เรื่อง : จิรัชญา นุชมี
ภาพ : จิรัชญา นุชมีและศิรประภา สีดาจันทร์

งานรื่นเริงที่เปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมได้พบปะเฉลิมฉลองอันที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ งานวันตรุษที่เฉลิมฉลองกันหลังสิ้นสุดเดือนรอมาฎอนและวันตรุษหลังเดือนฮัจย์ใหญ่ สองวันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนา แต่ยังมีอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่ชาวมุสลิมกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นโอกาสในการพบปะกระชับมิตรของผู้คน รื่นเริงกับแสงสี และต้อนรับให้ผู้คนได้ร่วมทำบุญ ซึ่งนั่นคือ งานสุเหร่า นั่นเอง
การจัดงานตามศาสนสถานต่างๆ เพื่อการเฉลิมฉลองหรือการกุศล เป็นภาพที่ชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘งานวัด’ งานที่รวบรวมกิจกรรมสนุกสนานไว้มากมาย ภาพชิงช้าสวรรค์ ภาพม้าหมุน เครื่องเล่นที่สามารถจ่ายได้ในราคาไม่ถึง 100 เท่านั้นในการไปร่วมสนุก หรือจะเป็นกิจกรรมปาโป่ง สาวน้อยตกน้ำ ยิงตุ๊กตา อีกทั้งยังมีอาหารและขนมอร่อยๆให้เลือกเดินซื้อด้วย ก็คงไม่แปลกอะไรถ้าสิ่งนี้จะเป็นภาพคุ้นตาของชาวไทย และงานวัดก็ไม่ได้จำกัดแค่ชาวพุทธในการร่วมสนุกเสียหน่อย เพราะศาสนาไหนก็ไปงานวัดได้
แล้วกับ งานสุเหร่า นี่มันเป็นยังไงกันนะ

งานสุเหร่า คือ งานประจำปีของชุมชนมุสลิมที่มีมัสยิดตั้งอยู่เป็นศูนย์กลาง โดยในชุมชนมุสลิมทุกที่มักจะมีมัสยิดเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนได้เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เข้าไปละหมาด 5 เวลา และละหมาดวันศุกร์ รวมถึงวันตรุษจะมีเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาร่วมละหมาดและเฉลิมฉลองกัน ซึ่งเป็นงานการกุศลที่จะนำรายได้จากการขายคูปองอาหาร โดยจะมีอาหารที่หลากหลายให้ผู้มาร่วมงานได้เลือกทาน มีอาหารทุกแนว ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละปีร้านค้าที่มาออกบูธจะนำอาหารอะไรมาขาย และเงินในการสนับสนุนบูธร้านอาหารมาจากผู้ใหญ่ใจดี ที่ไปทำการว่าจ้างให้ร้านเหล่านั้นมาเปิด เพราะฉะนั้นอาหารในงานจะเปลี่ยนไปในทุกปี อยู่ที่ผู้สนับสนุนจะซื้อร้านไหนมา นอกจากการขายคูปองอาหารเพื่อรายได้แล้ว ยังมีการรับบริจาคโดยตรง ผ่านโต๊ะรับบริจาคและตู้รับบริจาค โดยเงินเหล่านี้จะถูกนำไปพัฒนากิจการมัสยิด ไม่ว่าจะเป็น บำรุงอาคาร บำรุงสุสานฝังศพ สร้างตึกใหม่ หรือจุดประสงค์อะไรก็ตามประจำปีนั้น ๆ
ระยะเวลาการจัดงานส่วนมากจะเป็น 2 วันเท่านั้น และถูกจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือ ศุกร์-เสาร์ เพื่อความสะดวกสบายของผู้เข้าร่วม โดยช่วงเวลาในการจัดขึ้นอยู่กับความพร้อมของมัสยิดนั้น ๆ อย่างมัสยิดในชุมชนของผู้เขียนจะถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาปลายปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นต้นไป โดยช่วงเวลาในการจัด จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่าย สำหรับการขายอาหาร ส่วนในช่วงเย็นจะเป็นกิจกรรมการแสดงของเด็กในโรงเรียนในมัสยิด และตกกลางคืนเป็นการเปิดงานและกิจกรรมการบรรยายธรรม โดยสิริรวมเวลาทั้งหมดคือตั้งแต่ เที่ยงวันยันเที่ยงคืนนั่นเอง
งานสุเหร่าและอาหารขาดกันไม่ได้


