก็จะลดราคาหนังสือเพียง 10% หรือหากมองในมุมที่ดีที่สุดคือคนอ่านสนใจจะอุดหนุนสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจริงๆ จึงเลือกจะสั่งหนังสือผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียโดยตรงเพื่อให้เงินสดเข้ากระเป๋าสำนักพิมพ์
– จบบริบูรณ์ –
ทว่ายังไม่อาจจบโดยสมบูรณ์ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ยังไม่หมดไป
- Lifelong Learning: Literature หมายถึง กลุ่มสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ที่ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งกว่าลูกค้าจะตัดสินใจซื้อหนังสือของทางสำนักพิมพ์ ทว่าหนังสือในกลุ่มนี้จะมีอายุการขายที่ยาวนาน หรือก็คือสามารถขายได้เรื่อยๆ โดยไม่ตกเทรนด์ในเร็ววัน ↩︎
- ‘แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส’ เป็นนิยายที่เล่าเรื่องราวของเหล่าบรรณารักษ์ ณ ห้องสมุดอเมริกันในกรุงปารีส ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีตัวละครหลักอย่าง ‘โอดีล’ บรรณารักษ์สาวผู้รักหนังสือและทุ่มเทสุดตัวเพื่อให้สมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้ได้อ่านหนังสือต่อไป แม้ว่าโลกภายนอกจะเต็มไปด้วยสถานการณ์ตึงเครียดก็ตาม พร้อมด้วย ‘ลิลลี’ เด็กหญิงกำพร้าแม่ที่มักจะแวะเข้ามาพูดคุยและอ่านหนังสือในบ้านของโอดีลยามเมื่อโอดีลชรา ↩︎
- ‘ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’ เป็นนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘นัตสึกิ รินทาโร่’ นักเรียนหนุ่มมัธยมปลายผู้อาศัยอยู่กับปู่ที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง เมื่อปู่เสียชีวิตลงกะทันหัน รินทาโร่จึงต้องรับสืบทอดกิจการร้านแห่งนี้ แต่แล้วจู่ๆ เจ้าแมวลายเสือพูดได้ชื่อ ‘โทระ’ ก็ปรากฏตัวขึ้น ก่อนจะบอกรินทาโร่ว่า หนังสือกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของเหล่าเจ้าของเขาวงกตแสนอันตราย รินทาโร่จำต้องสละโลกอันแสนเงียบเหงาของตัวเอง เพื่อเดินทางไปช่วยเหลือหนังสือกับเจ้าแมวโทระ ↩︎
- ‘คุณตาหนังสือ เด็กหญิง และแมวสามขา’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘คาร์ล คอลล์ฮอฟฟ์’ คนส่งหนังสือวัยชราแห่งร้านหนังสือ ณ ประตูเมือง โดยในทุกๆ วัน คุณตาคาร์ลจะนำหนังสือใส่กระเป๋าเป้และออกเดินทางไปส่งหนังสือให้ลูกค้าคนพิเศษ แต่แล้วเด็กหญิง ‘ชาช่า’ ก็เข้ามาปั่นป่วนการเดินทางอันแสนเรียบง่ายนั้นจนเกิดเป็นมิตรภาพต่างวัย ทว่าดูเหมือนลูกค้าคนพิเศษแต่ละคนจะมีปัญหาชีวิตที่ซุกซ่อนไว้อยู่ คุณตาคาร์ลและเด็กหญิงชาช่าจึงจับมือกันช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น ผ่านการส่งมอบหนังสือ ↩︎