SocialWritings

กิจวัตร ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ คนฝึกงาน

เรื่องและภาพประกอบ : ณัชชา กลิ่นประทุม

01 ฝึกงานออนไลน์

เปลือกตาสีอ่อนเปิดขึ้นเมื่อได้ยินเสียงของนาฬิกาปลุก ก่อนเวลาเริ่มงานหนึ่งชั่วโมงเป็นเวลาที่ ‘คิตตี้’ หรือ สุธาสินี สุวัตถิยานันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าฝึกงานออนไลน์ เป็นเวลาของการอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว เช็คอุปกรณ์การทำงาน และอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกเช้า คือ น้ำมะนาวปั่นที่เธอได้จากการเดินไปซื้อที่ร้านค้าแถวบ้านเพื่อเติมพลัง กิจวัตรแบบนี้จะดำเนินต่อไปอีก 1 เดือนจนกระทั่งการฝึกงานจบลง

สถานที่ทำงานก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ซ้ายมือของเตียงนอนปรากฏภาพโต๊ะทำงานตั้งอยู่ ใช่แล้ว ฝึกงานออนไลน์ก็แปลว่าทำงานอยู่ที่บ้าน หรือถ้าพูดให้ละเอียดขึ้นมาอีกนิดก็คือทำงานอยู่ในห้องนอนนั่นแหละ นั่งอยู่หน้าจอเหมือนเดิม เหมือนตอนเรียน เริ่มงานประมาณแปดโมงครึ่ง เลิกงานอีกทีตอนสี่โมงเย็น เสียดายโอกาสที่จะได้ทำงานจริง เจอสถานการณ์จริง เจอลูกค้าจริง “อยากไปฝึก on site (พื้นที่จริง) มากกว่า อยากไปอยู่ในที่ใหม่ ๆ ก่อนที่จะฝึกงานเคยแพลน (plan) กับเพื่อนว่าหลังฝึกงานจะไปจตุจักร ไปกินร้านอาหาร แต่ตอนนี้มันปิด ไปไม่ได้แล้ว เสียดาย”

“ทำไงดีนะ เราจะได้ทำงานอยู่กลุ่มเดียวกับใครนะ โครงการฝึกงานนี้จะเป็นอย่างไร” “ตื่นเต้น ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้ฝึกงานที่นี่แล้ว” เป็นเสียงความคิดของคิตตี้ที่ผุดขึ้นมา ต้องเล่าเท้าความก่อนว่าในช่วงก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะระบาดอย่างรุนแรง คิตตี้ได้เป็นนักศึกษาฝึกงานของบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านงานบัญชีแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่พอสถานการณ์เริ่มแย่ลง โครงการฝึกงานยกเลิก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดที่ว่าจะไม่ได้ทำงานกับบริษัทแห่งนี้จะเกิดขึ้น แต่พระเจ้าก็ไม่ใจร้ายกับเธอคนนี้เกินไปนัก เมื่อทางบริษัทที่เธออยากทำงานด้วยจัดโครงการฝึกงานร่วมกับคณะเพื่อให้นักศึกษาได้มีการฝึกงาน

“ทางบริษัทเขามาจัดโครงการฝึกร่วมกับคณะ มันก็จะออกแนว workshop (การประชุมเชิงปฏิบัติการ) มีสถานการณ์สมมติมาให้ แล้วเราก็ฝึกตามสถานการณ์ที่เขากำหนดมา ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจจะเจอหรือไม่เจอสถานการณ์แบบนี้ก็ได้ พอเป็นโครงการคือเขาจำลองมา แต่ถ้าไปฝึก on site เราจะได้เจอสถานการณ์จริง ของจริง”

