Writings

สื่อออนไลน์ 3 สำนักกับการนำเสนอข่าวที่ก้าวล้ำสิทธิเด็ก กรณีกราดยิงที่หนองบัวลำภู

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี จิรัชญา นุชมี จิตริณี แก้วใจ และฌัชฌา สรนันท์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

เหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู เกิดขึ้นภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เหตุอาชญากรรมนี้ก่อโดยอดีตตำรวจที่เคยมีคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 ราย การรายงานข่าวในครั้งนี้พบการละเมิดสิทธิเด็ก และสิทธิของญาติ รวมทั้งสร้างผลกระทบต่อบุคคลต่างๆ เช่น สร้างความสะเทือนใจแก่แหล่งข่าว หรือบรรยายเนื้อหาโดยละเอียดจนสร้างความสลดหดหู่ใจแก่ประชาชนผู้รับสาร

คณะผู้ศึกษา ซึ่งเป็นนักศึกษาในรายวิชา วส.211 การรายงานข่าว คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดทำรายงานเรื่อง “การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ที่ละเมิดสิทธิเด็กและญาติ จากเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู” เพื่อศึกษาประเภทของการละเมิดสิทธิเด็กและญาติ โดยใช้วิธีการศึกษาข่าว และภาพข่าวจาก 3 สำนักข่าว ได้แก่ ‘ข่าวสด’ ตัวแทนของสำนักข่าวที่เป็นสื่อดั้งเดิม ‘Workpoint Today’ เป็นสื่อที่อยู่กลางระหว่างความดั้งเดิม ทว่ามีความทันสมัยมากขึ้น และ ‘The Matter’ ตัวแทนของสำนักข่าวที่ก่อตั้งขึ้นในยุคออนไลน์ ซึ่งมีความทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

ช่วงระยะเวลาศึกษาคือตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 2565 รวม 26 วัน โดยใช้แนวปฏิบัติ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2564  แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 เป็นกรอบในการวิเคราะห์ และกำหนดเป็นประเภทของการละเมิดได้ดังนี้

 ประเภทที่ 1 ละเมิดโดยการเปิดเผยเอกลักษณ์ (Identification) ของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทำให้สามารถคาดเดาถึงบุคคลในข่าวได้ ในส่วนเนื้อหาข่าวคือ มีการบอกชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น ที่อยู่ สถานศึกษาของผู้ได้รับผลกระทบ และในส่วนภาพข่าว คือมีการนำเสนอภาพผู้ได้รับผลกระทบขณะมีชีวิตหรือภาพศพที่อาจบ่งบอกเอกลักษณ์ได้

 ประเภทที่ 2 ละเมิดโดยการซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ปกครอง และบุคคลใกล้ชิดของผู้ได้รับผลกระทบ หมายถึง มีการนำเสนอเนื้อหาข่าวหรือภาพข่าวเกี่ยวกับผู้ประสบภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ในลักษณะอุจาด สยดสยอง หดหู่ สะเทือนใจ หรือนำเสนอความสูญเสียในลักษณะซ้ำไปซ้ำมา

 ประเภทที่ 3 ละเมิดสิทธิของแหล่งข่าว หมายถึง มีการสัมภาษณ์หรือถ่ายภาพแหล่งข่าวที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่อาจสร้างภาวะเครียด สะเทือนใจ หรือในขณะที่แหล่งข่าวไม่พร้อม

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

จากแผนภูมิที่ 1 สรุปการละเมิดในเนื้อหาข่าวได้ว่า การละเมิดประเภทที่ 1 เปิดเผยเอกลักษณ์ พบว่า The Matter มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 4.35 การละเมิดประเภทที่ 2 ซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า ข่าวสด มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 27.94 และการละเมิดประเภทที่ 3 ละเมิดสิทธิแหล่งข่าว พบว่า Workpoint Today มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 6.06

จากแผนภูมิที่ 2 สรุปการละเมิดในภาพข่าวได้ว่า การละเมิดประเภทที่ 1 เปิดเผยเอกลักษณ์ พบว่า ข่าวสด มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 2.94 การละเมิดประเภทที่ 2 ซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า ข่าวสด มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 5.88 และการละเมิดประเภทที่ 3 ละเมิดสิทธิแหล่งข่าว พบว่า The Matter มีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด ร้อยละ 4.35 

การพรรณนาเหตุการณ์โดยละเอียด กับการนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้าง 

