InterviewSocialWritings

ธรรมชาติ วัฒนธรรม อุตสาหกรรม กับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
Illustrator : วีริสา ลีวัฒนกิจ

สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ ‘หม่อมเชน’ ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในโลกแห่งการถ่ายภาพสารคดีสิ่งมีชีวิตในป่า เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม

สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานกับสื่อ และคนทำงานด้านสื่อในหลายเจเนอเรชัน ไล่มาตั้งแต่การเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารดิฉัน มติชนสุดสัปดาห์ และล่าสุด ร่วมงานกับเดอะคลาวด์ นิตยสารออนไลน์

สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่เขามองเห็นการเปลี่ยนผ่านของโลกมากมาย ตั้งแต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่ป่าเกือบ 100% จนมาถึงปัจจุบันที่ความสูงของห้องชุดสูงกว่าต้นไม้ในเมืองหลายเท่าตัว

และท้ายที่สุด สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่เขายังคงรออย่างมีความหวังว่าสักวันหนึ่ง ‘รัฐไทย’ จะให้ ‘สิทธิ์’ ต่อธรรมชาติ ให้ทัดเทียมกับสิทธิ์ของมนุษย์ และสักวันหนึ่งประเทศไทยจะมีผู้บริหารที่จริงจัง เข้าใจเรื่องธรรมชาติอย่าง ‘แท้จริง’

ความเครียดของสัตว์ป่า

กว่าสามสิบปี คือช่วงเวลาที่หม่อมเชนเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมามากมาย หนึ่งในนั้นคือความเปลี่ยนแปลงของ ‘สุขภาพจิต’ และ ‘แหล่งที่อยู่’ ของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสองเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากเมื่อความเป็นเมืองขยายเพิ่มมากขึ้น ป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีจำนวนน้อยลง จึงมีผลโดยตรงทำให้สุขภาพจิตของสัตว์ป่าย่ำแย่ลง

ในสมัยหนึ่ง ในยุคที่ประเทศไทยยังมีป่า 90% กรุงเทพฯ ยังเป็นป่า แถวรังสิตยังมีเนื้อสมัน มีช้าง มีเสือ ตอนนั้นป่าทางด้านตะวันออกของไทย กับป่าที่เขาใหญ่ก็เป็นป่าผืนเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีการสร้างถนนสร้างเมือง สร้างชุมชน และเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่เกษตร พอพื้นที่ที่เคยเป็นทางเดินของสัตว์ป่าเพื่อออกหากิน หรือผสมพันธุ์ตามสัญชาติญาณถูกทำเป็นพื้นที่อย่างที่เล่าไป สัตว์ป่าก็ถูกแบ่งแยกกันออกไปเป็นเกาะ อยู่กันเป็นกลุ่ม บางครั้งมีน้ำล้อมรอบจนเดินทางไม่ได้” ม.ล.ปริญญากรเล่าให้เราฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของป่าในประเทศไทย และปัญหาที่สัตว์ป่ากำลังต้องเผชิญ

“ตอนนี้ปัญหาของสัตว์ป่า ไม่ใช่เรื่องที่พวกมันถูกไล่ฆ่าอย่างเดียวนะ แต่ในหลายที่มีปัญหาสัตว์ติดเกาะ มีน้ำล้อมรอบ ไปไหนก็ไม่ได้อย่างที่บอกไป เพราะพื้นที่ที่เคยเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างป่าถูกสร้างเป็นเมือง ซึ่งต่อให้ไม่มีใครไปฆ่ามัน ก็จะมีปัญหาเรื่องการผสมพันธุ์ในสายเลือดที่ชิดกัน มันจะทำให้ลักษณะด้อยของสัตว์มาเจอกันจนท้ายที่สุด สัตว์ชนิดนั้นก็จะสูญพันธุ์ไป”

นอกจากปัญหาเรื่องสัตว์ป่าอาจสูญพันธุ์จากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดแล้ว ม.ล.ปริญญากรเล่าเพิ่มเติมว่า “พอพื้นที่ที่เคยเป็นป่าซึ่งแต่เดิมเป็นทางเดินของสัตว์ถูกนำมาทำเป็นพื้นที่ทำการเกษตร สุดท้ายด้วยสัญชาติญาณสัตว์มันก็เดินมาบริเวณที่มันเคยเดินอยู่ดี มันก็มาเจอบ้านคน มาเจอถนน หรือมาเจอสับปะรด สัตว์มันก็ลองกิน หลายตัวก็ติดใจ” และเมื่อสัตว์ป่ารุ่นใหม่ได้ลิ้มรสของผลผลิตทางการเกษตรอย่างสับปะรด หรือข้าวโพดที่ชาวบ้านปลูกแล้ว พวกมันก็ติดใจและมากินอีกเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรเสียประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ “คนก็เลยไล่ยิงมัน กำจัดมัน ทำให้เกิดความเครียดขึ้นในป่า ประกอบกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปบุกรุกป่า ทำให้สัตว์ป่าเกิดความเครียด บางตัวก็เหมือนคน พอมีความเครียดมาก ๆ สติก็หลุดออกไปจากสติปกติ ส่งผลให้เวลาสัตว์ที่ป่วยเหล่านี้เจอมนุษย์ก็อาจจะพุ่งเข้ามาทำร้าย”