 ฝึกงานออนไลน์ไม่มีทางเหงา งานก็ไม่หนักเกินไป ด้วยความที่ทำงานกับเพื่อน เธอก็มีพูดคุยถามไถ่เรื่องชีวิตกับเพื่อนอยู่เรื่อย ๆ คุยเรื่องที่ชอบอย่างเรื่องไอดอลเกาหลี ฉีดวัคซีนหรือยัง ช่วงนี้เป็นอย่างไร ความเหงาไม่มีหนทางที่จะได้เข้ามาทักทาย ทำงานได้สักสองชั่วโมงก็มีเวลาพัก ไปเดินยืดเส้นยืดสายในบ้าน กินน้ำกินท่า หมดเวลาพักแล้วก็กลับมาลุยงานต่อ แม้ว่าจะมีช่วงที่ต้องทำงานล่วงเวลาไปบ้าง แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เหมือนทำแล้วมันเพลินไปกับงาน “ออนไลน์ก็ใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้าน ว่าง ๆ ก็ดูซีรีส์ ฟังเพลง”

ฝึกงานออนไลน์ทำให้สนิทกับเพื่อนมากขึ้น จากที่ตอนแรกรู้จักกันผ่าน ๆ พอทำงานด้วยกันกลายเป็นว่าเธอกับกลุ่มเพื่อนที่ทำงานรู้จักกันดีขึ้นเพราะคุยถามไถ่เรื่องราวชีวิตกันแทบจะทุกวัน “พอเรามาทำงานด้วยกัน มันกลายเป็นว่าเราได้เพื่อนเพิ่มขึ้นนะ ความสนิทของเรามันเพิ่มขึ้นจากเดิม จากที่เจอกันแบบผ่านหน้าก็ยิ้ม ๆ ให้กันไม่ได้ทักอะไร แต่ตอนนี้ ถ้าหลังจากนี้ได้กลับมหาวิทยาลัย เจอหน้ากันเราก็จะเข้าไปทักทายเลย” แต่ใช่ว่าการสร้างความสัมพันธ์จากการเจอกันแบบหน้าจอจะไม่มีข้อเสีย เพราะนอกจากเพื่อนและพี่เลี้ยงของบริษัทที่ทำงานด้วยกันแล้ว เธอก็ไม่ได้ทำความรู้จักกับใครอื่นอีกเลย “ด้วยความเป็นออนไลน์เลยค่อนข้างที่จะได้รู้จักกับคนอื่นได้น้อย มันรู้จักกันได้ยาก อย่างออนไลน์ก็รู้จักพี่เลี้ยงแค่ 3 คน ถ้าเราไปทำงาน on site เหมือนเราได้เจอสังคมที่มันกว้างกว่าในบ้าน เจอคนระหว่างทาง หอใหม่ก็จะเจอคนใหม่ บริษัทใหม่ก็จะเจอพี่คนอื่น เพื่อนต่างมหาวิทยาลัย เราจะเรียนรู้การทำงานและความคิดจากคนอีกหลายคน”

ฝึกงานออนไลน์ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าตัวเองต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชีอีกเยอะมาก ๆ มากกว่าการที่เธอได้เรียนรู้จากในมหาวิทยาลัย ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก “เวลาเราคุยกัน เราพร้อมรับฟัง เรามีตารางแล้วก็พยายามทำงานให้เสร็จตามตาราง ใครเหนื่อยก็ support ว่าอีกนิดหนึ่งนะ”

02 ฝึกงาน on site

ช่วงเวลาสายของวันที่ 21 มิถุนายน ‘มุก’ หรือ ญาณิศา อาทิตย์เที่ยง นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มออกเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดที่เธอจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนฝึกงานอยู่ที่นี่ วัคซีนที่ฉีดมาแล้วหนึ่งเข็มทำให้อุ่นใจขึ้นมานิดหน่อยเมื่อต้องไปฝึกงานที่สถานที่ทำงานจริง ฝึกปลัดอำเภอก็คงจะต้องมีการลงพื้นที่พบปะกับคนเยอะแยะ “เราอยากเป็นปลัด อยากไปลงพื้นที่เห็นเขาทำงานจริง ๆ ” การได้มาฝึกงานที่นี่เหมือนเป็นการจุดไฟที่มีอยู่ในตัวเธอขึ้นมาใหม่ หลังจากที่มันริบหรี่ลงเพราะมัวแต่กังวลกับเรื่องการเรียนในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

