เรื่อง: พิชญา ใจสุยะ
ภาพยนตร์ เรื่อง Where we belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า เข้าฉายเมื่อปีพ.ศ.2562 นำแสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์) และแพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค) ไอดอลวง BNK48 ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง ตั้งวง (พ.ศ.2556) และ Snap (พ.ศ.2558) ซึ่งส่วนใหญ่แฝง ‘การเมือง’ ในภาพยนตร์อย่างกลมกล่อม เป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อเรื่อง
ส่วนภาพยนตร์ เรื่อง Where we belong เกี่ยวกับเรื่องราวของ ‘ซู’ ที่ตัดสินใจไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ สถานที่ที่เธอไม่รู้จักมาก่อน เพื่อหนีไปจากอ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และ ‘เบลล์’ เพื่อนสาวคนสนิทที่คอยช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ก่อนซูจะจากไป ทั้งการช่วยจัดกระเป๋า รวมวงดนตรีเพื่อแสดงให้ซูดูเป็นครั้งสุดท้าย และการช่วยซูคืนดีกับเพื่อนสนิท
ทั้งตัวอย่างและโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความสัมพันธ์ที่ก้ำกึ่งระหว่างเพื่อนหรือคนรักของซูและเบลล์ ชวนให้อาจเข้าใจผิดว่านี่เป็นภาพยนตร์รักโรแมนติก หรือเรื่องราวที่ว่าด้วยการค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร แต่จริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเน้นความหม่นมัว สับสนในการตามหาตัวเองของวัยรุ่นที่ไม่อยากเติบโตไปเหมือนผู้ใหญ่แบบที่ตัวเองเกลียด และสอดแทรก เสียดสีประเด็นทางสังคม การเมือง ศาสนาและความเชื่อลงไปด้วย
ภาพยนตร์นำเสนอการตัดสินใจเลือกทางเดินครั้งแรกในชีวิตวัยรุ่น ผ่านช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่นหลายๆ คน บางคนเลือกคณะที่ตัวเองไม่ได้ชอบแต่คะแนนถึง เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีอนาคตแล้ว และทำให้พ่อแม่สมหวัง บางคนออกจากระบบการศึกษาไปทำงานหาเงิน หรือบางคนก็รอเสี่ยงยื่นคะแนนสอบเข้าในรอบถัดไป ซูเลือกที่จะไปต่างประเทศโดยไม่ฟังคำคัดค้านจากพ่อที่ต้องการให้เรียนใกล้บ้าน เพื่อในอนาคตซูจะได้สืบทอดร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นของดีประจำจังหวัด
ส่วนเบลล์ตรงข้ามกับซูอย่างสิ้นเชิงคือเธอเต็มใจจะอยู่สถานที่เธอเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างเต็มปาก หรือก็คือ จ.จันทบุรีที่ซูอยากจะหนีไป เบลล์ต้องการดูแลย่าของเธอที่ชราภาพ และบางครั้งย่าจะหวนรำลึกถึงความทรงจำเก่าๆ สมัยตัวเองยังสาว เพราะเบลล์ไม่ต้องการเป็นเหมือนแม่ของเธอที่จากไปเพราะต้องการความสะดวกสบายในเมืองใหญ่มากกว่าชนบท
สิ่งยึดเหนี่ยวทั้งหลายของซูเริ่มสั่นคลอน ทั้งครอบครัว เพื่อน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภาพของคนไหว้ขอพร ถวายพวงมาลัยพร้อมจุดธูปเทียนบูชารูปปั้นพระเยซู และการปรึกษาปัญหาผ่านร่างทรง สะท้อนความเชื่อที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานของสังคมไทย เมื่อเผชิญปัญหาที่ยากจะหาทางแก้ก็เลือกที่จะกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วงแรกซูเหมือนจะมีทีท่าไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ความเชื่อนั้น แต่เวลาผ่านไปซูที่ลังเลในการเลือกของตัวเองก็หันไปหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจโดยการไหว้รูปปั้นพระเยซู เมื่อทั้งครอบครัว และเพื่อนไม่สามารถเป็นที่ยึดให้เธอได้อีกต่อไปแล้ว
ส่วนการเมืองที่เหมือนจะเบาบางในภาพยนตร์ แต่ก็มีการกล่าวถึงตรงๆ ในบางฉาก และสอดแทรกอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร ช่วงที่เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์เป็นช่วงพ.ศ.2561 ที่การเมืองที่หยุดนิ่งเป็นเวลากว่า 5 ปีที่คสช.ยึดอำนาจ ทำให้วัยรุ่นที่เพิ่ง 18 ปียังไม่เคยเลือกตั้ง รวมถึงซูและเบลล์ด้วย ในภาพยนตร์จึงมีบทสนทนาเกี่ยวกับการที่ซูไม่เคยเลือกตั้งทั้งที่อายุ 18 ปีแล้ว
ระหว่างการตัดสินใจของซูนั้น ภาพยนตร์ก็ได้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามผ่านประโยคจากหนังสือเรื่องอาณานิคมในลมหายใจที่เบลล์อ่านว่า
‘คุณไม่ใช่เจ้าของชีวิตของคุณหรอก ไม่ใช่ แม้แต่ลมหายใจของคุณเอง’
หากซูเป็นตัวแทนของการดิ้นรนสู่อิสรภาพ เบลล์ก็คงจะเป็นตัวแทนของการยึดโยงอยู่กับสถานที่หนึ่งที่เธอให้ความหมายว่าบ้าน
แต่จริงๆ แล้วชีวิตเป็นของเราจริงหรือ ทางเลือกที่ซูเลือกนั้นเป็นเพราะตัวซูเองจริงหรือไม่ การตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ไปเรียนต่างประเทศของซูเริ่มถูกตีกรอบจากคนรอบข้างทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยคำพูดของเพื่อน พ่อ ภาระร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต้องตกไปที่น้องชาย ร่างทรง และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่โถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนให้ได้พักหายใจ
เรื่องราวไม่หนักไม่เบาแต่ก็ชวนให้ขบคิดในประเด็นต่างๆ ที่ผู้กำกับทิ้งไว้ให้ผู้ชมตีความ เรื่องราวจะค่อนข้างเข้มข้นในช่วงท้าย จึงอาจทำให้เข้าใจยากในบางช่วง ความเรียบเรื่อยของภาพยนตร์อาจทำให้รู้สึกเบื่อ แต่ก็ช่วยให้รู้สึกไปกับตัวละครได้ดี
หวังว่าซู เบลล์ และวัยรุ่นอีกหลายๆ คนจะหาที่ที่เหมาะกับตัวเองเจอ และได้ใช้ชีวิตอยู่โดยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นจริงๆ