ม.ล.ปริญญากรยกตัวอย่างว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีสมองเล็ก แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์นำปืนไปยิง หรือปาประทัดเสียงดัง ๆ ใส่ พวกมันจะจดจำว่า สิ่งนี้ทำให้เจ็บ ซึ่งพอนักวิจัยหรือคนที่ทำงานในป่าไปเจอ หลายครั้งจึงโดนพวกมันทำร้าย แม้จะไม่ใช่คนที่ยิงปืนหรือปาประทัดใส่ “เหล่านี้เลยทำให้ในป่าดูเหมือนว่ามีแต่สัตว์ที่อันตรายและดุร้าย แต่ในความเป็นจริง สัตว์ที่ดี ๆ ที่ปกติอยู่ก็มีเหมือนกัน แต่ปกติแล้วสัตว์พวกนี้เมื่อได้กลิ่นมนุษย์จะหนีไปทันที”

สัตว์ร้าย เพราะ สื่อ

ภาพของเสือที่ฉีกเนื้อกวางออกเป็นชิ้น ๆ หรือภาพของฉลามที่ว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเพื่อจู่โจมมนุษย์ คือภาพที่เราเห็นจนชินตาผ่านหนังสือ โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์มากมาย ทว่าในความเคยชินเหล่านั้น อดีตคอลัมนิสต์เกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติรายนี้กลับมองต่างออกไป

“เราฝังใจกับสัตว์ป่าที่เป็นผู้ร้ายในนิยาย แม้กระทั่งนิยายชื่อดังหลายเรื่อง เราแทบจะไม่เห็นสัตว์ที่เป็นพระเอกในนิยาย คือถ้าเสือ ช้าง งู โผล่มา พวกมันจะต้องร้ายมาก จนทำให้คนรุ่นก่อนมักมองว่าการล่าสัตว์ การยิงสัตว์ป่าเหล่านั้นเป็นความภาคภูมิใจ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ยังอยู่ในนิยายในละคร ในหนัง”

ม.ล.ปริญญากรชี้ให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า “เมื่อหนังเรื่อง JAWS (2518) ออกมา หลังจากนั้นฉลามถูกฆ่าตายเยอะมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คนฝังใจว่าฉลามเป็นสัตว์ที่ร้ายมาก ทั้งที่ถ้าเราศึกษาดูดี ๆ ฉลามไม่ใช่สัตว์ที่อันตรายหรือร้ายอย่างนั้นเลย เสือ ช้าง ก็เหมือนกัน ซึ่งผมแปลกใจ ถ้าเป็นรุ่นเก่า ๆ มีภาพจำแบบนี้ก็เข้าใจได้ แต่หลายครั้งที่ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ก็ยังมองสัตว์แบบนั้น”

“สื่อควรทำให้เรามองว่า การเข้าป่าไม่ใช่การผจญภัย แต่มันคือโรงเรียนของเรา ป่ามันไม่ใช่ดินแดนของสัตว์อันตราย” อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปริญญากรมองว่า “ไม่ได้หมายความว่าเข้าป่าไปแล้ว เราจะเข้าไปรวบหัวกระทิง หรือควรจะเข้าไปจูบเสือ เราต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม เป็นระยะที่ให้เกียรติกัน ถ้าเราเข้าไปเกินระยะนั้นมันก็อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้”

ในประเด็นเรื่องภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม ม.ล.ปริญญากรอธิบายให้ฟังว่า มีคนส่วนหนึ่งที่ชื่นชอบและเข้าใจว่ารูปถ่ายของเขาทำงานเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไร “ผมพบคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบรูปที่ผมถ่ายไม่ชัด ผมบอกเสมอว่า ผมถ่ายภาพไม่ชัดเพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้นในใจ อยากให้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ได้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น อย่างเช่นเวลาเราดูสารคดี เสือมันฆ่ากวางได้ แต่เบื้องหลังคือเสือมันลงมือ 10 ครั้ง สำเร็จแค่ครั้งเดียวเท่านั้น 9 ครั้งก่อนหน้า มันสอนเราว่ามันพลาด ต้องลงมือใหม่”

“เหมือนกับโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์หลอดไฟชาวอเมริกันที่ผิดพลาดมาหลายครั้งก่อนจะประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ เขาบอกว่าเวลาที่พลาด ไม่ได้แปลว่าเขาล้มเหลวนะ เพียงแต่เขาค้นพบวิธีที่ไม่ถูกต้องอีกวิธีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่เสือพลาด 9 ครั้ง แต่ครั้งที่ 10 สำเร็จ มนุษย์เห็นแต่ครั้งที่ 10 ของมันไง เราก็ดูแค่นั้นแต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดู 9 ครั้งแรกที่มันต้องรอกว่าหนึ่งสัปดาห์ เราไม่ได้มองว่าเสือมันใช้ความอดทนรอคอยที่สุด กว่าจะได้อาหารกลับไปให้ลูกของมันกิน ซึ่งถ้าคนดูแค่ว่ารูปสวยแล้วก็จบ ผมคิดว่ามันไม่ได้อะไรเลยทั้งในแง่ของคนทำงานและคนดูรูป”

ทว่าในปัจจุบัน น้อยคนที่จะสมาทานแนวคิดดังกล่าวมาใช้

“ถ้าจะบอกว่าสื่อเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมปัจจุบันมันฉาบฉวยก็ดูจะเป็นการไม่เคารพกัน ผมคิดว่าคนเราอาจจะคิดน้อย เหมือนกับว่าเราไม่ตั้งสติเลย เรากดคอมเมนต์ทันทีเลย บางครั้งหลายคนเห็นข่าวเห็นพาดหัวคุณก็เชื่อเลย” ม.ล.ปริญญากรยกตัวอย่างว่า “อย่างเช่นมีข่าวกระทิงชนคน ช้างกระทืบคน กระทิงถูกไฟฟ้าช็อตตาย เราไม่พยายามย้อนกลับไปดูว่าทำไมมันถึงชนคน ทำไมมันถึงไฟช็อตตาย ถ้าเราคิดต่อสักนิด เราจะพบว่าปัญหาจริง ๆ มันเกิดขึ้นจากอะไร คือผมอยากให้เราไม่หยุดอยู่แค่ อุ๊ย สงสารกระทิงเนอะ ชาวบ้านโหดแท้ หรือทำไมสัตว์ตัวนี้ดุร้ายจังเลย แล้วระดมคอมเมนต์ใส่ เดี๋ยวสักพักหนึ่งก็ไปสนใจเรื่องใหม่แล้ว จนกระทั่งข่าวสิ่งแวดล้อมแบบนั้นมันวนกลับมาอีกครั้ง เราก็คิดเหมือนเดิมว่า กระทิงมันโหดมาก ช้างมันดุร้ายจังเว้ย”

ม.ล.ปริญญากรจึงชวนมองว่า ถ้าสื่อช่วยรายงานข่าวให้ลึกมากขึ้น จากเดิมทำข่าวเพียงแค่ช้างทำร้ายคน เขาอยากให้สื่อลองย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าทำไมสัตว์ถึงเป็นแบบนี้ ต้นเหตุเกิดมาจากช้างป่วยใช่หรือไม่ หรือเกิดมาจากความเครียดของสัตว์ที่เป็นผลจากมนุษย์เข้าไปบุกรุกบ้านของสัตว์ป่า ถ้าสื่อสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนอย่างที่กล่าวมาได้ ภาพจำของสัตว์ร้ายอาจจะหายไป

ทุนนิยม ต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผู้คร่ำหวอดในโลกธรรมชาติกว่า 30 ปีรายนี้มองว่าทุนนิยมคือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุนนิยมทำให้มนุษย์มองว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ “ทุกปัญหามันเกิดขึ้นเพราะว่า เรามีความเชื่อ ความคิดที่นำตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่เปิดรับความเชื่อคนอื่น เราไม่พยายามหาทางอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง แต่คิดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แนวคิดที่มองสัตว์เป็นสินค้าแบบทุนนิยม ส่งผลให้คนในยุคก่อนไม่คิดว่าสัตว์หรือว่าธรรมชาติจะหมดไป”

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปริญญากรเห็นว่า “ตอนนี้มันเลยจุดนั้นมาแล้ว เราต้องถอยกลับมาตั้งสติให้ดีว่าโลกไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้ทรัพยากรขนาดนั้น สิ่งต่าง ๆ ต้นไม้ สัตว์ป่า ธรรมชาติ ต่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานสอดผสานกัน เพื่อช่วยกันซ่อมแซมอากาศ เพื่อสร้างน้ำ และสร้างธรรมชาติให้สมดุล และถ้าธรรมชาติมันทำงานอย่างสมดุล ท้ายที่สุดผลประโยชน์ก็มาตกที่มนุษย์ด้วย”

“โลกแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติในปัจจุบันมันเหมือนทางคู่ขนาน ในขณะที่เรามีเจ้าหนูเกรต้า (ธันเบิร์ก) นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาบอกว่าทนไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันก็มีคุณทรัมป์ (ดอนัลด์ ทรัมป์) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาบอกว่าโลกร้อนไม่มีจริง ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มันมีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องผลประโยชน์ เรื่องนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด ผมว่าแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางมันน่าจะหมดไปได้แล้ว เราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล”