ภายในงานมีทั้งของคาวและของหวานจากหลากหลายชนชาติ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในแต่ละปีจะมีอาหารที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนนั้นๆ ดังนั้นเมนูในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะไม่มีเมนูประจำที่ผู้สนับสนุนต้องพลิกแผ่นดินหาร้านที่อร่อยที่สุดทุกปี นั่นคือร้าน เนื้อย่างน้ำตก ซึ่งเป็นเมนูที่มีเท่าไหร่ก็ขายหมดเท่านั้น และยังขายหมดเร็วอีกด้วย หากมาหลังพระอาทิตย์ตกดินก็อาจไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองความอร่อยนั้นแล้ว
นอกจากเนื้อน้ำตกแสนอร่อยแล้ว เมนูที่ต้องมีทุกปีไม่แพ้กันคือ ไก่ย่าง แพะย่าง หรือ สเต็กต่าง ๆ เพราะเป็นอาหารจานใหญ่ที่ทานง่าย และคุณภาพดี โดยเฉพาะกับเมนู แพะ ที่ไม่ได้หาทานง่ายๆ เมนูประเภทนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเมนูที่หมดไวเป็นอันดับที่สองเลยก็ว่าได้
ที่ขาดไปไม่ได้คืออาหารที่เป็นข้าวกับที่ทำให้ผู้มาร่วมงานอิ่มท้องอย่างเต็มที่ที่สุด ข้าวมันไก่ ข้าวเนื้อแดง ข้าวเนื้ออบ ข้าวผัด ซุปหางวัว กระทั่งข้าวแกงปักษ์ใต้ ก็คือเป็นตัวเลือกในเมนูร้อยกว่าอย่างนั่นด้วย
ต่อเนื่องไปกับของหวานกับ แพนเค้ก เฉาก๊วย พุดดิ้งนม และไอศกรีม ที่มักเป็นเมนูประจำให้ล้างปากหลังจากทานคาวอย่างจัดจ้าน หลากหลายแบบสามารถเลือกสรรให้ทานกันได้

นอกจากอาหารคาวหวานแบบหนักท้องแล้ว ยังมีชุดน้ำชาที่เตรียมเสริฟไว้ให้กับแขกผู้มาร่วมงานได้ดื่มกันแบบชิลๆ ในทุกมัสยิดจะมีวิธีการชงชาและรสชาติของชาที่แตกต่างกันออกไปด้วย ชาร้อนเสิร์ฟคู่กับคุกกี้หรือบิสกิตสอดไส้ กินเพลินๆ ระหว่างนั่งฟังบรรยายธรรม หรือระหว่างมีบทสนทนากับญาติมิตรที่มาพบเจอในงาน และยังเป็นอีกหนึ่งที่เช็คอินสำหรับผู้สูงอายุที่มีจุดประสงค์มานั่งพูดคุยกับเพื่อนถึงเรื่องราวในอดีต นั่งจิบชาเพลินกว่าทานอาหาร คงนั่งทานนั่งพูดคุยได้เรื่อยๆ จนกว่าลูกหลานจะตามกลับบ้าน

