SocietyWritings

ขานรับ #EmbraceEquity ในวันสตรีสากล เมื่อความเท่าเทียมยังไม่เพียงพอ?

เรื่อง : ณัฐวุฒิ ศรีเรือง

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

เว็บไซต์ International Women’s Day (IWD) ได้แจ้งแคมเปญรณรงค์สำหรับวันสตรีสากล ประจำปี 2023 อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด #EmbraceEquity หรือ “โอบรับทุกความเสมอภาค” เพราะผู้หญิงเริ่มตระหนักว่า แค่ความเท่าเทียมนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเสมอภาคด้วย!

“ความเท่าเทียม” (Equality) กับ “ความเสมอภาค” (Equity) เมื่อพิจารณาในเบื้องต้นอาจจะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก เพราะแนวคิดหลัก ๆ ของความเท่าเทียมและความเสมอภาคก็คือ การที่ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาส และได้รับผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับอย่างเท่า ๆ กัน

ทว่าถ้าพิจารณาให้ถึงแก่น จะพบว่าคำทั้งสองกลับมีปัญหาและความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาและความแตกต่างของความเท่าเทียมกับความเสมอภาค สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ดังนี้

มีต้นมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง ลำต้นของมันเอียงโน้มไปทางซ้าย มีเด็กสองคนต้องการเก็บผลมะม่วง โดยยืนอยู่ทางซ้ายและทางขวาของต้นมะม่วง ลำพังด้วยสองขาของพวกเขาไม่สามารถเอื้อมมือไปเก็บผลมะม่วงได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเสริมความสูงอย่างบันได

เมื่อเราหยิบยื่นความเท่าเทียมให้แก่เด็กทั้งสองคน โดยให้บันไดยาว 3 เมตรเท่า ๆ กัน ปรากฏว่าเด็กฝั่งซ้ายสามารถเอื้อมมือไปเก็บผลมะม่วงได้แล้ว ขณะที่เด็กฝั่งขวายังมีความสูงไม่พอเอื้อมมือไปเก็บผลมะม่วงได้ (เหตุเพราะต้นมะม่วงเอียงโน้มไปทางซ้าย)

แต่เมื่อเราหยิบยื่นความเสมอภาคให้แก่เด็กทั้งสองคน โดยให้บันไดยาว 3 เมตรกับเด็กฝั่งซ้าย และให้บันไดยาว 4 เมตรกับเด็กฝั่งขวา ปรากฏว่าเด็กทั้งสองสามารถเอื้อมมือไปเก็บผลมะม่วงได้

ดังนั้นแล้ว ความเท่าเทียม หรือคือการเน้นหลัก “ความเท่ากัน” ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติ หรือโอกาส เท่ากัน กลับทำให้บันไดยาว 3 เมตรเท่า ๆ กันนั้นส่งผลให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงผลประโยชน์ (ผลมะม่วง) ได้

ส่วนความเสมอภาคก็คือ การเน้นหลัก “ความเป็นธรรม” การที่เราสนับสนุนให้สุดท้ายแล้วทุกคนอยู่ในระดับเสมอกัน โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งสนับสนุนนั้นจะเท่ากันหรือไม่ อย่างการที่เราให้บันไดยาว 3 เมตรแก่เด็กคนหนึ่ง และให้บันไดยาว 4 เมตรแก่เด็กอีกคนหนึ่ง ปรากฏว่าเด็กทั้งสองสามารถเข้าถึงผลประโยชน์ได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความซับซ้อนของปัจจัยภายนอก ซึ่งก็คือต้นมะม่วงที่เอียงโน้ม ไม่ตั้งตรง ประกอบกับการเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม รวมไปถึงการเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเป็นพิเศษ ทำให้เกิดเป็นความไม่เท่าเทียม และพัฒนาเป็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม

ความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มชายขอบ ผู้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีอำนาจต่อรองเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือการจัดสรรทรัพยากร อันเนื่องมาจากความแตกต่างจากประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม เช่น ความแตกต่างทางเพศ

ผลสำรวจและงานวิจัยจำนวนมากระบุว่าในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมากกว่าผู้ชาย

บทความ “3 ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย” เผยแพร่เมื่อปี 2561 โดย        วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีการศึกษาระดับเดียวกันกับผู้ชายก็ตาม แต่ผู้หญิงกลับมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย ถ้าพูดเป็นมูลค่าของความแตกต่างในปี 2560 แล้ว กล่าวได้ว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเสียเปรียบผู้ชายในระดับการศึกษาเดียวกันเดือนละ 5,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของค่าจ้างของผู้หญิง ทั้งที่การจ้างงานในระดับการศึกษาที่สูงนั้นไม่ได้ต้องการกำลังแรงกายที่มักเป็นข้ออ้างในความได้เปรียบของแรงงานชาย

ดังนั้น แม้ว่าผู้หญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมทั้งมีความเท่าเทียมในการทำงานเหมือนกับผู้ชาย แต่สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการ ปี 2564 ยังพบว่า หญิงทั่วไปและหญิงพิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และสังคม เพียงร้อยละ 29 เท่านั้น เพราะการละเมิดมักเกิดขึ้นในครอบครัว ผู้หญิงส่วนมากจึงถูกบังคับให้ไกล่เกลี่ยยอมความ ทำให้เรื่องไม่ได้สิ้นสุดด้วยกระบวนการยุติธรรม และยิ่งผู้หญิงที่เป็นผู้พิการด้วยแล้วจะยิ่งถูกทำให้ “ไร้ตัวตน”

