LifestyleSocietyWritings

ทวิตเตอร์สเปซ กับการเป็นพื้นที่สาธารณะยุคใหม่

เรื่องและภาพประกอบ : ปุณยภา เรืองสุวรรณ

“วันนี้มีใครเปิดสเปซบ้าง” “เขากำลังคุยกันอยู่ในสเปซเลย ลองไปฟังดูไหม”

‘สเปซ’ กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในทวิตเตอร์มาพักใหญ่ ๆ เป็นพื้นที่เปิดให้ผู้ใช้งานได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านสัมผัสใหม่อย่างการสนทนาโต้ตอบแบบ ‘Real Time’ ซึ่งในอดีตไม่เคยมีอยู่ในทวิตเตอร์มาก่อน ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ชุมชนทวิตเตอร์ใช้สเปซพูดคุยอะไรกันบ้าง และสเปซตอบโจทย์ในแง่พื้นที่สาธารณะมากแค่ไหน วารสารเพรสขอพาทุกคนไปรู้จักและวิเคราะห์พื้นที่แห่งนี้ไปด้วยกัน

ทำความรู้จักกับทวิตเตอร์สเปซ

‘สเปซ’ หรือชื่อเต็ม ๆ คือ ‘ทวิตเตอร์สเปซ (twitter spaces)’ เป็นฟีเจอร์หนึ่งของแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ ที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2564 ลักษณะคือเป็นพื้นที่สนทนาด้วยการถ่ายทอดสดโดยใช้เสียง ตำแหน่งในห้องสเปซจะมีผู้ดำเนินรายการ (host) ซึ่งเป็นผู้กดเริ่มการสนทนา และสามารถจัดการเกี่ยวกับผู้พูดภายในห้องได้ เช่น การกดยินยอมให้กับผู้พูดคนใหม่ การกดปิดเสียงผู้พูดทั้งหมด การเปลี่ยนผู้พูดให้กลายเป็นผู้ฟัง และสามารถแต่งตั้งผู้ดำเนินรายการร่วม (co-host) ได้ 2 คน สำหรับผู้พูดในสเปซจะมีได้ถึง 10 คน ไม่รวมผู้ดำเนินรายการและผู้ดำเนินรายการร่วม สำหรับความจุของผู้ฟังในห้องสเปซนั้นไม่จำกัด โดยจำนวนมากที่สุดในไทยที่ผู้เขียนเคยเข้าฟังคือประมาณ 96,000 ผู้ฟังต่อหนึ่งห้อง อ้างอิงจากการเปิดสเปซของบัญชีผู้ใช้ ‘คณะราษเปซ (@ThePeopleSpaces) ที่เป็นบัญชีผู้ใช้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง สังคม และสัพเพเหระ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยวิธีการเข้าร่วมสเปซนั้นมี 2 ช่องทาง วิธีแรก คือ จากการติดตามบัญชีผู้ใช้งานของผู้ดำเนินรายการหรือผู้พูดในสเปซ โดยผู้ติดตามสามารถเข้าร่วมสเปซได้ผ่านทาง fleet (ลำดับเหตุการณ์หน้าแรกของผู้ใช้งาน) วิธีที่สอง การเข้าโดยใช้ลิงก์ของสเปซ โดยสามารถสามารถแชร์ลิงก์ลงบนหน้าทวิตเตอร์ หรือส่งผ่านทางข้อความส่วนตัว

ทวิตเตอร์สเปซกับการใช้งานของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

ไม่ต่างจากสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มอื่น ๆ ทวิตเตอร์เองก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีการรวมตัวของกลุ่มคนซึ่งมีความสนใจในประเด็นหรือเรื่องราวเดียวกัน ประกอบกับในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าพื้นที่สาธารณะบนพื้นที่จริงนั้นไม่สามารถจัดขึ้นได้ หรือถึงแม้จะจัดขึ้นก็ยังต้องควบคุมตามมาตรการเข้มข้น ทำให้พื้นที่ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มคนในชุมชนทางสังคมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลงไป แต่ดังคำกล่าวที่ว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ และปัจจัยที่มนุษย์มีความต้องการความรักและสังคม ซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่ 3 ในทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ดังนั้น กลุ่มทางออนไลน์ที่มีมาก่อนนานแล้ว ก็ยิ่งมีความเข้มข้นของกิจกรรมและการพูดคุยมากขึ้นเมื่อเกิดการระบากของโควิด-19 เช่นนี้ เพื่อทดแทนการเข้าสังคมแบบเจอกันต่อหน้าที่หายไป