ดังนั้น ม.ล.ปริญญากรจึงเสนอว่า เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุนนิยม “มีหลายประเทศในโลก อย่างเยอรมนี อย่างเดนมาร์กหรือประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เขาอยู่แบบมีความสมดุล แบบคู่ขนานไประหว่างโลกธรรมชาติและทุนนิยม ประเทศเหล่านั้นเขาก็ใช้ชีวิตแบบปกติ”

“เช่น ถ้าคุณจะลงทุนเรื่องพลังงาน คุณก็ลงทุนเป็นพลังงานสะอาดแค่นั้นเอง ถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงงาน คุณก็ต้องไม่ปล่อยน้ำเสียลงลำธาร คุณก็ทำธุรกิจของคุณได้ปกติ เราไม่ได้บอกให้คุณกลับไปอยู่ในถ้ำ ไม่บอกให้คุณหยุดทำโรงงานของคุณ คุณสามารถทำได้ แต่คุณต้องรับผิดชอบกับน้ำ กับควันพิษที่คุณปล่อยไปในอากาศ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร คุณอาจจะต้องใช้เงินกับเรื่องเหล่านั้นมากขึ้น แต่ในระยะยาวมันก็คุ้ม”

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ม.ล.ปริญญากรมองว่าการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ในประเทศไทยนั้นทำกันเพียงเหมือนงานประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ CSR จริง ๆ

“CSR จริง ๆ มันต้องไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ไม่ปล่อยควันออกไปในอากาศ มันไม่ใช่แค่การปลูกป่าชายเลน ถ่ายรูปลง แล้วบอกว่านี่คือการรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะที่โรงงานคุณก็ยังปล่อยน้ำเสียลงป่าชายเลน ผมคิดว่า CSR บ้านเรามันคือการเอาเงินไปทำนู่นทำนี่แล้วก็ถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ ซึ่งมันไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการทำ CSR”

ชาวบ้าน และ กฎหมายในมือรัฐไทย

หนึ่งวิธีที่เชื่อกันว่าสามารถสร้างสมดุลให้กับแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือทุนนิยม กับการมีอยู่ของโลกธรรมชาติได้ คือการบังคับใช้กฎหมายในมือของรัฐเพื่อธำรงไว้ซึ่งโลกของป่าไม้และสัตว์ป่า

ในประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ เพื่อพิทักษ์โลกธรรมชาติ ม.ล.ปริญญากรมองว่า “จริง ๆ คนอยู่กับป่าได้ แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีปัญหา ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ซึ่งผมเคยทำงานอยู่หลายปี ที่นั่นมีหมู่บ้านอยู่ 17 หมู่บ้านในพื้นที่ที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พวกเขามีภูมิปัญญาที่อยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน”

“ชาวบ้านเขารู้ว่าจะไม่ตัดไม้บริเวณต้นน้ำ ชาวบ้านมักอ้างว่าบริเวณที่มีเก้งร้อง บริเวณที่ห้วยน้ำมาสบกัน ไม่สามารถทำไร่ได้เพราะมันจะผิดผี ทั้งหมดมันคือภูมิปัญญา มันคือการเอาผีมาอ้าง แต่ผีนั่นแหละที่มันทำให้ธรรมชาติมันยังอยู่ ผีทำให้คนกับธรรมชาติมันอยู่ร่วมกันได้”

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปริญญากรขยายความว่า ในหมู่บ้านหนึ่งก็มีทั้งชาวบ้านที่อยู่กับธรรมชาติและมีจิตสำนึกรักธรรมชาติอย่างจริงจัง และชาวบ้านที่รับเงินจากนายทุน เข้ามาล่าสัตว์ป่า “ในทางปฏิบัติ คนในหมู่บ้าน 10 จะมี 2 คนที่ดื้อ 2 คนที่ไปรับจ้างจากนายทุนแล้วเข้าไปยิงสัตว์ เพราะมันได้เงินเยอะมากกว่าการทำเกษตร ก็เลยเกิดความขัดแย้งระหว่างคนที่ทำงานในป่ากับชาวบ้านที่ดื้อ 2 คนนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ทั้งหมู่บ้านไงครับ แต่เวลารัฐใช้กฎหมายจัดการยึดคืนผืนป่า รัฐไม่ได้จัดการแค่บ้านของ 2 คนนี้ เขาจัดการทั้งหมู่บ้าน”

“เอาเข้าจริง ๆ แล้วจากประสบการณ์ ผมค่อนข้างเห็นใจคนทำงานในป่ามาก มันมีเสียงปืนดังทุกวัน มีคนแอบเข้ามายิงสัตว์ แอบเข้ามาล่าสัตว์ มีคนพยายามตัดต้นไม้ มีคนพยายามบุกรุกที่อยู่ทุกวัน” ม.ล.ปริญญากรกล่าว