สุเหร่ากับมัสยิด แตกต่างกันยังไง
จากที่ผู้เขียนได้ใช้คำศัพท์กับศาสนสถานแห่งนี้ว่า มัสยิด แต่พอเป็นการเอ่ยถึงงานกลับใช้คำว่า “งานสุเหร่า” นั้นมันแตกต่างกันตรงที่คนนำไปใช้ ซึ่งรากศัพท์ของทั้งสองคำนี้มาจากสองภาษาที่ต่างกัน มัสยิด เป็นคำจากภาษาอาหรับ และ สุเหร่า เป็นศัพท์จากภาษามลายู ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายเป็นสถานที่ประกอบศาสนาของชาวมุสลิมเหมือนกัน ดังนั้นการใช้คำศัพท์ทั้งสองคำในบทความนี้
ทำไมถึงต้องจัดทุกปีล่ะ
มัสยิดนั้นมีค่าคนใช้งานตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น เพื่อการศาสนา ละหมาดในทุกวัน แน่นอนว่าต้องมีการใช้น้ำใช้ไฟเป็นปกติเสมือนบ้านมนุษย์ อีกทั้งความเก่าแก่และการขยายของพื้นที่รอบมัสยิดทำให้ต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการจัดงานขึ้นทุกปี เพื่อนำเงินบริจาคไปทำนุบำรุงศาสนสถานให้อยู่เป็นที่พักพิงจิตใจให้ผู้คนในชุมชนอีกนานแสนนาน
และอีกผลพลอยสำคัญที่ได้มากับการจัดงาน คือการให้คนในชุมชนได้ออกมาพบปะ พูดคุย สร้างความใกล้ชิดให้แก่คนในชุมชน ในงานยังมีการบรรยายศาสนา และการเสวนาเรื่องราวศาสนากับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งงานสุเหร่าก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาพูดคุยถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ อีกด้วย
กิจกรรมที่ให้ทำมีอะไรบ้าง

ลักษณะงานคือการจัดเพื่อการกุศลและให้ความรู้ด้านวิชาการ กิจกรรมภายในงานจึงไม่มีอะไรที่เป็นความบันเทิง เช่น การปาโป่ง หรือ ยิงตุ๊กตา มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการชมนิทรรศการที่ภายในงานจัดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการชมการเล่าประวัติศาสตร์มัสยิด หรือ ประวัติศาสตร์ชุมชน การเปิดพื้นที่ให้คนมาถกเถียงกัน (ถือว่าเป็นกิจกรรมไหมนะ ?) กิจกรรมประกวดการตอบคำถามศาสนาจากเด็กในโรงเรียนสอนศาสนา, การขับร้องอนาชีร หรือ ที่เรียกว่าการขับร้องแบบไม่มีดนตรีในภาษาอาหรับหรือมลายู, การแข่งขันอ่านอัลกุรอาน, และการแสดงละครสั้นที่สะท้อนสังคมโดยนำคำสอนศาสนามาผสมผสานด้วย
ในบางโอกาสหากงานจัดคู่กับโครงการในชุมชนก็อาจนำมาปรับเป็นกิจกรรมก็ได้ เช่น เมื่อปี 2020 มัสยิดคอลิดีนร่วมมือกับโครงการกำปงที่ดงปรือของชุมชนบางมด มีกิจกรรมล่องเรือชมเส้นทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ของชุมชนและมัสยิด เป็นต้น
งานสุเหร่าในปีนี้ทำอะไร …?
ในปี 2023 เป็นการจัดงานสุเหร่ามีขึ้นมาเพื่อการกุศลโดยนำรายได้ไปพัฒนากิจการของมัสยิด การสร้างอาคารใหม่ และเพื่อปรับปรุงกุโบร์(สุสานฝังศพ) เนื่องจากในชุมชนมุสลิมตรงนี้มีผู้คนจากหลากหลายท้องที่เข้ามาแวะเวียนประกอบปฏิบัติศาสนกิจ เป็นที่พักพิงจิตใจของชาวมุสลิมหลายคนไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ และยังเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมจากหลากหลายพื้นที่ไว้ใจนำร่างของตนเองมาฝังไว้ในสถานที่แห่งนี้ กุโบร์ของมัสยิดคอลิดีนเป็นหนึ่งในกุโบร์ที่มีคนถูกฝังศพมากที่สุด ด้วยพื้นที่ใหญ่ บรรยากาศที่ร่มรื่น และการดูแลอย่างใส่ใจ ดังนั้นการปรับปรุงพื้นที่กุโบร์จึงเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของงาน ที่เป็นวาระต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

