Writings

งบประมาณที่ไม่เท่าเทียม สู่การศึกษาที่ไม่เท่ากัน

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ, เปรมชนก พฤกษ์พัฒนรักษ์, อชิรญา ปินะสา

ภาพประกอบ: สโรชา คล้ำครื้น

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิต รวมถึงด้านการศึกษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการศึกษาจึงกลายเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเพื่อเผชิญกับความท้าทายในการทำงาน

การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือภูมิหลังใดๆ และด้วยเหตุนี้ การสนับสนุนเครื่องมือหรือโปรแกรมที่ช่วยเหลือด้านการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันการศึกษาให้มีความเสมอภาคในยุคดิจิทัล และเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และสังคม

โปรแกรมที่จำเป็นต่อการศึกษา

‘Microsoft Office’ โปรแกรมพื้นฐานสำหรับการทำงาน มีความจำเป็นอย่างมากต่อการศึกษาในยุคดิจิทัล ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาเรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เอกสารด้วย Word การคำนวณวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Excel หรือการนำเสนองานด้วย PowerPoint

นอกจากนี้ Microsoft ยังมีคลาวด์ฟีเจอร์อย่าง Microsoft 365 ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยในการใช้งาน

‘Adobe Creative Cloud’ เครื่องมือสำคัญในวงการสื่อสร้างสรรค์และการออกแบบเชิงวิชาชีพ โปรแกรมอย่าง Photoshop, Illustrator และ Premiere Pro ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในระดับการศึกษาและอุตสาหกรรม

ฟังก์ชั่นของ Adobe ช่วยสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูง ทั้งยังส่งเสริมทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีระบบที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการทำงานอย่างยืดหยุ่นและต่อเนื่อง

ไม่ใช่เพียงแค่โปรแกรมกลุ่ม Microsoft และ Adobe เท่านั้นที่มีความจำเป็นต่อการศึกษา ยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเฉพาะทาง เช่น Matlab (สายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม) และ Autocad (ใช้ในด้านการออกแบบและเขียนแบบทางเทคนิค) หรือโปรแกรมเสริมอื่นๆ อย่าง Canva Pro ที่มีบทบาทช่วยให้การศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อโปรแกรมจำเป็น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงได้

จากแบบสอบถาม Google form นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐในไทย จำนวน 52 คน ในหัวข้อลักษณะการใช้งานโปรแกรมทางการศึกษา พบว่านักศึกษามีลักษณะการใช้งานโปรแกรมเพื่อการศึกษาที่แตกต่างกัน มีทั้งที่มหาวิทยาลัยซื้อลิขสิทธิ์เพื่อรองรับการใช้งานของนักศึกษา นักศึกษาที่ใช้โปรแกรมเวอร์ชันฟรี นักศึกษาที่จ่ายเงินสมัครสมาชิกเอง และบางส่วนหันไปใช้ ‘โปรแกรมเถื่อน’

‘โปรแกรมเถื่อน’ หมายถึงการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ควรสนับสนุน แม้จะใช้เพื่อการศึกษา การที่นักศึกษาบางส่วนต้องหันไปใช้โปรแกรมประเภทนี้อาจสะท้อนถึงต้นตอปัญหาในระดับโครงสร้าง

ยกตัวอย่างลักษณะการใช้ Adobe Creative Cloud จากแบบสอบถาม มีนักศึกษาที่สามารถใช้โปรแกรมจากการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย  17 คน สมัครสมาชิกด้วยตนเอง 8 คน และใช้แบบละเมิดลิขสิทธิ์ 5 คน จากผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้โปรแกรมทั้งหมด 30 คน เห็นได้ว่านักศึกษาที่ตอบแบบสำรวจกว่า 43% ต้องหาแนวทางในการเข้าถึงโปรแกรมด้วยตนเอง

จากผลสำรวจยังพบอีกว่านักศึกษาที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 51 คน ใช้โปรแกรมเสริม อย่างเช่น Canva Pro เป็นอันดับสอง เป็นรองเพียง Microsoft Office เท่านั้น 

เกิดเป็นคำถามที่ว่า เมื่อโปรแกรมเสริมมีบทบาทมากขึ้น จนอาจขยับจากการเป็น ‘ตัวช่วย’ สู่ ‘เครื่องมือหลัก’ ที่สามารถช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ และนำมาสู่คำถามต่อมาที่ว่ามหาวิทยาลัยพร้อมรองรับความต้องการด้านโปรแกรมเพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแล้วหรือไม่?

