เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
การประกวด Miss Universe นับว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีการประกวดที่ถูกผู้คนจับตามองทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทย หลายคนอาจติดตามเพราะเป็นการตอบสนองต่อแนวคิดชาตินิยมในสังคมโดยการสนับสนุนผู้เข้าประกวดจากประเทศตนเอง หรือแม้กระทั่งติดตามเพราะความบันเทิง
อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของเวที Miss Universe นั้น ในเบื้องลึกเราอาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแท้จริงคืออะไร แต่กระนั้น จุดประสงค์หนึ่งที่ถูกใช้เป็นแนวคิดหลักและนำเสนอออกมาอย่างชัดเจน คือ การสร้างคุณค่าให้ผู้หญิง การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความภาคภูมิใจและสามารถเป็นตัวเองได้อย่างมั่นใจ
เห็นได้ชัดว่าเวที Miss Universe นั้นถูกผูกโยงไว้กับแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) อย่างแยกไม่ได้ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า
Miss Universe ส่งเสริม ‘คุณค่า’ ให้ผู้หญิงตามที่ได้ประกาศไว้จริงหรือ?
เมื่อพูดถึงความงามที่เป็นเชิงประจักษ์ ถึงแม้เวที Miss Universe จะมีการประกวดรอบตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาสังคม แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏในระเบียบการประกวดก็สำคัญ เช่น ผู้ลงสมัครต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165 เซนติเมตร หรือลักษณะของมาตรฐานความงามที่ถูกตั้งขึ้นโดยไม่ได้ปรากฏในระเบียบ แต่สามารถสังเกตได้จากลักษณะทางกายภาพของผู้ที่ผ่านเข้ารอบประกวด เช่น รูปร่างที่ค่อนข้างเข้ารูป มีสัดส่วนที่โค้งเว้าตามมาตรฐานของความเป็นหญิง สีผิวที่สม่ำเสมอเรียบเนียนไร้ร่องรอย ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น Miss Universe ยังมีการสร้างมาตรฐานของทัศนคติและแนวคิดของผู้เข้าประกวด โดยถูกนำเสนอผ่านคอนเซปท์และการโปรโมทของกองประกวดอย่างชัดเจน คือ การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เรามักจะได้เห็นในเวที Miss Universe ทุกปี คือการหยิบยกประเด็นทางสังคมมานำเสนอ โดยมีการโปรโมทและนำมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน ยกตัวอย่าง มารีญา พูลเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 ที่มีการหยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมมานำเสนอให้เกิดเป็นวาระทางสังคมที่ทำให้หลายคนเกิดความตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากนั้นในปี 2021 แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส ได้มีการนำเสนอประเด็น Real Size Beauty ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในรูปร่างและความสวยในแบบของตนเอง กระนั้นเอง การสร้างอัตลักษณ์นี้ขึ้นของแอนชิลีก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนดูซึ่งมีความเห็นที่หลากหลาย โดยกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับแคมเปญนี้ แต่บางส่วนกลับวิจารณ์เพื่อให้เธอลดน้ำหนัก
จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเวที Miss Universe ได้มีการสร้างมาตรฐานของผู้หญิงไม่ว่าจะในด้านกายภาพและด้านทัศนคติ จึงเกิดเป็นคำถามว่า “แล้วผู้หญิงที่ไม่ได้มีรูปร่างและทัศนคติในแบบของ Miss Universe ล่ะ?”
ถึงแม้แนวคิดเรื่องการสร้างคุณค่าในความเป็นผู้หญิงของ Miss Universe จะสร้างขึ้นเพื่อตอบโต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสนับสนุนผู้หญิงตามแนวคิดของสตรีนิยม (Feminism) แต่การกระทำนี้อาจนับได้ว่าเป็นการตอบโต้ภายใต้แนวคิดทวินิยม (Dualism) คือ การจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ เป็น 2 ฝ่าย เช่น ดำ-ขาว, ถูก-ผิด, หญิง-ชาย เป็นต้น จะเห็นว่าจุดประสงค์ของการประกวดคือการยกระดับให้ผู้หญิงมีคุณค่า มีความคิด ความสามารถ และความเป็นผู้นำเพื่อให้เทียบเท่ากับผู้ชาย
ในทางตรงกันข้าม ศตวรรษที่ 21 ภายใต้บริบทสังคมที่มีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงความเป็นเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น การสร้างมาตรฐานของ ‘ผู้หญิง’ ในแบบของ Miss Universe ซึ่งมีรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง กำลังทำให้คุณค่าของผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีความใกล้เคียงกับความเป็น ‘ผู้หญิง’ ในแบบของ Miss Universe ถูกลดทอนไปหรือไม่?
