เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
.
“Do you have a steady boyfriend?”
“No.”
“What kind of fella would you like?”
[(Gay) silence]
“คุณมีแฟนหนุ่มหรือยัง”
“ไม่มีค่ะ”
“แล้วคุณชอบผู้ชายแบบไหน”
[…]
– Jodie Foster (1979)
มีมจากคลิปสัมภาษณ์ของ Jodie Foster นักแสดงชาวอเมริกัน ในวัย 17 ปี ชวนให้คิดต่อว่าความเงียบนั้นหมายถึงอะไร แม้ทุกวันนี้เราจะรู้กันดีว่าเธอเป็น ‘เลสเบียน’ (หญิงรักหญิง) แต่การจะพูดคำนี้ในบริบทของวันนั้นคงไม่ง่าย ความเงียบจึงกลายเป็นคำตอบที่เหมาะที่สุด
ทว่า 11 ปีหลังจากบทสัมภาษณ์นั้น การรับรู้ถึงการมีตัวตนของเลสเบียนก็มากขึ้น ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของ ‘Lesbian Visibility Week’ นับตั้งแต่ปี 1990 โดยมีจุดประสงค์ให้กลุ่มหญิงรักหญิงถูกรับรู้และมีตัวตนเท่ากับกลุ่มชายรักชาย ขับเคลื่อนให้หยุดวาทกรรมประเภท ‘เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ’ และหยุดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเลสเบียน รวมไปถึงเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงทุกคนที่ถูกคุกคามทางเพศทั้งจากการกระทำและคำพูด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเธอ และสร้างความเข้าใจ รวมถึงการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
ในช่วงสัปดาห์ของชาวเลสเบียนปีนี้ (22-28 เมษายน 2567) Varasarn Press จึงอยากชวนผู้อ่านทุกเพศ แต่อาจไม่ทุกวัย มาชมและเข้าใจเลสเบียนผ่านซีรีส์และภาพยนตร์เลสเบียน 4 เรื่อง ที่หาดูยาก…แต่ก็อาจจะหาดูได้
คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์ โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง
The L Word (2004-2009)
คำเตือน: ซีรีส์เรื่องนี้มีการใช้คำหยาบคาย ฉากเปลือย เพศสัมพันธ์ และยาเสพติด
“Every time I’m attracted to somebody she’s either unavailable or straight.”
“ทุกครั้งที่ฉันรู้สึกชอบใคร ถ้าเธอไม่มีแฟนแล้ว ก็เป็นสเตรท”
คำพูดของ ‘Dana’ (แสดงโดย Erin Daniels) นักเทนนิสสาวในซีรีส์ ชวนให้อดหัวเราะออกมาไม่ได้ เพราะมันช่างตรงกับชีวิตจริงของฉันเสียเหลือเกิน
ซีรีส์เลสเบียนแบบตะโกนเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนเลสเบียนในลอสแอนเจลิส ผ่านตัวละครหลักอย่าง ‘Bette’ (แสดงโดย Jennifer Beals) และบรรดาเพื่อนเลสเบียนที่ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะ Bette และ ‘Tina’ (แสดงโดย Laurel Holloman) ที่พยายามมีลูกด้วยกันแต่ก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย พวกเธอต่างมีปัญหาของตัวเองและพยายามช่วยกันหาทางออก เรียกได้ว่าเนื้อเรื่องครบรส ทั้งความเร่าร้อน เรื่องชวนขำ ฉากเรียกน้ำตา ความเกลียดชัง ความผิดหวัง และการนอกใจ…
The L Word ทั้ง 6 ซีซัน เป็นผลงานการสร้างของผู้กำกับ 3 คน ได้แก่ ‘Ilene Chaiken’, ‘Michele Abbott’ และ ‘Kathy Greenberg’ โดยนับเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ที่เล่าเรื่องเลสเบียนผ่านตัวละครหลักอย่างตรงไปตรงมา ทั้งปัญหาที่ต้องเจอ การมีตัวตน และการยอมรับในสังคม ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสร้างต่อเป็น The L Word: Generation Q (2019-2023) และยังคงฐานแฟนคลับหน้าเก่าและสร้างแฟนคลับหน้าใหม่ไว้ได้ถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวของเลสเบียนให้เราได้ดูอย่างเต็มอิ่มแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ละสายตาไม่ได้และไม่อยากพลาดสักตอนคือ การแสดงของ Jennifer Beals ที่เข้ากับคาแรคเตอร์ของตัวละคร Bette อย่างน่าทึ่ง ทำให้ตัวละคร Bette ยิ่งทวีความสวย ฉลาด เก่ง และมีสเน่ห์ (มากกก) เสียจนทำให้รู้สึกโกรธไม่ลง ไม่ว่า Bette จะทำตัวแย่แค่ไหนก็ตาม
Saving Face (2004)
คำเตือน: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากเปลือยและเพศสัมพันธ์
“(Mom) I love you. And I’m gay.”
