เรื่องและภาพ: ปาณิสรา ช้างพลาย
คำเตือน: เนื้อหาพูดถึงความรุนแรงภายในสถานศึกษา ทั้งความรุนแรงทางร่างกาย และความรุนแรงทางใจ
‘ครู’ ในความทรงจำของคุณเป็นคนอย่างไร ?
ครูที่อบรมพร่ำสอนให้เราเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ครูที่กวดขันให้เราเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ครูที่ทุ่มเทเอาใจใส่จนเป็นตัวแทนของคำว่า ‘พระคุณที่สาม’ หรือครูที่เราอาจจำบทเรียนที่เคยเรียนด้วยได้เลือนลาง แต่กลับจำบาดแผลที่ครูคนนั้นฝากไว้ได้ชัดเจน
ความรุนแรงในสถานศึกษาเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาไทย รวมถึงมีวาทกรรม ‘ได้ดีเพราะไม้เรียว’ ที่คอยหนุนให้การลงโทษด้วยความรุนแรงกลายเป็นเรื่องชอบธรรม หรือมองว่าเป็นการ ‘ใช้ความรุนแรงในนามของความรัก’ ทำให้ความรุนแรงในสถานศึกษากลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย
บาดแผลที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง ไม่ว่าจะมาจากในนามของ ‘ความรัก’ หรือ ‘ความหวังดี’ ดังที่ครูกล่าวอ้าง หรือจากความต้องการแสดงถึงอำนาจความเป็นครูก็ล้วนสร้างความบอบช้ำภายในจิตใจของเด็กทั้งสิ้น
Varasarn Press ชวนคุณมาร่วมสำรวจ บทเรียนและบาดแผลที่ครูฝากไว้ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น ว่าบาดแผลจากพระคุณที่สามนั้นนำไปสู่อะไรได้บ้าง
‘ประถม-มัธยม’ ช่วงวัยที่ถูกครูสร้างบาดแผลมากที่สุด
ผลสำรวจจากคำถาม ‘คุณเคยมีประสบการณ์ถูกผู้สอนสร้างบาดแผล (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) หรือไม่ ในระดับการศึกษาใดบ้าง’ โดยสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า ระดับการศึกษาที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคยมีประสบการณ์ถูกผู้สอนสร้างบาดแผลมากที่สุดคือ ระดับประถม และมัธยม คน ส่วนอันดับอื่นๆ สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้
- ประถม: 83.3%
- มัธยม: 81.4%
- อนุบาล: 23.5%
- มหาวิทยาลัย: 20.6%
นอกจากนี้ ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกตอบว่าเคยถูกผู้สอนสร้างบาดแผลตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ถึง 5 คนอีกด้วย
ผลการสำรวจระบบการศึกษาในระดับประถม พบว่าสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาโดยรัฐและโดยเอกชนไม่แตกต่างกันมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในระบบใดระบบหนึ่ง แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในโรงเรียนรัฐ หรือเอกชน
ข้อมูลจากแบบสอบถามข้างต้นชี้ชัดว่าระดับประถมเป็นช่วงวัยที่เด็กมักเผชิญกับเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากที่สุด ดังนั้นการสร้างบาดแผลให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้ จดจำ จะยิ่งเป็นการสร้างความทรงจำที่เด่นชัดต่อครูและสร้างทัศนคติต่อความรุนแรงว่าเป็นเรื่องปกติ โดยครูกอล์ฟ-นารถชนก ศรีโท ได้ให้สัมภาษณ์กับ WAY Magazine ในประเด็นผู้สอนใช้ความรุนแรงต่อเด็กระดับปฐมวัย ว่า “ครูสอนเด็กปฐมวัยคือตัวแปรสำคัญที่จะชี้นำความชอบและความชังของเด็กๆ หากครูคนหนึ่งแสดงออกซึ่งความรุนแรงทั้งทางกายภาพ วาจา หรือกระทั่งการหยอกล้อใดๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมากไปกว่าความบอบช้ำทางจิตใจ แต่เป็นการเติบโตมาด้วยวิธีคิดที่ว่า ความรุนแรงเป็นความปกติอันสมควรกระทำแก่เพื่อนมนุษย์”
