เรื่อง : กิตติธัช วนิชผล
ภาพประกอบ : จุฑารัตน์ พรมมา
สมาร์ตโฟนของเราเดี๋ยวนี้เป็นเหมือนมีดพับสวิส (swiss army knife) ที่ทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไขควง เป็นกรรไกร ที่เปิดขวด หรือที่เปิดกระป๋อง นอกจากจะใช้โทรออกได้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องเล่นเกม เป็นอุปกรณ์สื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค อุปกรณ์ทำงาน หรือแม้กระทั่งใช้เสพคอนเทนต์ ดูหนัง ฟังเพลงได้อีกด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องการดูหนังและฟังเพลง ถ้าเราจะพกสมาร์ตโฟนไปเสพคอนเทนต์ ก็คงเปิดเสียงออกลำโพงไม่ได้ เพราะคนอื่นคงรำคาญกันพอดี ทำให้มีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘หูฟัง’ ขึ้นมา และวิธีที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างหูฟัง กับสมาร์ตโฟนของเราที่มีใช้มานานแล้วก็คือ ‘แจ็ค 3.5 มม.’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘แจ็คเสียบหูฟัง’ ซึ่งเป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างตัวสมาร์ตโฟนกับหูฟัง ผ่านสายเชื่อมต่อ หรือถ้าอยากฟังเสียงให้ดังมากขึ้นกว่าที่ลำโพงสมาร์ตโฟนจะทำได้ ก็ต้องต่อออกลำโพงแยกด้วยสายเดียวกันนี้
แต่ถ้าลองสังเกตดูสมาร์ตโฟนบางเครื่องดี ๆ ไอ้เจ้าแจ็ค 3.5 มม.มันไม่อยู่แล้วนี่นา
ปัจจุบัน ช่องเสียบหูฟัง ที่เหมือนจะเป็นฟีเจอร์ที่สำคัญ กลับไม่มีอยู่ในสมาร์ตโฟนบางเครื่องซะอย่างนั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? แล้วเราควรจะทำยังไงต่อไป ?
กว่าจะมาเป็น ‘ช่องเสียบหูฟัง’
สำนักข่าวบีบีซีได้รวบรวมข้อมูลเรื่องความเป็นมาของช่องเสียบหูฟังนี้ และพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเสียงแจ็ค 3.5 มม. นี้เป็นเวอร์ชั่นย่อของแจ็คไมโครโฟน (6.35 มม.) ที่มีใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1878 นู่นแน่ะ ! วิธีการทำงานของมันค่อนข้างเรียบง่าย ส่วนหัว หรือเบ้าเสียบของสายจะเป็นเหมือนตัวนำไฟฟ้า ที่สามารถแตะเข้ากันกับเบ้ารับที่อยู่ตามอุปกรณ์ที่รองรับ แล้วส่งเสียงเข้า หรือออกมาได้ผ่านทางการเชื่อมต่อเช่นนี้ สามาถถอดเข้าและออกได้โดยง่าย
ด็อกเตอร์ ไซมอน ฮอล หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีดนตรี มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ประเทศอังกฤษ บอกกับทางบีบีซีว่า แต่ก่อน แจ็คไมโครโฟนมีขึ้นเพื่อเชื่อมต่อและตัดการเชื่อมต่อ telephone switch board ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์ที่แบ่งคู่สายออกไป ให้เบอร์โทรศัพท์เดียวสามารถรับได้หลายคนพร้อมกันในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการโอนสายอัตโนมัติตามคู่สาย และมาตรฐานของมันก็เป็นแจ็ค 6.35 มม.มาโดยตลอด
