LifestyleWritings

โลกไอที – เราได้อะไรจากการที่ ‘เฟซล่ม’

เรื่องและภาพ : กิตติธัช วนิชผล

‘เฟซล่ม’ คำ ๆ นี้เราคงจะได้ยินกันบ่อยจนอาจจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วว่าเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดให้เห็นได้เกือบจะตลอดที่สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) และบริการใกล้เคียงอย่าง อินสตาแกรม (Instagram) หรือ วอตส์แอป (WhatsApp) เกิดใช้การไม่ได้ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีนี้ก็จะเกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ (Twitter) ว่า #เฟสล่ม ตามมาทุกครั้งไป แต่ล่าสุด ประมาณอาทิตย์ก่อน (4 – 5 ตุลาคม) ได้มีหนึ่งในกรณีเฟซล่มที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อเฟซบุ๊กล่มไปนานถึง 6 ชั่วโมง!

เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวใหญ่โตกันเลยทีเดียว เพราะจากสถิติที่น่าจะล่มเพียงแค่ 1 – 2 ชั่วโมง กลับล่มยาวกว่า 6 ชั่วโมง แล้วล่มพร้อมกันทั่วโลกซะอย่างนั้น !? จากที่มีแค่ #เฟสล่ม กลายเป็น #facebookdown ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทั่วโลก ดังนั้นคอลัมน์ ‘โลกไอที’ ในวันนี้จะพาทุกคนไปล้วงลึกถึงกรณีเฟซบุ๊กล่มครั้งล่าสุด ตั้งแต่สาเหตุ ผลที่ตามมา และเราได้อะไรจาก ‘เฟซล่ม’ ครั้งนี้

Facebook ล่มรอบนี้เกิดจากอะไร

การที่เฟซบุ๊กล่มทั่วโลกครั้งนี้ ต้องไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างแน่นอน แต่มันเกิดจากอะไรกันล่ะ ? เรื่องนี้ ยูทูบเบอร์ (Youtuber) สายไอทีชื่อดัง ‘9arm’ ได้อธิบายเอาไว้ในคลิป “Facebook ล่มวันก่อนเกิดจากอะไร?” ว่าการที่เฟซบุ๊กล่มครั้งนี้มาจากการตั้งค่าที่ผิดพลาด ซึ่งในการเปลี่ยนการตั้งค่าจะต้องทำใน Data Center ที่หนึ่งก่อน แล้วค่อย ๆ กระจายการตั้งค่าใหม่ไปทีละสาขาที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ของเฟซบุ๊กเองได้เลย ส่วนคำสั่งที่ทำให้ล่มครั้งนี้เป็นคำสั่งที่ส่งไปทั่วโลกว่าให้ “ตัดตัวเองออกจาก Internet ซะ” ซึ่งทำให้โลกภายนอกไม่สามารถเชื่อมต่อเข้าไปดึงข้อมูลจาก Data Center มาแสดงผลทั้งบนเว็บไซต์และในแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กได้

ให้ลองนึกภาพเหมือนเรากำลังจะขับรถจากบ้านไปยังบริษัทเฟซบุ๊กเพื่อนำเอกสารที่ทำงานกลับมาแก้ไขที่บ้าน แต่ทว่าเราไม่สามารถเข้าไปข้างในบริษัทเพื่อนำเอกสารออกมาได้เลย เนื่องจากประตูทางเข้าบริษัททุกบานถูกปิดทั้งหมด เปรียบให้เห็นว่าแม้กระทั่งวิศวกรของเฟซบุ๊กเองก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขระบบได้ ดังนั้นทางแก้ไขของเรื่องนี้ วิศวกรจึงจำเป็นต้องเดินทางไปที่ Data Center ในแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อทำการแก้ไขการตั้งค่านี้ให้กลับมาเหมือนเดิม ไม่สามารถทำการแก้ไขผ่านการเชื่อมต่อออนไลน์ได้ ส่งผลให้อุปกรณ์หรือโปรแกรมทุกอย่างที่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้ใช้บริการ และอุปกรณ์ของวิศวกรที่ใช้ในการ debug และประเมินสถานการณ์ ใช้การไม่ได้เลย ทำให้การล่มนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมากเพราะวิศวกรต้องเดาสุ่มไปเรื่อย ๆ กว่าจะรู้ว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร

นอกจากนี้ ในการเข้าไปแก้ไขการตั้งค่าคำสั่งที่ Data Center แต่ละที่ก็จำเป็นต้องใช้พนักงงานที่ประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนที่อยู่ที่ Data Center แห่งนั้น ๆ มีอยู่น้อย และไม่ใช่คนที่มีความรู้มากพอที่จะแก้ไขทั้งระบบได้ ทำให้คนที่แก้ได้ต้องเดินทางไปแก้เอง ต้องผ่านระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น และต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอนุญาตอีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ Data Center นั้นโดนแฮกได้ง่าย ดังนั้น กว่าขั้นตอนทั้งหมดจะดำเนินการจนเสร็จสิ้น ตั้งแต่ทราบข่าวจนเดินทางไปแก้ไขและผ่านระบบรักษาความปลอดภัยภายในจนครบ จึงใช้เวลาไปทั้งหมดกว่า 6 ชั่วโมงนั่นเอง

ล่มแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เมื่อเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กใช้การไม่ได้ ทวิตเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เฟซบุ๊กเลือกใช้เพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแจ้งว่าเฟซบุ๊กกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ก็อาจจะเพราะจำนวนผู้ใช้งานของทวิตเตอร์ที่มีมาก และมีผู้ติดตามแอคเคานต์ @Facebook ในทวิตเตอร์มากถึง 13.4 ล้านแอคเคานต์ก็ได้

หลังจากปัญหาคลี่คลายลง มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของเขาว่า “เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, วอตส์แอป และ (เฟซบุ๊ก)เมสเซนเจอร์ กลับมาออนไลน์อีกครั้งแล้ว ขออภัยสำหรับความขัดข้องในวันนี้ – ผมทราบดีว่าคุณต้องพึ่งพาบริการของเรามากเพียงใดเพื่อติดต่อกับบุคคลที่คุณห่วงใย” โดยส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า การออกมาสื่อสารในครั้งนี้เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารแบรนด์ที่ดีและชัดเจนไปพร้อม ๆ กับการทดสอบระบบไปด้วย และยังชี้ให้เห็นว่าเฟซบุ๊กมีความสำคัญเพียงใดกับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อขายของหารายได้ ถ่ายทอดสด หรือการส่งความห่วงใยผ่านข้อความไปหาบุคคลสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเฟซบุ๊กที่มีต่อสังคม

เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่เคยล่มนานถึงขนาดนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ความมั่งคั่งของนายมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ลดลงมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เฟซบุ๊กล่ม เนื่องจากผู้ถือหุ้นของเฟซบุ๊กต่างพากันเทขายหุ้นเฟซบุ๊กออก ทำให้มูลค่าหุ้นเฟซบุ๊ก (FB) ลดลงกว่า 4.9% หรือกว่า 15% นับตั้งแต่กลางเดือนกันยายนเป็นต้นมา และแนวโน้มราคาหุ้น FB ยังคงราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จนราคาล่าสุด (8 ตุลาคม) ยังไม่กลับขึ้นมาเท่าเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมเลย

ราคาหุ้น Facebook (FB) ที่ดิ่งลงในวันที่ 4 ตุลาคม ที่แม้จะเป็นวันที่ 8 ราคาก็ยังไม่กลับมาเท่า 3 ตุลาคม ข้อมูลจาก finance.yahoo.com

จะเห็นได้ว่าการล่มครั้งนี้ กลายเป็นหนึ่งในบทเรียนครั้งสำคัญของเฟซบุ๊ก ว่าเพราะอะไรระบบถึงอนุญาตให้มีการส่งคำสั่งปิดล็อคตัวเองออกจากเซิร์ฟเวอร์ได้ง่ายถึงเพียงนี้ และเฟซบุ๊กจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาระบบต่อไปในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากจากการรายงานของประชาชาติธุรกิจ  กล่าวว่าการล่มครั้งนี้ส่งผลต่อผู้ใช้ถึงกว่า 3,500 ล้านคน เลยทีเดียว !

