News

กรีนพีซย้ำ ‘หลักการผู้ผลิตร่วมรับผิดชอบ’ ในโรดแมปขยะพลาสติกใช้ไม่ได้จริง ขาดรายละเอียดและการสนับสนุนจากภาครัฐ

เรื่อง: ตติยา ตราชู

ภาพ: กรีนพีช ประเทศไทย

กรีนพีซย้ำหลักผู้ผลิตร่วมรับผิดชอบตามโรดแมปจัดการขยะพลาสติก ต้องมีรายละเอียดกำหนดหน้าที่ผู้ผลิตให้ชัดเจน รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน วอนภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียง

น.ส.พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ได้ระบุหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) ไว้ แต่ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะให้ภาคผู้ผลิตทำอะไร และภาครัฐจะสนับสนุนอย่างไร “เหมือนมีแค่ร่ม แต่ยังไม่มีการคิดว่าจะทำอย่างไรภายใต้ร่มที่ตั้งไว้ ขาดรายละเอียด เงินสนับสนุน และการกระทำที่ชัดเจน”

น.ส.พิชามญชุ์ กล่าวว่า การนำหลัก EPR มาบังคับใช้ในกฎหมาย ภาครัฐต้องตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณพลาสติกเหลือเท่าไหร่ ต้องการให้ผู้ผลิตลดให้ได้ระดับไหนในแต่ละปี ภาคธุรกิจจึงจะรับลูกต่อได้ เพราะภาคธุรกิจถูกบังคับให้ต้องมีนโยบายว่าต้องการทำอะไร ลดอะไรภายใต้หลักการของตัวเอง และจำเป็นต้องคิดว่าเมื่อผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งต้องรับผิดชอบกับอะไรบ้าง อีกทั้งภาครัฐต้องออกแบบโครงสร้างมาสนับสนุน และหาวิธีการเพื่อให้ EPR เกิดขึ้นได้จริง“หากเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษ จะทำให้ภาคเอกชนหรือประชาชนมีความตื่นตัว เกินกว่าจะมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาของเรา ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องมองให้มากกว่าความเป็นนักบุญ รักษ์โลก ไม่ใช่ CSR (กิจกรรมเพื่อสังคม) ต้องมีหลักการรองรับ มีบทลงโทษ มีวิธีการ ต้องเป็นภาคบังคับ การอาศัยความสมัครใจ มันไม่ยั่งยืน” น.ส.พิชามญชุ์กล่าวและระบุเพิ่มเติมว่า ภาคผู้ผลิตจะไม่อยากทำเพราะต้นทุนสูงขึ้น และต้องรายงานมากขึ้นภายใต้หลักการ EPR ที่ต้องอาศัยความโปร่งใส โดยภาคเอกชนต้องรายงานความคืบหน้าของนโยบาย และเผยแพร่สิ่งที่ดำเนินการให้รัฐและประชาชนได้รับทราบ

น.ส.พิชามญชุ์ กล่าวว่า การบังคับใช้หลัก EPR ภายใต้โรดแมป สามารถใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pays) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ระบบสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน โดยผู้ผลิตต้องคำนวณเอาค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียหรือกำจัดขยะตลอดวงจรชีวิตสินค้า รวมไปในต้นทุนของสินค้าตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าไม่อยากจ่าย ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันกลายเป็นขยะได้มากที่สุด

“ภาครัฐเอาภาษีประชาชนไปกำจัดของเสียหรือจัดการพลาสติก หลักพันล้านร้อยล้าน ณ วันนี้มีแค่ประชาชนกับสิ่งแวดล้อมที่จ่าย จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตต้องนำเงินของตัวเองมาใช้ในเรื่องนี้”  น.ส.พิชามญชุ์กล่าว

สำหรับขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต น.ส.พิชามญชุ์ กล่าวว่า ต้องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากหาวัสดุอื่นมาทดแทนไม่ได้จริง ๆ การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ LCA (Life Cycle Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสินค้าทั้งในแง่อากาศ สุขภาพ ฯลฯ จะเป็นเครื่องมือที่บอกได้ว่าทางไหนที่สามารถเลือกแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