งบประมาณมหาวิทยาลัยกับความเท่าเทียมทางดิจิทัล

เพราะมหาวิทยาลัยในประเทศไทยบางส่วนยังได้รับการอุดหนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ เราจึงมาดูการแบ่งงบประมาณของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเมื่ออ้างอิงจากสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา จะเห็นหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าบริหารจัดการ โดยจะสนับสนุนตามจำนวนนักศึกษา (Cost per head)
  • ค่าใช้จ่ายลงทุน ใช้สำหรับโครงการพัฒนา เช่น การสร้างอาคาร ซื้อครุภัณฑ์ โดยพิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละสถาบันและความพร้อมของงบประมาณประเทศ

แม้งบประมาณจะได้รับการจัดสรรตามเกณฑ์ แต่ในความเป็นจริง หลายมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง ทำให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยต้องควักเงินจ่ายค่าซอฟแวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์เอง เกิดเป็นภาระทางการเงินของนักศึกษา และบางส่วนที่ไม่สามารถจ่ายได้ ก็ต้องไปพึ่งโปรแกรมผิดลิขสิทธิ์ที่อาจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมาได้

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น เราจึงลงค้นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่มหาวิทยาลัยได้รับย้อนหลัง 5 ปี และได้พบว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำมีอัตราส่วนของงบประมาณที่ได้รับมากกว่ามหาวิทยาลัยในกลุ่มอื่นถึง 8 เท่า

อาทิ หากนำเอางบประมาณของมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดอย่าง มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2567 มาเทียบกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่มีนักศึกษามากที่สุดในมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏในปีเดียวกัน พบว่า มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีจำนวนนักศึกษามากกว่าประมาณ 20% กลับได้รับงบประมาณมากกว่าถึง 18 เท่า

แม้ว่ามหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณสูง 5 อันดับแรกจะเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัย (มหาวิทยาลัยที่ถือว่าการวิจัยเป็นส่วนสำคัญเทียบเท่ากับการเรียนการสอนทั่วไป) แต่การที่ได้รับงบประมาณต่างจากมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏถึง 8 เท่า ถือว่าเป็นตัวเลขที่อาจกำลังสื่อสารอะไรบางอย่างอยู่ เพราะแม้มหาวิทยาลัยราชภัฏอาจไม่ได้เด่นเรื่องการทำวิจัยเท่ากับมหาวิทยาลัยอื่น แต่ก็ควรได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ระบุว่ามหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏนั้นไม่มีการสนับสนุนโปรแกรมกลุ่ม Adobe ต่างกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยถึงเรื่องสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันของนักศึกษาต่างสถาบัน

ลองจินตนาการถึงนักศึกษาสองคนที่มีศักยภาพเท่ากัน แต่เรียนต่างที่ นักศึกษาในมหาวิทยาที่มีงบประมาณต่ำกว่าอาจต้องเสียโอกาสหลายๆ อย่างไป คนหนึ่งได้ใช้โปรแกรมฟรีที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ขณะที่อีกคนต้องเสียเงินเองหรือใช้โปรแกรมเถื่อน นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง

การเข้าถึงเทคโนโลยีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของการศึกษายุคดิจิตอล

รายงานจาก Journal of Social Sciences Review (JSSR) ในปี 2566 กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการศึกษาที่เท่าเทียม ในขณะที่วารสารจาก International Journal of Management & Entrepreneurship Research ปี 2567 กล่าวว่าการส่งเสริมทักษะดิจิทัลและความเสมอภาคทางการศึกษา มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในยุคดิจิทัล ถ้าสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม ก็จะสามารถพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ และพลเมืองดิจิทัลได้ 

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมดิจิตอลอย่างเต็มตัว หากต้องการผลักดันการศึกษา โดยเฉพาะการรองรับในด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างพลเมืองยุคดิจิตอล อาจตั้งคำถามได้ว่า

การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ดีที่สุดแล้วหรือ?

ประเทศไทยแบ่งสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 9 ประเภท โดยใน 10 มหาวิทยาลัยที่ยกตัวอย่างขึ้นมาใน Infographic ข้างต้น ประกอบไปด้วย 3 ประเภท ประเภทแรกคือมหาวิทยาลัยในใบกำกับของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาคือมหาวิทยาลัยรัฐจำกัดรับ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประเภทสุดท้าย มหาวิทยาลัยของรัฐในกลุ่มราชภัฏ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

การแบ่งประเภทมหาวิทยาลัยในลักษณะนี้ ส่งผลถึงวิธีการแบ่งงบประมาณที่ต่างกันไป โดยจากการศึกษาของสำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปี 2560 เรื่อง ‘การศึกษาวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ’ พบว่ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในใบกำกับของรัฐถือว่าเป็นนิติบุคคล ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐที่ยืดหยุ่นกว่าระบบเก่า สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีที่ภาครัฐให้ด้วยตัวเองได้ ทำให้ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ  และยังสามารถเก็บสะสมงบประมาณคงเหลือไปพัฒนาสถานศึกษาของตนเองต่อได้ 