– ห่างจากบ้านนานที่สุดในชีวิตครั้งแรก –

มุกเดินทางออกจากบ้านตอนเกือบเที่ยง มาเยือนจังหวัดนครสวรรค์เป็นครั้งที่สอง “ตื่นเต้น ห่างบ้านครั้งแรกที่นานที่สุด เดือนกว่า” พ่อขับรถพาเธอมาถึงโรงแรมในช่วงบ่ายก็เข้าเช็คอิน ห้อง 407 เป็นห้องที่เธอจะต้องอาศัยอยู่ในระหว่างช่วงฝึกงาน โรงแรมบรรยากาศดี สิ่งอำนวยความสะดวกครบ เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะได้นอนโรงแรมด้วยซ้ำ “เขาจะหาให้ดีขนาดนี้เลยเหรอ เพราะกรมที่ดูแลฝึกงานบอกไว้ว่าอย่าคาดหวัง มันดีจนมีครั้งหนึ่งที่วิดีโอคอลคุยกับอาจารย์แล้วอาจารย์ชมว่าฉากหลังสวยมาก”

มาถึงที่นี่แล้วใช่ว่าจะได้เริ่มทำงานเลย อำเภอเมืองที่เธอมาฝึกงานมีนโยบายให้เธอกับเพื่อนที่มาฝึกงานที่อำเภอเดียวกันอีกสองคนกักตัวในโรงแรมก่อน 14 วัน อยู่แต่ในห้อง มีลงไปข้างล่างบ้างตอนที่สั่ง grab มาส่งอาหาร แต่ไม่ได้เจอเพื่อนเพราะพักคนละห้องกัน “เศร้า ตอนอยู่บ้าน บ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ เจอคนตลอด พอต้องมาอยู่คนเดียวมันก็แอบจิตตก”

ช่วงเวลาที่กักตัวก็จะถูกนับรวมเป็นเวลาฝึกงานด้วย “ตั้งหน้าตั้งตารอให้หมด 14 วันมาก เพื่อนคนอื่นที่ไม่ได้กักตัวเขาเริ่มทำงานกันแล้ว เห็นผ่าน story IG” มุกหันกลับมาถามตัวเองว่าแล้วตัวเธอทำอะไรอยู่ นอนแห้งอยู่ในห้อง เสียดาย “พอเราไปนอนต่างที่ แรก ๆ คือนอนไม่หลับเลย ทรมานเกิน ต้องนอนเปิดไฟเพราะว่ากลัวผี พอนอนเปิดไฟแล้วตัวเองนอนไม่หลับอยู่แล้ว มันก็ยิ่งไปกันใหญ่”

– รู้จักต้นงาดำครั้งแรก –

เข้างานแปดโมงครึ่ง ตื่นเจ็ดโมง อาบน้ำแต่งตัว พอแปดโมงก็ลงมารอเพื่อนอีกสองคนที่ชั้นหนึ่งของโรงแรม เรียกแกร็บไปที่อำเภอ หาอะไรกิน ทำงาน พักเที่ยง เข้าบ่าย เลิกงานสี่โมงครึ่งในตอนเย็น ถ้าวันไหนมีงานที่ต้องออกพื้นที่กับพี่ปลัด มื้อเย็นพี่ปลัดก็จะพาไปทานข้าวที่ร้านอาหาร “ในอำเภอมีร้านตามสั่งอยู่สองร้าน เราก็ไปกินร้านนั้นสักพักหนึ่ง จนเพิ่งมาค้นพบว่ามันมีอีกร้านหนึ่งที่รสชาติอร่อยกว่า (ขำ) เพิ่งมารู้ตอนที่จะฝึกจบแล้ว พวกเราก็ย้ายกองทัพไปกินที่ร้านนั้นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เรากินข้าวผัดไข่กับหมูทอดกระเทียม ไข่ดาวเขากรอบมาก อร่อย”

“เราว่า on site มันคงความชีวิตชีวา”