การศึกษาพบว่า สื่อมีการนำเสนอที่มีเนื้อหากระทบจิตใจ ทั้งการบรรยายเหตุการณ์เกินความจำเป็นจนเกิดความน่าสยดสยอง และความน่าสะเทือนใจ รวมถึงนำเสนอเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งการละเมิดในประเภทที่ 2 นี้พบว่าสำนักข่าวทั้ง 3 แห่งมีการละเมิดในประเภทนี้มากที่สุด กล่าวคือข่าวสด Workpoint Today และ The Matter มีการละเมิดคิดเป็นร้อยละ 27.94 ร้อยละ 12.12 และ ร้อยละ 13.04 ตามลำดับ

ตัวอย่างที่ 1 สำนักข่าว ข่าวสด: ผู้รอดชีวิต เผยนาทีสังหารโหด พบมีครูท้องแก่ โดนฟันดับด้วย

มีส่วนการละเมิดโดยการใส่รายละเอียดของเหตุการณ์เกินความจำเป็น

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7303419

(เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565)

ข่าวสด (ดูตัวอย่างที่ 1) นำเสนอเนื้อหาโดยละเอียด ดังหัวข้อข่าว “ผู้รอดชีวิต เผยนาทีสังหารโหด พบมีครูท้องแก่ โดนฟันดับ” (ข่าวสด, 2565) ในเนื้อหาข่าวนั้นมีการเขียนถึงรายละเอียดในเหตุการณ์เช่น ‘ถีบกระจกลงมือกราดยิงสุดสะพรึง’ ‘ใช้มีดฟันครูสาวท้องแก่’ ‘ผู้ก่อเหตุใช้ปืนและมีดฟันทำร้ายเด็กและครูจนเสียชีวิต’ โดยคณะผู้ศึกษาเห็นว่า การรายงานข่าวนั้นคือการรายงานในเรื่องจำเป็นให้คนได้รู้ แต่การรายงานในลักษณะนี้เป็นการนำเสนอที่ไม่น่าจะใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องรายงานให้คนทราบ เนื่องจากเนื้อหาข่าวสามารถสร้างความสะเทือนใจให้คนอ่านได้ แต่ที่มากไปกว่านั้น คือการตอกย้ำและสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาว่า การนำเสนอเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นการนำเสนอผ่านทางสื่อออนไลน์ ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ก็ย่อมที่จะถูกข่าวและภาพเหล่านี้ตอกย้ำ ซ้ำเติมได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้สำนักข่าวจะใช้วิธีการบรรยายรายละเอียดเพื่อทำให้ผู้คนสนใจและติดตามเป็นจำนวนมาก แต่จากบทบาทหน้าที่ของสื่อนั้น สำนักข่าวควรระดมทรัพยากรเพื่อทำหน้าที่สะท้อนปัญหาเพื่อขับเคลื่อนสังคมมากกว่า เช่น ปัญหาสารเสพติด ปัญหาเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในครอบครองทำร้ายประชาชน ฯลฯ สื่อควรทำหน้าที่สะท้อนปัญหาประเด็นดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้ ขับเคลื่อน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างให้มากขึ้นด้วย

การเปิดเผยเอกลักษณ์ของแหล่งข่าวที่น้อยลง

การศึกษาครั้งนี้พบว่า สื่อทั้ง 3 สำนักละเมิดมีการละเมิดโดยเปิดเผยเอกลักษณ์ผู้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบข่าวเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู และเหตุการณ์กราดยิงที่นครราชสีมา ดังตัวอย่าง ‘สรุปเหตุการณ์ 17 ชม.สะเทือนขวัญคนไทย “จ่าคลั่ง” กราดยิงก่อนถูกจับตาย’ (ไทยรัฐออนไลน์, 2563) มีการกล่าวถึงครอบครัวผู้เสียชีวิต เจาะไปถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว รวมถึงการตามหาข้อมูลส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ บ้านเลขที่ ครอบครัว ซึ่งเป็นการเปิดเผยเอกลักษณ์ของผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทำให้โดนวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างหนัก บทความ โซเชียลวิจารณ์ ‘สื่อ’ กรณีกราดยิงโคราช ผุด Hashtag #แบนช่องone ขึ้นเทรนด์ Twitter’ (Techsauce Team, 2563) กล่าวถึงการกราดยิงที่โคราชว่า “สื่อดังกล่าวกระหายข่าว และเพิ่มความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเปิดเผยการทำงาน และที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ก่อเหตุสามารถทราบได้ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์” ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการที่สื่อเข้าไปเปิดเผยเอกลักษณ์ของทั้งผู้ได้รับผลกระทบและผู้ก่อเหตุมากเกินไป จะทำให้ส่งผลเสียถึงทุกฝ่าย ทั้งในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว จึงกล่าวได้ว่า บทเรียนที่นครราชสีมานี้อาจทำให้การละเมิดโดยการเปิดเผยเอกลักษณ์ผู้ได้รับผลกระทบในเนื้อหาและภาพข่าวที่หนองบัวลำภูมีน้อยลง

