เรื่อง: ยลพักตร์ ขุนทอง และ แพรพิไล เนตรงาม

ในโลกที่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่เสมอ และการพึ่งพาตนเองและคนรอบข้างอาจไม่ทันใจหรือไม่เพียงพอ การขอให้เทพหรือสิ่งที่มองไม่เห็นเข้ามามีบทบาทในการตอบสนองความไม่แน่นอนเหล่านี้ผ่านการ ‘มูเตลู’ จึงเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของวิถีชีวิตมนุษย์ทุกคน ในทุกสังคม และทุกวัฒนธรรม
เพราะปรากฏการณ์และมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่มีต่อการมูในโลกที่มีทางเลือกหลากหลายน่าสนใจยิ่ง Varasarn Press จึงพูดคุยกับ ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประกีรติ สัตสุต’ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมทำความรู้จักและเข้าใจปรากฏการณ์นี้ให้มากขึ้น
‘มูเตลู’ คืออะไร
Varasarn Press
: คำว่า ‘มูเตลู’ คืออะไรคะอาจารย์
อาจารย์ประกีรติ
: ‘มูเตลู’ เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่คนนิยมหันหน้าเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมดวงชะตาและขอช่วยให้ความปรารถนาของตนปรากฏขึ้นเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การงาน ความรัก โชคลาภ และความสัมพันธ์ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะมีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในและนอกกระแส ตั้งแต่เทพฮินดูและจีน ไปจนถึงการบูชาวัตถุเครื่องประดับที่มีความหมายผูกผันอยู่กับระบบความเชื่อในวัฒนธรรมอื่น ซึ่งผู้คนที่ทำการ ‘มู’ ไม่ได้สักการะเพียงแค่ศรัทธา แต่ทำไปเพื่อผลลัพธ์รูปธรรมบางอย่าง ปรากฏการณ์นี้จึงดูแปลกแยกไปจากกรอบพุทธศาสนา
แท้จริงแล้ว ‘มูเตลู’ อยู่คู่มนุษย์มาตลอด
Varasarn Press
: การมูเตลูเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรคะ
อาจารย์ประกีรติ
: สิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ หรือระบบความเชื่อ เป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตั้งแต่โบราณ หลักฐานทางโบราณคดีและความเชื่อจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นความคิดสำคัญประการหนึ่งที่ว่ามนุษย์ไม่เชื่อว่าตนเองอยู่ในโลกนี้ด้วยตัวคนเดียว เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งในทางกายภาพและทางจิตวิญญาณที่มีมากกว่าเพียงแค่ตัวเราเองเสมอ ซึ่งร่องรอยของระบบความเชื่อมีการแสดงออกผ่านภาษา พิธีกรรม วัตถุ และคัมภีร์ที่ตีความธรรมชาติหรือสิ่งที่เป็นพลังที่มากกว่าตัวมนุษย์เองออกมาในรูปของพระเจ้าและสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเรื่องความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น ความเชื่อในสิ่งที่มีพลังมากกว่าเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเรียกว่า พระเจ้า ธรรมชาติ หรือ เทพแขนงต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่เราพบได้ในทุกสังคมและวัฒนธรรม
ถ้าลองมองมาที่สังคมเรา สังคมไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย บางคนเรียกระบบเช่นนี้ว่า ระบบพุทธ-พราหมณ์-ผี ซึ่งนับว่าเป็นระบบความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาผี ซึ่งเราไม่สามารถแบ่งแยกพรมแดนขอบเขตได้อย่างชัดเจน ระบบความเชื่อไทยสามารถจัดวางระบบความเชื่อต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยให้พุทธอยู่เหนือขึ้นไปกว่าระบบความเชื่ออื่น แต่เทพฮินดู จีน หรือแขนงอื่น ยังล้วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีเรื่องเล่าเชื่อมโยงกันและมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แม้ในบางครั้งอาจมีลักษณะเชิงแข่งขันกัน แต่ส่วนมากจะพบว่ามีการทำงานที่สนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น เข้าไปในวัดพุทธก็จะเจอทั้งเจ้าแม่กวนอิม พระราหู และพระพิฆเนศ
การผสมผสานนี้ทำให้ความหลากหลายดำรงอยู่ได้เพราะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยน ความต้องการ ความกังวล และความปรารถนาของคนก็จะเปลี่ยนแปลงตาม รูปแบบของศาสนาใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของตนจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
