InterviewWritings

Rape Issue(s) : ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกในกระบวนการ ‘ข่มขืนซ้ำ’ ผู้เสียหาย

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์

เวลาเกิดปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคม บทบาท หน้าที่ หรือภาระความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ผู้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องเป็นฝ่ายตามตัวผู้กระทำความผิดเอง ต้องไปแจ้งพนักงาน ดำเนินเรื่องทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองถูกข่มขืนจริงๆ

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายก้าวไกล

ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงเดือนก่อน ประเด็นที่พูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คงหนีไม่พ้นกรณีของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศและอนาจารผู้เสียหายนับสิบราย โดยมีทั้งผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานของเขา นานวันเข้า จำนวนผู้เสียหายที่ทยอยแจ้งความเพื่อดำเนินคดีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับที่ผ่านมาต้องทนเก็บเงียบ และยังไม่มีโอกาสเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง

การที่ผู้เสียหายต่างพร้อมใจลุกขึ้นมาส่งเสียงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าและกำลังใจที่เพิ่มขึ้นเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาอยู่คนเดียว ทว่าในอีกด้านก็สะท้อนให้เห็นถึงอคติของคนในสังคมที่พร้อมจะตัดสินหรือกล่าวโทษผู้เสียหาย (victim blaming) เมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงอำนาจของผู้กระทำผิดที่อยู่เหนือกว่า และกระบวนการทางกฎหมายที่ตอกย้ำแผลอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่แปลกที่พวกเขาใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (ภาพจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) คือหนึ่งในผู้ที่ทำงานผลักดันให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เป้าหมายหลักของมูลนิธิคือการสร้างกำลังใจ (empowerment)1 และช่วยเหลือผู้เสียหายทุกเพศ ทุกวัย ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการติดต่อประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงการเยียวยาสภาพจิตใจของพวกเขา

ขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายของมูลนิธิฯ มีรายละเอียดอย่างไรบ้างคะ 

งานส่วนแรกของมูลนิธิจะอยู่ที่ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เมื่อผู้เสียหายติดต่อมาไม่ว่าจะทาง walk-in ทางเฟซบุ๊กมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หรือถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เราจะมีสายด่วน (02-513-2889) ในการให้คำปรึกษาเบื้องต้นจากนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่แต่ละเคสพบเจอ โดยเน้นการ empowerment และหากผู้เสียหายอยากจะดำเนินการทางกฎหมายต่อ มูลนิธิก็จะนัดหมายให้มาพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์พร้อมกับนักกฎหมาย

ทางมูลนิธิมองว่าการทำงานกับผู้ประสบปัญหาความรุนแรง จำเป็นต้องทำให้ผู้ประสบปัญหาลุกขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ดังนั้นกระบวนการกลุ่ม หรือ Group work ที่มูลนิธิทำ จะมีผู้ที่เคยประสบปัญหา เคยต่อสู้ในคดีล่วงละเมิดทางเพศและผ่านมันไปได้ ซึ่งก็คือ ‘กลุ่มผู้ผ่านพ้น’ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาได้รับฟังประสบการณ์ วิธีคิดใหม่ ๆ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่จะเลือกหรือไม่เลือกเข้าสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป และเมื่อเข้าสู่กระบวนการด้านกฎหมาย มูลนิธิก็จะมีการเตรียมข้อมูลของเคสเพื่อเข้าสู่ศาล โดยมีทนายความพูดคุยและเตรียมสภาพจิตใจของผู้เสียหาย รวมถึงวางแนวทางสำหรับกระบวนการบอกเล่าในชั้นศาลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้เสียหายมากที่สุด

ปัญหาความรุนแรงที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่พบเจอ คืออะไรคะ

ในหนึ่งปีจะมีเคสเข้ามาให้มูลนิธิช่วยเหลือประมาณหนึ่งร้อยกว่าเคส ซึ่ง 80% เป็นความรุนแรงในครอบครัว และอีก 20% เป็นความรุนแรงทางเพศ สำหรับกรณีของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว อายุของผู้เสียหายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20-30 ปีขึ้นไป และมักจะถูกกระทำความรุนแรงจากสามีที่ดื่มเหล้า หรือติดการพนัน ซึ่งทางมูลนิธิมองว่ารากของปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจริง ๆ นั้นมาจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ และทัศนคติในเรื่องอำนาจที่เหนือกว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นผู้หญิง มีผู้ชายเป็นส่วนน้อย แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเราจะเจอสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นภายในสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้ชายที่ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นด้วย 