แน่นอนว่า เมื่อเกิดฟีเจอร์ทวิตเตอร์สเปซ กลุ่มคนซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการรวมตัวของกลุ่มอย่างแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ จึงนำฟังก์ชันการใช้งานนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มพบเจอ และการรวมกลุ่มพูดคุยอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ผู้เขียนค้นพบความน่าสนใจจากกรณี #กะรัตOPENHOUSE โดยกลุ่มแฟนคลับ ‘กะรัต’ แฟนคลับศิลปินวงไอดอลเกาหลี ‘SEVENTEEN’ ซึ่งจัดขึ้นทั้งหมด 5 วัน ในช่วงเวลาประมาณ 20:30 น. เพื่อแนะแนวทางการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จากรุ่นพี่ภายในกลุ่มแฟนคลับเองและจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่การจัดงาน open house ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องดำเนินการแบบออนไลน์ การใช้ทวิตเตอร์สเปซเพื่อแนะแนวการเรียนและการศึกษาต่อ ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเล่าลักษณะการเรียน ลักษณะสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย หรืออาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจได้ สำหรับผู้เขียนมองว่า การใช้งานทวิตเตอร์สเปซแสดงให้เห็นถึงการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไร้พรมแดนได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากการไป open house แบบออนไซต์มีข้อจำกัด เช่น การเดินทาง ค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องหยุดเรียนเนื่องจากจัดงานในวันธรรมดา ฯลฯ แต่เมื่อเปิดใช้งานสเปซก็จะช่วยลดข้อจำกัดบางประการลงไปได้ แม้จะเดินทางไปไม่ได้ แต่เพราะเป็นออนไลน์ จึงได้ฟังประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่อยู่มหาวิทยาลัยที่เราสนใจนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้วยังมีสเปซที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากเกิดการโกงเงินจากการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เช่น อัลบัมของศิลปินไอดอล, สินค้าจากการ์ตูนต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้เสียหายและผู้กระทำผิดใช้ทวิตเตอร์สเปซเพื่อพูดคุยไกล่เกลี่ยในเบื้องต้น หรือหากผู้กระทำผิดจะชี้แจ้งหรือหากผู้กระทำผิดจะคืนเงิน ก็จะใช้สเปซแจ้งข้อมูลต่าง ๆ สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียนซึ่งเคยเป็นผู้เสียหายจากการโดนโกงเงินเครื่องสำอาง ภายในกลุ่มผู้เสียหายพูดคุยกันว่า การใช้สเปซจะช่วยเพิ่มเสียงให้กับเรื่องที่เกิดขึ้นจนได้รับความสนใจจากสาธารณชน และอาจจะนำจุดนี้ใช้เพื่อกดดันผู้กระทำผิดได้

นอกจากกรณีที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดสเปซโดยกลุ่มต่าง ๆ ในทวิตเตอร์อีกมาก ซึ่งผู้ใช้งานทวิตเตอร์เองก็สามารถเลือกเข้าฟังได้ตามสมัครใจและความสนใจในหัวข้อของแต่ละสเปซ ยกตัวอย่างเช่น สเปซเล่าเรื่องสยองขวัญ, #สเปซโคนัน พูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘โคนัน เจ้าหนูยอดนักสืบ’ การ์ตูนญี่ปุ่นเกี่ยวกับนักสืบมัธยมปลาย, สเปซเกี่ยวกับการพูดถึงเพลงและดนตรี, สเปซเกี่ยวกับนักวาด ลิขสิทธิ์ และกฎหมาย และอื่น ๆ