“บริษัทมักบอกว่าถุงพลาสติกมันเบา ง่ายต่อการขนส่ง ลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่พอประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่าพลาสติกไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ที่สุด” น.ส.พิชามญชุ์กล่าวและเพิ่มเติมว่า แม้พลาสติกจะลดก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการขนส่งได้มากกว่าแก้วที่มีน้ำหนักมากและไม่สามารถทำให้แบนเพื่อลดพื้นที่ จึงต้องขนส่งแก้วถี่ขึ้น แต่เมื่อแก้วตกค้างในสิ่งแวดล้อม จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่า อีกทั้งอายุการใช้งานยังยาวนานกว่าพลาสติก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะทิ้งแก้วตอนแตกแล้วใช้งานไม่ได้

น.ส.พิชามญชุ์ กล่าวว่า เมื่อผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้า จะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า จะผลิตอะไร ใส่ในบรรจุภัณฑ์แบบไหน ขายอย่างไร โดยไม่ได้คิดถึงบริบทของต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมต่อการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งว่ามีอะไรและกระทบต่อใครบ้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจหรือผู้ผลิต ซึ่งคนส่วนใหญ่ ยังมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภค
“ตอนนี้เรายังส่งเสียงถึงภาครัฐและเอกชนไม่พอ ยังต้องการการผนึกกำลังของภาคประชาชน อย่างกิจกรรม brand audit ของกรีนพีซ เกี่ยวข้องกับ EPR โดยตรง เป็นการเก็บข้อมูลว่าขยะพลาสติกที่เจอ เป็นของแบรนด์อะไร พลาสติกประเภทใด เพื่อบอกภาคผู้ผลิตว่าเราเจอสินค้าของคุณในสิ่งแวดล้อมนะ สิ่งนี้คือปลายทาง เราต้องการให้คุณใช้ EPR หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว” น.ส.พิชามญชุ์ กล่าวและระบุเพิ่มเติมว่า ทุกคนสามารถทำ brand audit เพื่อกดดันแบรนด์ต่าง ๆ เองได้ เพราะแต่ละคนมีสื่ออยู่ในมือ หรือติดต่อดาวน์โหลดข้อมูลจากกรีนพีซไปทำที่บ้านของตัวเอง และส่งข้อมูลให้กรีนพีซรวบรวมเป็นรายงานปลายปี เพื่อส่งเสียงไปสู่แบรนด์ต่าง ๆ ให้ดังขึ้นได้

ด้านนายอัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิจัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หลัก EPR ต้องได้รับความสำคัญจากผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบาย ต้องกลายเป็นกฎหมายและถูกจัดอยู่ในแผนระยะยาวของประเทศ  ประเทศไทยเริ่มพัฒนาและพูดถึงหลัก EPR กันมากขึ้น แต่ยังคงเป็นระบบแบบสมัครใจหรือเป็นการโปรโมต “ตราบใดที่ยังไม่เป็นนโยบายหลักของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตราบใดที่ยังเป็นการส่งเสริม PR CSR มันจะทำได้แค่บางบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น”

นายอัครพล กล่าวว่า การทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ผลิตขึ้นมา จะทำให้เขามีส่วนรับรู้ในขั้นตอนการจัดเก็บไปกำจัด เขาจะได้รับรู้ถึงความยากง่ายของการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ของเขา รู้ว่ากำจัดยากง่ายอย่างไร เพื่อมีแรงจูงใจไปเปลี่ยนแปลงที่ขั้นการออกแบบสินค้า 