ส่วนข้อเสียที่ตามมา คือ มหาวิทยาลัยมีความเสี่ยงที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักศึกษา หากงบประมาณจากรัฐลดลงจนส่งผลให้ไม่เพียงพอ นักศึกษาอาจต้องจ่ายค่าเทอม หรือค่าหน่วยกิตวิชาเรียนเพิ่ม ซึ่งอาจกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยได้

ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐที่ยังอยู่ในระบบต้องทำตามแผนราชการ ไม่มีความคล่องตัวในการบริหาร และไม่สามารถเก็บงบประมาณเหลือไปพัฒนาสถานศึกษาต่อได้

ด้วยเหตุผลข้างต้นประกอบกับงบประมาณที่สวนทางกับจำนวนนักศึกษา ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณน้อยแต่มีความจำเป็นต้องใช้งานโปรแกรมอาจต้องหาทางเข้าถึงเอง เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล 

หากภาครัฐจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและเท่าเทียมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ ประกอบกับอาจมีการจัดตั้งนโยบายเพื่อการศึกษาที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายซอฟต์แวร์ให้กับนักศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ก็อาจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลได้ส่วนหนึ่ง

ภาครัฐจึงควรพิจารณาทบทวนนโยบายจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุม เพิ่มการพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาให้มากขึ้น หรือสร้างกลไกกลางในการเจรจาลิขสิทธิ์กับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องเป็นภาระทางการเงิน หรือพึ่งพาโปรแกรมเถื่อนอีก

เพราะ ‘การศึกษา‘ ที่เท่าเทียมในโลกยุคใหม่ ต้องรวมถึง ’การเข้าถึงเทคโนโลยี‘ อย่างเสมอภาคเช่นกัน


รายการอ้างอิง

JSSR. (2023). Addressing the Digital Divide: Access and Use of Technology in Education.

สืบค้นจาก https://ojs.jssr.org.pk/index.php/jssr/article/view/326/261

International Journal of Management & Entrepreneurship Research. (2024). PROMOTING DIGITAL LITERACY AND SOCIAL EQUITY IN EDUCATION: LESSONS FROM SUCCESSFUL INITIATIVES. สืบค้นจาก https://www.researchgate.net/profile/Nneamaka-Onyebuchi-4/publication/390164131_Promoting_Digital_Literacy_and_Social_Equity_in_Education_Lessons_from_Successful_Initiatives/links/67e78be29b1c6c487761f276/Promoting-Digital-Literacy-and-Social-Equity-in-Education-Lessons-from-Successful-Initiatives.pdf

Dialnet. (2025). Using Adobe Creative Cloud to create multimedia content in higher education institutions. สืบค้นจาก https://dialnet.unirioja.es/servlet/articulo?codigo=9872526

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2017). การศึกษาวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ. สืบค้นจาก https://cdc.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=423

สำนักงานปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2025). ข้อมูลสถาบันอุดมศึกษา.

สืบค้นจาก https://info.mhesi.go.th/homestat_academy.php

สมาคมสภามหาวิทยาลัย ประเทศไทย. (2025). สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด สกอ. สืบค้นจาก https://tagbth.wordpress.com/สถาบันอุดมศึกษาในสังกั/

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2025). มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ. สืบค้นจาก https://www.ubu.ac.th/web/autonomous/faq/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

Le Pupille : คำถามต่อสิ่งที่ ‘เห็น’ และสิ่งที่ ‘เป็น’

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ  ความคิดแบบเด็กไร้เดียงสากลายเป็นความขบถอันแสบสัน ที่ทำให้โรงเรียนคาทอลิกวุ่นวายตลอดวันคริสมาสต์ เมื่อเทศกาลแห่งการแบ่งปันและภาวนาถึงพระเยซูคริสต์ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเห็นแก่ตัวในโรงเรียนเคร่งศาสนา ‘Le Pupille’ ภาพยนตร์ขนาดสั้นสัญชาติอิตาลี ถูกฉายครั้งแรกในดิสนีย์พลัส (Disney+) เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ...

Writings

ใช้โปรแกรมเถื่อน…แลกกับอะไร?

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร  ภาพประกอบ : ไหมไทย จรดล และ สโรชา คล้ำครื้น ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญของการศึกษา ซอฟต์แวร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการเรียนรู้ การทำรายงาน ...

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

‘Human Zoo’ หรือ  ‘สวนสัตว์มนุษย์ ’ เมื่อความบันเทิงของชนชั้นสูงคือการลดทอนความเป็นมนุษย์

เรื่อง : อชิรญา ปินะสา ภาพประกอบ : Rare Historical photos จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์เสพสุขโดยการบั่นทอนและลดคุณค่ามนุษย์ด้วยกันเอง ? ในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ… ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ  ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save