และจากคำถาม ‘ตลอดช่วงวัยเรียน คุณเคยมีประสบการณ์ถูกผู้สอนสร้างบาดแผลกี่ครั้ง โดยประมาณ’ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 57.8% หรือ 59 คน เคยมีประสบการณ์ถูกผู้สอนสร้างบาดแผลจำนวน 1-5 ครั้ง 26.5% หรือ 27 คน มีประสบการณ์จำนวน 10 ครั้งขึ้นไป และ 15.7% หรือ 16 คน มีประสบการณ์ จำนวน 6-10 ครั้ง ตามลำดับ
‘ตี หยิก ทุบ’ 3 อันดับบาดแผลทางกายที่ผู้สอนนิยมฝากไว้
ผลสำรวจจากคำถาม ‘คุณเคยถูกผู้สอนสร้างบาดแผลทางร่างกายหรือไม่ ในรูปแบบใดบ้าง’ โดยเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ สามารถนำมาจัดอันดับรูปแบบความรุนแรงทางร่างกายที่ผู้สอนฝากไว้ได้ ดังนี้
- ตี: 77.5%
- หยิก: 39.2%
- ทุบ: 26.5%
- ตัดผม/ตัดเล็บ: 24.51%
- ดึงผม: 19.61%
- ตบ: 9.8%
- ล่วงละเมิดทางเพศ: 3.92%
- อื่นๆ เช่น บังคับลุกนั่ง วิ่งรอบสนาม: 3.92%
อาจกล่าวได้ว่า การ ‘ตี หยิก ทุบ’ เป็นการลงโทษที่ผู้สอนนิยมใช้มากที่สุด อาจจะเพราะเป็นวิธีคลาสสิคที่สามารถทำได้ง่ายและเห็นผลไว ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือวิธีลงโทษที่ซับซ้อนก็สามารถทำให้ผู้เรียนเจ็บปวดได้ทั้งทางกายและทางใจ แม้จะมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 เพื่อยุติการกระทำรุนแรงทางร่างกายต่อเด็กนักเรียน แต่ผลสำรวจนี้ก็แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงจากผู้สอนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเคยเกิดขึ้น และในบางสถานศึกษาก็ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในการลงโทษอยู่ แม้การลงโทษเหล่านี้อาจสร้างเพียงบาดแผลเล็กๆ บนร่างกายนักเรียนคนหนึ่ง แต่ก็เพียงพอที่จะทิ้งรอยช้ำรอยใหญ่ไว้ในจิตใจของเด็กที่ได้รับบาดแผลนั้น จนนำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียนได้
การลงโทษที่ไม่จบแค่บนแผลทางกาย แต่ส่งผลถึงแผลทางใจ
จากตัวอย่างบาดแผลทางร่างกายที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจผู้ตอบแบบสอบถาม จะเห็นได้ว่านอกจากบาดแผลที่ถูกทิ้งไว้บนร่างกายแล้ว บาดแผลบางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้เรียน ทั้งความกลัว ความไม่เข้าใจ หรือความหวาดระแวง การลงโทษบางอย่างก็สามารถลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนได้ เช่น การลงโทษเมื่อผู้เรียนไม่ทำตามที่ผู้สอนต้องการ การลงโทษต่อหน้าคนอื่น ล้วนส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ถูกกระทำได้
- “ประถม … โดนทุบเพราะคุยกับเพื่อน, โดนตีเพราะส่งงานไม่ครบ มัธยมต้น-ปลาย โดนตี 100 ครั้งขึ้นไปเพราะทำงานไม่เสร็จ, บังคับลุกนั่งวันละ 50 ครั้งเพราะมาสาย, เดินกบเพราะขาดงาน”
- “จำรายละเอียดไม่ได้ว่าคุยอะไรกับครูบ้าง แต่จบด้วยการที่เขาตบหน้าเราต่อหน้าเพื่อนทั้งห้อง มันไม่ใช่การตบหน้าที่แรง แต่ครูมีสิทธิ์ทำแบบนั้นกับเราจริงๆ หรอ?”