ต่อมา แจ็ค 6.35 มม. ก็ถูกนำมาใช้ในหูฟัง และกีตาร์ระดับมืออาชีพ ก่อนจะถูกลดขนาดเป็นขนาด 3.5 มม. เพื่อใช้ในวิทยุทรานซิสเตอร์ วิทยุขนาดพกพา ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1954 ด้วยขนาดวิทยุที่เล็ก ทำให้การเชื่อมต่อด้วยแจ็คใหญ่ ๆ ไม่เหมาะสม ต้องลดขนาดลง และเกิดการใช้แจ็คขนาดใหม่นี้อย่างแพร่หลาย เมื่อเทรนด์การฟังเพลงแบบพกพาเกิดขึ้นจากการวางจำหน่ายของ Sony Walkman ในปี 1979 และยังคงใช้แจ็ค 3.5 มม.นี้ ทำให้ในอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงทั้งพกพาและไม่พกพาใช้แจ็คเดิมนี้อยู่ มาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงในสมาร์ตโฟนในมือของใครหลาย ๆ คนนั่นเอง
การตัดช่องเสียบแจ็ค 3.5 มม. และการตลาดที่บังคับเข้าสู่ยุค ‘ไร้สาย’
เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา Apple บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ของโลก ได้เปิดตัว iPhone 7 และ 7 Plus โดยสิ่งที่น่าสนใจนอกจากสีใหม่ ‘Jet Black’ ปุ่มโฮมแบบจำลอง และ CPU ใหม่ A10 Fusion แล้ว Apple ได้ทำการตัดช่องเสียบแจ็ค 3.5 มม.ออก เหลือเพียงช่องชาร์จแบตเตอรี่ ของ Apple ‘Lightning’ และแถมหูฟังที่ต่อผ่านช่อง Lightning แทน ทำให้ไม่สามารถใช้หูฟังเดิมเสียบได้อีก โดย Apple ให้เหตุผลว่า ไม่มีที่ในสมาร์ตโฟนพอที่จะใส่ระบบสั่นเฉพาะ ‘Taptic Engine’ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกการสั่นเวลากดปุ่มโฮมที่สมจริง
แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น
ในงานเดียวกัน Apple ก็ได้เปิดตัว ‘หูฟังไร้สาย’ ในชื่อที่คุ้นหู ‘Airpods’ ที่กำหนดรูปแบบหูฟังแบบใหม่ที่เรียกว่า true wireless stereo (TWS) หรือหูฟังแบบไร้สายที่แท้จริง ไม่มีสายเชื่อมต่อกันระหว่างแต่ละข้างของหูฟัง แต่เก็บอยู่ในกล่องชาร์จแบตเดียวกัน ซึ่งแน่นอน ไม่ต้องใช้แจ็ค 3.5 มม. เสียบเพื่อเล่นเพลงอีกแล้ว
สังเกตเห็นรูปแบบอะไรบางอย่างไหม ?
Apple เลือกที่จะนำเอาช่องเสียบแจ็ค 3.5 มม. นี้ออกพร้อมกับเปิดตัวหูฟังไร้สายที่ไม่ต้องใช้แจ็ค 3.5 มม.เลย เป็นเหมือนการผลักดันกึ่งบังคับให้เลือกซื้อหูฟังไร้สายที่เปิดตัวมาพร้อมกันนี้อย่างเสียไม่ได้
บางคนอาจจะถามว่า ถ้าจะใช้หูฟังเก่าที่ดีกว่า ใช้สายแปลงจาก Lightning ไปเป็นช่อง 3.5 มม.ก็ได้ แต่จะทำให้ต้องพกสายแปลงให้ยุ่งยากเข้าไปอีก ซึ่งกลายเป็นว่าก็ยังใช้แบบมีสายอยู่ดี ไม่ได้ไร้สายอย่างที่แบรนด์อยากให้เป็น
เมื่อ Apple เริ่ม ‘เทรนด์’ การตัดช่องเสียบแจ็ค 3.5 มม. นี้ออกไป แบรนด์อื่น ๆ ก็เริ่มทำตาม และออกไลน์สินค้า TWS ของตัวเองทีละแบรนด์ ๆ เช่น Samsung – Galaxy Buds, Oppo – Oppo Enco Buds, Realme – Realme Buds, Xiaomi – Mi Airdots หรือ Huawei – Huawei Freebuds เป็นต้น
และที่สำคัญ เมื่อแบรนด์เหล่านี้เปิดตัวหูฟังไร้สาย พวกเขาก็เอาแจ็ค 3.5 มม. ในสมาร์ตโฟนเรือธง (รุ่นท๊อปสุดของปีที่เปิดตัว) ออกตามไปด้วย ส่วนหนึ่งก็อาจจะหวังเพื่อให้ลูกค้าซื้อหูฟังไร้สายพร้อมกัน เป็นเทรนด์กึ่งบังคับให้ใช้หูฟังไร้สายซะอย่างนั้น
แจ็ค 3.5 มม. ที่ถึงจะเก่า แต่ก็ยังเก๋า
