เรื่องและภาพ: ปาณิสรา ช้างพลาย
จากกรณีอุทกภัยสาเหตุจากพายุนูโรและน้ำหนุนจากทางภาคเหนือ ประกอบกับฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องในพื้นที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนบริเวณชุมชนมัสยิดท่าอิฐ หมู่ 10 มานานเกือบเดือนนั้น เมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) ชาวบ้านชุมชนมัสยิดท่าอิฐ (ขอสงวนนาม) ให้สัมภาษณ์ว่า หน่วยงานรัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำทางเรือ แต่ชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ติดริมแม่น้ำยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ จึงต้องทนใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมที่ลำบากไม่ต่างกับบริเวณริมน้ำ
“ใช้ชีวิตลำบากมาก ออกไปไหนไม่ได้ เวลาไปทำงานต้องยอมลุยน้ำไปเปลี่ยนเสื้อผ้าข้างนอก ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือ ต้องช่วยเหลือตัวเอง แต่ละบ้านก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกเอง รัฐเองก็น่าจะรู้ว่าเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย น่าจะมีแนวทางป้องกันได้ดีกว่านี้ เขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างไว้ชาวบ้านก็มองว่าช่วยอะไรไม่ได้เพราะน้ำก็ยังคงท่วมอยู่ดี ซ้ำยังกักขยะทำให้น้ำเน่ามากกว่าเดิม พอมีเขื่อน น้ำเก่าๆ ก็ถ่ายเทออกไปยาก ไม่รู้ว่าเรียกร้องไปจะได้รับความช่วยเหลือไหม มันเดือดร้อนกันทั้งตำบลอยู่แล้ว” ชาวบ้านผู้ขอสงวนนาม กล่าว
งามตา อ่อนหวาน ชาวบ้านชุมชนมัสยิดท่าอิฐที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ กล่าวว่า แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมสูงระดับ 40-50 ซม.มาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งบริเวณนี้มักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปีจากฝนตกและเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำ “ที่บ้านเป็นบ้านชั้นเดียว น้ำท่วมสูงประมาณหัวเข่า ลำบากจนอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยบ้านญาติที่เป็นบ้านสองชั้นนอนกับลูก นายกฯ อบต. (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) มาเตือนว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงอีก หน่วยงานรัฐก็นำทราย และอิฐบล็อกมาให้ แต่ก็ต้านน้ำไม่ไหว มันเดือดร้อนมากจริงๆ แต่อยู่มานานก็ชินแล้ว เพราะทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้”
ปรีดา เชื้อผู้ดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าอิฐ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีสั่งการให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนเรื่องระดับน้ำที่คาดว่าอาจเพิ่มสูงกว่าเดิม 15-20 ซม. ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ ทางอบต.เตรียมอนุมัติงบประมาณใช้ซื้อไม้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านยกของขึ้นที่สูง และกำลังประสานผู้ว่าฯ เพื่อช่วยเรื่องถุงยังชีพเพิ่มเติม ตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมในช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อบต.ได้จัดสรรกระสอบทราย ไม้ และน้ำมัน เพื่อดูแลชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับความเดือนร้อน ซึ่งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 4-5 ล้านบาท
ในขณะที่กษมา ท่าอิฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ท่าอิฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการมีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงป้องกันน้ำที่ทะลักเข้ามาไม่ได้ แต่สามารถป้องกันตลิ่งพังจากการกัดเซาะของดินและแรงกระแทกของคลื่นจากเรือได้ ไม่เช่นนั้นปีนี้อาจเสียหายมากกว่าที่คิด และหากกลางเดือนต.ค.ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ก็เตรียมรับมือไว้แล้ว “หากกลางเดือนระดับน้ำยังไม่เพิ่ม ก็ถือว่าอาจผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แต่หากน้ำสูงขึ้นก็ได้ประสานกับทางอบต. งานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และหน่วยงานต่างๆ ให้เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ประชาชนที่มีบ้านชั้นเดียว ไม่มีที่พักอาศัย ทางโรงเรียนดารุ้ลอามานก็จะเป็นศูนย์พึ่งพิงสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนหมู่ที่ 10 ต.ท่าอิฐ ปริมาณน้ำยังคงท่วมสูงมิดพื้นบ้าน ต้องใช้เรือในการสัญจรภายในหมู่บ้าน การใช้ชีวิตในชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบาก พักอาศัยได้แค่ส่วนชั้นสองของบ้าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งประสบกับโรคน้ำกัดเท้า และต้องคอยกังวลเรื่องสัตว์เลื้อยคลานที่มากับน้ำ เช่น งู หรือตะขาบ