- “ตอนม.5 อยู่ดีๆ ครูประจำชั้นก็เดินหน้าตึงถือไม้เรียวออกมา แล้วให้เดินเรียงแถวตอนลึกทีละหนึ่งคนไปเข้าห้องเรียน ก่อนเข้าห้องจะถูกเขาใช้ไม้เรียวตีคนละ 1 ที พอถามว่าผิดอะไรกลับได้คำตอบว่า โตแล้วควรคิดกันเองได้”
- “ตอนประถมเคยถูกตบหน้าโดยครูต่างชาติ จำความรู้สึกไม่ได้ว่าแรงแค่ไหน แต่จำได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เรากลัวภาษาอังกฤษไปเลย…”
- “ขณะนั้นผมปวดฉี่จึงขออนุญาตครูผู้คุมหอในการไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งครูมองว่าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อจะไม่ทำกิจกรรม ทำให้ครูเอาไม้จากกองตู้เสื้อผ้าที่พังแล้วมาฟาดใส่ผม หลังจากนั้นทุบที่หน้าอกต่อหน้าเพื่อนๆ…”
‘ด่า ดูถูก วิจารณ์รูปร่าง’ 3 อันดับบาดแผลทางใจที่ไม่มีวันหายไป
เมื่อถามถึง ‘คุณเคยถูกผู้สอนสร้างบาดแผลทางจิตใจหรือไม่ ในรูปแบบใดบ้าง’ โดยเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ สามารถนำมาจัดอันดับรูปแบบความรุนแรงทางจิตใจที่ผู้สอนฝากไว้ ได้ ดังนี้
- ด่า/ใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง: 60.78%
- ดูถูก/ใช้คำพูดเสียดสี/เหยียดหยาม: 59.8%
- วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก (body shaming): 57.84%
- ประจาน: 53.92%
- เลือกปฏิบัติ: 51.96%
- ยึดทรัพย์สิ่งของส่วนตัวโดยไม่จำเป็น: 36.27%
- ล้อเลียน: 35.29%
- ใช้อำนาจบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ: 31.37%
- วิจารณ์/เหยียด เพศสภาพ: 6.86%
- ล่วงละเมิดทางเพศ: 2.94%
- อื่นๆ เช่น โดนกล่าวหาในสิ่งที่ไม่ได้ทำ: 2.94%
‘ด่า ดูถูก วิจารณ์รูปร่าง’ บาดแผลทางใจจากคำพูดที่เด็กหลายคนเคยมีประสบการณ์ร่วมกัน แม้บาดแผลจากคำพูดที่ไม่ทันคิด (หรืออาจจะไตร่ตรองไว้แล้ว) เหล่านี้จะไม่ทิ้งร่องรอยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเสมือนบาดแผลทางกาย แต่ก็เป็นความบอบช้ำฝังลึกอยู่ในจิตใจที่ยากจะจางหายไป อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบความรุนแรงทางจิตใจที่ครูสร้างแก่เด็ก มีตั้งแต่ระดับเล็กๆ ที่ครูอาจไม่ทันคิดว่ากระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น การแซว ล้อเลียน ก่อนจะไต่ระดับไปจนถึงการดุด่า หรือการดูถูก และยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างการใช้อำนาจบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ หรือการเลือกปฏิบัติ จนหลายครั้งบาดแผลเหล่านี้ก็นำไปสู่การลดทอนคุณค่า หรือหมดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจและพัฒนาการของเด็กในระยะยาวได้
ผู้สอนไม่ได้แค่ฝากบาดแผลในใจ แต่พรากความมั่นใจไปด้วย
จากคำถาม ‘โปรดยกตัวอย่างเหตุการณ์และระดับการศึกษาที่ผู้สอนฝากบาดแผลทางจิตใจให้แก่คุณ ’ ซึ่งผู้ตอบสามารถระบุได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดจำนวนตัวอย่าง โดยมีตัวอย่างบาดแผลที่ยังเด่นชัดในจิตใจของผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
- “มัธยมต้น-ปลาย โดนด่าว่าสันดานเสีย ไม่มีสัมมาคารวะ เพราะมองหน้าครูขณะโดนด่า ถูกด่าประจานต่อหน้าคนอื่นทั้งที่ไม่จำเป็น ถูกเลือกปฏิบัติเพราะครูไม่สนิทด้วยจึงถูกละเลยและถูกดุมากกว่าเพื่อนคนอื่น ถูกวิจารณ์รูปลักษณ์ โดนเรียกว่าพวกตัวอ้วนเผละ”