Varasarn Press
: ในสังคมตะวันตกตอนนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้เหมือนกันหรือไม่คะ
อาจารย์ประกีรติ
: ในสังคมประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ความเชื่อความศรัทธาไม่ได้ลดถอยลงเลย มันอาจแค่เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปตะวันออกที่ศาสนาคริสต์ยังมีความสำคัญ หรือในประเทศแถวยุโรปตะวันตก ที่ถึงแม้ผู้คนในกลุ่มประเทศเหล่านี้เข้าโบสถ์น้อยลงและไม่ได้ระบุตัวตนตามศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ ในทางกลับกัน พวกเขาหันเข้าหารูปแบบทางจิตวิญญาณใหม่ ๆ เช่น นิกายแม่มดแบบวิคคา (Wicca) เพราะฉะนั้นเรื่องความเชื่อและศาสนาจึงเป็นเรื่องที่อยู่คู่มนุษยชาติมายาวนานแล้ว
ฃหากพิจารณาตัวเลขสถิติการถือศาสนาจากการสำรวจทัศนคติและความเชื่อคนทั่วโลกของสถาบันวิจัย Pew Research Center จะพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทิ้งหรือหายไปจากศาสนาเลย เพียงแต่การพูดถึงและการถือศาสนานั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะความเบื่อศาสนาแบบเก่าที่ถูกจัดระบบโดยรัฐให้กลายมาเป็นศาสนาหลักในสังคม เนื่องจากรูปแบบศาสนาแบบเก่าไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมอีกต่อไป คนรุ่นใหม่จึงหาศาสนาหรือความเชื่อแบบใหม่ ๆ
‘มูเตลู’ ในยุคโลกาภิวัตน์
Varasarn Press
: ในตอนนี้ทุกอย่างล้วนปรับตัวสู่โลกออนไลน์ แล้วการมูเตลูมีการปรับตัวอย่างไรบ้างคะ
อาจารย์ประกีรติ
: ถึงแม้ความเชื่อจะเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วแต่ แต่ความหมายของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ พื้นที่ทางศาสนาได้ผนวกเอาโลกออนไลน์และวัฒนธรรมป๊อบเข้ามา พื้นที่ออนไลน์ได้กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับชีวิตทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ เทพมีการกระจายตัวเป็นที่รับรู้ทางโลกออนไลน์มากขึ้น ผู้คนรุ่นใหม่ใช้พื้นที่ออนไลน์สำหรับการแสดงออกและสร้างชุมชนผู้ศรัทธา
เราพบว่าความเฉพาะด้านดูจะเป็นแบบแผนสำคัญในพื้นที่ศาสนายุคใหม่ เช่น เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูจะได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่จากบทบาทความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น อย่างพระแม่ลักษมีจะเด่นด้านความรักและงาน พระพิฆเนศเด่นเรื่องการศึกษาและศิลปะ เจ้าแม่กวนอิมสำหรับเรื่องลูก และพระราหูเด่นเรื่องการแก้เคล็ดดวงชะตา ขณะที่พระพุทธรูปและวัดที่มีชื่อเสียงยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า สิ่งนี้คือการแบ่งงานกันทำระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเก่าและใหม่ที่ถูกผนวกเข้ามาในจักรวาลทางวัฒนธรรม ซึ่งขยายพรมแดนไปมากกว่าเพียงโลกของพุทธศาสนาและคติชนท้องถิ่น ซึ่งแนวทางการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็มีการปรับตัวที่หลากหลายมากไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่และลักษณะเฉพาะทางนี้ด้วย อย่างที่จะเห็นได้จากการนำเอาวัฒนธรรมแฟนด้อมมาใช้ในการสักการะเทพ เช่น พระพิฆเนศ
แนวคิดต่างประเทศจะเรียกปรากฏการณ์ที่คนเลือกบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลากหลาย โดยไม่ยึดติดอยู่กับสัญลักษณ์ทางศาสนาแต่เพียงศาสนาเดียวว่า ‘religious marketplace’ หรือ ‘ตลาดทางศาสนา’ กล่าวได้ว่าผู้คนในยุคนี้มีลักษณะการเข้าร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับการเลือกซื้อสินค้าในตลาด ซึ่งจะเป็นการเลือกตามความต้องการและความสนใจเฉพาะของตน จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้การถือศาสนาและความเชื่อมีความหลากหลายและเป็นปัจเจกแตกต่างออกไปจากสมัยก่อน
มูแบบคนรุ่นเก่า VS มูแบบคนรุ่นใหม่ งมงายหรือที่พึ่งทางใจใครตัดสิน?
