News

ร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน ความหวังของนักศึกษากับมุมมองจากผู้ประกอบการ

เรื่อง : ปรียาภรณ์ เมฆแสน
(แก้ไขล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2564)

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ‘สมัชชาIntern’ ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา (ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ) จัดทำร่วมกับนางสาวเกศนคร พจนวรพงษ์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการที่จะสร้างมาตรฐานการฝึกงานใหม่ให้กับสังคม ช่วยให้นักศึกษาฝึกงานได้มีสวัสดิการที่ดี และสร้างแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่องค์กร ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานนั้นมีทั้งหมด 11 ข้อ ได้แก่ มีสัญญาการฝึกงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้าง ผู้ฝึกงาน และสถานศึกษา, ระบุขอบเขตหน้าที่การฝึกงานอย่างชัดเจนในสัญญา, ผู้ฝึกงานต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป, ระยะการฝึกงานต้องไม่น้อยกว่า 2 เดือนและไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาชีพที่มีเงื่อนไขเฉพาะ, เวลาทำงานของผู้ฝึกงานต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, ผู้ฝึกงานต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากที่ทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง, ผู้ฝึกงานสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลาป่วยเกิน 3 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์แสดงต่อนายจ้าง, ห้ามผู้ฝึกงานทำงานในพื้นที่และรายละเอียดงานที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย, บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีผู้บำเรอปรนนิบัติลูกค้า อาบอบนวด คือ สถานที่ที่ห้ามฝึกงาน, ค่าตอบแทนของการฝึกงานคิดเป็นรายชั่วโมงละ 50 บาท และสุดท้าย ต้องมีบทลงโทษตามกฎหมายหากนายจ้างละเมิดผู้ฝึกงาน

ร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สมัชชาIntern

หลังจากที่ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไป ก็เกิดการถกเถียงจากฝ่ายนักศึกษาและฝ่ายผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย วารสารเพรสจึงได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมอง ข้อเสนอแนะ รวมทั้งความต้องการของแต่ละฝ่ายที่จะไปกำหนดทิศทางของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในอนาคต

‘สมัชชาIntern’ ความหวังใหม่ของนักศึกษาฝึกงาน

นางสาวสุดปรารถนา ชาตรี, นายภูริภัทร ณ สงขลา และนายนภเศรษฐ์ ผลจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก ‘สมัชชาIntern’ ให้สัมภาษณ์ว่า สมัชชาIntern เกิดขึ้นเพราะนายนภเศรษฐ์เห็นโฆษณาการแข่งขันแคมเปญการสื่อสารเรื่องรัฐสวัสดิการจากโครงการ ‘YouthWel Hackathon’ บนเฟซบุ๊กของเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (society of young social innovators: SYSI) จึงชักชวนนางสาวสุดปรารถนากับนายภูริภัทรมาร่วมทีม และนำข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานมาเป็นหัวข้อในการแข่งขันโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าข้อเสนอนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อในแคมเปญการสื่อสารของพวกเขาซึ่งมีระยะเวลาที่จำกัดได้

นายภูริภัทรกล่าวต่อว่า ในตอนแรกพวกเขาคิดว่าจะทำ สมัชชาIntern ถึงแค่เดือนกันยายน เมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้น แต่หลังจากที่ได้สื่อสารข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานออกไป กระแสตอบรับดีเกินความคาดหมาย และข้อเสนอนี้ก็เป็นที่พูดถึงของคนในสังคมมากขึ้น ประกอบกับคนใกล้ตัวบอกว่าพวกเขาเป็นเหมือนความหวังของนักศึกษาฝึกงานหลาย ๆ คน จึงตั้งใจว่าจะทำแคมเปญนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานได้สำเร็จ แม้ว่าพวกเขาจะกลายเป็นนักศึกษาฝึกงานหรือทำงานไปแล้วก็ตาม “คำขอบคุณกับประโยคที่บอกว่าเราเป็นเหมือนความหวังของคนรอบข้างทำให้เราอยากจะทำงานตรงนี้ต่อ เพราะถ้าเราทำเพื่อการแข่งขันอย่างเดียว พอแข่งเสร็จแล้วเราหยุด มันก็เหมือนกับเราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำจริง ๆ ในเมื่อหลาย ๆ คนบอกว่าเราเป็นความหวัง เราก็อยากจะเป็นความหวังให้พวกเขาต่อไป”