ในประเด็นเรื่องการทวงคืนผืนป่าของรัฐตั้งแต่ปี 2557-2562  ซึ่งรัฐสามารถทวงคืนผืนป่าจากนายทุนและชาวบ้านมาได้กว่า 853,603 ไร่ ตามรายงานของ Punch Up ม.ล.ปริญญากรมองว่า “ถ้าจุดประสงค์ในการทวงคืนผืนป่าของรัฐคือต้องการจะเอาป่ากลับมาเพื่อให้พื้นที่มันเชื่อมติดกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาสัตว์ป่าติดเกาะและผสมพันธุ์ในสายเลือดที่ใกล้กัน ถ้าใช่ มันก็เป็นแนวคิดที่ถูกต้องและควรทำ เพราะสัตว์ป่ามันเดินทางตลอด เดินทางตามฤดูกาล ช้าง กระทิง มันเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งตลอด เช่น ในฤดูนี้สภาพอากาศไม่เหมาะกับการหาอาหารมันก็ต้องย้ายไปอีกที่หนึ่ง”

“แต่ประเด็นก็คือ นโยบายทวงคืนผืนป่ามันก็ยังทำให้ป่ามีลักษณะเป็นเกาะ มีน้ำ มีชุมชนล้อมรอบอยู่ดี และสัตว์ก็เดินทางตามฤดูกาลเพื่อหาอาหาร หรือผสมพันธุ์กับพันธุ์อื่น ๆ ได้ยากเหมือนเดิม ผมว่าสิ่งที่ทำง่าย คือ การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และก็เป็นการพบกันแค่ครึ่งทางระหว่างรัฐกับชาวบ้าน คือการพยายามเชื่อมผืนป่าที่ขาดจากกันนี้ให้เข้ากันก่อนก็ได้”

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีชาวบ้านอยู่ในผืนป่าซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างป่าสองป่าอยู่ 500 ไร่ เราก็รู้แหละว่าชาวบ้านที่มาบุกรุกป่า 500 ไร่เนี่ย เขาไม่ได้มีเอกสาร แต่สิ่งที่รัฐควรทำก่อนก็คือ จากทั้งหมด 500 ไร่ ทำไมรัฐไม่ประนีประนอมเข้าไปขอคืนก่อนสัก 100 ไร่ เพื่อทำเป็นทางเชื่อมระหว่างป่า ให้สัตว์มันได้เดินไปหากัน จะได้แก้ปัญหาการผสมข้ามพันธุ์ของสัตว์ป่า ผมว่าวิธีนี้มันจะเกิดความเข้าใจอย่างจริงจัง และไม่ปะทะกันทั้งสองฝ่าย”

‘สิทธิ์’ ของโลกธรรมชาติ

เมื่อกล่าวถึงกฎหมาย สิ่งที่มักตามมาคือเรื่องของสิทธิ์ และเมื่อเรากล่าวว่าสิ่งใดมีสิทธิ์ ก็ย่อมต้องมีผู้ซึ่งมี ‘หน้าที่’ ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์ของสิ่งสิ่งนั้น เราจึงถาม ม.ล.ปริญญากรว่า รัฐไทยให้สิทธิ์กับโลกธรรมชาติขนาดไหน ม.ล.ปริญญากรนิ่งคิดพักใหญ่และตอบกลับมาว่า “ผมว่าวันหนึ่งมันคงเกิดขึ้นนะครับ มันคงเกิดขึ้น…”

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ผู้นี้มองว่า “ตอนนี้ สิ่งที่ประเทศไทยพยายามทำคือการพยายามปกป้องแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และดูแลชีวิตสัตว์ป่าอย่างจริงจังและเข้มงวด ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะก่อนเวลาที่รัฐไทยจะให้สิทธิ์โลกธรรมชาติ ก่อนที่เราจะสร้างให้มนุษย์เข้าใจโลกธรรมชาติอย่างแท้จริง การป้องกันอย่างเข้มแข็งมันก็ยังจำเป็นอยู่สำหรับสัตว์ป่า”

ม.ล.ปริญญากรขยายความเรื่องสิทธิ์ว่า “ทุกชีวิตบนดาวดวงนี้ควรจะมีสิทธิ์ และหลายประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองแม่น้ำ คุ้มครองต้นไม้ อย่างในประเทศอินเดีย ศาลก็ตัดสินให้แม่น้ำคงคามีสิทธิ์เทียบเท่ากับคน หรือแม้กระทั่งต้นไม้ข้างถนน เขาเกิดขึ้นมาแล้ว เขาควรจะมีสิทธิ์ได้โต ไม่ใช่คุณนึกอยากจะตัดมันก็ตัด เหมือนกับในเมืองของเรา ไม่รู้จะปลูกทำไม ปลูกมาแล้วก็ตัดมันยอดด้วน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ควรอย่างยิ่ง ถ้าเราเชื่อว่าทุกชีวิตมีชีวิต เขาก็ควรจะมีสิทธิ์ในการอยู่บนโลกใบนี้เหมือนกัน”

“โลกมันไม่ได้ถูกสร้างมาแค่ให้มนุษย์อยู่ไง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปพูดถึงคนกับสัตว์ คนกับธรรมชาติ หรือชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในร่างมนุษย์เลย ไม่ว่าผิวเหลือง ผิวดำ ผิวขาว หรือเพศอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างมีชีวิต มีสิทธิ์ที่จะอยู่เหมือนกันอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ความขัดแย้งต่าง ๆ มันก็คงน้อยลง”

