Art & CultureWritings

รู้จักกับ Fleabag และ Truman: 2 ตัวละครที่ตั้งคำถามกับ ‘การมีชีวิตอยู่’ ไม่ต่างจากคนดู

เรื่องและภาพ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์

หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์และภาพยนตร์ที่นำมาเล่า

จากที่ต้องตื่นไปมหาวิทยาลัยทุกเช้า วันหนึ่งกลับรู้สึกขึ้นมาว่าสิ่งที่เรียนอยู่ช่างไร้ความหมาย 

รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องทำงานหนักเพราะรู้ว่าคงไม่มีเวลาว่างไปใช้เงินเพื่อหาความสุข หรือตามหาความฝัน

ได้แต่ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เคยทำในชีวิต ทั้งที่เรามีโอกาสตายเมื่อไหร่ก็ได้ 

หรืออยู่ๆ ก็ค้นพบว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความฝันบางอย่าง แม้จะพยายามเพื่อมันมาตลอดชีวิต

…..

เชื่อมั้ยคะว่า ไม่ได้มีแค่มนุษย์หรอกที่ครุ่นคิดเรื่องพวกนี้อยู่บ่อยๆ

เพราะแม้แต่ตัวละครจากเรื่องแต่ง (fiction) ก็หนีไม่พ้นคำถามเหล่านี้เช่นกัน

ซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริง มักเลียนแบบหรือตีความสิ่งที่มนุษย์พบเจอในชีวิต พร้อมถ่ายทอดออกมาอย่างลึกซึ้ง เข้าถึง หรือเจ็บแสบ ทำให้หลายตัวละครจากเรื่องแต่งมีชะตากรรมและอารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างจากคนดู แถมพร้อมจะเข้ามานั่งในใจ สะกิดต่อมน้ำตา รื้อฟื้นความหลัง หรือแม้แต่ชวนตั้งคำถามพานให้สะอึกจนพูดไม่ออก ได้แต่นอนนิ่งมองเพดานห้องอยู่พักใหญ่ กับปริศนาธรรมที่ว่า 

‘แท้จริงแล้วชีวิตคืออะไร’ ‘เราควรทำยังไงกับชีวิตต่อ’ หรือ ‘ฉันกำลังตามหาสิ่งใดอยู่กันแน่’

(คำแปล: ชีวิตก็เหมือนกับเกมหมากรุกนั่นแหละ
ซึ่งฉันเล่นหมากรุกไม่เป็น)
(คำแปล: “ช่วงนี้ชีวิตเป็นยังไงบ้าง” “ฉัน(ใช้ชีวิต)ไม่เก่งสักเท่าไหร่ แต่ก็ช่างมันเถอะ”)

คำถามที่คนส่วนใหญ่มักค้นพบเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงวัยของชีวิต ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถอธิบายด้วยคำคำหนึ่ง ที่ออกเสียงได้ลำบากว่า ‘existential crisis’ หรือ ‘วิกฤติการมีชีวิตอยู่’ อันเป็นภาวะทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกเปลี่ยวเหงา เบื่อหน่าย กังวล ไม่มั่นคง เคว้งคว้าง หรือไร้จุดหมาย จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึง ‘ความหมายของชีวิต’ และ ‘การมีอยู่ของตัวตน’ 

การไม่แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยชื่นชอบ คุ้นเคย หรือเชื่อมั่นมาอย่างยาวนานว่ามีความหมายกับเราจริงๆ หรือไม่ อาจทำให้เกิดอาการเสียศูนย์ รู้สึกโหวงๆ อยู่ในอก ไม่รู้จะจัดการกับข้อค้นพบที่น่าหดหู่นี้ยังไง จนอาจด่วนสรุปกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ในแต่ละวันนั้น อาจไม่ได้มีความหมายอะไรเลยก็ได้

แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้ภาวะดังกล่าว ‘กำเริบ’ ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน และบ่อยครั้งที่หนทางรับมือมักลงเอยด้วยการ ‘ด้อยค่า’ ตัวเองและสิ่งรอบตัวลงจนหมดหวังกับการมีชีวิตอยู่ แต่ก่อนที่จะดิ่งไปมากกว่านี้ ขอให้สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วไปดูกันว่า ตัวละครจากซีรีส์หรือภาพยนตร์ดังเขามีวิธีรับมือกับสิ่งนี้เหมือนหรือต่างจากเราไปมากน้อยแค่ไหน

ซีรีส์เรื่อง Fleabag (2016)

ฉันแค่อยากให้ใครมาบอกหน่อยว่าต้องใช้ชีวิตยังไง เพราะที่ผ่านมาฉันเอาแต่พังมันอยู่เรื่อย

ตัวละคร Fleabag ที่ความหมายของชื่ออาจแปลอย่างหยาบๆ ได้ว่า ‘บุคคลผู้ไม่น่าคบหา’ นี้ เป็นหญิงโสดในวัย 33 ปี เธอค่อนข้างหมกมุ่นกับเรื่องเพศ เป็นคนติดตลก กวนประสาท ไม่ลงรอยกับแม่บุญธรรม รวมถึงสนิทกับพ่อและพี่สาวน้อยลงตั้งแต่ที่แม่เสีย เธอเปิดร้านคาเฟ่ที่มีตัวกินนีพิก (Guinea Pig) หรือหนูตะเภา เป็นมาสคอตร่วมกับเพื่อนสาวคนสนิท แต่ก็มีแววเจ๊งจนต้องดิ้นรนไปขอกู้กับธนาคารเพื่อประคองร้าน แม้จะอยากเอ่ยปากขอยืมเงินพี่สาวนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและรวยกว่ามากแค่ไหน ก็ไม่ทำ เพราะอดจะนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้

ทว่ายังไม่ทันจะกู้ผ่าน แฟนก็ดันมาบอกเลิก แถมยังมีเรื่องบาดหมางกับพี่เขยจนมองหน้าพี่สาวไม่ติด…ฟังแล้วดูเป็นชีวิตที่ยุ่งเหยิงและน่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย จนกระทั่ง ‘บาทหลวงสุดฮอต’ โผล่เข้ามาในชีวิต และคอยถามไถ่ความรู้สึกอย่างที่คนรอบตัวเธอมักไม่ค่อยทำ

ทว่าสิ่งที่คอยรบกวนจิตใจไม่หาย คือความรู้สึกผิดจากสิ่งที่ Fleabag ได้ทำลงไปกับเพื่อนสนิท จนเป็นเหตุให้เพื่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทำให้ต้องสานต่อธุรกิจคาเฟ่ตัวคนเดียวต่อไปอย่างไร้จุดหมาย การจากไปของเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่สามารถเข้าใจ และยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเธอได้ นำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร และกลายเป็นบาดแผลที่เจ้าตัวไม่ยอมปริปากบอกหรือยอมให้ผู้ใดมาเยียวยารักษา เธอกลายเป็นคนรังเกียจตัวเอง ขยาดการมีเซ็กส์ แต่ก็ใช้เซ็กส์เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดก็รู้สึกเปลี่ยวเหงากับความสัมพันธ์ทางกายอันตื้นเขินนี้ และติดหล่มวังวนของ self-doubt หรือการตั้งคำถามกับคุณค่าในตัวเอง พ่วงมากับความรู้สึกกังวล ไม่มั่นคง จนต้องหันมาพูดและระบายกับคนดู (Breaking The 4th Wall) ทุกครั้งที่อยากได้ความเห็นหรือการพยักหน้ายอมรับ ว่าเราเข้าใจและเข้าข้างเธอในหลายๆ เรื่อง แม้ว่าจะไม่สามารถสื่อสารกันได้จริงๆ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เธอไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากนัก

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะกับ Claire พี่สาวของเธอที่กลับมาเข้าใจกัน ผ่านการเชียร์ให้เลิกกับพี่เขยที่ทั้งเส็งเคร็งและ toxic กับชีวิต Fleabag ก็เริ่มเปิดใจให้กับบาทหลวง และเมื่อถูกคะยั้นคะยอให้เข้าไปสารภาพบาปในห้องที่โบสถ์ เธอก็ร้องไห้พร้อมกับพรั่งพรูมวลความรู้สึกเคว้งคว้างและน่าหดหู่ใจของชีวิตตัวเองออกมา ทั้งความจริงที่ว่าเธอไม่รู้เลยว่าในทุกๆ วันควรจะใส่ชุดอะไร ควรจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งไหน หรือแม้กระทั่งควรจะเชื่อ หรือควรจะรักใคร และอยากให้ใครสักคนมาชี้นำว่าควรทำอย่างไรกับชีวิตที่ไม่ได้ดั่งใจนี้ต่อ เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเธอจะทำพลาดไปเสียเยอะ 

การพบกับบาทหลวงในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นถึงมนุษย์คนหนึ่งที่เดินหลงเข้ามาหาที่พึ่งทางใจใต้ร่มคริสตจักร แต่ยังเป็นชนวนความสัมพันธ์ต้องห้ามที่จุดติดและยากจะดับได้ เมื่อต่างคนต่างรู้สึกว่ามันลึกซึ้งเกินกว่าแค่อารมณ์ชั่ววูบ และเลยเถิดเกินกว่าคำว่า ‘ความรักต่อเพื่อนมนุษย์’ ในทางศาสนาอยู่มากโข ท้ายที่สุดแล้วบาทหลวงก็เลือกที่จะรักในพระผู้เป็นเจ้ามากกว่า ทว่าสิ่งที่ Fleabag ได้ค้นพบจากการรู้จักเขา ก็คือความรู้สึกรัก และการได้รับความรักตอบกลับมาไม่ต่างกัน

แม้การบอกลาจะมีรสชาติหวานปนขม แต่ก็ทำให้ Fleabag กลับมามั่นใจ และรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องหันมาสบตา ขอความเห็นจากคนดูเหมือนเมื่อก่อน การเรียนรู้ที่จะกลับมารักตัวเองหรือใครสักคน โดยไม่กลัวที่จะเปิดอกพูดคุยกันทำให้เธอเติบโตขึ้น และมีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนอยากตื่นขึ้นมาใช้ชีวิต หรือเปิดร้านคาเฟ่ในทุกๆ วัน กระนั้นมันก็ยังเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของการล้มแล้วลุกขึ้นเดินต่อ เพราะเธอยังต้องใช้ชีวิตโดยมีแม่บุญธรรมคอยเหน็บแนม หาเรื่องชวนตีอยู่ร่ำไป และมีพ่อที่เอ่ยปากปกป้องลูกสาวตัวเองไม่เป็นเฝ้ามองอยู่ห่างๆ

แต่ที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งเลยก็คือ ความผูกพันที่เชื่อมสายใยคนในบ้านไว้อย่างหลวมๆ นี้ คงเริ่มกระชับเข้าหากันมากขึ้น เพราะตลอด 2 ซีซันที่ผ่านมา ทุกตัวละครรวมถึงคนดูต่างก็ได้หัวเราะ และเสียน้ำตาให้กับความล้มเหลวหรือน่าผิดหวังในชีวิตตัวเอง ที่ก็เหมือนกับคนอื่นๆ และเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ดู ‘หมดหวัง’ ไปเสียขนาดนั้น

ภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show (1998)

‘how’s it going to end?’