ส่วนความคืบหน้าของข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานฉบับนี้ นายภูริภัทรและนายนภเศรษฐ์ระบุว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ ในสังคมไทย ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศตอนนี้กำลังย่ำแย่ และรัฐบาลก็ไม่ได้มองว่าเรื่องสวัสดิการของนักศึกษาฝึกงานเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะดำเนินการให้สำเร็จในเร็ว ๆ นี้คงเป็นไปได้ยาก แต่หากในอนาคตประเทศไทยมีรัฐบาลที่ดีและเข้าใจในเรื่องนี้ ข้อเสนอทั้ง 11 ข้อที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็อาจจะถูกนำไปพิจารณาและมีการปรับเปลี่ยนระหว่างทางอย่างแน่นอน ดังนั้นร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานจึงถือได้ว่าเป็นกฎหมายเพื่ออนาคต

ด้านนางสาวสุดปรารถนากล่าวเสริมว่า ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ หากถูกปัดตกระหว่างการพิจารณาในสภาฯ พวกเขาก็จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาผลักดันใหม่เรื่อย ๆ แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนดังกล่าว พวกเขาอยากจะลองเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มนำร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานไปปรับใช้จนกลายเป็นต้นแบบที่ชัดเจนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยดู “ขั้นตอนนี้อาจจะเกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการโหวตรับร่างในสภา แล้วเราคิดว่าตรงส่วนนี้น่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานมีน้ำหนักมากขึ้นในการบังคับใช้ด้วย และสุดท้ายถึงแม้จะโดนปัดตกจริง ๆ มันก็อาจจะกลายเป็นกฎหมายลูกใน พ.ร.บ. แรงงานก็ได้”

นักศึกษาฝึกงานก็คือแรงงานคนหนึ่ง

ในส่วนของค่าตอบแทนตามข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานระบุไว้ว่า ‘ค่าตอบแทนการฝึกงาน คิดเป็นรายชั่วโมงละ 50 บาท’ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุด นายภูริภัทรให้ความเห็นว่า นักศึกษาฝึกงานควรได้รับค่าตอบแทน เพราะในปัจจุบันภาระงานของนักศึกษานั้นเป็นเหมือนแรงงานคนหนึ่งขององค์กร มากเกินกว่าที่จะเป็นแค่การฝึกงานเฉย ๆ แล้ว บางงานที่นักศึกษาเป็นคนคิด บริษัทก็สามารถนำไปต่อยอดได้เลย ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนจะทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองไม่ขาดทุน เขากล่าวต่อว่าถ้าบริษัทจ่ายเงินค่าตอบแทนแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่นักศึกษาฝึกงานจะถูกคาดหวังให้ทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากไม่สามารถทำงานตามที่บริษัทต้องการได้ ก็ควรจะมีบทลงโทษ คือ การประเมินผลที่บริษัทสามารถประเมินว่าให้ผ่านการฝึกงานหรือไม่ ถ้าไม่ผ่าน ก็ต้องเรียนซ้ำอีก 1 เทอมหรือมากกว่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าค่าใช้จ่ายของนักศึกษาก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะตั้งใจฝึกงานให้เต็มที่หรือจะเรียนจบช้ากว่ากำหนด