จเร สิงหโกวินท์ จากคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์หนังสือ Gender Trouble ของ Judith Butler ในโครงการ “หญิงอ่านเขียน เขียนอ่านหญิง” ครั้งที่ 8 จัดโดยหลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2014 โดยได้มีการอธิบายในมุมมองของ Butler ที่ว่า การสร้างความเป็นหญิงให้ชัดเจนมากขึ้นและอัตลักษณ์ทางเพศก็ดูเฉพาะมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งแยกความเป็นชายและหญิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมากจากการรักเพศตรงข้าม (Heterosexuality) ซึ่ง Butler มองว่า แนวคิดแบบนี้ขัดต่อหลักการของสตรีนิยม
จเร ยังได้นำเสนอความเห็นของ Butler ต่ออีกคือ Butler มองว่า “เพศเป็นเสมือนกระบวนการอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่มีจุดสิ้นสุดและไม่มีจุดเริ่ม ความเป็นเพศจะถูกตัดสินด้วยอะไร ในเมื่อมันยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่” ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในศตวรรษที่ 21 การเคารพความหลากหลายถูกยกมาเป็นวาระสำคัญในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ และการนำเสนอตัวตน คุณค่าของมนุษย์จึงไม่ควรที่จะถูกตัดสินหรือตั้งมาตรฐานโดยจำกัดแค่ในความเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งขัดแย้งกับจุดประสงค์ของการประกวด คือการมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานความเป็น ‘ผู้หญิง’
เมื่อปี 2020 งานศึกษาของ Rebecca Aroha Randell เรื่อง Beyond Dualism: The Challenge for Feminist Theory กล่าวว่า ในฐานะนักสตรีนิยม สิ่งที่ควรทำคือการท้าทายการมีอยู่ของแนวคิดทวินิยมหรือการแบ่งแยกชายหญิง ควรคิดในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ (Mutuality) คือการสื่อสารสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ เคารพซึ่งกันและกัน และทำให้ทุกเพศมีการสร้างความพันธ์ในสังคม มากกว่าการกดทับ(Domination)
อย่างการยกคุณค่าของความเป็นเพศใดเพศหนึ่งเพื่ออยู่เหนือเพศอื่นๆ เหมือนที่เวที Miss Universe พยายามผลักดันให้คุณค่าความเป็นผู้หญิงนั้น ‘เทียบเท่า’ หรือ ‘เหนือกว่า’ ผู้ชาย
กล่าวโดยสรุปแล้ว Miss Universe นำเสนอคุณค่าของความเป็นหญิงไว้อย่างชัดเจน คือ ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่ตรงกับมาตรฐาน มีทัศนคติที่ขับเคลื่อนสังคม โดยในสังคมที่เป็นจริงนั้น มีกลุ่มคนที่หลากหลายและไม่สามารถตัดสินคุณค่าแค่จากกรอบของการประกวดได้
ไม่แน่ว่าเราควรหยุดการสร้างมาตรฐานใดเพื่อยกระดับคุณค่าบางสิ่งที่อาจจะไปกดทับคุณค่าอื่น กล่าวคือคนที่มีลักษณะกายภาพไม่ตรงกับมาตรฐาน คนที่ไม่ได้มีแรงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสังคมตามกรอบของ Miss Universe
บุคคลคนเหล่านั้น รวมถึงทุกคนในสังคมต่างก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นเดียวกันมิใช่หรือ?
บรรณานุกรม
Rebecca Aroha Randell. (2020). Beyond Dualism: The Challenge for Feminist Theory.(Chapter 2)(p.12-24) Adelaide: University of Adelaide.
ผกามาศ เลียงธนะฤกษ์. (11 พฤศจิกายน 2014). “การเมืองเรื่อง Performativity”: คำประกาศจาก Judith Butler ใน Gender Trouble จเร สิงหโกวินท์. เข้าถึงได้จาก ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2014/11/56551