เชื่อไหมว่าหูฟังแบบมีสายยังต้องต่อแจ็ค 3.5 มม. ยังคงเป็นหนึ่งในวิธีการฟังเสียงแบบส่วนตัวที่ดีที่สุด แม้ว่าการที่หูฟังจะไม่มีสายแล้วจะทำให้สามารถพกพาได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องคอยพะวงเรื่องสายพันกัน อาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการเชื่อมต่อหูฟังไร้สายนั้นยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ เวลาเล่นเกม เสียงที่ตามมานั้นก็ยังคงมีความหน่วง ไม่ตรงเวลาที่เราควรจะได้ยิน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนที่เล่นเกมที่ต้องเคาะตามจังหวะเพลง การใช้หูฟังไร้สายจึงยังคงสร้างความลำบากในการเล่นเกมเหล่านี้อยู่มาก
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนเคยไปซื้อหูฟังเส้นใหม่ หูฟังที่คุณภาพดีหลายตัว เช่น intime Sora Light ของเพื่อน รวมถึงหูฟังที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันของผู้เขียน Encore Dawn ล้วนใช้แจ็ค 3.5 มม. ทั้งสิ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะแจ็ค 3.5 มม. สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลากหลายกว่า ปัจจุบันอุปกรณ์จำนวนมากก็ยังคงใช้ช่องเสียบแจ็คแบบ 3.5 มม. อยู่เลย ในขณะเดียวกัน หากมีงบน้อย ก็สามารถหาซื้อหูฟังในราคาถูกสุดที่เคยเจอแค่ 50 บาทเท่านั้น หากสมาร์ตโฟนยังคงมีช่องต่อแจ็ค 3.5 อยู่ ก็จะทำให้สะดวกสบายในการเชื่อมต่อหูฟังเพื่อฟังเพลงได้สะดวกกว่านี้
ช่องทางในการเชื่อมต่อหูฟังและลำโพงที่เก่ามาก ๆ อย่างแจ็ค 3.5 มม.นี้ ยังคงทันสมัย และใช้ได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายแล้ว การตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. นี้คงจะเป็นเหมือนสายน้ำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะถูกเปลี่ยนให้หายไปตามกาลเวลาเหมือนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่เคยมีมา และถูกนำออกไป เหมือนที่เกิดขึ้นกับเครื่องเล่นแผ่น CD ในคอมพิวเตอร์ แต่ลองคิดดูสิ การที่อยู่ ๆ หูฟังตัวโปรดของเรากลับใช้ไม่ได้แล้ว เพราะสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่ไม่มีช่องให้เสียบ ต้องหาสายแปลงให้ยุ่งยาก จะไม่ดีกว่าหรอ ถ้าบริษัทผลิตสมาร์ตโฟนจะยังคงสร้างทางเลือกให้มี ‘เทคโนโลยี(ใกล้)โบราณ’ แต่ยังคงแจ๋ว อยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้ผลิตสมาร์ตโฟนเหล่านี้ยังพยายามเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อผลกำไรมากกว่าความพึงพอใจของผู้บริโภค ยังคงจะตัดนั่น เติมนี่ โดยคาดหวังว่าผู้บริโภคก็คงซื้อ ‘อุปกรณ์เสริม’ ที่พวกเขาเสนอให้อยู่ดี ตกลงแล้วทิศทางของสมาร์ตโฟนอยู่ที่ใครกันแน่ ? การที่ปล่อยให้สายน้ำของผู้ผลิตผู้หิวโหยยังไหลเชี่ยวแบบนี้ต่อไป จะดีต่อผู้บริโภคระยะยาวหรือไม่
เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอก
อ้างอิง
เพจเฟซบุ๊ก ความรู้รอบโรงแรม
bbc.com
edn.com
teufelaudio.com
theverge.com