- “ตอนประถมโดนเรียกว่าเหยินกับดำ ตอนมัธยมปลายถูกเลือกปฏิบัติเพราะเราไปขอให้อาจารย์เปลี่ยนวิธีสอบ รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ หลังจากนั้นเกรดเราหายแบบไม่สมเหตุสมผล อาจารย์เอาเราไปพูดกับเพื่อนคนอื่นและอาจารย์คนอื่นแบบเสียๆ หายๆ เรียกเราว่า อีผู้หญิงคนนั้น อีกทั้งคำด่าสารพัดที่ไม่น่าฟังที่เขาเอาไปพูดกับคนอื่น”
- “ตอนประถมเคยโดนครูโมโหใส่แล้วเรียกว่า อีดำ”
- “ด้วยความที่เราไม่มีแม่ เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำทรงผมยังไง ตอนประถมโดนคุณครูตีเพราะทำผมไม่เรียบร้อย และยังล้อเลียนเราเหมือนเราเป็นตัวตลก”
- “ประถม ตอนพานทำไหว้ครูเราเห็นเพื่อนที่เขาเป็นคนสวยเอาดอกไม้มาทัดหูแล้วมีแต่คนชม เราเลยทำแบบนั้นบ้าง แล้วครูที่คุมห้องเห็นก็ชี้เราแล้วบอกว่า เหมือนเงาะป่า แล้วเขาก็หัวเราะ เพื่อนทั้งห้องก็หัวเราะตาม…”
- “ลายมือไม่สวย ครูเลยพูดในห้องต่อหน้าเพื่อนๆ ทุกคนว่า ลายมือทุเรศมาก”
- “ตอนมัธยมปลายน่าจะช่วงม.5 เราเคยถูกเรียกว่า คนที่สิวเยอะๆ คนนั้น หรือไม่ก็ แว่นคนนั้น จากครูคนหนึ่ง เขาเรียกเราเพื่อตอบคำถาม เรามีชื่อนะ ทำไมไม่เรียกชื่อ โมโหมากๆๆ การถูกเรียกด้วยสิ่งที่เราไม่ชอบมันเหมือนตอกย้ำ เราพยายามทำให้หายอยู่ไง การโดนตอกย้ำแบบนั้นทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองไปเลย ไม่กล้ามองหน้าใครเพราะอายที่หน้าเราไม่เกลี้ยงเหมือนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชิน”
- “ตอนประถม ถูกครูผู้ชายเดินเข้ามาบีบก้นแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น…ตอนมัธยมปลาย หลังจากที่นำเสนองานต่อหน้าผู้ใหญ่ระดับจังหวัดเสร็จ ครูผู้ชายเดินเข้ามาพูดใส่หน้าเบาๆ ว่า ตอแหล”
- “เขียนจดหมายรักไปให้คนที่แอบชอบแต่ครูกลับเอาไปอ่านให้คนในห้องเขาฟัง”
นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า “จำไม่ได้แต่ยังรู้สึกเจ็บ” สะท้อนให้เห็นว่าการกระทำความรุนแรงเหล่านี้ เป็นความบอบช้ำที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของเด็ก แม้บางคนจะสามารถเล่ารายละเอียดได้ชัดเจน บางคนอาจจำได้เพียงเลือนลาง แต่สิ่งที่มีร่วมกันทุกคนคือ ‘ความเจ็บปวด’ จากบาดแผลที่ครูฝากไว้
จะเห็นว่าผู้ผ่านความรุนแรงทางจิตใจบางส่วนมักจะถูกทำร้ายต่อหน้าคนอื่น เช่น ถูกดูถูกต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น หรือถูกวิจารณ์ในที่สาธารณะ และความรุนแรงที่ได้รับก็มักเป็นคำพูดหรือการกระทำที่ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้ถูกกระทำ ซึ่งสามารถส่งผลให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าได้
66.67% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกที่จะเก็บความเจ็บปวดจากบาดแผลนั้นไว้กับตนเอง
จากคำถาม ‘คุณมีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อผู้สอนสร้างบาดแผลต่างๆ ให้คุณ’ โดยผู้ที่ตอบสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก สามารถนำผลการสำรวจมาเรียงลำดับได้ ดังนี้
- เก็บไว้กับตนเอง ไม่ปรึกษาใคร: 66.67%
- ปรึกษาเพื่อน: 42.16%
- ปรึกษาคนในครอบครัว: 25.5%
- ระบายผ่านสื่อออนไลน์: 22.5%
- ปรึกษาผู้สอนท่านอื่นๆ: 7.8%
- อื่น ๆ เช่น ต่อต้าน ไม่ยอม ด่าครูกลับ: 1.96%
เกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกเก็บปัญหาความรุนแรงที่เคยเผชิญไว้กับตนเอง รองลงมาคือเลือกที่จะปรึกษาเพื่อน ก่อนจะเลือกปรึกษาคนในครอบครัว อาจกล่าวได้ว่า การออกปากขอความช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะความรุนแรงในโรงเรียนส่วนมากถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยระบบอำนาจ ครูสามารถใช้อำนาจผ่านความรุนแรงต่างๆ โดยอาจเริ่มจากความรุนแรงเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเลือกปฏิบัติ การเมินเฉย และค่อยๆ ทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงเข้าไปทีละน้อย จนผู้เรียนมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่รู้ว่าเริ่มมากจากตรงไหน และไม่รู้ว่าความรุนแรงที่ได้รับนั้นควรเล่าให้ใครฟัง
เพื่อนอาจจะเป็นคนที่เคยผ่านหรือเคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น จึงทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งเลือกปรึกษาเพื่อน แต่ที่น่าสนใจคือสถาบันครอบครัวที่ควรเป็นสถาบันที่ความสำคัญและมีความผูกพันธ์ต่อนักเรียนที่สุด กลับเป็นตัวเลือกลำดับที่ 3 ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะปรึกษา
อาจจะมองได้ในมุมหนึ่งว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กยื่นมือขอความช่วยเหลือได้ บางคนอาจจะต้องเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำๆ เพื่อให้คนในครอบครัวเชื่อว่าเขากำลังพบเจอกับความรุนแรงจากผู้สอนจริงๆ ในขณะที่บางคนอาจจะเจอกับคำถามที่บั่นทอนกำลังใจจากครอบครัวเอง เช่น เป็นเพราะตัวผู้เรียนเองหรือเปล่าที่ทำผิด จึงถูกลงโทษ ทำให้การขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวสำหรับบางคนกลายเป็นเรื่องยากหรือไม่สามารถทำได้เลย
ดังนั้น การที่เด็กส่วนใหญ่เลือกเก็บปัญหาไว้กับตัว อาจไม่ใช่เพราะความเข้มแข็ง แต่เพราะทางเลือกเมื่อตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในโรงเรียนนั้น ตัวเลือกที่จะ ‘ต่อต้าน’ นั้นมาพร้อมความเสี่ยงสูงที่จะถูกใช้ความรุนแรงมากขึ้น ตัวเลือกในการแก้ปัญหาจึงถูกจำกัดไว้เพียงแค่ ‘หนี’ หรือ ‘ยอม’
เด็กจำนวนหนึ่งอาจสามารถหลุดพ้นจากพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียนได้ด้วยการ ‘หนี’ เช่น ย้ายโรงเรียน เปลี่ยนไปอยู่ระบบการศึกษาอื่น แต่นั่นอาจเป็นการไปเสี่ยงดวงอีกครั้ง เพราะหากไม่ปรับที่โครงสร้างของระบบการศึกษาให้ได้มาตราฐาน ไม่ว่าจะย้ายไปโรงเรียนไหน หรือเปลี่ยนไประบบการศึกษาแบบใด ก็มีโอกาสถูกสร้างบาดแผลได้เช่นเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน เด็กอีกจำนวนมากจึงเลือกที่จะ ‘ยอม’ ก้มหน้ารับความรุนแรงที่ผู้สอนฝากไว้ บาดแผลที่ได้รับก็อาจส่งผลกระทบให้เด็กมีแนวโน้มที่จะนับถือตัวเองต่ำ หมดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
บาดแผลที่ครูสร้าง ทำลายความเชื่อมั่นและคุณค่าของผู้สอนไปกว่า 74.51%
จากคำถาม ‘บาดแผลต่างๆ ที่ผู้สอนสร้างไว้ ส่งผลกระทบต่อตัวคุณหรือไม่ อย่างไร’ โดยผู้ที่ตอบสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก สามารถนำมาเรียงลำดับได้ ดังนี้
- หมดความเชื่อมั่นในตนเอง/ลดทอนคุณค่าตนเอง: 74.51%
- กลายเป็นเหตุการณ์ฝังใจ/เกิดบาดแผลทางจิตใจ (trauma): 60.78%
- ทำให้เปลี่ยนบุคลิกภาพ เช่น กลายเป็นเด็กเก็บตัว/ไม่กล้าแสดงความเห็น: 41.18%
- ทำให้ไม่อยากไปเรียน/อยากลาออก-ย้ายโรงเรียน: 39.22%