 “ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เกรดคือตัวตัววัดผลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กส่วนใหญ่ก็จะตั้งใจฝึกงานให้ผลมันออกมาดี ต่อให้เด็กคนนั้นจะทำงานเก่งหรือไม่เก่ง ก็ไม่มีใครอยากเรียนซ้ำอีกรอบ แต่พอมีเงินเข้ามาข้องเกี่ยว เด็กจะรู้สึกว่าทำแล้วได้อะไรกลับมามากกว่าแค่เกรด” นายภูริภัทรแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

นายนภเศรษฐ์กล่าวเสริมว่าร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานฉบับนี้พยายามจะทำให้นักศึกษาฝึกงานเป็นแรงงานจริง ๆ โดยจะเหมือนกับกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้กับลูกจ้างทั่วไป นอกจากนี้บทลงโทษของนักศึกษาฝึกงานอีกอย่างที่น่าจะต้องเพิ่มก็คือนายจ้างสามารถยกเลิกการฝึกงานได้กลางคันถ้านักศึกษาไม่ตั้งใจฝึกงาน

สมัชชาIntern กับร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานที่ยังต้องคุยกันอีกยาว

ถึงแม้ว่าสมัชชาIntern กำลังสื่อสารและผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน แต่พวกเขาคิดว่าในข้อเสนอดังกล่าวยังมีสิ่งที่ต้องพูดคุยกันเพื่อปรับเปลี่ยนและแก้ไขอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนที่มีผู้ประกอบการหลายรายยังไม่เห็นด้วย “พ.ร.บ. นี้จัดทำขึ้นมาเพื่อนักศึกษาฝึกงานก็จริง แต่เราจะเรียกร้องโดยไม่สนใจผู้ประกอบการเลยไม่ได้ เพราะพวกเขาคือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดในเรื่องนี้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำให้พวกเขาเริ่มเปิดใจพูดคุยกับเราก่อน หลังจากนั้นจะต้องสื่อสารกับพวกเขาให้เกิดความเข้าใจให้ได้มากที่สุด” นางสาวสุดปรารถนากล่าวและว่า ตามที่ระบุไปข้างต้นว่าข้อเสนอทั้ง 11 ข้อสามารถปรับเปลี่ยนได้ พวกเขาจึงอยากปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการ องค์กรต่าง ๆ ว่าต้องการแก้ไขหรือเพิ่มตรงไหนบ้าง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องค่าตอบแทนเท่านั้น อย่างไรก็ตามสมัชชาIntern ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อหาตรงกลางที่จะสามารถทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานนี้เอื้อประโยชน์ให้กับทั้งผู้ประกอบการและนักศึกษาฝึกงานอย่างเท่าเทียมกัน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สมัชชาIntern

ฟังเสียงผู้ประกอบการกับข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน

นายปิยมิตร ยอดเมือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (i2C Communications) ให้สัมภาษณ์กับสมัชชาIntern ว่า เขาเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานดังกล่าว แม้ว่าการฝึกงานจะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ควรจะมีสัญญาหรือเงื่อนไขที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะลูกจ้างชั่วคราวยังมีสัญญา นักศึกษาฝึกงานก็ควรจะมีเงื่อนไขเขียนไว้ให้ชัดเจน ทั้งเรื่องของเวลาการทำงานหรือเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งคล้าย ๆ กับสัญญาของพนักงานแต่เอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับนักศึกษาฝึกงาน

สำหรับค่าตอบแทน นายปิยมิตรกล่าวว่า บริษัทของเขามีค่าตอบแทนให้กับนักศึกษาฝึกงาน เพราะบริษัทก็ต้องการคนเข้ามาทำงานอยู่แล้ว และเชื่อว่าเด็กที่บริษัทคัดมาสามารถทำงานได้ เลยไม่อยากเอาเปรียบนักศึกษา จึงจ่ายค่าตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อแม้จะเป็นช่วงฝึกงานก็ตาม โดยในส่วนนี้จะมีฝ่ายบุคคลดูแลเรื่องค่าตอบแทนที่อิงจากค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นค่าจ้างในระดับนักศึกษาฝึกงาน ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ ของบริษัทก็สามารถเบิกได้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานนอกพื้นที่ การทำงานล่วงเวลา ค่าเดินทาง หรือเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ

ทางด้านของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างนางภัทรา โนวัคก์ เจ้าของร้านออมละไมไอศครีม จังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์กับวารสารเพรสว่า เธอได้รับนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้ามาทำงานช่วงเดือน ก.ค. 63 – มี.ค. 64 ในตอนนั้นเธอไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จ่ายเป็นค่าหอพักให้แทน นอกจากนี้ก็จะมีค่าเดินทางโดยจะให้เป็นรายสัปดาห์, เงินพิเศษที่ได้จากลูกค้าซึ่งจะแบ่งกับพนักงานประจำของร้าน และค่าอาหารก็จ่ายให้เป็นบางมื้อ เมื่อนำค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่นักศึกษาฝึกงานมาเทียบกับคุณภาพของงานที่ได้ก็ถือว่าคุ้ม เพราะนักศึกษาไม่เกี่ยงงาน เรียนรู้งานได้เร็ว จึงสามารถผ่อนแรงที่ร้านได้มาก ซึ่งหลังจากจบการฝึกงานแล้วก็ทำให้เธอรู้สึกอยากจ้างงานต่อ

“แต่ก็ใช่ว่าเราจะรับเด็กฝึกงานทุกคนเข้ามาทำงาน เราต้องดูก่อนว่าเด็กคนไหนผ่านมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยใช้วิธีให้เด็กทดลองงานก่อน 3 วัน และจ่ายค่าแรงให้เป็นรายวันทั้ง 3 วัน ถ้าทำครบแล้วไม่ผ่าน เราก็ไม่รับและบอกอาจารย์ของเขาไป เพราะถ้ารับมาแล้วก็ทำให้พนักงานที่ร้านต้องเหนื่อยเป็น 2 เท่าในการมาสอนงานให้เขาใหม่ ซึ่งวิธีนี้เราคิดว่ายุติธรรมทั้งกับเราและเด็ก เพราะเด็กก็อาจจะไม่ได้ชอบงานที่ร้านด้วยเหมือนกัน” นางภัทรากล่าว

เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานดังกล่าว นางภัทราให้ความเห็นว่ามีหลายข้อที่เธอยังไม่เห็นด้วย ซึ่งหลัก ๆ ก็คือเรื่องค่าตอบแทนที่ระบุว่า 50 บาทต่อชั่วโมง สำหรับเธอการบังคับใช้จะต้องคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการด้วย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ 50 บาทถือว่าแพงเกินไป และที่สำคัญตัวเลขค่าแรงไม่ควรคำนวณจากเมืองหลวงเพียงที่เดียว เพราะค่าครองชีพและค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยไม่เท่ากัน ในขณะที่กรุงเทพมหานคร ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน แต่เชียงรายอยู่ที่ 315 บาทต่อวันเท่านั้น

ต่อมาคือเวลาทำงานที่กำหนดไว้ว่าให้ทำเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน นางภัทราระบุว่าสำหรับผู้ประกอบการถือว่าน้อยไป เนื่องจากนักศึกษาฝึกงานจะไม่สามารถเรียนรู้งานได้ครบทุกขั้นตอนใน 1 วัน ทางที่ดีควรจะเป็น 8 ชั่วโมงเหมือนเดิม

นางภัทราเสนอแนะเพิ่มเติมว่านอกจาก 11 ข้อเสนอข้างต้นแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของนักศึกษาฝึกงานหรือ criminal record check ด้วยไม่ว่าจะเป็นโทษสถานหนักหรือเบา เพื่อความมั่นใจของนายจ้าง ขณะเดียวกันก็ควรจะมีหน่วยงานกลางที่นักศึกษาสามารถไปร้องเรียนได้เมื่อถูกนายจ้างละเมิดคล้าย ๆ กับกรมแรงงาน เพื่อไม่ให้มีอำนาจหรือความลำเอียงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานนั้นก็ไม่ควรจะเป็นอาจารย์ของนักศึกษาด้วย

