เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
ภาพประกอบ : veris
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชื่อ ‘พระมหาเทวีเจ้า’ หรือ บุหงาวลัย คงขวัญ (ชาติ) ชาวปัตตานี วัย 37 ปี เป็นหนึ่งชื่อที่พูดถึงกันมากที่สุดทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์จากคลิปแจ้งเกิดขณะที่เธอ ‘วีน’ ใส่ช่างทำผมเพื่อนสนิท ด้วยบุคลิกสนุกสนาน เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย และวิธีการพูดที่ตรงไปตรงมาทำให้มีคนเข้ามาดูคลิปนั้นจำนวนมาก เพื่อนของเธอจึงเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ วีน (veen) ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับกลุ่มผู้ติดตาม โดยปัจจุบันมีคนกดถูกใจกว่า 600,000 คน ซึ่งทำให้เธอได้รับเชิญให้ไปออกรายการต่างๆ มากมาย เช่น รายการแฉ ทางช่องจีเอ็มเอ็ม25 และรายการ โหนกระแส ช่องไทยทีวีสีช่องสาม
หนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับ บุหงาวลัย คือการถูกมอบตำแหน่งหรือที่เรียกกันในกลุ่มผู้ติดตามว่า ‘อวยยศ’ จากเดิมที่เป็นประชาชนคนธรรมดาให้เป็น ‘พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์’ โดยที่มาที่ไปเกิดขึ้นจาก บุหงาวลัย ชอบดูเพลิงพระนาง ละครที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีดาราระดับซุปเปอร์สตาร์เมืองไทย อย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ และยุ้ย จีรนันท์ มะโนแจ่ม ร่วมแสดง โดยคำว่าเมืองทิพย์ ที่ต่ออยู่ท้ายชื่อของพระมหาเทวีเจ้า ก็คือเมืองในละครดังกล่าว
หลังจากได้รับการอวยยศให้เป็นพระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์ ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งนำคำราชาศัพท์ไปใช้กับบุหงาวลัยซึ่งก็เป็นการเพิ่มความตลกและน่าสนใจให้กับคาแรกเตอร์ของเธอ ไม่ว่าจะเป็น การตะโกน ‘ทรงพระเจริญ’ ขณะมารอพบเธอที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน การเรียกรถไฟที่เธอนั่งจากปัตตานีเข้ามาในกรุงเทพฯว่า ‘รถไฟพระที่นั่ง’ หรือแม้กระทั่งการคลานเข้าไปหาเพื่อขอให้เธออวยยศให้ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่านำมาคิดต่อว่าการนำวัฒนธรรมของชนชั้นสูงของสังคมไทยอย่างการใช้คำราชาศัพท์มาใช้กับบุคคลธรรมดา มีความหมายอื่นใดมากไปกว่า ‘ความตลก’ หรือไม่
ความตลกกับสังคม
หลายคนอาจมองว่าความตลกเป็นสิ่งธรรมดาทั่วๆ ไปที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าลองมองลึกเข้าไปด้วยแว่นตาของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอาจจะพบปัจจัยเชิงโครงสร้างเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า “ถ้ามองแบบสังคมวิทยาฯ เราจะไม่มองว่ามันเป็นแค่เรื่องตลก เราจะพยายามตีความหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นเพื่อให้เห็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือความเป็นสังคมเบื้องหลังปรากฏการณ์นั้นๆ”
มากไปกว่านั้น มุกตลกมักสะท้อนมิติทางสังคม มุกตลกในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม มุกตลกของไทยก็จะไม่เหมือนมุกตลกที่อเมริกา และมุกตลกที่อเมริกาก็จะไม่เหมือนมุกตลกที่ญี่ปุ่น ดังนั้นการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเข้าใจมุกตลกได้ บุคคลนั้นต้องเข้าใจวัฒนธรรมที่มุกตลกนั้นอยู่ด้วย
กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึงกรณีพระมหาเทวีเจ้า การที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันใช้คำราชาศัพท์ เพื่อหวังว่าจะสร้างความตลกจากการล้อเลียน (parody) ราวกับว่า บุหงาวลัย เป็นชนชั้นสูง อาจกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ว่ากลุ่มคนที่พร้อมใจกันใช้คำราชาศัพท์ข้างต้นนั้น คือกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน และเข้าใจ ‘ความตลก’ ที่สะท้อนผ่านชนชั้นในสังคมดังกล่าวเป็นอย่างดี