- ทำให้ออกไปเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาด้านการศึกษา/การใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา: 24.51%
- ไม่ส่งผล: 5.88%
- อื่นๆ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปพบจิตแพทย์: 3.92%
แม้บาดแผลที่ผู้สอนสร้างไว้จะมอบความเจ็บปวดและความบอบช้ำทางจิตใจให้กับเด็กส่วนมาก ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงต่อตัวเด็ก ทั้งการหมดความมั่นใจในตัวเอง เป็นแผลขนาดใหญ่ในใจ หรือต้องย้ายโรงเรียน แต่ก็ยังมีเด็กบางส่วนที่เปลี่ยนความกลัวนั้นให้เป็น ‘ความกล้า’ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาด้านการศึกษา และลุกขึ้นมาต่อต้านระบบอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ด้วยความหวังว่าวังวนของความรุนแรงจะไม่ถูกส่งต่อไปยังเด็กคนอื่น หรือมีเหยื่อของบาดแผลเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก
เด็กได้บาดแผล แล้วครูได้บทเรียนอะไรบ้าง?
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามล้วนได้รับบทเรียนความรุนแรงจากผู้สอนมาทุกคน แต่จากคำถาม ‘ผู้สอนที่สร้างบาดแผลให้แก่คุณ เคยได้รับบทลงโทษหรือไม่ อย่างไร’ โดยผู้ที่ตอบสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 96.1% หรือ 98 คน ระบุว่าผู้สอนไม่เคยได้รับบทลงโทษใดๆ รองลงมาคือ ถูกว่ากล่าว/ตักเตือนจากผู้ปกครอง-อาจารย์ท่านอื่น 4.9% หรือ 5 คน ถูกไล่ออก 0.98% หรือ 1 คน และอื่นๆ เช่น ผู้สอนขอโทษและปรับปรุงตัว 0.98% หรือ 1 คน ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้อาจชี้ให้เห็นว่า บางครั้งความรุนแรงภายในสถานศึกษานั้นถูกใช้เป็นเรื่องปกติเสียจนผู้สอนที่ใช้ความรุนแรงนั้นไม่ได้รับบทลงโทษใดๆ หากถูกลงโทษก็เป็นส่วนน้อย และเป็นเพียงการกล่าวตักเตือน ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษอย่างหนักหรือปรับปรุงตัวก็เป็นส่วนที่น้อยลงไปอีก
50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ให้ตายก็ให้อภัยผู้สอนที่สร้างบาดแผลไม่ได้
เมื่อถามถึง ‘คุณสามารถให้อภัยผู้สอนที่เคยสร้างบาดแผลต่างๆ ให้คุณได้หรือไม่’ ผู้ตอบแบบสอบถาม 50% หรือ 51 คน ระบุว่า ให้ตายก็ไม่ได้-ไม่ได้ รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ จำนวน 27.5% หรือ 28 คน ให้อภัยได้ 15.7% หรือ 16 คน และอื่นๆ เช่น แล้วแต่กรณี ให้อภัยได้หากได้รับคำขอโทษ จำนวน 4.9% หรือ 5 คน ตามลำดับ
ตัวเลขของผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ให้อภัยผู้สอนอาจเป็นการตอกย้ำว่า ในขณะที่ผู้สอนซึ่งใช้ความรุนแรงไม่ได้รับผลกระทบใด และอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีผู้เรียนที่เจ็บปวดจากการใช้ความรุนแรงของตัวเอง ก็ยังมีผู้เรียนที่ยังคงเจ็บปวดกับความรุนแรงที่ได้รับจนไม่สามารถให้อภัยได้ อีกทั้งบาดแผลที่ได้รับก็อาจกลายเป็นแผลเป็นที่รักษาไม่หาย และต้องติดตัวกับผู้เรียนไปตลอดชีวิต ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ยังมีผู้เรียนบางส่วนที่อาจจะให้อภัยได้ หากผู้สอนขอโทษและยอมรับความผิดที่ตัวเองทำ จึงอาจแสดงให้เห็นว่าหนึ่งในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการนั้นคือ การยอมรับจากผู้สอนว่าผู้เรียนไม่ได้มีความผิดที่สมควรได้รับความรุนแรงเหล่านั้นเลย
หากได้พบกันอีก อยากบอกอะไรกับผู้สอน?