“How can you tell me you love me…then throw that in my face?”
“หนูรักแม่นะ และหนูเป็นเกย์”
“แกบอกว่าแกรักฉัน แล้วพูดคำนั้นใส่หน้าฉันได้ไง”
‘Wil’ (แสดงโดย Michelle Krusiec) บอกกับแม่เช่นนั้น และบรรยากาศก็ดูจะย่ำแย่ลง
Wil เติบโตมาในชุมชนชาวจีนอพยพในอเมริกา เธอมีความสามารถและเป็นหมอที่ดี แต่ก็ต้องแลกกับการที่ไม่มีเวลาให้ใครเท่าไรนัก ทั้งครอบครัว งานสังสรรค์ รวมไปถึงเรื่องที่แม่ของเธอกังวลมากที่สุดคือการแต่งงาน
แม่จัดแจงนัดดูตัวให้ Wil อยู่บ่อยครั้งกับหนุ่มชาวจีนฐานะดี แต่กลับไม่มีใครเข้าตาเธอเลยสักคน กระทั่งเธอเจอกับ ‘Vivian’ (แสดงโดย Lynn Chen) สาวนักเต้นที่เติบโตมาในชุมชนชาวจีนเหมือนกัน และความสัมพันธ์ของพวกเธอก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด Wil ต้องจัดการเวลาให้กับเรื่องงาน ความรัก และครอบครัว ต้องหาทางบอกแม่เรื่องความสัมพันธ์ที่ขัดกับวิถีของชุมชนชาวจีน รวมถึงต้องสลับบทบาทไปช่วยหาเจ้าบ่าวให้แม่ตามธรรมเนียมจีน เพราะแม่ดันพลาดท้องแต่ไม่ยอมบอกว่าท้องกับใคร
ผู้กำกับอย่าง ‘Alice Wu’ ถ่ายทอดเรื่องราวและวิธีคิดของชาวจีนอพยพออกมาได้อย่างดี ถึงเรื่องราวจะไม่ได้หวือหวาหรือดราม่านัก แต่ก็ชวนให้ติดตามการต่อสู้ภายในจิตใจของ Wil ที่ต้องเลือกระหว่างสาวนักเต้นคนรัก หรือชื่อเสียงของครอบครัว แม้ที่จริงเธอจะรู้ดีว่าเธอเลือกได้ทั้งสองอย่าง ขอเพียงแค่เธอกล้าพอเท่านั้นเอง
I Can’t Think Straight (2008)
คำเตือน: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีบทสนทนาแสดงความเกลียดชังทางศาสนาและเชื้อชาติ
ว่ากันว่าศาสนาและการเมืองทำให้คนสองคนทะเลาะกันได้ เช่นเดียวกับการพบกันครั้งแรกของ ‘Tala’ (แสดงโดย Lisa Ray) สาวชาวปาเลสไตน์ที่เติบโตในจอร์แดน แต่ย้ายมาทำธุรกิจในอังกฤษ และ ‘Leyla’ (แสดงโดย Sheetal Sheth) สาวชาวอินเดียในอังกฤษ ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน บทสนทนาของเรื่องนี้ดำเนินไปพร้อมกับการแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งเรื่องศาสนา การมีอยู่ของพระเจ้า ความเชื่อ และเชื้อชาติ แต่ท้ายที่สุดพวกเธอก็ทำความเข้าใจกับความคิดของอีกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม แค่เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กันเพียงเท่านั้น
เมื่อรู้จักกันมากขึ้นเรื่อยๆ Leyla นำนิยายที่เธอแต่งมาให้อีกฝ่ายลองอ่าน และ Tala เองก็เปิดใจเล่าถึงสาเหตุที่เธอถอนหมั้นหนุ่มคู่หมั้นไปกว่า 3 คน พวกเธอไปเดินเล่นกันที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) และเหมือนว่าความโรแมนติกของสถานที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เดินหน้าต่อไป ภายใต้กำแพงของสังคมบ้านเกิดที่ขัดขวางอยู่
“I want to be with someone who ten years from now, still makes my heart jump when I hear her key in the door. And that someone is you.”