“เราได้เจอคนหลายคน อย่างออนไลน์เราอาจจะได้เจอแค่คนที่เราทำงานด้วย แต่ตอนไปฝึก on site เราได้รู้จักพี่อส.(กองอาสารักษาดินแดน) พี่ที่ทำงาน มันได้เห็นภาพ มันได้ถามสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องงาน คือวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น อันนี้คืออะไร ทำไมเขาทำอย่างนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งคืออาหาร ออนไลน์จะกินได้แต่ข้าวที่บ้านหรือไม่ก็สั่งเดลิเวอรี่ แต่คุณจะไม่ได้ไปกินที่ร้าน (หัวเราะเสียงดัง)” ครั้งหนึ่งในช่วงของการลงพื้นที่เพื่อตรวจถนน มุกเล่าให้ฟังว่าเห็นชาวบ้านทำสวน เธอเพิ่งเคยเห็นต้นงาดำครั้งแรก พี่ปลัดบอกว่าคนนครสวรรค์บ้างก็ปลูกต้นงา บ้างก็ปลูกมันสำปะหลัง “เราได้เห็นว่าคนที่นี่ (คนหนองปิง) เขาทำอะไรกัน ส่วนแถวเมืองส่วนใหญ่เท่าที่เราสัมผัสได้ก็จะเน้นค้าขาย”

– ประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงานครั้งแรก ft.เอื่อยเฉื่อย –

เธอลงพื้นที่ครั้งแรกกับทางจังหวัดไปตรวจสถานีรถไฟหนองปลิงและคาเฟ่เพื่อดูว่าปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่จังหวัดแจ้งให้ทำหรือไม่ ได้เจอคนจากหลายหน่วยงาน “ลงพื้นที่ตื่นเต้นมาก ไปเจอกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้เห็นการทำงานจริง ๆ ของปลัดพี่เลี้ยงแต่ละคน”

“มีชาวบ้านคนหนึ่งพูดกับปลัดพี่เลี้ยงว่า ปอครับ ช่วยเขียนสรุปมาให้ผมได้ไหม ผมอ่านหนังสือราชการแล้วงง มันต้องแปลหลายชั้น ผมไม่เข้าใจ ตอนนั้นเราก็เลยแบบ เออ มันมีจริง ๆ นะ ภาษามันค่อนข้างยาก พี่ปลัดเขาก็พยายามพูดให้มันดูเข้าใจง่าย แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าการจะพูดกับคน ถ้าเราไม่มั่นใจปุ๊บ เขาก็จะเริ่มไม่มั่นใจกับเราไปด้วย ยู (You) เป็นปลัด ถ้ายูพูดแล้วไม่มั่นใจ เขาจะเชื่อมั่นได้อย่างไร”

“ฝึกปลัดมา เราไปให้รู้ว่าเราอยากทำปลัดอยู่จริง ๆ ฝึกงานแล้วเรามีจุดหมายมากขึ้นว่า step (ขั้น) ต่อไปเราต้องทำอะไร เรารู้สึกว่าพอมาอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแล้ว เราสามารถที่จะถูกกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมองค์กรได้ง่ายมาก อย่างเช่น เราเคยคิดกับตัวเองว่าถ้าไปทำงานจริง เราจะไม่เอื่อย จะไม่เฉื่อย แต่ว่าพออยู่ไป พอทุกคนเอื่อย ทุกคนเฉื่อย เรารู้เลยว่าตัวเองช้าลง ทำงานช้าลง คือเอื่อยไปตามสภาพแวดล้อม มันกลายเป็นแบบสิ่งที่เขาเป็นกันอยู่ เราก็เลยรู้สึกว่าเราถูกกลืนกินง่ายไปหน่อย”

