เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
“เทศกาลไหว้พระจันทร์” เทศกาลเก่าแก่ของจีน มีหลากหลายเรื่องราวเรื่องเล่าเพื่ออธิบายว่าทำไมจึงต้องไหว้พระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวในสังคมจีนสมัยก่อน การกสิกรรมยังคงเป็นอาชีพหลักของหลายครอบครัว ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ ทำให้การไหว้พระจันทร์กลายเป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของสังคมจีน หรือบางเรื่องเล่าก็กล่าวว่าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อ “เทพธิดาฉางเอ๋อ” เทพดวงจันทร์ในตำนานเทพปกรณัมจีน
แต่ไม่ว่าเรื่องเล่าที่มาของเทศกาลไหว้พระจันทร์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เคียงคู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์เสมอมาคือ “ขนมไหว้พระจันทร์” ขนมอบสอดไส้ธัญพืชต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นไส้ยอดนิยมที่คนไทยรู้จักกันดีคือ ไส้โหงวยิ้ง(五仁) โดยคำว่า โหงว(五) แปลว่า ห้า ส่วนยิ้ง(仁) แปลว่า ถั่ว ซึ่งหมายถึงไส้ของถั่ว 5 ชนิดรวมกัน แล้วแต่ว่าพ่อค้าแม่ค้าเจ้าไหนจะไส้ถั่วอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักมี เมล็ดแตงโม อัลมอนด์ งาขาว หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นส่วนประกอบหลัก
แต่เมื่อวันเวลาแปลผัน ประกอบกับวัฒนธรรมจีนที่แพร่ไปทั่วโลก ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์มีไส้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น ไส้ชาเขียวมัทฉะถั่วแดง ไส้กาแฟ หรือแม้แต่ไส้ทุเรียนหมอนทอง
ถึงกระนั้น ขนมไหว้พระจันทร์ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนประกอบจากธัญพืช แต่กลับเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่ให้พลังงานประเภทคาร์โบไฮเดรต อีกทั้งยังมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอีกด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงชวนทุกคนมาพลิกถุงขนมไหว้พระจันทร์ยี่ห้อดัง ดูส่วนประกอบและพลังงานของก้อนแป้งชนิดนี้กัน
ขนมไหว้พระจันทร์ที่เราเลือกมาทั้ง 3 ยี่ห้อ 3 รสชาติ คือ S&P รสชาติใหม่ไส้พุทราจีน-ชาหอมหมื่นลี้, Starbucks ไส้มอคค่า และภัตตาคารเชียงการีลา(Shangarila Restaurant) รสชาติใหม่ไส้ส้มยูซุ-แมคคาเดเมียS&P ไส้พุทราจีน-ชาหอมหมื่นลี้ ปริมาณก้อนละ 150 กรัม ขายในราคา 135 บาท มีความกว้างอยู่ที่ 7.5 เซนติเมตร และมีความสูง 3.5 เซนติเมตร ขณะที่ 1 ก้อน ให้พลังงานทั้งหมด 530 กิโลแคลอรี่
Starbucks ไส้มอคค่า ปริมาณก้อนละ 170 กรัม ขายในราคา 170 บาท มีความกว้างอยู่ที่ 7 เซนติเมตร และมีความสูง 3.5 เซนติเมตร ขณะที่ 1 ก้อน ให้พลังงานทั้งหมด 600 กิโลแคลอรี่
ขณะที่ภัตตาคารเชียงการีลา(Shangarila Restaurant) ไส้ส้มยูซุ-แมคคาเดเมีย ปริมาณก้อนละ 170 กรัม ขายในราคา 114 บาท มีความกว้างอยู่ที่ 7.5 เซนติเมตร และมีความสูง 3.5 เซนติเมตร ขณะที่ 1 ก้อน ให้พลังงานทั้งหมด 660 กิโลแคลอรี่
เมื่อพลิกหลังถุงบรรจุภัณฑ์ จะพบกับข้อมูลโภชนาการที่แต่ละยี่ห้อเขียนอธิบายไว้ โดยขนมไหว้พระจันทร์ของภัตตาคารเชียงการีลาที่ให้ปริมาณ 170 กรัม แนะนำให้แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งชิ้น โดยน้ำตาลที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 42 กรัม ขณะที่ขนมไว้พระจันทร์ของ Starbucks และ S&P แนะนำให้แบ่งรับประทานครั้งละ 1/3 ชิ้น โดยน้ำตาลที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 18 กรัม
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม ซึ่งนั่นหมายความว่า หากเรารับประทานขนมไหว้พระจันทร์ของ Starbucks หรือ S&P เราจะเหลือโควตาบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 6 กรัม หรือประมาณ 1.5 ช้อนชาเท่านั้น และถ้าหากเรารับประทานขนมไหว้พระจันทร์ของภัตตาคารเชียงการีลา เราจะบริโภคน้ำตาลเกินจากคำแนะนำของ WHO ไป 18 กรัม หรือประมาณ 4.5 ช้อนชา
ขนมไหว้พระจันทร์ของภัตตาคารเชียงการีลาหนึ่งหน่วยบริโภคคิดเป็น 85 กรัม พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภคคิดเป็น 330 กิโลแคลอรี่ ขณะที่ขนมไหว้พระจันทร์ของ Starbucks และ S&P หนึ่งหน่วยบริโภคคิดเป็น 55 กรัม พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภคคิดเป็น 200 กิโลแคลอรี่
ขนมไหว้พระจันทร์ของ Starbucks และ S&P จะมีความเนื้อสัมผัสและปริมาณน้ำตาลไม่ต่างกันมาก คือมีเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างเนียน และมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยกว่าของภัตตคารเชียงการีลา ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ของภัตตาคารเชียงการีลามีเนื้อค่อนข้างหยาบร่วน มีถั่วแมคคาเดเมียพอแหลกให้เคี้ยว แต่ขณะเดียวกันก็มีส่วนผสมของน้ำตาลค่อนข้างมาก
เห็นได้ชัดว่าขนมไหว้พระจันทร์ 1 ชิ้นจากทั้ง 3 ยี่ห้อดังล้วนแต่มีพลังงานและน้ำตาลที่มากเกือบเทียบเท่าอาหาร 1 มื้อ แต่ถึงอย่างนั้น เงินที่เราเอามาซื้อขนมไหว้พระจันทร์ก็เพราะเราอยากทานขนมไหว้พระจันทร์ ไม่ได้อยากทานข้าว เราจึงควรบริหารจัดการการทานของเราให้อยู่ในความพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป
หากให้แนะนำการทานขนมไหว้พระจันทร์ให้มีประสิทธิภาพและยังสามารถรักษาสุขภาพที่ดีไปพร้อมกันได้ เราอาจทานขนมไหว้พระจันทร์ในตอนเช้าเป็นของว่างรองท้อง ซึ่งก็จะทำให้กินได้มากหน่อย อยู่ท้อง และยังได้ลิ้มรสความอร่อยของขนมไหว้พระจันทร์แบบที่เราต้องการไว้เช่นเดิมอีกด้วยนะ