เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
ภาพ : จุฑารัตน์ พรมมา
หนึ่งชีวิตกำลังนอนนิ่งพร้อมสายมากมายในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ขณะที่อีกหลายชีวิตกำลังวิ่งวุ่นหาที่เผาร่างนั้นให้สมฐานะ
หญิงวัยเกือบร้อยปีให้กำเนิดลูกหลานมากมายในโลกที่ถูกตั้งค่ามาตรฐานและตั้งความดีงามเอาไว้อย่างเสร็จสรรพ ทุกคนต้องได้ดี ต้องเรียบจบสูงๆ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีลูกมีหลานคอยเลี้ยงดูตอนแก่เฒ่า และอีกมากมาย
ลูกๆ ที่เกิดมาต่างก็ใช้ชีวิตตามแบบแผนเดียวกันกับที่ผู้เป็นแม่เคยถูกสั่งสอนมาก่อน และยิ่งเวลาผ่านไป แบบแผนของสังคมที่ว่ามานั้น ยิ่งฝังรากลึกเข้าไปในจิตไร้สำนึกของพวกเขา
เป็นที่รู้กันในครอบครัวว่า ตระกูลของฉันแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งมั่งคั่งและฝั่งที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สิ่งที่ใช้แบ่งสองฝั่งนี้ออกจากกันคือ ‘ภรรยาของปู่’ ภรรยาคนแรกให้กำเนิดลูกๆ ของบ้านฝั่งมั่งคั่ง ส่วนภรรยารองก็ให้กำเนิดลูกหลานของอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อสองสามปีที่แล้วแม่ใหญ่ของบ้านฝั่งมั่งคั่งเพิ่งจะถึงแก่กรรมไป ส่วนตอนนี้ ‘เวลา’ ของแม่อีกคนกำลังจะมาถึง
สิ่งที่ทำให้เห็นชัดว่าทุกคนในครอบครัวตกหลุมพรางปทัฏฐานความดีงาม ‘แบบไทย’ คือการคุยกันของลูกๆ ฝั่งมั่งคั่งน้อยกว่าว่า เราจะจัดงานศพให้แม่อย่างไรให้สมเกียรติ และไม่น้อยหน้าบ้านฝั่งนู้น
อะไรคือความสมเกียรติที่ว่านั้น และทำไมต้องไม่น้อยหน้าบ้านอีกฝั่ง ฉันได้แต่นั่งสงสัยในใจ
ขณะที่ฟังอยู่ ฉันก็คิดไปอีกว่าตอนนี้ย่ากำลังนอนอยู่ในห้องฉุกเฉิน นอนคอย ‘เวลานั้น’ จะมาถึง แต่สิ่งที่ผู้เป็นลูกคิดคือการโอ้อวดความร่ำความรวย ไม่ให้น้อยหน้าบ้านอีกฝั่ง
ทำไมเราถึงไม่สามารถส่งย่าขึ้นสวรรค์ที่วัดธรรมดาๆ กับลูกๆ หลานๆ ไม่กี่คน หวังแค่ให้บรรดาลูกหลานนั่งคุยกันถึงเรื่องย่า ถือว่านี่เป็นโอกาสที่คนในตระกูลจะได้พบปะพูดคุยกัน ไม่ใช่การพยายามอวด ‘บารมี’ด้วยการหาวัดที่โด่งดัง หรือเชิญคนใหญ่คนโตมาทำพิธี แต่ลูกหลานเกือบทั้งหมดกลับไม่รู้จักคนใหญ่คนโตเหล่านั้นเป็นการส่วนตัวเลย
สุดท้ายงานศพของย่าก็คงจบไปแบบที่ทุกคนแทบจะไม่ได้พูดคุยกัน จบไปแบบที่ทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับไปทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเองราวกับว่าการมางานศพของย่าคือหน้าที่หนึ่งที่ต้องทำให้เสร็จไปก็เท่านั้น
สังคมที่เราอยู่กันตอนนี้เป็นสังคมแบบไหนกัน ทำไมเราต้องโอ้อวดบารมีและความมีอันจะกินให้คนอื่นรู้ ทำไมในวันที่ครอบครัวควรจะอยู่ด้วยกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องราวที่แต่ละคนไปพบเจอมา กลับกลายเป็นว่า เรามัวแต่นั่งคิดว่าใคร หรือวัดไหนจะใหญ่โต หรูหรา โอ่อ่า พอที่นำมาใช้ประชันกัน
เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ถูกฝังรากลึกเข้าไปในสังคมที่มีชนชั้นอันซับซ้อน อย่างสังคมไทย
สุดท้ายก็จบอย่างเคย ฉันตัดสินใจไม่เข้าไปต่อรองกับญาติๆ เรื่องการจัดงานศพให้ย่า จะเพราะด้วยความเป็นเด็ก หรือเพราะฉันประเมินแล้วว่า ‘กรอบ’ เหล่านั้นมันแข็งเกินกว่าจะไปปรับเปลี่ยนอะไรได้
แต่ฉันก็มีความหวังลึกๆ ว่า ถึงแม้บรรทัดฐานของสังคมจะเป็นสิ่งที่คนหลายรุ่นปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปบรรทัดฐานเหล่านั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพียงแต่ฉันเองก็ยังไม่รู้ว่า มันจะเปลี่ยนไปเมื่อไหร่?