ในประเด็นเรื่องการดูแล และปกป้อง ‘สิทธิ์’ ของโลกธรรมชาติ ม.ล.ปริญญากรยกตัวอย่างของการทำงานของภาคประชาสังคมว่า NGOs บางกลุ่มพยายามเข้าไปล็อบบี้ผู้บริหารเพื่อพูดคุยในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วย

“ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนเป็นปลายทางของซากสัตว์ป่า ถนนทุกสายมันกลับไปที่เมืองจีน ไม่ว่าจะเป็น งาช้างหรือว่านอแรด พอภาคประชาสังคมนั้น ๆ รู้ว่าปลายทางทุกอย่างอยู่ที่ประเทศจีน เขาก็ไปที่ประเทศจีนและไปคุยกับประธานาธิบดี ไปคุยกับผู้บริหารใหญ่ ๆ ไปพูดถึงปัญหาเรื่องนี้เลย จนกระทั่งผู้บริหารเหล่านั้นเริ่มเข้าใจปัญหาและเริ่มออกกฎหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้น”

“หรืออย่างเมื่อก่อน ที่เวียดนาม คนเลี้ยงหมีควายเพื่อเอาน้ำดีมาทำยา โดยเสียบที่หลังของหมีเพื่อดูดเอาน้ำดี องค์การที่ว่านี้ก็เข้าไปที่เวียดนามและเข้าไปล็อบบี้ผู้นำประเทศเพื่อให้ยุติการทำแบบนี้ ซึ่งมันก็ได้ผล ท้ายที่สุด ผมเชื่อว่าถ้าเราใช้วิธีการด่า โจมตี และใช้ความรุนแรงอย่างเดียว บางครั้งมันก็ไม่ได้ผล อาจจะต้องทำแบบที่ผมกล่าวมา”

การศึกษา: ความหวังของโลกธรรมชาติ

ม.ล.ปริญญากรมองว่า การปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก เป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ “เพื่อน ๆ ผมหลายคนไม่ได้ส่งลูกเข้าระบบการศึกษาปกติ เขาใช้ระบบ homeschool ผมก็เห็นว่าเด็กพวกนั้นโตขึ้นมากับความเข้าใจธรรมชาติ โตขึ้นมากับความเข้าใจสัตว์ เข้าใจสิ่งเล็กสิ่งน้อย เข้าใจแมงมุม พวกเขาโตขึ้นมากับความเข้าใจว่าป่าคือสิ่งที่เป็นประโยชน์”

ในมุมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ม.ล.ปริญญากรเสนอว่า “ควรเริ่มต้นจากอ่านหนังสือ ดูสารคดี ถ้าลูกชอบเล่นโทรศัพท์ ลูกชอบเล่นเกม ก็อาจจะบอกลูกว่าให้แบ่งเวลาไปดูสารคดี ไปดูคุณปู่เดวิด (เซอร์เดวิด แอทเทนโบโรห์) บ้างไหม ไปดูงานสารคดีของบีบีซีที่ดี ๆ ในปัจจุบัน บีบีซีเริ่มทำสารคดีให้เป็นแอนิเมชันเพื่อดึงความสนใจจากเด็กมากขึ้น”

“เราต้องเริ่มสอนเด็ก ๆ ว่าภาพที่เราเห็นในสารคดี ภาพเสือที่กำลังล่า มันเป็นวงจรตามธรรมชาติ มันกำลังทำหน้าที่ควบคุมปริมาณ เวลาเราเห็นเสือกัดกวาง เราก็จะไปนึกสงสารกวางที่โดนเสือกัด ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า กวางมันก็เป็นอาหารของเสือโดยธรรมชาติ แล้วเอ็งไม่สงสารลูกของเสือบ้างหรือ ลูกของเสือมันก็รออาหารอยู่เหมือนกัน”

ถามว่าแล้วผู้กุมนโยบายทางการศึกษาควรปรับหลักสูตรอย่างไรเพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ ม.ล.ปริญญากรมองว่า “ถ้าเราไปคาดหวังว่าหลักสูตรการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือระบบใหญ่ต้องเปลี่ยน มันอาจจะช้าเกินไป อย่างที่บอก สิ่งที่ทำได้ทันทีเลยคือ ครอบครัวเราเอง พ่อแม่สอนลูกก่อน เริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน พ่อแม่ต้องเริ่มศึกษาให้ดีก่อนที่จะเริ่มสอนลูก นำพาลูกไปในธรรมชาติให้ถูกทาง เพราะถ้ารอระบบใหญ่เราก็อาจจะไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลย ผมว่าเรื่องธรรมชาติมันต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนแล้วมันจะช่วยได้มาก”

คนรุ่นใหม่: ความหวังของโลกธรรมชาติ (?)