Varasarn Press
: เมื่อมีข่าวการขูดหวย การดื่มน้ำผุด หรือการบูชาสิ่งแปลกตามความเชื่อของชาวบ้านเกิดขึ้น ทำไมเราจึงเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมองว่าเรื่องเหล่านี้งมงายคะ
อาจารย์ประกีรติ
: การมูแบบคนรุ่นเก่าตามความเชื่อแบบท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้บูชาต้นไม้หรือจอมปลวก คนรุ่นใหม่อาจจะมองเป็นเรื่องงมงาย เพราะเราใช้กรอบความคิดของเราไปตัดสินเขา แต่พอเรามูในแบบของเราเองบ้าง เราจะไม่เห็นว่างมงาย อาจเพราะอคติเราเลือกที่จะทำงานแค่ในบางกรณี
การแบ่งแยกนี้อยู่บนกลไกทางความคิดที่ทำงานแบ่งแยกประเภทระหว่างศาสนาจริงและปลอม การเติบโตในสังคมพุทธมาตลอดได้หล่อหลอมความคิดให้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาอยู่ในภาคเมือง และเติบโตมาอย่างห่างไกลวิถีชีวิตที่วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน พวกเขามักเข้าใจว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นเรื่องการพ้นทุกข์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องหลักปรัชญา แต่พอเป็นความเชื่อแบบประชานิยมหรือความเชื่อที่ชาวบ้านท้องถิ่นยึดถือ คนอีกกลุ่มก็ตัดสินโดยใช้มุมมองแบบปัญญาชนที่ต้องมีหลักคิดและเหตุผลเป็นที่ตั้ง รวมถึงยังมีการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ จึงทำให้มองพุทธแบบชาวบ้านเป็นเรื่องงมงาย โดยแนวทางการตัดสินศาสนาดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เพราะเป็นสิ่งที่พัฒนามาพร้อมกับประวัติศาสตร์การปรับตัวของพุทธศาสนาให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา
แต่เส้นแบ่งระหว่างเหตุผลและความงมงาย พุทธแท้ และความเชื่อ เป็นพรมแดนที่ไม่มีความชัดเจนในโลกชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งเรามักเจอสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม เช่น แม้เราอ่านหนังสือมาเต็มที่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะสอบได้รึเปล่า เราจึงยังพึ่งพาสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่สิ่งที่ต่างกับกรณีของชาวบ้านคือเราจะปลอบใจตัวเอง ว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ถึงขั้นต้องไปกินดินหรือกินน้ำผุด ดังนั้นมันจึงไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ถึงแม้ในบางทีอาจมีผลเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นต้องจ่ายเงินค่าของสักการะสิ่งศักสิทธิ์ แต่เรานับเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า เพราะยังอยู่ในหลักเหตุและผล การนำวัฒนธรรมป๊อบมาผสมกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นหนึ่งในวิธีการหลบเลี่ยงภาพลักษณ์ที่ดูงมงาย การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบน่ารัก ๆ ในรูปแบบวัฒนธรรมแฟนด้อม เช่นคนที่นับถือพระพิฆเนศมาร่วมร้องเพลงให้ท่านในวันคเณศชยันตรี มันเป็นภาพที่น่ารัก ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และไม่ได้ดูงมงาย
ฉะนั้นการตัดสินคนอื่นเรื่องความเชื่อจึงมีการทำงานที่มีความย้อมแย้งในตัวเอง เพราะเราอาจใช้มาตรฐานแบบหนึ่งในการตัดสินคนอื่น แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราทำสิ่งนั้นด้วย เราก็เลือกใช้เหตุผลอีกแบบหนึ่งเพื่อสนับสนุนการกระทำของเราเอง เราอาจต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘มูเตลู’ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องร่วมสมัย ไม่งมงายแบบโง่งม มีภาษาและคำเรียกที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมแฟนด้อมที่เราคุ้นเคย ซึ่งฟังแล้วดูดี แต่ตกลงแล้วสิ่งที่เราทำเหล่านี้เป็นคู่ตรงข้ามกับสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำจริงหรือ
คนรุ่นใหม่นับถือพุทธศาสนาน้อยลงจริงหรือ ?