ทวิตเตอร์สเปซกับกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นการเมืองไทยกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ผู้เขียนเห็นการเปลี่ยนผ่านของการใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารในเรื่องการเมือง ตั้งแต่ยุคที่การเมืองเป็นสิ่งที่ยากที่จะพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ บรรยากาศการพูดถึงการเมืองเต็มไปด้วยความหวาดกลัว มาจนถึงผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทยสามารถนำเรื่องการเมืองและสถาบันต่าง ๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ หากแต่ยังมีการล้อเลียนกับความตลกร้าย อย่างการใช้ ‘มีมพิซซ่า’ ที่สื่อเป็นนัยถึงกฎหมายมาตรา 112 กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ หรือหากใครทวีตเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ก็มักจะมีความคิดเห็นแนว ๆ ว่า ‘ไม่หาร’ ซึ่งหมายความว่าหากถูกดำเนินคดี ผู้แสดงความคิดเห็นนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ทวีตนั่นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทยเริ่มรณรงค์เพื่อให้ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ ได้โดยไม่ตกอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว โดยลดการผลิตซ้ำการใช้มีมหรือคำพูดดังที่กล่าวไปข้างต้น เพราะมีมหรือคำพูดที่มีนัยยะเช่นนั้น จะทำให้สังคมยิ่งเกิดความกลัวต่อการพูดถึงรัฐบาลและสถาบันว่าจะถูกจับไปบ้าง ถูกดำเนินคดี ถูกรัฐจับตามอง ฯลฯ ซึ่งความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นจะทำให้ไม่เกิดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

จนมาถึงวันที่สเปซเปิดตัวขึ้น การพูดถึงเรื่องการเมือง สังคม และสถาบันต่าง ๆ ในสังคมทวิตเตอร์ก็เปิดกว้างมากเพียงพอ จนนอกจากการทวิตด้วยตัวอักษร ประเด็นทางการเมืองก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดผ่านเสียงในทวิตเตอร์สเปซอย่างตรงไปตรงมา

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาหลังจากทวิตเตอร์สเปซเปิดตัวและผู้คนในทวิตเตอร์เริ่มคุ้นชินกับรูปแบบการใช้งานสเปซแล้ว ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ก็ใช้สเปซเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยทางการเมืองในหัวข้อต่าง ๆ ตามแต่วาระ ยกตัวอย่างเช่น การพูดคุยเกี่ยวกับการจัดม็อบในแต่ละวันและแนวทางของม็อบในวันต่อ ๆ ไป การวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดจากรัฐบาล พูดคุยประเด็นจากการประชุมสภาฯ และความเห็นที่มีต่อแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงปัญหาทางสังคมต่าง ๆ

นอกจากบุคคลทั่วไปในทวิตเตอร์แล้ว บุคคลในแวดวงการเมืองก็ทดลองใช้แพลตฟอร์มนี้เช่นเดียวกัน ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564 พรรคก้าวไกลจัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนทวิตเตอร์สเปซในประเด็นเรื่อง ‘#งบประมาณปี65 งบประมาณแบบไหนที่ตอบโจทย์ประเทศ’ โดยมีผู้พูดหลักคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย และนายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (think forward center) ของพรรคก้าวไกล

รูปภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมพูดคุยประเด็นเรื่อง ‘#งบประมาณปี65 งบประมาณแบบไหนที่ตอบโจทย์ประเทศ’บนทวิตเตอร์สเปซ จัดโดยพรรคก้าวไกล

อีกหนึ่งประเด็นซึ่งน่าสนใจที่เคยเกิดขึ้นคือ ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564  เกิดการพูดคุยระหว่างบุคคลสองกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีการตั้งแฮชแท็กในทวิตเตอร์ว่า #สลิ่มvsสามกีบ เพื่อพูดคุยและติดตามการพูดคุยระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม และใช้พื้นที่ทวิตเตอร์สเปซเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยก็เช่น รัฐสวัสดิการ ปัญหาการจัดการโรคระบาด โควิด-19 ของประเทศไทย เป็นต้น โดยมีผู้พูดที่เป็นตัวแทนจากทั้งสองกลุ่ม

สถานการณ์นี้ในมุมมองของผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนสองฝ่ายที่มีความแตกต่างกันด้านความคิด ออกมาแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันได้ อย่างน้อยก็เป็นการช่วยทำให้กลุ่มคนทั้งสองฝั่งท้าทายกับสิ่งที่เรียกว่า echo chamber หรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสียงสะท้อนของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน

เมื่อได้มาพูดคุยกับคนที่เห็นไม่เหมือนกันในสเปซเช่นนี้ ก็จะได้มุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยพบเจอใน echo chamber ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เหมือนว่าการพูดคุยในแต่ละครั้งอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากพื้นที่สเปซนั้นขาดความเป็นกลางที่จะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อคนทั้งสองกลุ่มที่ความคิดเห็นต่างกันให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น เนื่องจากสเปซที่เกิดขึ้นนั้น แต่ละกลุ่มบุคคลเป็นผู้จัดขึ้นเอง ผู้ดำเนินรายการนั้นก็เป็นคนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจ เป็นต้นว่า ทำไมไม่รับผู้พูดของอีกฝ่ายขึ้นมา ให้เวลาในการพูดน้อยเกินไป เป็นต้นได้ เมื่อสังเกตการณ์ในหลาย ๆ ครั้งต่อมา จึงกลายเป็นเหมือน แต่ละฝ่ายก็ไม่อยากเข้าไปในสเปซของอีกกลุ่มเพราะความแคลงใจนี้ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นควรว่าจะต้องหาตัวกลางมาดำเนินรายการเพื่อให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นมีความยุติธรรมมากเพียงพอ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อไป

ทวิตเตอร์สเปซกับความท้าทายในการสื่อสาร

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนใหม่ ๆ ขึ้น ที่มีความจุไม่จำกัด ทำให้คนมากมายที่อาจไม่มีโอกาสพูดคุยกันในชีวิตจริง สามารถมาถกเถียงในหัวข้อต่าง ๆ ร่วมกันได้ แต่ก็มีอีกหลายอย่างเช่นกัน ที่ทวิตเตอร์สเปซยังไม่สามารถทดแทนพื้นที่แลกเปลี่ยนสาธารณะแบบพบเจอกันต่อหน้าได้

ด้วยความเป็นพื้นที่สื่อสารสาธารณะออนไลน์แบบที่มีแต่เสียง แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไปจากการสนทนาคือ ‘อรรถรส’ ที่จะได้ผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง ขณะพูดคุยกันต่อหน้า เพราะน้ำเสียงเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตีความได้ทั้งหมดว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร และแน่นอนว่า หลายครั้งเพราะไม่เห็นใบหน้าหรือสีหน้าท่าทางของคนพูด จึงมักจะเกิดจังหวะที่ผู้สนทนาสองคนพูดออกมาพร้อม ๆ กัน เนื่องจากต่างคนก็ต่างไม่รู้ว่า อีกฝ่ายพูดจบในเนื้อหาแล้วหรือยัง จะมีประโยคต่อไปหรือไม่ จังหวะที่เงียบคือผู้พูดพูดจบแล้วหรือเพียงแค่พักหายใจเพื่อพูดประโยคถัดไป หรือหยุดพูดกลางคันด้วยเหตุผลอื่น ซึ่งคนไม่ได้เห็นหน้ากันขณะพูดนั้นไม่สามารถรับรู้เหตุผลนั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดกันได้ เช่นเดียวกัน ปัญหาเช่นนี้มักเกิดขึ้นขณะสื่อสารโดยใช้เสียงแบบที่ไม่เห็นหน้าในกรณีอื่น ๆ ด้วย เช่น การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือพื้นที่สนทนาออนไลน์โดยใช้เสียง ผู้เขียนสนใจปัญหานี้เนื่องจากพบว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้พูดพูดคล่อมจังหวะกันเช่นนี้ ก็นำไปสู่การตีความว่า ผู้พูดกำลังพูดแทรกกัน เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ฟังบางคนแสดงความคิดเห็นออกมาว่าผู้พูดบางคนไม่มีมารยาท ซึ่งความจริงแล้ว อาจจะไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป แต่เพราะปัญหาระหว่างการสื่อสารที่ได้กล่าวไปข้างต้นจึงทำให้ดูเหมือนเป็นเช่นนั้น

นอกจากนั้นแล้ว เพราะเป็นระบบออนไลน์ ทำให้ปัจจัยด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ใช้เพื่อพูดและฟังการถ่ายทอดสด ประกอบกับเรื่อง bug (ความขัดข้องของตัวโปรแกรม) ในตัวแอปพลิเคชันเอง ก็ส่งผลต่อการสื่อสารภายในสเปซเช่นเดียวกัน ในหลาย ๆ ครั้ง ของการเข้าฟังสเปซมักจะพบปัญหาทางเทคโนโลยีติดขัดทั้งสองอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้บางครั้งผู้พูดก็พูดในเวลาที่ทับซ้อนกัน เนื่องจากสัญญาณและ bug ที่หน่วงเสียงให้เหลื่อม ทำให้ต้องตรวจสอบกันหลายครั้งก่อนจะแสดงความคิดเห็น เช่นว่า ได้ยินเสียงหรือยัง ตอนนี้มีคนพูดอยู่ไหม เป็นต้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ก็ค่อนข้างทำให้การสื่อสารไม่ราบรื่นเท่าไรนัก