มีเคสหนึ่งเป็นผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุรุษพยาบาลระหว่างที่ไปนอนรักษาอาการท้องเสียที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่าในช่วงกลางคืนเหมือนมีคนมาสัมผัส หรือลูบคลำร่างกายขณะที่นอนสะลึมสะลืมอยู่ เลยไม่สบายใจและขอดูกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาล จึงพบว่าเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะดังกล่าวเกือบ 20 ครั้ง ทำให้ผู้เสียหายเกิดบาดแผลทางใจ (trauma) จนต้องมาปรึกษามูลนิธิฯ ทางเราจึงติดต่อไปยังจิตแพทย์เพื่อให้เขาเข้ารับการรักษาก่อนเป็นอันดับแรก

ผู้เสียหายที่มาถึงมูลนิธิ ส่วนใหญ่ตัดสินใจดำเนินคดีต่อหรือไม่คะ แล้วการตัดสินใจนั้นเป็นผลมาจากอะไร

เกือบทุกเคสหมดกำลังใจและท้อไปก่อน โดยเหตุผลหลัก ๆ มาจากการดำเนินการทางกฎหมาย เวลาเกิดปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคม บทบาท หน้าที่ หรือภาระความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ผู้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องเป็นฝ่ายตามตัวผู้กระทำความผิดเอง ต้องไปแจ้งพนักงาน ดำเนินเรื่องทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวองถูกข่มขืนจริง ๆ  และเมื่อพูดถึงการดำเนินการทางกฎหมาย ก็ไม่ได้เป็นการเล่าครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นการเล่าซ้ำ ไม่ว่าจะกับพนักงานสอบสวน โรงพยาบาล ศาล จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำบาดแผลให้กับผู้เสียหายตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีบางเคสที่ผู้กระทำผิดหลบหนีไป ทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวรู้สึกเป็นกังวล และแม้จะรู้ที่อยู่ของผู้กระทำผิด แต่พอไปบอกตำรวจ กลับถูกอ้างว่าอยู่นอกเหนืออำนาจการจับกุม เหมือนกับต้องการจะบ่ายเบี่ยง จนทำให้บางเคสต้องใช้เวลาหลายปี ผู้เสียหายก็รู้สึกอ่อนล้าและหมดกำลังใจที่จะดำเนินการต่อ

ช่วงปี 2558 มูลนิธิมีเคสข่มขืนติดต่อเข้ามา 33 เคส มีเพียง 1 เคสเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย นอกนั้นไกล่เกลี่ยและยอมความทั้งหมด เพราะกระบวนการต่อสู้ของผู้เสียหายเพศหญิงจะถูกกีดกันตั้งแต่ต้นทาง คือ จากเจ้าหน้าที่สอบสวนที่มักจะตั้งคำถามในลักษณะ victim blaming เช่น “มีหลักฐานไหม” “ต้องการแบล็คเมล์หรือเปล่า ต้องการเงินหรือเปล่า” “ทำไมเพิ่งมาแจ้งความ” เป็นต้น พอมาถึงกระบวนการศาลก็ยิ่งใช้เวลานานเข้าไปอีก ดังนั้น กระบวนการ empowerment จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เสียหายตระหนักรู้ว่าตนเองไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหา

ปัญหาหลักๆ หรืออุปสรรคที่มูลนิธิพบในกระบวนการการต่อสู้คืออะไรคะ

น่าจะเป็นเรื่องทัศนคติของคนทำงาน เพราะพนักงานสอบสวนบางคน ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงก็ยังมีไม่มีความเข้าใจในเรื่องเพศมากพอ พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้เสียหายเผชิญ ว่ามันเกิดขึ้นจริง รวมถึงมีอคติว่าผู้เสียหายอาจสมยอม หรือเข้าใจผิดไปเอง ซึ่งพอคิดแบบนี้ก็ทำให้วิธีการดำเนินคดีไม่เป็นไปตามที่ควร มีการไกล่เกลี่ยยอมความ ไม่ทำให้เป็นคดี ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการเยียวยา มีหลายเคสที่ผู้เสียหายเป็นเด็กแต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด และไม่ได้มีการเอาผิดกับผู้กระทำ จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นว่าผู้ที่เคยกระทำผิดยังคงก่อเหตุซ้ำอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทักษะความเชี่ยวชาญของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในการเก็บข้อมูล เช่น เคสที่จังหวัดพิษณุโลก เราเจอว่าพนักงานสอบสวนทำสำนวนที่มันอ่อนมาก ข้อมูลก็น้อย พยานหลักฐานก็ไม่ค่อยมี ซึ่งมันทำให้คดีอ่อนลง ตรงนี้เองที่เมื่อนำขึ้นศาลไปตัดสินแล้ว ผู้กระทำอาจได้รับโทษน้อยกว่าที่สมควรจะได้รับ ด้วยตัวกฎหมายมันยังโอเค แต่ตัวคนที่นำมาปรับใช้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการดำเนินการ กระบวนการทางกฎหมายจึงล่าช้า และพอไม่มีคนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น พนักงานอัยการ มาทำงานกับตำรวจเพื่อที่จะเก็บหลักฐาน ผู้เสียหายก็ต้องเสี่ยงดวงเองว่าจะเจอพนักงานสอบสวนดีๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ รับฟังจริงๆ หรือเปล่า 

ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณอายุต่ำกว่า 18 ปี คุณจะเจอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และอัยการ ที่คอยให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าคุณบรรลุนิติภาวะแล้ว คุณจะไม่มีใคร และต้องเดินเรื่องตัวคนเดียว ซึ่งถ้าผู้เสียหายได้เจอกับพนักงานสอบสวนที่เข้าใจก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ ผู้เสียหายก็จะท้อจนไม่อยากดำเนินคดีต่อในที่สุด

แล้วถ้าเป็นเคสสถานศึกษาล่ะคะ มีอะไรที่เป็นปัญหาอย่างเด่นชัดบ้าง

ยกตัวอย่าง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่าที่เคยได้รับแจ้งหรือช่วยเหลือมานั้น ไม่มีการเยียวยาเคสเลย ไม่มีการดูแลเอาใจใส่ ทั้งที่มีคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ2 มีการพูดถึงกระบวนการว่าถ้าเกิดการข่มขืนระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา หรือกับอาจารย์แล้ว จะต้องทำอย่างไร และมีระเบียบวินัยต่าง ๆ ออกมา แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ถ้าเป็นกรณีระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ก็เป็นเรื่องของอำนาจ ที่ต้องมานั่งพิจารณาว่าอาจารย์ที่มีความสัมพันธ์กับเด็กนักศึกษานั้นผิดวินัยร้ายแรงตรงไหน เพราะรูปแบบของการล่วงละเมิดหรือข่มขืนในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป เช่น มันจะมีการเตรียมเด็ก (Child Grooming) ซึ่งเป็นการเข้าหาด้วยความรู้สึกห่วงใย ดูแล ให้ความหวังว่าจะมีอนาคตไปด้วยกัน จนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์กัน และผู้เสียหายก็จะรู้สึกเต็มใจในการมีความสัมพันธ์นั้น แต่ต่อให้มันไม่ได้มีลักษณะของการบังคับ ก็ยังเข้าข่ายการล่วงละเมิดหรือข่มขืนได้อยู่ดี เนื่องจากนักศึกษาบางคนแม้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ยังถือว่าเด็กมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ในวัยนั้น และอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกหลอกหรือหว่านล้อมให้ยอมมีความสัมพันธ์ด้วยอยู่

อีกทั้งผู้เสียหายมักไม่กล้าที่จะออกมาพูด เพราะกลัวต้องเจอกับ victim blaming ในสังคม ช่วงแรกที่มีผู้เสียหายร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัยและมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน ก็มีแต่คณะกรรมการที่มาจากคณะนิติศาสตร์ซึ่งใช้บรรทัดฐานของกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าเข้าข่ายข้อใดบ้าง มาตัดสินคดีที่เกี่ยวกับเพศในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้มองถึงมุมอื่น หรือมีความเข้าใจถึงปัญหาเรื่องเพศอย่างแท้จริง 

ตัวอย่างเช่น เคสของผู้เสียหายที่เป็นนักศึกษาหญิงจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่มีการตัดสินว่าอาจารย์ (ผู้กระทำ) ทำผิดวินัยร้ายแรง แต่ได้ทำคุณประโยชน์ให้คณะค่อนข้างมาก มีโทษแค่ให้ออกจากสถานศึกษาเท่านั้น และยังสามารถยื่นอุทธรณ์กลับมาเป็นอาจารย์ต่อได้อีกด้วย ขณะที่ทางผู้เสียหายเองไม่เคยได้รับรู้เลยว่าคดีมีการดำเนินการไปแบบไหน เพราะทางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าเป็นคดีของศาลปกครอง ถ้าอยากรู้ผลของคดีต้องให้ทนายทำเรื่องมา ซึ่งผู้เสียหายก็ต้องเป็นคนตามคดีเอง

