เรื่อง: จักษณา อุตราศรี
“ปี 2020 แล้วทำไมเรายังต้องซื้อบั้มเป็นแผ่น ๆ อีก ซีดีเอาเล่นที่ไหนได้บ้าง คอมพ์ก็ไม่มีช่องใส่แล้ว เครื่อง DVD ก็ไม่มีขายแล้วมั้ย ซื้อมากองเฉย ๆ ประโยชน์คือนับยอดความแมส เนี่ย ยูสเลสไปมั้ยสำหรับยุคนี้” คือข้อความที่ปรากฎขึ้นมาบนหน้าไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ของฉัน มันมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจนเกิดการโต้เถียงกัน
ฉันเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังพยายามสื่อ มันไม่ได้หมายถึงการซื้ออัลบั้มเพลงแบบปกติทั่วไป แต่หมายถึงการซื้อซีดีแบบเป็นกองตั้ง ๆ สำหรับแฟนคลับของกลุ่มศิลปินเกาหลีใต้ เพราะจำนวนอัลบั้มเพลงที่ขายได้จะถูกนับยอดเพื่อไปเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในรายการเพลงและงานประกาศรางวัลต่าง ๆ พร้อมแสดงถึงความนิยมของศิลปินไปในตัว
ถึงในใจจะรู้ว่าอย่างนั้น มันก็แต่มันก็แอบโมโหไม่ได้ตอนอ่านข้อความนี้ มือที่ถือซีดีอยู่ถึงกับสั่นเป็นเจ้าเข้ากันเลยทีเดียว
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตและบริการสตรีมมิ่งเพลงจะช่วยให้คนเราสามารถฟังเพลงได้ทุกที่ทุกเวลา ไร้ซึ่งข้อจำกัดใด ๆ แต่มันก็สู้ความรู้สึกที่สัมผัสได้แบบเดียวกันกับสมัยก่อนไม่ได้ เช่น การได้จับแผ่นซีดี ตลับเทป หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ
อัลบั้ม Help! ของ The Beatles คืออัลบั้มแรกที่ฉันซื้อมาตอนอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มฟังเพลงสากลใหม่ ๆ และกำลังคลั่งไคล้วงในตำนานวงนี้อย่างมาก หลังได้เห็นภาพพวกเขากำลังแสดงเพลง I Want to Hold Your Hand ในรายการเพลงเก่ารายการหนึ่ง โดยฉันได้แผ่นมาจากร้านขายแผ่นหนังและซีดีเพลงในเดอะมอลล์แถวบ้าน
พอฉันได้อัลบั้มมา ฉันรีบถ่ายรูปอวดลงเฟซบุ๊กด้วยกล้องของคอมพิวเตอร์แล้วจึงแกะพลาสติกใสที่ห่อหุ้มอยู่ออกไป ก่อนเปิดกล่องเพื่อดูซีดีที่อยู่ด้านในและเล่มปกอัลบั้ม ตัวเล่มไม่มีอะไรนอกจากภาพของเหล่าสี่เต่าทองพร้อมรายละเอียดเล็กน้อยว่าใครแต่งและร้องเพลงไหนในอัลบั้ม
ตัวอัลบั้มมีแค่นั้น แต่ฉันกลับรู้สึกมีความสุขอย่างมาก
นอกจากความรู้สึกที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มแฟนคลับที่มีอัลบั้มเก็บสะสมแล้ว ฉันยังรู้สึกว่าฉันทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยการจ่ายเงินซื้ออัลบั้มของพวกเขา ไม่ได้ฟังฟรีจากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว (แม้ในความจริง สมาชิกวง The Beatles จะรวยล้นฟ้าอยู่แล้วก็ตามเถอะ)
การอุดหนุนผลงานเพื่อให้กำลังใจศิลปินจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันยังซื้ออัลบั้มเพลงแบบซีดีอยู่ ถัดจากความรู้สึกที่จับต้องได้ของอัลบั้ม
จากในอดีตที่หากเราอยากฟังเพลงอื่นนอกเหนือจากเพลงโปรโมท เราจะต้องซื้ออัลบั้มในรูปแบบต่าง ๆ มาไว้ครอบครอง แต่พอมาในยุคปัจจุบัน ซึ่งอัลบั้มกลายสภาพเป็นดิจิทัล จัดเก็บได้ง่าย และขโมยได้ง่ายเช่นเดียวกัน เราสามารถดาวน์โหลดแบบผิดลิขสิทธิ์มาฟังแบบไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งสิ่งนี้เกือบทำลายวงการดนตรีไปแล้วในช่วงต้นปีค.ศ.2000
ไหนจะความไม่เป็นธรรมของธุรกิจอุตสาหกรรมดนตรีอีก แม้ว่าบริการสตรีมมิ่งเพลงจะช่วยให้เราค้นพบศิลปินและวงดนตรีใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ส่วนแบ่งที่ได้รับจากบริการนี้แทบไม่พอยาไส้เหล่าศิลปินและวงดนตรี พวกเขาได้รับเงินเป็นเศษสตางค์จากการกดเล่นเพลงของเรา ในขณะที่ธุรกิจนี้กลับมีเงินสะพัดเป็นแสนล้านบาท
เทคโนโลยีซึ่งช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ทำเราเผลอหลงลืมไปว่าตัวศิลปินต้องทุ่มเทเท่าไร เพลง ๆ หนึ่งถึงจะออกมาได้
ตัวฉันเองก็พยายามซื้ออัลบั้มเพลงในรูปแบบซีดีเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เงินเข้ากระเป๋าของศิลปินเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยอาชีพในฝันของพวกเขา ไม่หนีหายไปไหนหรือหมดไฟในการทำเพลง อยู่สร้างความสุขให้คนที่ฟังเพลงพวกเขาต่อไป
หลังจากวันนั้น ฉันเริ่มกลับมาค้นอัลบั้มเพลงในกล่องเก็บของอีกครั้ง ก่อนใส่แผ่นซีดีลงไปในเครื่องเล่น ฟังเพลงไปพร้อมกับอ่านเนื้อเพลงจากเล่มปกอัลบั้มและร้องไปตามท่วงทำนองที่ได้ยิน