เรตติ้ง จรรยาบรรณสื่อ และการเลือกรับสาร

อีกเหตุการณ์หนึ่งก่อนหน้านี้คือการฆาตกรรมเด็กหญิงที่จังหวัดมุกดาหาร มีการวิเคราะห์ว่า ที่สื่อสามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งๆ ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าละเมิดจริยธรรมก็เป็นเพราะว่ามีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก บทความ ‘น้องชมพู่: มองกระแส “ลุงพล-ป้าแต๋น” ผ่านความเห็นนักวิชาการ’ (BBC NEWS ไทย, 2563) วิเคราะห์ว่า การที่สื่อสร้างคอนเทนต์ที่เรียกคนอ่านทางออนไลน์เพื่อเรียกยอดผู้เข้าชม เป็นการสมยอมระหว่างสื่อกับผู้รับสาร ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จทางการตลาดที่สามารถเรียกกระแสได้อย่างดี จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สื่อยังคงผลิตสื่อในลักษณะของการเล่นกับความรู้สึกของผู้รับสารอยู่ เมื่อมีคนอ่านข่าวแบบนี้ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำเรื่อยๆ

ดังนั้น ในการทุเลาปัญหานี้ ผู้รับสารอาจมีส่วนช่วยได้ ด้วยการสนับสนุนการเลือกรับข่าวสารที่มีการรายงานอย่างถูกต้อง ไม่ละเมิดจรรยาบรรณ รวมถึงการใช้เสียงของผู้รับสารสะท้อนการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสมของสื่อ

เพื่อให้สื่อและสมาคมวิชาชีพได้รับทราบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนต่อไป


บรรณานุกรม

ข่าวสดออนไลน์. (6 ตุลาคม 2022). ผู้รอดชีวิต เผยนาทีสังหารโหด พบมีครูท้องแก่ โดนฟันดับด้วย. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7303419

ไทยรัฐออนไลน์.ตาย. (9 กุมภาพันธ์ 2020). สรุปเหตุการณ์ 17 ชม.สะเทือนขวัญคนไทย “จ่าคลั่ง” กราดยิงก่อนถูกจับ. https://www.thairath.co.th/news/society/1767298

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ. (8 มิถุนายน 2021). ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔. https://www.presscouncil.or.th/rule/6126

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ. (12 ตุลาคม 2021). แนวปฏิบัติ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๕๖๔. https://www.presscouncil.or.th/regulation/6492

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ. (30 มกราคม 2020). สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ. แนวทางการปฏิบัติงาน ของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต. https://www.presscouncil.or.th/regulation/5186

วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (10 กันยายน 2020) น้องชมพู่: มองกระแส “ลุงพล-ป้าแต๋น” ผ่านความเห็น นักวิชาการ. https://www.bbc.com/thai/thailand-54102852

Techsauce Team. (9 กุมภาพันธ์ 2020). โซเชียลวิจารณ์ ‘สื่อ’ กรณีกราดยิงโคราช ผุด Hashtag #แบนช่องone ขึ้นเทรนด์ Twitter. https://techsauce.co/news/social-comment-media-ban-channel-one

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Media

Bangkok Pride 2024 : เรื่องที่พาเหรดปีนี้อยากบอก

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . มองไปทางไหนก็เจอแต่สีรุ้ง!  เมื่อถนนถูกปิด เสียงดนตรีเร้าใจบรรเลงขึ้น และมวลชนสีรุ้งก็กำลังเคลื่อนตัว เป็นสัญญาณว่าพาเหรด Bangkok Pride 2024 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้คนต่างแต่งกายและแต่งแต้มเรือนร่างด้วยสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของ ...

Writings

ชายผู้สร้างถนนในบรรณพิภพ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  บทนำ “ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน” “เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ” “พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์” “ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save