เมื่อวิเคราะห์ตามหลักของการสื่อสาร ปัญหาอีกเรื่องก็คือความน่าเชื่อถือของผู้พูดในสเปซนั่นเอง เนื่องจากโดยปกติแล้ว ในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์นั้นมีทั้งผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่เปิดเผยตัวตน และผู้ใช้งานแบบไม่ระบุตัวตน (anonymous) ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานแบบไม่ระบุตัวตนนี่เอง ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าบุคคลที่เข้ามาสื่อสารนั้นจะมีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้รับสารมีอำนาจมาก และมีช่องทางการรับสารได้หลากหลายช่องทางนั้น จะนำมาสู่การใช้หลักวิจารณญาณในการรับสื่อต่าง ๆ และคาดหวังว่าการฝึกให้ผู้คนมีวิจารณญาณจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารในปัจจุบันและอนาคต

เมื่อโลกพัฒนาก้าวหน้า มีเทคโนโลยีเอื้อให้ก้าวสู้ความเป็นสมัยใหม่และเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ การสื่อสารเองก็จำเป็นต้องพัฒนาตาม พื้นที่สื่อสารแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยพื้นที่ใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับพื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกัน จากอดีตเคยสนทนาอย่างออกรสที่สภากาแฟ แม่ค้า-แม่บ้านอัปเดตเรื่องราวระหว่างเดินจ่ายตลาด มีนักวิชาการมาพูดคุยผ่านเวทีสาธารณะตามโทรทัศน์ นักศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดโดยใช้พื้นที่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จนเมื่อสื่อออนไลน์เกิดขึ้น พื้นที่สาธารณะจึงถูกยกขึ้นมาวางไว้บนเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งจะพาเราพูดคุยกับบุคคลในโลกที่กว้างขึ้น และไร้ข้อจำกัดอย่างที่สื่อเก่าทำไม่ได้

จนวันนี้ทวิตเตอร์สเปซเปิดตัวขึ้น และกลายเป็นช่องทางใหม่ของพื้นที่สาธารณะที่น่าจับตามอง ด้วยกลุ่มผู้สื่อสารและผู้รับสารที่น่าสนใจบนทวิตเตอร์ก็ดี หรือประเด็นทางสังคม ที่นับวันก็ยิ่งอยากแลกเปลี่ยนถกเถียงกันก็ดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสเปซ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะออนไลน์นี้ จะขาดอรรถรสของการสื่อสารแบบต่อหน้าไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนที่อาจจะไม่มีโอกาสมาเจอกัน ได้ลองพูดคุยกันสักครั้ง ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เปรียบเสมือน ‘สี’ ที่มีเป็นร้อยเป็นพันเฉด การมีพื้นที่สาธารณะที่จะนำพาสีสันเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกันคงจะเป็นพื้นที่ที่ดีไม่น้อย ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า การมีพื้นที่สำหรับ ‘Freedom of Speech’ คงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางความคิดของประชากรได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จึงอยากชวนให้สังเกตการณ์และวิเคราะห์ต่อว่า แพลตฟอร์มนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดในการเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในอนาคต

อ้างอิง

https://help.twitter.com/th/using-twitter/spaces
https://www.thairath.co.th/news/tech/review/2044519
https://twitter.com/MFPThailand/status/1429475080904450051
https://twitter.com/softsoapkid/status/1430375679753744388
http://www.thaibja.org/?p=4754
https://becommon.co/life/echo-chamber/
https://thewisdom.co/content/maslows-hierarchy-of-needs/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Articles

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ คำทำนาย: เครื่องมือพยุงจิตใจในสภาวะหมดศรัทธาในตนเอง?

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ในทศวรรษที่ 21 โลกกำลังหมุนไปพร้อมกับการพัฒนาของวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent หรือ AI) ...

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save