นักศึกษาฝึกงานกับการฝึกงาน

นางสาวรุ้งสินี วงศ์ชัย อดีตนักศึกษาฝึกงานบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครฯ เล่าว่าเธอฝึกงานในตำแหน่ง underwriter หรือผู้พิจารณารับประกันภัย ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาขายประกันให้แก่ลูกค้า แต่ตอนไปฝึกงานจริง ๆ เธอได้ไปทำโปรเจกต์ให้กับบริษัท ซึ่งการทำโปรเจกต์เป็นข้อตกลงระหว่างเธอกับบริษัทตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในส่วนอื่นแทน เนื่องจากตำแหน่งที่เธอสมัครนั้นเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงาน และเธอในฐานะที่เป็นนักศึกษาฝึกงานก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าบริษัทควรจะขายประกันให้กับลูกค้าคนไหน อย่างไรก็ตามบริษัทก็ได้สอนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตำแหน่งดังกล่าวให้เธอด้วยเช่นกัน

สำหรับการฝึกงานในครั้งนั้น นางสาวรุ้งสินีเล่าว่าบริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้เดือนละ 8,000 บาท อีกทั้งยังมีประกันสุขภาพและอุบัติเหตุให้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเธอก็รู้สึกว่ายุติธรรมต่อทั้งตัวเธอเองและต่อทั้งบริษัท เพราะเธอก็ทำงานตามที่บริษัทต้องการทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้ ส่วนบริษัทเองก็ได้นำโปรเจกต์ของเธอไปพัฒนาต่อไป

ภาพจากนางสาวรุ้งสินี วงศ์ชัย

ด้านนางสาวปลายฝน หลวงมณี พยาบาลประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่าขณะที่เรียนพยาบาลอยู่ที่จังหวัดพะเยา เธอได้ฝึกงานพยาบาลตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ซึ่งระยะเวลาฝึกงานก็ตั้งแต่ 1 เดือนครึ่ง, 2 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับชั้นปี ส่วนการฝึกงานนั้นเธอก็ต้องทำทุกอย่างเหมือนพยาบาล คือ ดูแลคนไข้, ศึกษาว่าควรจะให้การพยาบาลคนไข้อย่างไร, ผสมยา, ฉีดยา, เจาะเลือด, ทำแผล ตลอดจนอาบน้ำสระผมให้คนไข้ ฯลฯ โดยระดับความยากง่ายจะขึ้นอยู่กับแต่ละชั้นปี ถ้าเป็นปี 3 ก็จะได้ดูแลคนไข้ที่มีอาการเฉพาะมากขึ้น เช่น คนไข้ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ส่วนปี 4 ก็จะได้เข้าเวรเช้าบ่ายดึกเหมือนกับเป็นพยาบาลจริง ๆ เป็นต้น

นางสาวปลายฝนให้สัมภาษณ์ต่อว่า ตอนฝึกงานเธอไม่ได้เงินค่าตอบแทนหรือสวัสดิการใด ๆ และบางครั้งก็ต้องจ่ายค่าฝึกงานเพิ่มเติมคนละประมาณ 800 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าจ้างให้กับอาจารย์พี่เลี้ยงที่มาสอนงานให้เธอกับเพื่อน ๆ ถ้าครั้งไหนโชคดีก็จะได้พี่เลี้ยงที่สอนงานทุกอย่าง แต่ถ้าครั้งไหนโชคร้ายก็จะเจอพี่เลี้ยงที่ไม่สอนอะไร แต่จะดุด่าถ้าเธอทำงานผิดพลาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคำพูดในเชิงลบ

ในประเด็นของขอบเขตการฝึกงาน นางสาวปลายฝนเล่าว่าตารางงานของนักศึกษาพยาบาลหนักเกินไป บางครั้งก็เกินขอบเขตหน้าที่ เช่น ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เธอต้องไปดูแลคนไข้ที่ติดเชื้อดื้อยา (ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียในร่างกายต่อต้านยาปฏิชีวนะ) ซึ่งง่ายต่อการแพร่กระจายเพราะสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส “ตอนนั้นเราอยู่ปี 2 เพิ่งอายุ 20 ยังไม่มีประสบการณ์อะไรเลย แต่ก็ต้องไปดูแลคนไข้ที่เขามอบหมายมาให้ จะปฏิเสธก็ไม่กล้าเพราะเราเป็นเด็กฝึกงาน”

ส่วนนางสาว A (นามสมมติ) นักศึกษาฝึกสอน โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้รับมอบหมายให้สอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 5 ซึ่งขัดกับข้อบังคับคณะของเธอที่ระบุไว้ว่าให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์ฯ สอนหนังสือแค่ 1 ชั้นเรียน และต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เนื่องจากจำนวนครูที่โรงเรียนมีไม่พอ เธอจึงได้สอนทั้ง 2 ชั้นเรียน

นอกจากนี้ทางคณะของเธอยังกำหนดว่านักศึกษาฝึกสอนทุกคนต้องช่วยเหลืองานในโรงเรียน เช่น ฝ่ายงานห้องสมุด, ฝ่ายงานวิชาการ, ฝ่ายงานวางแผน หรือฝ่ายงานทะเบียนและประมวลผล ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเธอไม่ได้ทั้งสวัสดิการและค่าตอบแทนจากทางโรงเรียน แม้ว่าจะทำทุกอย่างเหมือนครูไม่ว่าจะเป็นสอนหนังสือหรือทำงานในโรงเรียน แต่ถ้าจะได้ก็จะมาจากเงินส่วนตัวของครูพี่เลี้ยงที่มักจะซื้อข้าวหรือแบ่งปันของต่าง ๆ ให้

นางสาว A กล่าวต่อว่า เงิน คือ แรงใจในการไปสอนทุก ๆ วันของเธอ เพราะคนเราต้องใช้เงินในการใช้ชีวิต หากโรงเรียนไม่สามารถให้เงินได้ อย่างน้อยก็ควรให้ความสบายใจในการทำงาน เช่น ไม่ควรมอบหมายงานนักศึกษาฝึกสอนเกินความจำเป็น “บางครั้งงานที่ได้รับมอบหมายก็ดูไม่สมเหตุสมผล เราเคยต้องไปเดินส่งเอกสารตามตึกเรียน แล้วก็มีความรู้สึกเอ๊ะขึ้นมาว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ หรืออย่างเพื่อนเราเคยโดนเรียกตัวให้ไปทำงานที่โรงเรียนในวันที่มีประกาศ Work From Home เรากับเพื่อนก็ไม่กล้าขัดหรือปฏิเสธ เพราะกลัวจะฝึกงานไม่ผ่านและเรียนไม่จบ”

สิ่งที่อยากให้มีในร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน

จากการสัมภาษณ์นักศึกษาฝึกงาน หลาย ๆ คนเห็นด้วยกับข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสัญญาและการระบุขอบเขตการฝึกงานให้ชัดเจนว่านักศึกษาฝึกงานมีหน้าที่อะไรบ้าง และสำหรับค่าตอบแทนนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ

แม้ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานสำหรับนักศึกษาฝึกงาน แต่ก็ยังมีข้อเสนอบางข้อที่หลายคนไม่เห็นด้วย อาทิ เรื่องชั่วโมงการทำงานส่วนใหญ่อยากให้เพิ่มจาก 6 ชั่วโมงเป็น 8 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเป็นพนักงานบริษัททั่วไป ส่วนระยะเวลาการฝึกงานไม่ควรบังคับให้ฝึกเป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป ถ้าสถานที่ฝึกงานนั้น ๆ ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำของระยะเวลาไว้ หรือบางคนก็ระบุว่าอายุของนักศึกษาฝึกงานที่กำหนดไว้ว่า 15 ปีขึ้นไปถือว่ายังอายุน้อยเกินไป อาจจะเปลี่ยนให้ 18 ปีขึ้นไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตามยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่นักศึกษาอยากให้ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ฝึกงาน เช่น นางสาวกุลกานต์ ปิตากรุณา นักศึกษาฝึกงานบริษัทเอเจนซี่โฆษณาในกรุงเทพมหานครฯ เสนอว่าควรมีมาตรการลดค่าเทอมด้วย เนื่องจากเธอไม่ได้เข้าไปใช้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยเลยตลอดช่วงระยะเวลาฝึกงาน “ไม่จำเป็นต้องลดเหลือ 0 บาท เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ที่คอยประสานงานระหว่างนักศึกษากับคณะอยู่ แต่อะไรที่ลดได้ก็ควรลด”

ไม่มีใครรู้ว่าร่าง พ.ร.บ. ฝึกงานฉบับนี้จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป ข้อเสนอต่าง ๆ จะถูกปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้ได้เมื่อไร และจะสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นวารสารเพรสจึงอยากเชิญชวนทุกคนให้มาติดตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อดูว่ากฎหมายสำหรับอนาคตจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในภายภาคหน้า


อ้างอิง

https://www.mol.go.th/
http://insurance-thai-knowledge.blogspot.com/
https://www.pobpad.com/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
17
Love รักเลย
4
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:News

News

ผช.อธิการฯ แจง ใช้ AI สร้างโปสเตอร์งาน TU Open House จริง

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง ผู้ช่วยอธิการฯ ฝ่ายวิชาการแจง โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม Thammasat Open House ใช้ ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ระบุ หากรัฐบาลทรัมป์จะขับไล่ผู้อพยพ ต้องเพิ่มงบประมาณหลายล้าน และอาจทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง อาจารย์รัฐศาสตร์มธ.ชี้ รัฐบาลอเมริกาสามารถออกคำสั่งนโยบายเนรเทศผู้อพยพได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้อพยพยังขาดความสามารถในการดำเนินการตามนโยบายนี้ อีกทั้งหากขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจขาดแรงงาน พร้อมเสริมว่าในบางเมืองนั้น รัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินการกับผู้อพยพได้ . ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. แนะนักธุรกิจไทยเตรียมหาตลาดเสริม-รัฐฯ เตรียมรับมือสินค้าทะลักจากจีน หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. ชี้ไทยอาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ พร้อมแนะนักธุรกิจไทยเตรียมตัวหาตลาดเสริม ด้านรัฐฯ ต้องเตรียมนโยบายตั้งรับสินค้าทะลักจากจีน จากกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ...

News

ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องในอีก 6 ปี ด้านนายกสมาคมวิศวกรเสนอมาตรการรับมือน้ำท่วม 3 ด้าน

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้กรุงเทพฯ เสี่ยงมีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 6 ปี เพราะฝนที่ตกหนักกว่าเดิมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้านนายกสมาคมวิศวกรเสนอมาตรการรับมือน้ำท่วม ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

News

รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์ถูกออกหมายเรียกแล้ว พร้อมเพิ่มรปภ.ในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ตำรวจออกหมายเรียกผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์แล้ว หลังกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ พร้อมเพิ่มรปภ.ชุดใหม่ภายใต้การดูแลของกองบริหารศูนย์รังสิตโดยตรงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นอกเหนือการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากกรณีมิจฉาชีพขี่รถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ของหนึ่งในอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่ออ้างว่าผู้เสียหายขับรถเบียดจนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขา ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save