เรื่องและภาพประกอบ: อชิรญา ปินะสา

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เวียนมาถึงในทุกปี หลายคนอาจนึกไปถึงแรงงานผู้สละชีพตนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม หรือนึกถึงเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมักดังขึ้นในที่สาธารณะและเวทีนโยบายต่างๆ ในวันนี้ เราจะได้ยินเรื่องความต้องการ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม และหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุม ฯลฯ
แต่ท่ามกลางเสียงเหล่านั้น กลับมีแรงงานกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองข้ามไป เพราะคนบางส่วนในสังคมไม่นับว่าพวกเขาเหล่านั้นคือแรงงาน
แรงงาน
แม้การขายบริการทางเพศของ ‘Sex Workers’ หรือ ‘ผู้ให้บริการทางเพศ’ จะมีลักษณะของการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนค่าตอบแทนเหมือนแรงงานทั่วไป แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ถูกยอมรับว่าเป็น ‘แรงงานถูกกฎหมาย’ ในสายตาของคนหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทำให้ผู้ให้บริการทางเพศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานกลุ่มอื่นมี ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสังคม วันหยุด หรือการคุ้มครองจากความรุนแรงในสถานที่ทำงาน รวมไปถึงการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนเองพึงมี
ขณะเดียวกันพวกเขายังอาจถูกดำเนินคดีหรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การรีดไถจากทั้งผู้ใช้บริการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยข้อกล่าวหาทางกฎหมายที่ยังไม่ได้มีการยอมรับการให้บริการทางเพศในฐานะอาชีพ แม้จะเป็นการทำงานด้วยความสมัครใจ
วันแรงงานสากลถือกำเนิดขึ้นเพื่อย้ำเตือนถึงสิทธิของชนชั้นแรงงานแต่เสียงของกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศแทบไม่เคยถูกกล่าวถึงในวันเช่นนี้ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆ มีตัวแทนเข้ามาร่วมเดินขบวน หรืออภิปรายอยู่บนเวที ผู้ให้บริการกลับเป็นแค่ ‘แรงงานเงา’ เพราะ สังคมที่ศีลธรรมสูงส่ง ไม่เคยมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงตน
ศักดิ์ศรี
หนึ่งเหตุผลของการไม่ได้รับการยอมรับในสังคมของผู้ที่ทำอาชีพนี้ คงหนีไม่พ้นบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม และวัฒนธรรมที่ยังมองงานบริการทางเพศว่า ‘ผิด’ หรือ ‘เสื่อมเสีย’ นำไปสู่การตีตรา ด้อยค่า และลดราคาความเป็นคนของมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพราะเขามีอาชีพเป็นผู้ให้บริการทางเพศ
กำแพงศีลธรรมอันสูงส่งกีดกันผู้ที่มีอาชีพสนองตัณหาให้คนในสังคม ทำให้พวกเขาไม่มีที่ยืนในฐานะแรงงานที่มีสิทธิ์เท่าเทียม
ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขาเหล่านี้ยังโดนมองว่าไร้ศักดิ์ศรี และเมื่อตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงก็มักจะโดนสังคมถ่มถุยและต่อว่า
“ศักดิ์ศรีของพวกคุณ ถ้าสูญเสียไปครั้งหนึ่งก็ไม่มีวันกลับมา แต่พวกเราขายศักดิ์ศรีทุกคืนมันกลับไม่มีวันหมดสักที” สุนทรพจน์จากภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ คังคุไบ สะท้อนถึงความย้อนแย้งของสังคมที่มองว่างานที่ผู้ให้บริการทางเพศทำไร้ศักดิ์ศรี ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย คนทุกคน และอาชีพทุกอาชีพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีสิทธิ์ในการเลือกทำอาชีพในแบบที่ตนเองพึงทำ และทุกอาชีพที่สร้างรายได้และเป็นแรงงานขับเคลื่อนให้ประเทศ คู่ควรแก่สิทธิการคุ้มครองในฐานะแรงงานทั้งสิ้น
กฎหมาย
การผลักดันกฎหมายเพื่อให้รับรองการให้บริการทางเพศในฐานะแรงงาน ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ใครก็ได้มาขายบริการ แต่เป็นการยืนยันถึงสิทธิของบุคคล ที่พึงมีในฐานะแรงงาน และเรียกร้องให้ผู้ทำงานในสายอาชีพนี้ได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรง การแสวงหาผลประโยชน์ และการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานทุกคนควรจะได้รับ
ในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือเยอรมันนี มีการรับรองงานบริการทางเพศให้เป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ให้บริการสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยภายใต้กฎหมายแรงงานที่รัดกุม ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีมนุษยธรรมมากขึ้นทั้งกับผู้ใช้บริการเองและผู้ให้บริการรวมไปถึงสังคมโดยรวม
การผลักดันให้สังคมรับรู้ว่า ‘ผู้ให้บริการทางเพศก็เป็นแรงงานนั้น’ ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องเฉพาะกลุ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมแท้จริง
รายการอ้างอิง
Sutthipath Kanittakul (2020). ‘เพราะร่างกายเป็นของเรา’ ชวนดูโมเดลกฎหมายสำหรับ SEX WORKER ใน 7 ประเทศ. The MATTER. https://thematter.co/social/sexworker-law-in-other-country/125570
THE STANDARD. (2022). เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดแฟชั่นโชว์ ‘Sex Worker’ ครั้งแรกของประเทศ แสดงออกเชิงสัญญะ หวังเลิกเป็นอาชีพใต้ดิน. https://thestandard.co/northern-labor-network-organized-fashion-show-sex-worker/