“ข้อมูลในการออกแบบผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ต้องเผยแพร่ออกมาให้ประชาชนและรัฐรับรู้ ยิ่งทำแบบนี้ก็จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีมากขึ้น ว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจผู้บริโภค จะดีต่อเขาเอง บางอย่างอาจจะทำให้ผู้ผลิตมีกำไรมากขึ้นก็ได้ เช่น ไม่ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินความจำเป็น ได้ลดต้นทุน” นายอัครพลกล่าว

สำหรับแนวทางในระดับปฏิบัติ นายอัครพล กล่าวว่า แนวทางอาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เมื่อภาครัฐพัฒนากำหนดเป็นกฎหมาย ควรกำหนดให้ภาคท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ภายใต้ระบบ EPR กระจายความรับผิดชอบนี้ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาจเป็นส่วนสำคัญดูแลเรื่องระบบการจัดเก็บรับคืนบรรจุภัณฑ์ หรือเป็นผู้ควบคุมกำกับการดำเนินการของผู้ผลิต ให้มีระบบการรับคืนที่ทั่วถึงก็ได้ 

กรณีตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค นายอัครพล กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกและซาเล้ง สามารถเป็นตัวกลางรวบรวม ส่งให้ผู้ผลิตโดยตรง หรือให้บริษัทที่ทำหน้าที่กำจัดภายใต้การดูแลของผู้ผลิต เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของจุดรับคืนเคลื่อนที่ได้ เพื่อให้ประสิทธิภาพของการจัดเก็บดีขึ้น 
“อยากให้ภาคประชาชน ที่เป็นผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญของหลักนี้ และช่วยกันผลักดันให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นครอบคลุมตลอดวงจรของผลิตภัณฑ์” นายอัครพลกล่าว


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าว

  • โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก โดยกรมควบคุมมลพิษ 

http://pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20Roadmap.pdf 

  • กิจกรรมจัดทำสถิติแบรนด์จากขยะพลาสติก (brand audit) ปี 2563 

https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/0185bea8-brand-audit-result-th-2020.pdf

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:News

News

สมาชิกองค์กรทำไรท์ ชี้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่มัดรวม ม.112 อาจไม่ผ่านสภา เหตุขัดกับจุดยืนพรรคร่วม

เขียน : ปานชีวา ถนอมวงศ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร องค์กรทำไรท์ เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมืองชี้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมมัดรวมมาตรา 112 อาจไม่ผ่านสภา เพราะขัดกับจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาล แนะหากต้องการแก้ไขปัญหามาตรา 112 ควรแก้ตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ให้มีความสมเหตุสมผลและชัดเจนขึ้น ...

News

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. คาดรัฐบาลเพื่อไทยอาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สำเร็จ

เขียน : ณัฐกานต์ บุตรคาม ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. คาดรัฐบาลเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 ทั้งฉบับไม่สำเร็จ หลังพรบ.ประชามติฯ ...

News

ผช.อธิการฯ แจง ใช้ AI สร้างโปสเตอร์งาน TU Open House จริง

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง ผู้ช่วยอธิการฯ ฝ่ายวิชาการแจง โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม Thammasat Open House ใช้ ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ระบุ หากรัฐบาลทรัมป์จะขับไล่ผู้อพยพ ต้องเพิ่มงบประมาณหลายล้าน และอาจทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง อาจารย์รัฐศาสตร์มธ.ชี้ รัฐบาลอเมริกาสามารถออกคำสั่งนโยบายเนรเทศผู้อพยพได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้อพยพยังขาดความสามารถในการดำเนินการตามนโยบายนี้ อีกทั้งหากขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจขาดแรงงาน พร้อมเสริมว่าในบางเมืองนั้น รัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินการกับผู้อพยพได้ . ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. แนะนักธุรกิจไทยเตรียมหาตลาดเสริม-รัฐฯ เตรียมรับมือสินค้าทะลักจากจีน หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. ชี้ไทยอาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ พร้อมแนะนักธุรกิจไทยเตรียมตัวหาตลาดเสริม ด้านรัฐฯ ต้องเตรียมนโยบายตั้งรับสินค้าทะลักจากจีน จากกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save