ม.ล.ปริญญากรมองว่า เราไม่ควรแบ่งคนจากอายุ แต่ควรแบ่งจากทัศนคติของบุคคลนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องแบ่งคนคร่าว ๆ จากอายุเขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ใช่ปัญหา “เด็กรุ่นใหม่ไม่ใช่ปัญหาของโลกธรรมชาติ ปัญหามันอยู่ที่พวกคนใหญ่คนโต คนที่บริหารประเทศอยู่นี่แหละ เรื่องแบบนี้ไม่ต้องแก้ที่คนรุ่นใหม่ มันต้องแก้ที่คนบริหารคนที่มีอำนาจอยู่ในมือ”

“อย่างเช่น กรมชลประทาน ผมไม่คิดว่าคนที่ทำงานอยู่ในกรมเหล่านี้จะไม่ฉลาด แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้มองปัญหาในภาพรวม เขามองแค่การเอาชนะธรรมชาติ คือสิ่งที่ทำได้ แต่จริง ๆ มนุษย์ไม่สามารถปรับ หรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ ผมว่าเขาอาจจะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนปัญหาต่าง ๆ อาจจะลดลง”

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นวิศวกรสร้างเขื่อน เราก็มีหน้าที่เขียนแบบเพื่อสร้างเขื่อน ถ้าเราเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาแหล่งน้ำ เราก็ต้องทำตามหน้าที่ของเรา แต่ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันจะมีผลกระทบกับที่อยู่อาศัย กระทบกับชีวิตในป่ามากมาย ผมว่าผลประโยชน์จากการสร้างมันอาจจะน้อยกว่าถ้าเทียบกับผลกระทบในระยะยาว”

ม.ล.ปริญญากรเล่าว่า ที่ป่าดงพญาเย็น จังหวัดนครราชสีมา มีความพยายามจะสร้างเขื่อนกันมาก ทั้งที่บริเวณนั้นเป็นป่าอนุรักษ์ “ผมว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ ถ้าการเมืองสามารถตรวจสอบได้ โดยที่ไม่ใช่ระบบแบบหัวคะแนน ระบบผู้มีอิทธิพลเหมือนปัจจุบัน มันก็จะสามารถช่วยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทุกวันนี้นักการเมืองหาเสียงกับชาวบ้านว่า เขื่อนสามารถช่วยชาวบ้านได้ในหน้าแล้ง ชาวบ้านก็เฮละโลเชื่อว่าที่นักการเมืองพูดนั้นใช่ แท้จริงแล้วการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้น มันเป็นช่องทางการคอร์รัปชัน ทุกอย่างมันเป็นแค่เรื่องเงิน นักการเมืองไม่ได้มองประโยชน์ของโลกธรรมชาติเลย”

“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถยุติวงจรพวกนี้ได้ มันคงดี เพราะการสร้างแหล่งน้ำมันมีวิธีมากมายที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ที่รบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอย่างที่ผมบอกมันไม่ใช่ปัญหาของคนรุ่นใหม่ มันเป็นปัญหาคนคนบริหาร ของคนแก่ ๆ ต่างหาก”

ถ้าการเมืองดี: ความหวังของโลกธรรมชาติ

ม.ล.ปริญญากรมองประเด็นเรื่องการเมืองกับโลกธรรมชาติว่า “ทุกวันนี้ ส.ส. หาเสียงแทบจะกราบเรา แต่พอเขาได้เป็นแล้ว เรากลับต้องถูกกั้นถนนให้รถเขาไปก่อน เขาไม่ปรายตาดูเราด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปริญญากรให้ความเห็นว่า “ผมไม่ได้ฝันถึงขนาดจะพลิกแผ่นดิน พลิกฝ่ามือ ผมขอแค่รัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องแบบนี้เข้าใจจริง ๆ เข้าใจเรื่องป่าไม้จริง ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันก็จะค่อย ๆ ถูกแก้ไขไปได้ ไม่ใช่ผู้บริหารที่มีแนวคิดแบบนักการเมืองอย่างเดียว”

“สุดท้าย คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในป่าและชาวบ้านที่ต้องปะทะกัน เพราะความไม่เข้าใจของผู้บริหาร ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจนะครับ เพราะเราก็รู้ว่าบางครั้งการปะทะมันก็ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต พอเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องที่คุยกันไม่ได้แล้ว”

ม.ล.ปริญญากรเสนอว่า ประเทศไทยมีข้อมูลมากมาย มีนักวิชาการที่ทำทุกเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าผู้บริหารสงสัยหรืออยากรู้ สามารถดึงข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาได้ทันที

“เช่น กรณีคนอยู่กับป่าได้ไหม…ถ้ามีชาวบ้านแค่นี้ อุทยานขีดวงชาวบ้านให้อยู่แค่นี้ได้หรือไม่ เพราะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ทำโครงการแบ่งเขตพื้นที่อยู่อาศัยกับป่าด้านตะวันตก มูลนิธิก็ไปนั่งคุยกับหมู่บ้านแล้วขีดวงที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน บอกเขาว่าห้ามบุกรุกต่อ ห้ามขยายพื้นที่ต่อ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็อยู่กันได้ภายในกติกาดังกล่าว”