สุดท้ายในคำถาม ‘หากคุณมีโอกาสได้เผชิญหน้ากับผู้สอนที่เคยสร้างบาดแผลให้คุณอีกครั้ง คุณมีอะไรที่อยากบอก/อยากทำ หรือไม่’ พบตัวอย่างความคิดเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- “ครูก็เป็นคน หนูก็เป็นคน ทำไมถึงปฏิบัติกับเด็กคนหนึ่งไม่ต่างไปจากสัตว์ในสวนสัตว์ หนูต้องยอมให้คุณทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะคุณมีอำนาจ หนูก็เลยได้แต่ยอม ครูทำลายความเชื่อมั่นของหนูได้ง่ายๆ เพียงแค่คำพูดคำพูดเดียว พอครูทำแล้วครูก็ลืม แต่บาดแผลมันอยู่กับหนูตลอดไป คุณทำร้ายเด็กไปกี่คนแล้วก็ไม่รู้ ถ้าจะเป็นครูได้แต่ตัวก็อย่าเป็นเลย”
- “อยากบอกว่าการล้อเลียนหรือดูถูกปมด้อยเด็ก ไม่ได้ช่วยให้เด็กรู้สึกขำ หรือทำให้สนิทกันขึ้นเลยสักนิดเดียว ควรเลิกเอาเรื่องตรงนี้มาทำให้มันเป็นเรื่องปกติสักที”
- “อยากบอกว่าตอนนั้นมันไม่ตลกเลยสักนิด”
- “ไม่อยากพูดอะไรกับเขาแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไร บาดแผลมันเกิดขึ้นแล้ว แค่ไม่อยากให้เขาทำกับเด็กคนอื่นๆอีก เพราะทุกวันนี้เขาก็ยังเป็นครูอยู่”
- “กล้าดียังไง คุณถือสิทธิ์อะไรมาทำกับเราแบบนั้น เราไม่ต้องการคำขอโทษเพราะเราไม่ต้องการให้อภัยคุณ”
- “ผมโตขึ้นเรียนจบมหาวิทยาลัยที่ดี ในสาขาที่ผมถูกครูดูถูกว่ามันไร้สาระ และนำวิชาที่ครูมองว่ามันไม่ดี ทำเพื่อคนอื่น และตัวเองได้อย่างมีความสุข”
- “อยากบอกกับเขาว่าให้ใจดีกับเด็กให้มากๆ ไม่ได้แปลว่าให้ท้าย แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเงื่อนไขเด็กแต่ละคนหรือสภาพสังคมที่บ้านเขาเป็นยังไง ถ้าอยู่ที่บ้านเขาถูกกดดัน ต่อว่า แล้วต้องมาเจอครูที่โรงเรียนที่ทำร้ายจิตใจอีก เขาก็ต้องหนีไปหาที่พึ่งทางใจที่อื่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถูกทาง เพราะงั้นพยายามเป็น safe zone ให้กับเด็กๆ ช่วยเยียวยา หรือทะนุถนอมพวกเขาทีนะคะ”
- “อยากบอกเขาให้ได้รู้ว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างของคุณส่งผลกระทบกับเด็กๆ ได้มากแค่ไหน เด็กเล็กเหมือนกับผ้าขาว รอยด่างเพียงจุดเดียวก็จะเด่นชัดในความทรงจำของพวกเขา ขอให้เขามีสติและนึกถึงใจผู้อื่นก่อนเสมอ ตอนนั้นคำว่าบูลลี่ (Bully) ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่การให้เกียรตินั้นมีมาก่อนตั้งนานแล้ว”
จากความคิดเห็นในคำถาม ‘หากคุณมีโอกาสได้เผชิญหน้ากับผู้สอนที่เคยสร้างบาดแผลให้คุณอีกครั้ง คุณมีอะไรที่อยากบอก/อยากทำ หรือไม่’ มีทั้งผู้เรียนที่ยังคงเจ็บปวดจนยากจะให้อภัย ผู้เรียนที่ไม่เหลือคำพูดใดๆ ให้กับผู้สอน ผู้เรียนที่อยากให้ผู้สอนได้ปรับปรุงตัวเอง ไปจนถึงผู้เรียนที่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ความคิดเห็นของผู้เรียนแต่ละคนก็มีจุดร่วมเดียวกันคือพวกเขาไม่ต้องให้ความรุนแรงจากผู้สอนภายในสถานศึกษาถูกส่งต่อไปสู่เด็กรุ่นใหม่ และหวังว่าในอนาคตนั้น จะไม่มีความรุนแรงจากคนที่ถูกเรียกว่า ‘พระคุณที่สาม’ อีก