‘(ชีวิต) มันจะจบลงอย่างไร’

“ผมชอบเข็มกลัดคุณนะ ผมเองก็สงสัยเรื่องนั้นอยู่เหมือนกัน”

Truman Burbank เป็นหนุ่มวัยกลางคนและพนักงานฝ่ายขายของบริษัทประกัน เขาเปิดวิทยุฟังเพลงขณะขับรถไปทำงานทุกเช้า มีเพื่อนร่วมงานที่อัธยาศัยดี มีเพื่อนซี้ที่คุยกันได้ทุกเรื่อง มีภรรยาที่น่ารักและเอาใจใส่ ใช้ชีวิตง่ายๆ เหมือนกับเมื่อวาน ทว่าลึกๆ กลับโหยหาบางสิ่งที่จะช่วยยืนยันกับตัวเองได้ว่า ‘ชีวิตมันมีอะไรมากกว่านี้’ ซึ่งนั่นก็คือ Sylvia หญิงสาวเจ้าของแววตาที่เขาหลงใหล และแอบปลื้มตั้งแต่สมัยเรียน ผู้มาพร้อมกับเข็มกลัดคำคมบนเสื้อ และความจริงที่สั่นคลอนโลกทั้งใบของเขาในคืนวันหนึ่งว่า ทุกๆ สิ่งที่เขาเห็นอยู่ ไม่ว่าจะท้องฟ้า หรือหาดทราย มันไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นแค่ฉากที่ถูกสร้างขึ้น และ Truman ก็เป็นแค่ตัวละครหนึ่งในรายการทีวีเท่านั้น

แม้นั่นจะดูเป็นสิ่งที่ใครฟังก็คงช็อกหรือสติแตก ทว่า Truman กลับยังคงใช้ชีวิตธรรมดาของเขาต่อไปอีกหลายปี โดยยังเก็บซ่อนความเคลือบแคลงใจที่น่าหวาดหวั่นนี้ไว้ และนานวันเข้าความมีพิรุธของสิ่งต่างๆ ก็เริ่มผุดออกมาให้เห็น ตั้งแต่ดวงดาวบนท้องฟ้า ที่อยู่ๆ ก็หล่นลงมาและพบว่าเป็นแค่ไฟในสตูดิโอ การที่ภรรยาตัวเองมักหันไปมองกล้องสองเมื่อพูดถึงของใช้ภายในบ้านราวกับกำลัง tie-in สินค้า การที่ผู้คนบนท้องถนนจับจ้องการเคลื่อนไหวของเขาทุกฝีเก้า หรือการที่ทุกสรรพสิ่งต่างกีดกันไม่ให้เขาออกไปสำรวจโลกนอกเหนือจากที่ที่เขาอาศัยอยู่

ความไม่ชอบมาพากลที่ทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ หลอมรวมกันเป็นเครื่องยืนยันที่ทำให้ Truman มั่นใจในสัญชาตญาณตัวเองและสิ่งที่ Sylvia เคยบอก เขาเริ่มต้นพิสูจน์เรื่องทั้งหมดด้วยการทำตัวออกนอกกรอบ และพยายามเป็นคนที่ spontaneous หรือทำอะไรอย่างปุบปับเพื่อให้คนอื่นคาดเดาแผนต่อไปไม่ได้ และแม้จะเริ่มออกอาการสติแตกทีละน้อยเมื่อพบว่าทุกสิ่งเป็นแค่เรื่องโกหกอย่างที่คาดการณ์ไว้ เขาก็ยังฝืนหัวเราะ หรือแม้แต่ยิ้มทั้งน้ำตา แสร้งว่าความจริงอันหดหู่ตรงหน้าช่างตลกร้ายได้ใจ แม้ข้างในอาจแตกสลายไปหมดแล้วก็ตาม 

เพราะหากนี่เป็นแค่รายการทีวี และมีแต่เขาที่ไม่ได้รับบทจากผู้กำกับ นั่นก็แปลว่าคนอื่นๆ ที่เหลือ ทั้งเพื่อนซี้ที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็ก เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว ต่างก็มีส่วนรู้เห็น และเป็นนักแสดงมากฝีมือที่สวมบทบาทได้อย่างแนบเนียน จนเขาดูไม่ออกว่าความทรงจำต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา เป็นแค่การเสแสร้งประดิดประดอยเพื่อมอบความบันเทิงให้กับคนดูที่อยู่ทางบ้าน หรือแม้กระทั่งตัวตนของเขา ก็คงจะถูกนับเป็นแค่บทบาทหนึ่งในละคร (character) ที่ผู้กำกับฟูมฟักนิสัย ท่าทาง หรือบุคลิกให้เป็นไปตามกรอบ ‘นักแสดงนำ’ ที่วางไว้ จึงไม่แปลกถ้า Truman จะนึกสงสัยว่า ตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไรกันแน่