Varasarn Press
: แล้วถ้ามีความเชื่อแบบใหม่เยอะแบบนี้ คนรุ่นใหม่จะนับถือพุทธศาสนาน้อยลงมั้ยคะ
อาจารย์ประกีรติ
: คนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดมาในวิถีชีวิตแบบเก่าที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนดังเช่นเมื่อก่อน โลกของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่โลกที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาแบบเดิม พวกเขามองหาสิ่งที่เข้าถึงได้มากกว่า สิ่งที่สามารถเชื่อมโยงด้วยได้ง่ายกว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่หันหลังให้พระพุทธศาสนาแบบเก่า ก็เพราะถ้าเข้าวัดไปเจอพระ ท่านก็จะบอกให้เราต้องถือศีล ต้องทำจิตให้ว่าง คนรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกว่าคำแนะนำนี้เป็นสิ่งไกลตัว
ในทางกลับกัน สมมุติเราไปไหว้พระแม่ลักษมีซึ่งเป็นเทพฮินดูผู้หญิงที่เด่นในด้านความรักและการงาน มีวิธีการบูชาด้วยของสีชมพูสวยงาม สิ่งของที่บูชาก็สามารถจัดหาและออกแบบได้ตามจริตเราเอง เมื่อบูชาแล้วมีความเช่ือว่าท่านจะเมตตาพระทานพรให้ความปรารถนาเราเป็นจริง การสักการะพระแม่ลักษมีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบข้อจำกัดเหมือนการไปวัด จับต้องได้มากกว่า เข้าถึงได้มากกว่า แน่นอนว่าเข้าถึงได้มากกว่าการทำจิตให้ว่าง และมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะให้ผู้ศรัทธาสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้ด้วย ความเข้าถึงง่ายนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหาทางเลือกใหม่นี้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถเห็นตัวเองในนั้นได้
แต่เราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่นับถือพุทธศาสนาน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้มีการสำรวจเชิงสถิติอย่างจริงจัง และการนับถือพุทธนั้นมีหลายรูปแบบ พิธีสักยันต์ไหว้ครู การไปทำบุญวันสำคัญทางพุทธศาสศาสนา รวมถึงการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาต่างเป็นความหลากหลายของการถือพุทธศาสนา สิ่งที่เราเห็นจึงจะเป็นการกระจายตัวของการนับถือพุทธศาสนา ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นพุทธเชิงเดี่ยวแบบเก่า
แต่ข้อกังวลประการหนึ่งได้แก่ แม้จะมีกลุ่มทางศาสนาที่หลากหลายมากขึ้น แต่การทำความเข้าใจคนอื่นกลับไม่ได้มาพร้อมกับความหลากหลายดังกล่าว ตัวอย่างประการหนึ่งจะได้แก่การจับผิดและตำหนิพฤติกรรมพระสงฆ์ด้วยการใช้ข้ออ้างเรื่องพระวินัยมาจำกัดพระให้อยู่ในกรอบที่ไม่สะท้อนพลวัตโลกสมัยใหม่ เช่น ตำหนิว่าพระจับเงินไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ทั้งที่ในโลกปัจจุบันถ้าไม่ใช้เงินแล้ว พระจะเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่ฆราวาส โดยเฉพาะในหมู่คนเมือง ได้เข้ามามีบทบาทปกป้องสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นความบริสุทธิ์ของศาสนา แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจว่าชีวิตของพระเป็นอย่างไร กรณีอื่น เช่นการสักยันต์ ไหว้ครู ก็เช่นเดียวกันที่คนมักจะเอาไปล้อเลียนว่าเป็นเรื่องตลก ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความเข้าใจข้ามเส้นพรมแดนตัวตนของพวกเรากลับมีระยะห่างมากขึ้น
จากพระเครื่องสู่กำไลหิน เครื่องรางการมูเตลูของคนรุ่นใหม่ที่ว่าด้วยความ ‘POP’
Varasarn Press