ทั้งนี้ ด้วยระยะเวลาการเก็บข้อมูลที่จำกัดและการกระจายของแบบสอบถามที่อยู่ในวงแคบ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าบทเรียนและบาดแผลที่ครูฝากไว้นั้นสอดคล้องบาดแผลในวัยเรียนที่นักเรียนและนักศึกษาส่วนมากเคยได้รับหรือไม่ แต่การเก็บข้อมูลครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้สะท้อนภาพ ‘ความรุนแรงในโรงเรียน’ บางส่วนว่ามีรูปแบบใช้ความรุนแรงอย่างไร รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบาดแผลเหล่านั้น
กาลเวลาอาจทำให้รอยแผลที่ครูสร้างจางลงไปได้ แต่ความเจ็บปวดที่ติดอยู่ในความทรงจำของเด็กนั้นยากที่จะจางหายไป ความปลอดภัยทางร่างกายและความปลอดภัยทางจิตใจควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ครูและสถานศึกษาต้องมอบให้แก่นักเรียนให้ได้ แต่จากการสำรวจนี้ก็สะท้อนว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่เคยเผชิญกับความรุนแรงภายในโรงเรียน และอาจจะยังมีเด็กอีกหลายคนที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม เราก็ยังหวังที่จะเห็นสถานศึกษาที่ปลอดอคติ การเลือกปฏิบัติ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริง
หากมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลง สถานศึกษาที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียนก็ไม่ใช่สิ่งที่อนาคตจะมอบให้เราไม่ได้เสียทีเดียว
ข้อมูลจากการเผยแพร่แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น จำนวน 102 คน โดยมีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
- เพศชาย จำนวน 10 คน
- เพศหญิง จำนวน 57 คน
- LGBTQIAN+ จำนวน 27 คน
- ไม่ต้องการระบุ จำนวน 8 คน
สามารถแบ่งระบบการศึกษาที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคย/กำลังศึกษาในแต่ละระดับชั้นได้ ดังนี้
• อนุบาล: โรงเรียน/สถานศึกษาโดยรัฐ จำนวน 41 คน หรือ 38.68% โรงเรียน/สถานศึกษาโดยเอกชน จำนวน 65 คน หรือ 61.32%
• ประถม: โรงเรียน/สถานศึกษาโดยรัฐ จำนวน 44 คน หรือ 41.9% โรงเรียน/สถานศึกษาโดยเอกชน จำนวน 61 คน หรือ 58.1%
• มัธยมศึกษาตอนต้น: โรงเรียน/สถานศึกษาโดยรัฐ จำนวน 76 คน หรือ 74.51% โรงเรียน/สถานศึกษาโดยเอกชน จำนวน 26 คน หรือ 25.49%
• มัธยมศึกษาตอนปลาย: โรงเรียน/สถานศึกษาโดยรัฐ จำนวน 85 คน หรือ 83.33% โรงเรียน/สถานศึกษาโดยเอกชน จำนวน 17 คน หรือ 16.67%
• มหาวิทยาลัย: โรงเรียน/สถานศึกษาโดยรัฐ จำนวน 97 คน หรือ 94.17% โรงเรียน/สถานศึกษา โดยเอกชนจำนวน 6 คน หรือ 5.83%
อ้างอิง
เมื่อระบบการศึกษาสร้างครูที่ภักดีต่อความรุนแรง: https://waymagazine.org/violence-in-schools/
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548: http://www.takesa2.go.th/download/law/3/3_7.pdf
ครูทำร้ายเด็กอนุบาล ปัญหาที่คน หรืออำนาจนิยมในสังคมไทย:
https://www.salika.co/2020/10/05/social-problems-teachers-punish-students/