กิจกรรมภายในงานปีนี้เน้นการเสวนาและบรรยายธรรม มีการแสดงของเด็กในโรงเรียนเป็นการร้องเพลงถอดบทเรียนเล็กน้อยเป็นโชว์น่ารักๆ ที่มีมาให้ผ่อนคลายบ้าง แต่ธีมหลักของปีนี้คือการนำเสนอด้านวิชาการและถกเรื่องประเด็นสังคม โดยวันแรกคือวันที่ 28 ตุลาคม เกี่ยวข้องกับเรื่องการให้ความสำคัญกับการศึกษาและการยกระดับสถานะทางสังคม โดยใช้ศาสนาดำเนินร่วมไปกับวิธีการทางโลก
และวันที่สอง 29 ตุลาคม 2566 กับการเสวนาหัวข้อเกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งได้นำผู้ทำงานทางสังคมมาร่วมวงเสวนาด้วยหลายคน หนึ่งในนั้นมี อาจารย์ วัลลภา นีละไพจิตร ประธานฝ่ายกิจการสตรี เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี
(ภรรยาของทนาย สมชาย นีละไพจิตร เป็นนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายตัวไป) มาพูดถึงประเด็นผู้หญิงมุสลิมกับการใช้ชีวิตในสังคมไทย และการสร้างโอกาสให้ตัวเองสู่สังคมที่กว้างขึ้น การต่อสู้ของฮิญาบและมุสลิมะห์ไทย ซึ่งในช่วงเวลาที่บรรยายถึงจะดึกจวบจน 4 ทุ่มกว่าแล้วก็ตาม แต่ฝนฟ้ายังเป็นใจ ปลอดโปร่งดี ทำให้การบรรยายผ่านพ้นไปได้ด้วยดีและเปี่ยมได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ต่างๆ
เมื่อการบรรยายสิ้นสุดลงจึงมีการมอบกระเช้าเพื่อแทนคำขอบคุณผู้บรรยายและพิธีปิดจะดำเนินขึ้นถัดมา
สีสันของงานสุเหร่า ที่ผู้คนไม่เคยรู้จักแท้จริงแล้วมีความสนุกสนาน และมีมิติที่ต่างจากงานการกุศลอื่นอยู่มาก เนื่องจากมีการชูเรื่องวิชาการเป็นหลักแต่ผู้จัดทำต้องมีแนวคิดทำให้งานไม่น่าเบื่อด้วย ซึ่งน่าแปลก ที่ไม่เคยมีปีไหนที่ทำออกมาแล้วกร่อยเลยสักครั้ง ผู้คนต้องการขวนขวายความรู้อยู่เสมอ และมองว่า งานสุเหร่า เป็นพื้นที่ที่สามารถมาหาความรู้แบบย่อยง่ายได้ อีกทั้งยังมีอาหารให้รับประทานพร้อมทั้งได้ทำบุญไปอีกด้วย
หากจะกล่าวว่างานสุเหร่าคือการสร้างสังคมแบบหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากเป็นงานบุญที่เปิดพื้นที่ให้คนได้พูดคุยกัน ทั้งคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว หรือคนที่ไม่รู้จักเลยก็ตาม การสร้างบทสนทนาเมื่อพบหน้ากัน แน่นอนว่าทำให้เกิดการพูดคุยต่อได้อีกยาวนาน
แถมยังเป็นการสร้างความผูกพันให้กับคนในชุมชน ระหว่างผู้คนด้วยกัน และระหว่างผู้คนกับสถานที่อีกด้วย