: ทำไมตลาดวัตถุมงคลคงอยู่มาตลอดและมีการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างรวดเร็วคะ
อาจารย์ประกีรติ
: ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะแนวโน้มคนที่จะมีความปัจเจกมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดจะได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุสักการะ สมัยก่อน คนอาจห้อยพระไว้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณพระรัตนไตรและคำสอน โดยพระเครื่อง เช่น หลวงปู่ทวดไม่เพียงแต่เป็นที่เชื่อกันว่าจะคอยคุ้มครองผู้สวมใส่ แต่ยังเป็นตัวแทนของชุมชนแห่งความศรัทธาด้วย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการห้อยพระเครื่องไม่เป็นที่นิยมเพราะไม่ได้มีความป๊อปในด้านภาพลักษณ์และสุนทรียะ คนรุ่นใหม่นิยมสวมใส่เครื่องประดับที่ดูกิ๋บเก๋และสามารถปรับแต่งให้เข้ากับเสื้อผ้าและแฟชั่นของตนเองได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งเป้าหมายของวัตถุเหล่านี้ไม่ได้มีมิติทางด้านชุมชนแบบแต่ก่อน แต่เป็นเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะตนของผู้สวมใส่
ด้วยเหตุนี้การสร้างวัตถุมงคลร่วมสมัยจึงปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว วัตถุมงคลจากแบรนด์ เช่น Ravipsa กำไลหินสีมงคล กำไลจี้ที่ใช้สัญญะแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความสวยงาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับตัวเราในฐานะปัจเจกชน ซึ่งมีบทบาทสร้างความรู้สึกใกล้ชิดและการได้รับการดูแลปกป้องจากพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าที่คนเปลี่ยนมาหาวัตถุแบบนี้แสดงให้เห็นทั้งความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ความต่อเนื่องจะได้แก่การที่คนยังเลือกใช้วัตถุมงคลเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความหมายบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และการเปลี่ยนแปลง คือการเปลี่ยนจากชุมชนไปสู่ความเป็นปัจเจกชนที่มากขึ้น
ความท้าทายของศาสนาพุทธแบบเก่าในยุคที่ ‘มูเตลู’ มีความหลากหลาย
Varasarn Press
: ถ้าการมูเข้ามามีบทบาทมากขนาดนี้ พุทธศาสนาจะยังอยู่ได้มั้ยคะ
อาจารย์ประกีรติ
: แน่นอนว่าคณะสงฆ์ถูกสั่นคลอนมากในปัจจุบัน แต่เดิมพระสงฆ์ถูกสั่งสอนให้เผยแพร่ธรรมะด้วยการเทศนา แต่เมื่อคำเทศน์ดังกล่าวถูกมองว่าไม่สำคัญและไม่มีประโยชน์ คำถามคือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจและให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาอย่างที่คนรุ่นเก่าเห็นและเข้าใจ
อีกหนึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นคืออำนาจระหว่างพระกับฆราวาสเริ่มมีสถานะที่ไม่เท่ากัน ในช่วงหลังมานี้ฆราวาสมีบทบาทมากกว่าพระ เพราะสามารถเข้าถึงความรู้ทางศาสนาได้ง่ายขึ้น ตอนนี้พระไตรปิฎกเองก็สามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้หมด และฆราวาสเองมีข้อจำกัดน้อยกว่าพระสงฆ์ พวกเขาสามารถจัดการเรื่องเงินทองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า มีความรู้ทางโลกที่พร้อมกว่า และสามารถแม้กระทั่งสร้างโรงเรียนสอนวิปัสสนาพร้อมสร้างระบบเก็บเงินค่าเล่าเรียน ซึ่งด้วยจารีตประเพณี พระทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะจะถูกมองว่าดำเนินกิจกรรมแสวงหากำไร แต่ในกรณีญาติโยม การเก็บเงินกลับทำให้เกิดความชอบธรรม เพราะถูกมองว่าถ้ากล้าเก็บเงิน ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญ ความคาดหวังที่มีต่อพระและโยมจึงต่างกัน