“เรื่องของสัตว์ป่า เรื่องโลกธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องของซ้ายขวา หรือเรื่องของสีไหน มันเป็น fact เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องเข้าใจมันอย่างแท้จริง ถ้าเราเข้าใจจริง ๆ ว่าการกระทำของเราส่งผลกระทบต่อชีวิตที่อยู่ในป่า ปัญหาต่าง ๆ มันคงไม่เกิดขึ้น รัฐคงไม่ต้องไปไล่ชาวบ้านทั้งหมดออกจากที่ดินที่เขาอยู่ คงไม่ต้องมีใครออกมาบอกว่าสร้างเขื่อนไม่ได้ สร้างฝายไม่ได้ ถ้าเราอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจกันจริง ๆ ว่า สัตว์มันก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่กำลังทำงานให้เราอยู่ในธรรมชาติ”

ม.ล.ปริญญากรชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า “ตอนที่ผมเริ่มทำงานเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การจะเจอกระทิงสักตัวไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะหลังจากสงครามเวียดนาม มันมีอาวุธ มีระเบิด มีรถถัง มีปืน แล้วคนก็เข้าไปล่าสัตว์อย่างมโหฬารมาก ตอนนั้นสัตว์ป่าแทบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย”

“หลังจากนั้นก็เกิดกระบวนการอนุรักษ์จากคุณหมอบุญส่ง (เลขะกุล) ผู้บุกเบิกแนวคิดการอนุรักษ์ในไทย ก็เริ่มมีอุทยานแห่งชาติ เริ่มมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”

“ตอนนี้ผ่านมา 30 ปี มีป่าหลายแห่งที่กระทิงเยอะมาก มีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก แม้กระทั่งการพบเจอเสือมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีสัตว์บางตัวที่สูญพันธุ์ไปอย่างกระซู่ และก็มีสัตว์หลายชนิดที่เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเกิดปัญหาว่า บริเวณเขาแผงม้า ที่เขาใหญ่มีกระทิงเยอะมาก แต่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าในลำดับที่สูงกว่าอย่างเสือที่หายไปเยอะแล้ว ก็เกิดปัญหาว่าไม่มีใครคุมปริมาณกระทิง”

“ดังนั้นอย่างที่ผมบอก การแก้ไขปัญหา ถ้ามีผู้บริหารที่จริงจัง ผู้บริหารที่เข้าใจเรื่องธรรมชาติอย่างแท้จริงและต้องมีทัศนะที่ดีต่อธรรมชาติ ต่อสิ่งแวดล้อม เขาก็คงมองเห็นแล้วว่าเหล่านี้คือปัญหาที่จะเกิดขึ้น มันจะนำไปสู่นโยบายว่า อาจจะต้องมีเสือที่บริเวณเขาแผงม้าไหม จะมีนโยบายฟื้นฟูประชากรเสือไหม หรือนำเสือเข้ามาไว้ เพื่อจะได้คุมปริมาณของกระทิง”

ท้ายที่สุด ม.ล.ปริญญากรเสนอทัศนะว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายมากว่า ในประเทศไทย ผมยังไม่เคยเห็นพรรคการเมืองไหนที่ชูนโยบายหาเสียงเรื่องธรรมชาติ แบบเข้าใจ แบบจริงจังเลย และผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ไหม แต่ถ้านักการเมืองสักคนออกมาพูดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องสัตว์ป่าผสมพันธุ์แบบเลือดชิดอย่างไร จะแก้ไขปัญหาการที่สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างไร และปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ถูกตัดขาดเป็นเกาะ ๆ จะแก้ไขอย่างไร”

“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผมจะเลือกคนนี้ทันที เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เขาเข้าใจแล้ว เขาเข้าใจในเรื่องธรรมชาติจริง ๆ และเรื่องอื่นก็คงจะพูดกันง่ายมากขึ้น”

ภาพประกอบ : ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ


ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
21
Love รักเลย
16
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Interview

Writings

ชายผู้สร้างถนนในบรรณพิภพ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  บทนำ “ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน” “เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ” “พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์” “ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Writings

เมื่อคนฟังกลายเป็นคนพูด : เปิดใจ ‘คนรับเรื่องร้องทุกข์’ กับความสุขที่ได้ช่วยคน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หากให้ทุกคนย้อนนึกถึงสถานที่วิ่งเล่นในวัยเด็ก เชื่อว่าสำหรับใครหลายๆ คน คงเป็นสนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือลานกีฬาในโรงเรียน แต่สำหรับฉัน ที่วิ่งเล่นตอนเด็กคือสถานที่ราชการขนาดกลางในซอยเล็กๆ บนถนนพระราม 6 อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ ...

Writings

ศิษยาภิบาล ผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง การเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิกตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำให้ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาคริสต์อยู่บ่อยครั้ง ...

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save