เรื่อง : ณัชชา กลิ่นประทุม
ภาพประกอบ : สำนักข่าว BBC
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำทุกคนควรออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น พร้อมให้จับตามองการใช้ความรุนแรงและการใช้เงินในการเลือกตั้ง
จากกรณี การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พ.ย. นี้ รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนควรออกไปใช้สิทธิการเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ เนื่องจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมีความสำคัญ 2 ประการ ประการแรก อบต. เป็นสถาบันทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชน และมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพของชาวบ้านในแต่ละท้องที่มากที่สุด ส่งผลให้บางคนเปรียบการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ “น้ำสะอาด ตลาดปลอดภัย ถนนหน้าบ้านจะดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่เขาเอาไปให้กับคนที่มาจัดการ”
รศ.เวียงรัฐยังกล่าวต่อไปอีกว่า ความสำคัญของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นประการที่สอง คือ การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ให้ประชาชนเป็นผู้ถือครองอำนาจหลัก ซึ่งจะทำให้สถาบันหลักของประเทศ โดยเฉพาะระบบราชการ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการกระจุกตัวของอำนาจ และทำให้ท้องถิ่นมีการต่อรองทางอำนาจมากขึ้น
“อย่างน้อยที่สุดมันต้องทำให้อำนาจส่วนกลางมีการกระจายตัว หยุดการกระจุกตัว ไม่งั้นกองทัพหรือสถาบันหลัก ๆ ของประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากรัฐที่รวมศูนย์ โดยเฉพาะระบบราชการ บังคับให้คนคิดแบบนี้ สั่งการให้คนแต่งตัวแบบนี้ อย่างเช่นชาวบ้านที่ประสบกับการคุกคามคนที่คิดต่างทางการเมือง เพราะฉะนั้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะไม่ใช่คำตอบอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเรามีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มีพัฒนาการต่อเนื่อง และถือครองอำนาจหลัก คืออำนาจของประชาชน อำนาจของคนที่เลือกตั้งมา และมีความชอบธรรมมากกว่าตัวระบบราชการ ในท้ายที่สุดมันก็จะต่อรองได้” รศ.เวียงรัฐกล่าวและว่า การมีอำนาจต่อรองจะไม่ได้เห็นผลในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว แต่จะเห็นผลเมื่อมีการเลือกตั้ง 2 ครั้งขึ้นไป โดยไม่มีการหยุดชะงัก
รศ.เวียงรัฐให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สิ่งที่ควรจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เรื่องการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม และการใช้เงินจำนวนมากในการเลือกตั้ง ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลง คนจะคิดว่าการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเป็นช่องทางหนึ่งในการแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งแสวงหาจากงบประมาณ หรือจากการเข้าทำงานไปมีเครือข่ายเพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์
“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเหมือนการเริ่มใหม่ เพราะฉะนั้นการเริ่มใหม่มันก็คงจะไม่พ้นคนมีอำนาจแบบที่ไม่ค่อยสวยงามนัก เช่น อาจจะไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ แต่ว่ามีอิทธิพลทางความคิด มีอิทธิพลทางการเงิน มีอิทธิพลในการทำให้คนกลัว หรืออาจจะมีลูกน้องที่ไปบังคับ หรือเอาเงินไปใช้” รศ.เวียงรัฐกล่าว
รศ.เวียงรัฐยังกล่าวต่อไปอีกว่า การเลือกตั้งจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีความต่อเนื่อง ประชาชนควรอดทนรอการเลือกตั้ง อบต. ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 สมัยหน้า เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นจะเริ่มมีความชำนาญ เริ่มเรียนรู้การบริหารจัดการ เริ่มเข้าใจการใช้งบประมาณ เริ่มเข้าใจความต้องการของประชาชน และเริ่มเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ตัวเองยังได้รับความนิยมในการเลือกตั้ง
“มันทำให้คนต้องพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง เพราะว่ากลัวคู่แข่ง ต้องทำให้ดีกว่า ต้องเสนออะไรที่ดีกว่า ดังนั้นในแง่ logic (ตรรกะ) แบบนี้ มันจะทำให้การเลือกตั้งดีขึ้น ได้คนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในระดับเทศบาลที่มีงบประมาณหลายร้อยล้านบาท มันจะทำให้หาคนที่มีความสามารถ คนที่เรียนปริญญาโท คนที่จบปริญญาเอก หรือคนที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ในระบบ แต่ว่าทำงานคลุกคลีกับประชาชนจนเข้าใจปัญหา เราจะเห็นผู้นำท้องถิ่นที่มีความสามารถมากขึ้น” รศ.เวียงรัฐกล่าว