เรื่อง ชนิสรา หน่ายมี
ภาพ นิชดา พูลเพชร
“ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ”
หากพูดถึงความผิดพลาด หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ทุกคนต้องเคยทำสิ่งที่ผิดพลาด และมีแต่มนุษย์นี่แหละที่แบกความคาดหวังไว้บนบ่า พร้อมคิดว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบจนทำให้เกิดความทุกข์เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจ
ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
ความผิดพลาดอาจจะเกิดจากความคิด การตัดสินใจ หรือการกระทำ ซึ่งแต่ละบุคคลยอมรับและมีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตนเองแตกต่างกัน บางคนอาจจะรู้สึกแย่หากทำในสิ่งที่ผิดพลาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะรู้สึกดีขึ้น พยายามเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่พลาดพลั้งไป แต่คนบางคนก็ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบและตั้งมาตรฐานกับตัวเองไว้สูงทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทุกอย่างจะผิดพลาดไม่ได้ จะต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบที่สุด หรือที่เรียกว่า Self-oriented perfectionist ซึ่งนักจิตวิทยาจัดให้อยู่ใน 1 ใน 3 ประเภทของบุคคลที่นิยมความสมบูรณ์แบบ
Self-oriented perfectionist จะไม่กดดันผู้อื่น แต่จะคิด จินตนาการ และถามตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำดีแล้วรึยัง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นความเครียด วิตกกังวล และไม่กล้าที่จะทำสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอาการของโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ หรือที่เรียกว่า Atelophobia
Dr. Gail Saltz รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชที่ New York Presbyterian Hospital Weill-Cornell Medical Colle กล่าวว่า Atelophobia คือ ความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะทำผิดพลาด และหากกระทำสิ่งใดแล้วจะไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังไว้ จึงหลีกเลี่ยงที่จะทำสิ่งนั้น อาการของโรคชนิดนี้คือ มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง หายใจสั้น หายใจหอบ และหายใจถี่ การเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะ เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดสมาธิ อยู่ไม่เป็นสุข ตัวสั่น อ่อนแรง ปวดหัว เก็บตัว และมักสูญเสียการควบคุมอารมณ์และการกระทำ
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเภทคือ Other-oriented perfectionist จะคาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์อย่างไร้ที่ติ โดยจะเอาบรรทัดฐานของตนเป็นที่ตั้ง จนบางครั้งอาจทำให้ผู้อื่นเกิดความกดดัน
Socially prescribed perfectionist จะเชื่อว่าคนอื่นคาดหวังให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ถ้าเราเป็นคนสมบูรณ์แบบ คนในสังคมจะยอมรับเรา
คุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบ
หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า แก้วที่แตกไม่มีทางต่อให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เหมือนบาดแผลที่อยู่ในใจ ความผิดพลาดในบางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่แก้ไขได้สำหรับบางคน แต่กับบางคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ อาจเป็นการยากที่จะลืมความทรงจำที่เจ็บปวด
แนวคิดทางศิลปะของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าภาชนะ หรือ ถ้วยชามที่บิ่นแตกนั้นไม่ควรทิ้ง แต่ควรซ่อมแซมเพื่อให้พวกมันสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งด้วยรักทองหรือกาวสีทอง เรียกว่า “คินสึงิ”(Kintsugi) ซึ่งมีความคล้ายกับแนวคิด Wabi-sabi วาบิ ซาบิ ที่คนญี่ปุ่นมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
แนวคิดวาบิ ซาบิ เชื่อว่าชีวิตไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ชีวิตนั้นเรียบง่าย ทำให้มนุษย์เห็นความงดงามบนความไม่สมบูรณ์แบบ และเข้าใจว่า บางทีความผิดพลาดอาจจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น เก่งขึ้น ภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น และสร้างรอยยิ้มให้กับตัวเองได้
ข้อความในหนังสือ ‘จงรักในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง’ ของ Haemin Sumin พระเฮมิน พระภิกษุชาวเกาหลีใต้ กล่าวว่า “เราจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ไม่เป็นไร ชีวิตคนเราจะขาวสะอาดเหมือนนกกระเรียนไม่ได้ เมื่อเราใช้ชีวิตทั้งร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ย่อมเกิดบาดแผลได้ทั้งนั้น อย่ากลัวที่จะพลาดพลั้งจนไม่ทำอะไรสักอย่าง แต่จงเลือกที่จะเติบโตขึ้นภายใต้ความล้มเหลวและบาดแผล และตะโกนเสียงดัง ๆ ให้กับชีวิตของตัวเองที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนว่า ฉันรักแกสุด ๆ ไปเลย”
ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนเคยทำสิ่งผิดพลาดและไม่ได้ต้องการสื่อว่าการที่เรากระทำสิ่งผิดพลาดเป็นเรื่องดี แต่อยากสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ ถ้าหากเราทำในสิ่งที่ผิดพลาด ก็อยู่ที่ว่าจะมองความผิดพลาดนั้นให้เป็นแค่เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือจะเห็นคุณค่าของความผิดพลาดนั้น และใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อทำให้คุณเติบโตขึ้น
อ้างอิง
– ooca (2020). Atelophobia โรคกลัวตัวเองดีไม่พอ. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 https://blog.ooca.co/2020/06/29/atelophobia-
– healthline. Understanding Atelophobia, the Fear of Imperfection. https://www.healthline.com/health/mental-health/atelophobia
– brandinside.asia (2020). Perfectionist: รักความสมบูรณ์แบบมากไป อาจเป็นนิสัยที่สร้างความอึดอัดให้เพื่อนร่วมงาน. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 https://brandinside.asia/perfectionist-personality-may-harmful-work-environment/
– zipevent (2020). Kintsugi ศิลปะแห่งการซ่อมแซม และการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564.https://www.zipeventapp.com/blog/2020/10/12/kintsugi/
– kiji (2018.) “วาบิซาบิ” คืออะไรหนอ? . สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 https://kiji.life/wabisabi/
– Quartz. August 3, 2018. The Japanese art principle that teaches how to work with failure. https://qz.com/1347017/the-japanese-art-principle-that-teaches-us-to-expose-our-failures-not-cover-them-up/
– sanook (2564). Atelophobia หรือโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบกับแนวทางรักษาที่ควรรู้. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 https://www.sanook.com/women/172921/
– Haemin Sumin (2559). (จงรักในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง). [Love for imperfect things]. อาสยา อภิชญานางกูล: อมรินทร์ธรรมมะ
– ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ กับแนวคิดของ Kintsugi | 5 Minutes Podcast EP.305. https://www.youtube.com/watch?v=4q-5wjGS1bw