แนวคิดเรื่องอิทธิพลของอารมณ์ขันจากมุกตลก
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเล่าเกี่ยวกับอารมณ์ขันไว้ในส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘(ต่าง) คิดในคอก (ตน); ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อารมณ์ขันทำลายการแบ่งระดับชั้นของอำนาจ เกียรติยศ อภิสิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์ลงทั้งหมด แต่ผมพูดไม่ถูกทีเดียวนักเพราะระดับชั้นของสิ่งเหล่านั้นยังดำรงอยู่ในสังคมต่อไป แต่อารมณ์ขันทำให้ผลของมันลดเหลือน้อยเสียจนไร้ความหมาย ไม่ว่าคุณจะแน่มาจากไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณถูกหัวเราะ คุณก็คือคนที่เท่าเทียมกับคนอื่น ความคิดอันเริดหรูของคุณต้องตกอยู่ภายใต้การพินิจพิเคราะห์เหมือนความคิดดาษๆ อันอื่น รถเบนซ์ของคุณถูกทำให้เท่ากับแท็กซี่ยี่ห้อแดวู”
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง อธิบายกับผู้เขียนว่า นอกจากมุกตลกจะสร้างอารมณ์ขันให้ผู้ฟังแล้ว อารมณ์ขันจากมุกตลกยังสามารถทำให้เรื่องที่เคยพูดถึงได้ยากในบางสังคมกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ โดยในช่วงแรกผู้คนอาจกล้าๆ กลัวๆ ที่จะนำสิ่งที่ว่ากันว่าไม่สามารถนำมาพูดเล่นได้ มาพูดถึงด้วยความขบขัน แต่สุดท้ายถ้าการกระทำดังกล่าวถูกทำซ้ำไปเรื่อยๆ เส้นแบ่งของสิ่งที่พูดถึงได้ยากนั้นจะค่อยๆ จางไป
ตลกกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจินต์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว มุกตลก มักผลิตซ้ำหัวข้อเกี่ยวกับการ เหยียดเพศ (sexism) การกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ (homophobia) รวมไปถึงการเหยียดชาติพันธุ์ (racism) แต่ปัจจุบัน มุกตลกเหล่านั้นถูกนำมาใช้น้อยลง และเริ่มมีมุกใหม่ๆ เช่นมุกตลกที่ชวนคิดเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ ของสังคมมาให้เห็นมากขึ้น
อันจะเห็นได้จากสื่อสังคมออนไลน์ที่ในปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งพยายามท้าทาย และตั้งคำถามต่อสถาบันต่างๆ ในสังคมผ่านการทำให้สถาบันเหล่านั้น ‘ตลก’ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว หรือแม้กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น การนำรูปเศียรของพระพุทธรูปมาใส่แทนหัวของบุคคลจริงในรูปถ่ายเพื่อโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ การวาดภาพล้อเลียนสถาบันต่างๆ ของนักวาดการ์ตูนเสียดสีสังคมอย่าง ‘บัญชา คามิน’ และการล้อเลียนโดยการนำคำราชาศัพท์มาเรียกบุคคลธรรมดาอย่างในกรณีพระมหาเทวีเจ้า เป็นต้น
ตลกกับสถาบันชั้นสูงของสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจินต์ ชี้ให้เห็นถึงบริบทที่เปลี่ยนไปของมุกตลก เกี่ยวกับสถาบันชั้นสูงของสังคมไทยว่า “ลองย้อนกลับไปรัชกาลก่อน ถ้ามีคนเล่นมุกตลกเกี่ยวกับคำราชาศัพท์ เรียกตัวเองว่าเป็นพระมหาเทวีเจ้าแบบนี้ มันจะตลกหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ณ ตอนนั้นมันอาจไม่ตลกเลยด้วยซ้ำ เหล่านี้คือภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” พร้อมบอกว่าการสังเกตมุกตลกที่เกิดขึ้นหรือหายไปในสังคมจะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจินต์ ย้ำกับผู้เขียนว่า ในกรณีพระมหาเทวีเจ้า เขามองว่ามันไม่สามารถขยายเพดานในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันชั้นสูง โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แล้ว เพราะเพดานในการพูดคุยเรื่องดังกล่าวมันถูกดันขึ้นไปสูงมากแล้ว เขามองว่าปรากฏการณ์พระมหาเทวีเจ้าเป็นแค่การผลิตซ้ำเนื้อหาเดิมๆ และปรากฏการณ์นี้เป็นแค่ผลของการท้าทายที่เกิดมาก่อนหน้าของเพจและกลุ่มคนที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเท่านั้น