เนื่องจากว่าเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กไม่สามารถใช้การได้ ทำให้ทุกบริการที่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กนั้นจะใช้การไม่ได้เลย นั่นไม่ได้หมายถึงการที่ผู้ใช้บริการจะเข้าใช้งานแอปพลิเคชันในเครือเฟซบุ๊ก อย่างอินสตาแกรม, วอตส์แอป และ (เฟซบุ๊ก)เมสเซนเจอร์ ไม่ได้ และวิศวกรที่ไม่สามารถเข้าระบบเพื่อทำงานผ่านเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กได้เท่านั้น แต่มันรวมถึงทุกบริการออนไลน์ที่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กเลย นอกจากนี้ บริการออนไลน์ที่ต้องพึ่งพา Facebook API ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะรุนแรงเป็นพิเศษกับบริการที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องล็อคอินเข้าสู่ระบบโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ที่ผูกบัญชีภายในเกมกับเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์หลาย ๆ เว็บไซต์ที่มีระบบสมัครสมาชิกด้วยการล็อคอินผ่านเฟซบุ๊ก การที่เฟซบุ๊กล่มจึงทำให้ไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่บริการออนไลน์ผ่านตัวกลางอย่างเฟซบุ๊กได้ จนทำให้ล็อคอินเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในบริการนั้น ๆ ไม่ได้นั่นเอง

โดยส่วนตัวของผู้เขียนก็เป็นสมาชิกอยู่ภายในกลุ่มของคนที่เล่นเกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Genshin Impact ที่สามารถผูกบัญชีผู้ใช้งานเกมกับเฟซบุ๊กได้ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์เฟซบุ๊กล่มคลี่คลายลง ก็มีผู้ใช้จำนวนหนึ่งออกมาบ่นเรื่องที่เฟซบุ๊กล่มจนไม่สามารถล็อคอินเข้าสู่เกมได้เพราะผูกบัญชีเอาไว้กับเฟซบุ๊กเพียงที่เดียวเท่านั้น ไม่ได้ผูกบัญชีไว้กับบริการอื่นใดเลย

ลองนึกภาพว่า ถ้ามีบริการออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ต้องเข้าสู่ระบบโดยการผูกบัญชีเอาไว้กับเฟซบุ๊กเท่านั้น ในเวลาที่เฟซบุ๊กล่ม เราจะไม่สามารถใช้งานบริการนั้นได้ เหมือนแพลตฟอร์มนั้นโดนล็อคไปพร้อม ๆ กับเฟซบุ๊กไปด้วยเลยนั่นเอง เมื่อนึกถึงกรณีนี้แล้ว ทำให้การที่เฟซบุ๊กล่มเป็นเวลานานนั้น กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเลยทีเดียว

แล้วเราได้อะไรจากเรื่องนี้

ในมุมมองของผู้เขียน ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้ว่า กรณีที่เฟซบุ๊กล่มเป็นเวลานานแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงไม่สามารถพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์เพื่อติดตามข่าวสาร หรือแม้แต่ใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพียงช่องทางเดียวได้เลย เพราะหากช่องทางนี้ถูกปิดขึ้นมา เราอาจจะขาดการติดต่อ ‘กับคนที่เราห่วงใย’ แบบที่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กบอกไว้ก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน หากเราทราบแล้วว่าเราใช้บัญชีเฟซบุ๊กเพียงบัญชีเดียวในการผูกบัญชีเพื่อเข้าใช้งานบริการอื่น ๆ ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้เชื่อมต่อกับบัญชีสำรองที่ไม่ใช่บัญชีเฟซบุ๊กเผื่อเอาไว้ เพื่อให้เรายังสามารถเข้าใช้งานบริการเหล่านั้นได้หากเกิดเหตุการณ์เฟซบุ๊กล่มขึ้นอีกครั้ง

โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็ได้สร้างบทเรียนให้คนหลายฝ่ายเลยทีเดียว สำหรับวิศวกรของเฟซบุ๊กก็แทบจะต้องรื้อระบบรักษาความปลอดภัยกันใหม่ ว่าทำไมถึงปล่อยให้โค้ดที่ทำให้เกิดอันตรายทั้งระบบเริ่มทำงานได้ง่ายมากขนาดนี้ ในขณะเดียวกันผู้ใช้เองก็น่าจะได้ตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วยว่า

“เราพึ่งพาเฟซบุ๊กมากเกินไปหรือเปล่า ?”


อ้างอิง
https://www.prachachat.net/world-news/news-775242
https://finance.yahoo.com/quote/FB/chart

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Articles

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ คำทำนาย: เครื่องมือพยุงจิตใจในสภาวะหมดศรัทธาในตนเอง?

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ในทศวรรษที่ 21 โลกกำลังหมุนไปพร้อมกับการพัฒนาของวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent หรือ AI) ...

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save