ในขณะเดียวกันความหลากหลายที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนา ช่วยให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงโอกาสการปรับตัวที่ดีขึ้น เพราะในสมัยก่อนพระเป็นผู้ผูกขาดความรู้ทางศาสนา เนื่องจากพระและเจ้าเป็นเพียงคนไม่กี่กลุ่มในสังคมที่รู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้ แต่ในปัจจุบันการศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนรู้หนังสืออย่างแพร่หลาย สามารถอ่านคัมภีร์ศาสนาเองได้ ความรู้เหล่านี้เองก็เข้าถึงได้ง่ายในโลกออนไลน์ ทำให้คนทั่วไปมีความรู้ในคำภีร์พุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นจากสมัยก่อน
อย่างไรก็ดี สังคมที่หลากหลายไม่ได้หมายความว่าคนในสังคมจะมีความอดทนต่อกันและเข้าใจซึ่งกันและกัน บางทีสังคมหลากหลายก็ขัดแย้งกันเยอะเพราะต่างคิดว่าตัวเองถูก นี่คือความท้าทายของโลกร่วมสมัยที่เราจะต้องหาพื้นที่กลางสำหรับการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โจทย์คือเราจะสร้างพื้นที่นี้ได้อย่างไร เราจะสื่อสารข้ามพรมแดนตัวตนของเราได้อย่างไร พื้นที่กลางนี้จะต้องมีหน้าตาอย่างไร สิ่งนี้คือความท้าทายในสังคมปัจจุบัน
การ ‘มูเตลู’ ไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้น ‘มูแล้ว มูอยู่ มูต่อ’
Varasarn Press
: อาจารย์อยากฝากอะไรถึงคนที่ยังมูเตลูอยู่มั้ยคะ
อาจารย์ประกีรติ
: ถ้าาถามว่าการมูผิดมั้ย คงต้องบอกว่า “มูมาแล้ว มูอยู่ ก็มูต่อไป”…เพราะเรื่องของจิตวิญญาณ หากไม่ได้ไปละเมิดสิทธิใครก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และแม้ความเชื่อเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว แต่ในอีกมิตินึงก็เป็นเรื่องของชุมชนด้วยเช่นกัน ในสมัยก่อนวัดเป็นศุนย์กลางชุมชน เมื่อคนไปทำบุญก็จะไปพบเจอพูดคุยกันที่วัด สำหรับสังคมเมือง พื้นที่ออนไลน์ได้กลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับชุมชนทางศาสนา เพราะทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางสำหรับการพูดคุยกัน ทั้งในเรื่องของข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ที่มีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพียงแต่ชุมชนออนไลน์เหล่านี้จะมีความเป็นชุมชนเฉพาะ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากนัก
พรมแดนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับชุมชนศรัทธาที่หลากหลาย และพรมแดนนี้ทำหน้าที่ป้องปิดการสื่อสาร เชื่อมโยงและเข้าใจกัน คำถามคือคนในสังคมยอมรับความหลากหลายได้จริงหรือเปล่า ดังนั้นจึงอยากเสนอว่าเราควรทำความเข้าใจทั้งผู้อื่นและตนเอง เพราะถ้าเราเคยชินกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแบบของเราและมีเหตุผลว่าทำไมเราถึงทำเช่นนั้น เราก็ควรมองชาวบ้านที่ไหว้น้ำผุดหรือไหว้พญานาคด้วยสายตาแห่งความเข้าใจที่เราใช้มองพวกเรากันเองด้วย ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจ และมองการกระทำของคนอื่นด้วยมุมมองของเขา การมองดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจไม่ใช่แค่ผู้อื่น แต่เป็นตัวเราเองด้วย เพราะท่ามกลางความหลากหลายในโลกปัจจุบันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด เรากลับพบว่าท่าทีต่อการทำความเข้าใจคนอื่นยังกำกวมและไม่ชัดเจน ซึ่งนี่คือเงื่อนไขที่สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้