ถ้ามองในภาพรวม อะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุงมากที่สุดในกระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับตัวผู้เสียหายมากที่สุดคะ

ตอนนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาทำงานในส่วนนี้ แต่ปัญหาจริง ๆ คือเราไม่รู้จำนวนตัวเลขว่าเคสที่ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศมีประมาณกี่เคส ไม่มีระบบ Big Data ของการตามเคส หรือข้อมูลที่เชื่อมร้อยกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงไม่สามารถติดตามความคืบหน้าหรือติดตามความช่วยเหลือที่ถูกดำเนินการไปแล้วได้ ทำให้ผู้เสียหายต้องเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนหน่วยงาน ต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทั้งในกระบวนการทางกฎหมาย บางครั้งต้องมาสอบปากคำหลายรอบ ซึ่งหากมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะทำให้เคสรวดเร็วและลดปัญหาการข่มขืนซ้ำจากกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ก็ควรมีพนักงานสอบสวนที่มีทักษะและทัศนคติที่เข้าใจเรื่องเพศมาเป็นคนที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ จะได้สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยแก่ผู้เสียหายในการบอกเล่าสิ่งที่ถูกกระทำมา ซึ่งมันจะมีผลต่อการตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีในภายหลัง

ประสบการณ์และความเห็นของผู้ที่ทำงานจริงกับผู้เสียหายสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่มขืน แทบไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยและอาจเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน กับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ในสถานศึกษา ทว่าการจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องยากลำบากและบั่นทอนจิตใจ ดังนั้น การที่สังคมตั้งคำถามกับความบกพร่องและการย่ำอยู่กับที่ของ ‘กระบวนการ’ ทางกฎหมายและตัวละครที่เกี่ยวข้อง จึงต้องดำเนินต่อไป จนกว่าผู้เสียหายจะได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเป็นธรรม โดยไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเองอีก

เชิงอรรถ

กระบวนการ empowerment1 ของมูลนิธิ คือการสร้างบรรยากาศให้ผู้เสียหายรู้สึกผ่อนคลาย โดยมูลนิธิจะวางตัวในฐานะเพื่อนที่คอยรับฟังอย่างตั้งใจ และ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่ผู้เสียหายเผชิญมา โดยมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาร่วมพูดคุยเพื่อทำให้เห็นว่า แม้จะต้องเผชิญกับเรื่องราวที่เจ็บปวดมากแค่ไหน คุณค่าในตนเองของผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้ข้อมูลด้านขั้นตอน หรือกระบวนการทางกฎหมาย ว่าคดีจะสิ้นสุดที่ตรงไหน เพื่อช่วยผู้เสียหายในการตัดสินใจสู้หรือไม่สู้ในคดีนั้นต่อ

คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ2 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริเริ่มขึ้นจากโครงการยุติการคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา และส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศ ภายใต้แนวคิด “TU Say No To Sexual Harassment on Campus. We are ‘Generation Equality’.” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวทำหน้าที่กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความยุติธรรม และเยียวยาผู้เสียหายอย่างครอบคลุมทั้งในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย

ผิดวินัยร้ายแรง3 ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากรและอาจารย์ ปี 2551 ระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษา ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณร้ายแรง แต่ไม่นับเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงไม่มีโทษถึงขั้นไล่ออก และผู้ที่ถูกร้องเรียนก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

นักศึกษาหญิง4 คนดังกล่าว เป็นนักศึกษาของคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ และเป็นหนึ่งในผู้เสียหายหลายรายที่ถูกล่วงละเมิดจากอาจารย์ประจำคณะดังกล่าว โดยกลุ่มผู้เสียหายอ้างว่าแม้จะร้องเรียนไปยังผู้บริหารระดับสูงเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า จึงได้มีการเปิดให้ลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้กระทำความผิด ในท้ายที่สุดอาจารย์คนดังกล่าวก็ได้ยุติการปฏิบัติงานในตำแหน่งบริหาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 และหยุดภาระการสอนหลังสิ้นสุดภาคการศึกษาในปีนั้น ก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save