ส่วนงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2561 ในเรื่องปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์เรื่องการถูกละเมิดดังกล่าว เฉลี่ยมากถึงปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีมากกว่าสถิติที่รายงานมาทั้งหมด เพราะยังมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอีกมากที่ไม่กล้าหรือไม่อยากเปิดเผยเรื่องลักษณะดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่ระบุว่าร้อยละ 87 ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน

ดังนั้น ความเท่าเทียมอย่างการให้พื้นที่แก่ผู้หญิงในสังคมจึงยังไม่เพียงพอ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เพราะสุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ยังคงได้รับผลกระทบจากระบบโครงสร้างของสังคมชายเป็นใหญ่เช่นเดิม ซึ่งตรงกับงานวิจัยขององค์กร Promundo เมื่อปี 2014 เรื่อง “Looking Within: Understanding Masculinity and Violence against Women and Girls” ที่มุ่งสนับสนุนให้ผู้ชายเป็นฝ่ายสร้างความเท่าเทียมโดยระบุว่า ยิ่งสังคมมีกรอบของความเป็นชายชัดมากเท่าใด สังคมนั้นยิ่งมีแนวโน้มสูงที่ผู้ชายจะละเมิดและใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยมีโมเดลจากสิ่งที่ผู้ชายรุ่นก่อน ๆ หน้าทำเป็นแรงผลักดัน

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการให้ความเท่าเทียมในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอาจไม่ได้ทำให้ทุกคนมีโอกาสเสมอภาคกัน โดยเฉพาะสังคมปิตาธิปไตย อคติทางเพศได้กดทับผู้หญิงไว้ พวกเธอจึงเริ่มตระหนักและเรียกร้องถึงความเสมอภาค

เพราะความเท่าเทียมไม่ได้ช่วยให้พวกเธอเท่ากันกับผู้ชาย

แต่วิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจยั่งยืนกว่าก็คือ การแก้ไขระบบให้เป็นไปอย่างเสมอภาคและยุติธรรม เมื่อต้นมะม่วงเอียงโน้ม ไม่เที่ยงตรง เราจึงต้องช่วยกันนำไม้มาค้ำต้นมะม่วงให้ตั้งตรงขึ้น เพื่อให้เด็กทั้งสองฝั่งสามารถเข้าถึงผลประโยชน์และทรัพยากรอย่างผลมะม่วงได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในมุมของผู้หญิงเองก็เช่นเดียวกัน พวกเธอต้องการค่าแรงงานเท่ากับผู้ชาย ต้องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ต้องการความปลอดภัยในชีวิต และต้องการความมั่นใจว่าพวกเธอจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกล่วงละเมิดและกระทำความรุนแรงอีก หากสังคมจะลดอคติทางเพศลง หรือภาครัฐจะหันมาสนใจออกมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยคำนึงว่าผู้หญิงก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม และพวกเธอสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและยุติธรรมไม่น้อยไปกว่าผู้ชายเลย

ฉะนั้น ความเท่าเทียมจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อเราทุกคนในสังคมเสมอภาคกันก่อน

เราจึงหวังว่าสักวันสังคมจะตั้งตรงได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ ระบบจะสามารถยุติธรรมถาวรด้วยตัวระบบเอง แต่ถ้าหากวันนั้นยังไม่มาถึง — ความเท่าเทียมยังไม่เท่ากับความเสมอภาค

โปรดโอบรับทุกความเสมอภาค ร่วมกันติด #EmbraceEquity ในวันสตรีสากล

ด้วยความหวังว่าความเสมอภาคของผู้หญิงจะมีในเร็ววัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
11
Love รักเลย
7
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
1

More in:Society

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

โลกกำลังจะแตก เรายังควรแย่งวัฒนธรรมกันอยู่ไหม?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาในหลายประเทศทำให้เห็นการกลับมาของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน ด้านประเทศไทยเองถึงแม้กลุ่มที่นิยามตนเองว่า ‘หัวก้าวหน้า (Progressive)’ ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองแบบฝั่งซ้ายจะเริ่มมีพื้นที่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทว่าหากพิจารณาตามจุดประสงค์ของการเกิดกลุ่มแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและความต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากประเทศไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจริงเราคงไม่ได้เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ตบตีแย่งชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน “รักกันไว้เถิด ...

Articles

Car-Centric City: เมืองที่รถยนต์ใหญ่กว่าคน

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ขับรถ คุณอาจเคยหงุดหงิดเวลาที่ต้องมาเดินหลบรถยนต์เวลาเดินอยู่ในซอยแคบๆ จนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทนเสี่ยงตายอยู่บนสภาพถนนแบบนี้ หรือหากคุณเป็นคนที่ขับอยู่ตลอด คุณอาจเคยหงุดหงิดที่ต้องมาทนรอคนเดินข้ามทางม้าลาย และไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงออกมาเรียกร้องหาทางเท้า ทางจักรยานที่ดี เพราะจะทำให้คุณใช้เวลาบนรถนานขึ้นเนื่องจากต้องสูญเสียเลนถนนไปเพื่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติม ทั้ง 2 เหตุการณ์อาจเป็นมุมมองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในคนคนเดียวกันแต่ก็มีที่มาไม่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่ง ...

News

อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง หวังเจรจายุติต้นปีหน้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง เพราะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อฝ่ายใด และคาดว่าสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาไม่ให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ตามที่รัสเซียต้องการ เมื่อวันที่ ...

Articles

คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ?

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? ร้านค้าท้องถิ่นที่หายไปพร้อมกับ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ คุณซื้อของจากร้านโชห่วยล่าสุดเมื่อไหร่ ? ฉันหมายถึง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save