– เสี่ยงที่จะติดโควิดครั้งแรก –

ตอนที่มุกได้มีโอกาสไปฝึกงานในฝ่ายทะเบียนของอำเภอ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ฝ่ายนั้นก็พาเธอและเพื่อนอีกสองคนไปทานอาหาร เธอเล่าว่าเจ้าหน้าที่คนนี้มาทำงานปกติ แต่มีไข้ ไอ และตัวร้อน “พี่เขาบอกว่าตากฝนมา เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร ยังย่ามใจอยู่” ต่อมาพี่ปลัดมาบอกเธอว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไปใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิดมา กินข้าวโต๊ะเดียวกันแล้วถอดหน้ากากอนามัย ผลสรุปออกมาปรากฏว่าเจ้าหน้าที่คนนี้ติดเชื้อโควิด-19

 “เรากลับบ้านเช้าวันอาทิตย์ และผลตรวจออกมาวันอาทิตย์ ซึ่งตอนนั้นเราอยู่บนรถ กินขนมช้อนเดียวกันกับน้อง จำได้เลยว่าความกังวล ความวิตกทุกอย่างมันมาอยู่ที่ตัวเรา กลัวว่าน้องจะติด น้องอยู่กับป้า ป้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีน แม่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เขาจะเป็นอะไรไหม แล้วเดี๋ยวแม่ต้องไปทำงาน เดี๋ยวพ่อต้องไปทำงาน” เธอเล่าว่ากลับมาบ้านเธอกักตัวเองอยู่ในห้อง 14 วัน พยายามเอาตัวออกห่างจากคนในครอบครัวให้มากที่สุด เธอไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ “แล้วผลก็ออกมาว่าไม่ติด โล่งมาก เข้าใจเลยว่าคนที่วิตกกังวลเวลากักตัวว่าเราจะติดหรือยังเขารู้สึกอย่างไร”

ฉันถามมุกต่อว่าภาพรวมในการฝึกงานครั้งนี้เธอสนุกไหม เธอตอบกลับมาว่า “ตอนแรกเราคิดว่าเราร้องไห้แน่ มันต้องมีสักวันแน่ ๆ คิดถึงบ้าน พอไปมันกลายเป็นแบบมันสนุก มันได้ลงพื้นที่ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้โทรหาแม่เลย มันกลายเป็นแบบมันผิดคาดไปเลย เดือนหนึ่งผ่านไปเร็วมากในความรู้สึกเรา แป๊ป ๆ หมดวันละ แป๊ป ๆ หมดอาทิตย์หนึ่งละ ยังไม่อยากกลับเลย ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากทำอยู่ ยังคุยกับเพื่อนอยู่เลยว่าอยากให้ระยะเวลาการฝึกมันนานกว่านี้”

เรื่องราวทั้งสองบทนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกงานในรูปแบบออนไลน์และการฝึกงานในพื้นที่จริงมีความแตกต่างกันในประเด็นความสัมพันธ์ที่การฝึกออนไลน์ทำให้คิตตี้พลาดโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักบุคคลใหม่นอกเหนือจากคนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกงานออนไลน์ ส่วนมุกได้รู้จักพบเจอกับคนมากมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ได้รับก็แตกต่างกันด้วย การฝึกออนไลน์ได้ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่การฝึกในพื้นที่จริงให้ประสบการณ์ที่มากกว่าเรื่องงาน มันทำให้มุกได้เห็นวิถีชีวิตของคนต่างพื้นที่ รู้จักพันธุ์พืชใหม่อย่างต้นงาดำ ได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ ไม่ต้องถูกจำกัดให้อยู่แค่ในพื้นที่บ้านเพียงอย่างเดียว และความแตกต่างอย่างสุดท้าย กิจวัตรประจำวัน การฝึกงานอยู่ที่บ้าน สำหรับคิตตี้คือการนั่งทำงานในห้องนอน กินข้าวทุกมื้อในบ้าน ไม่ต้องเสียค่ารถ ไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับโควิด แต่สำหรับการฝึกงานในพื้นที่จริง ต้องมีการเผื่อเวลาเพราะต้องเดินทาง มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด ต้องลงพื้นที่ ต้องไปทานอาหารที่ร้านอาหาร แต่ทั้งนี้การฝึกงานทั้งสองรูปแบบก็ทำให้หญิงสาวทั้งคู่ได้ตกตะกอนความคิดอะไรบางอย่างเช่นกัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save