การค้นพบดังกล่าวทำให้ Truman ไม่อาจปักใจเชื่อความเป็นจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า และเป็นครั้งแรกที่เขาไม่มีสิ่งใดมาถ่วงไว้ด้านหลัง ทั้งความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน (ปลอมๆ) และการเป็นผู้นำครอบครัวที่ต้องคำนึงถึงเรื่องรายได้หรือการมีลูก ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เรื่องสมมติ มันจึงไม่มีความหมายอะไรกับเขาอีก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความปรารถนาที่อยากจะออกไปสำรวจโลกภายนอก ซึ่งในที่นี้คือ ‘Fiji’ สถานที่ที่อาจให้ความหมายของการมีชีวิตอยู่กับเขาได้

ทว่าอิสระที่มาจากการปลดเปลื้องภาระและตัวตนที่ถูกประกอบสร้างอย่างไม่เต็มใจ ก็ยังพ่วงมากับความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ เพราะนั่นหมายถึงทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะดีหรือร้าย ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของเขา และขึ้นอยู่กับตัวเขาแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการชี้นำของผู้กำกับ หรือความปรารถนาของนักแสดงคนอื่นๆ และออกนอกกรอบตัวตนเดิมที่เขาเลือกจะปฏิเสธมัน

ตรงจุดนี้เองที่การมีอิสระในชีวิตได้แปรเปลี่ยนมาเป็น ‘ภาระใหม่’ อันหนักอึ้ง ความโดดเดี่ยว เคว้งคว้างท่ามกลางคนแปลกหน้าที่เคยรู้จักได้เข้ามาแทนที่ความสนิทสนม เชื่อใจ และความกลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับโลกใบใหม่ รวมถึงอนาคตหลังเดินออกจากรายการนี้ ก็ยิ่งทวีคูณจนแทบจะก้าวขาไม่ออก

กระนั้นเขาก็ยังเลือกที่จะล่องเรือข้ามทะเลออกไป เพื่อค้นหานิยามใหม่ของชีวิต และหยิบเอาตัวตนปริศนาที่ยังไม่มีใครล่วงรู้มาสวมทับ แม้จะต้องข่มความกลัวทะเลเอาไว้ เพราะเกิดเรื่องฝังใจในอดีต แต่ก็ถือว่าได้ก้าวออกจาก comfort zone พร้อมกับปลดล็อกสิ่งที่ค้างคาใจมาโดยตลอด และสานฝันการเป็นนักสำรวจ ที่นักแสดงผู้สวมบทเป็นครูเคยบอกกับเขาตอนเด็กๆ ไว้ว่า

เธอเกิดช้าไป โลกนี้ไม่เหลืออะไรให้สำรวจอีกแล้ว 

อ้างอิง

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

Articles

Rick and Morty: ชีวิตไร้ความหมายในจักรวาลไร้จุดหมายของริกและมอร์ตี้

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร ขอบคุณภาพจาก https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1335145 คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง “Nobody exists ...

Articles

Indie but not independent: การเติบโตของเพลงอินดี้ในไทย จากอัลเทอร์เนทีฟร็อกจุดประกายสู่ทางเลือกที่หลากหลาย

เขียน: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร “รออยู่ตรงนี้แล้วเธออยู่ไหน เธอจะยังคิดถึงฉันบ้างไหม หรือไม่ใช่ กลับมากอดฉันสักทีได้ไหม ขอแค่ครั้งเดียว แม้แค่ครั้งเดียว ก่อนเธอลบฉันไป” เสียงที่เย็นแต่นุ่มของนักร้องพร้อมเมโลดี้ดรีมป๊อป ดนตรีฟังง่าย ให้ความเพลิดเพลิน ผสมกับเสียงกีตาร์และเสียงซินธิไซเซอร์ ...

Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save