“ฉันอยากอยู่กับใครสักคน ที่อีก 10 ปีต่อจากนี้ ก็ยังทำให้ใจฉันเต้นแรงทุกครั้งที่ได้ยินเสียงไขกุญแจประตู และใครคนนั้นก็คือเธอนะ”
Leyla บอกกับ Tala เช่นนั้น ในขณะที่งานแต่งของ Tala กับคู่หมั้นคนที่ 4 กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
ผลงานการกำกับภาพยนตร์ของ ‘Shamim Sarif’ เรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมลุ้นว่าในดินแดนตะวันตกแห่งนี้ พวกเธอจะก้าวข้ามกฎเกณฑ์ของสังคมบ้านเกิดอันห่างไกลได้อย่างไร
เสน่ห์จุดหนึ่งของเรื่องนี้คือคาแรคเตอร์ของนางเอกทั้งสองคนที่ค่อนข้างตรงข้ามกัน เห็นได้จาก Tala ที่ดูมั่นใจและหัวสมัยใหม่ ทำให้เวลาที่อยู่ด้วยกัน Leyla จึงดูประหม่ามากกว่า แต่พอถึงเวลาที่ต้องบอกความจริงกับครอบครัว Leyla กลับเป็นฝ่ายที่กล้าพูดคำว่า “I’m gay.” ออกมาก่อนซะอย่างนั้น
The Handmaiden (2017)
คำเตือน: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย คำอนาจาร ฉากเปลือย และเพศสัมพันธ์
ภายใต้การออกแบบภาพที่สวยงาม อันเป็นผลงานการกำกับของ ‘Park Chan-wook’ เรื่องนี้ กลับซ่อนเรื่องราวไว้มากมาย และในทางเดียวกัน ภายใต้เปลือกนอกอันดูไร้เดียงสาของ ‘Hideko’ (แสดงโดย Kim Min-hee) นายหญิงชาวญี่ปุ่นก็ซ่อนความลับมากมายไว้เช่นกัน เพราะเธอถูกลุงเขยสอนให้อ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก ทว่าหนังสือที่เธออ่านนั้นไม่ใช่หนังสือธรรมดา แต่เป็นหนังสือ ‘อย่างว่า’ ที่บรรดาชายชั้นสูงต่างเข้ามาฟังเพื่อนั่งตัวเกร็งกันเป็นแถบ
กระทั่ง ‘Sook-hee’ (แสดงโดย Kim Tae-ri) คนใช้ชาวเกาหลีคนใหม่เข้ามา โดยที่เธอไม่รู้เลยว่าตนเองเป็นหมากตัวสำคัญของแผนการหนีออกจากบ้านของ Hideko ตามกลเกมของชายสิบแปดมงกุฎที่เข้ามาวางแผนและแสดงเป็นคู่หมั้นกำมะลอให้เธอแลกกับสมบัติ แต่แล้วแผนการก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อความสัมพันธ์อันดีก่อตัวขึ้นระหว่างนายหญิงและสาวใช้ ทั้งในฐานะเพื่อนที่ให้คำปรึกษาและเพื่อนร่วมเตียง
“Even if I say I don’t love him, if I say that I love someone else…
“Me, who has no one on this earth…Do you still want me to marry him?”
“You will love him.”
“ถ้าฉันบอกว่าไม่ได้รักเขา ถ้าฉันบอกว่าฉันรักคนอื่น…
“ฉัน คนที่ไม่มีใครให้พึ่งพาเลย…เธอยังจะอยากให้ฉันแต่งงานกับเขาอยู่ไหม”
“นายหญิงจะรักเขาค่ะ”
Hideko ถาม Sook-hee เช่นนั้น ก่อน Sook-hee จะพบว่าที่จริงแล้วเธอก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการเช่นกัน จุดหักมุมของเรื่องจึงเกิดขึ้น จนน่าติดตามว่า Hideko จะหนีจากลุงเขยและบ้านชวนขนลุกนี้ได้ไหม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะออกแบบฉากได้สวยงามสมกับเป็นหนังของ Park Chan-wook แล้ว ยังออกแบบฉาก ‘อย่างว่า’ ให้สวยงามและมีความอีโรติกไปพร้อมๆ กันได้อย่างลงตัว ที่แม้จะดูโจ่งแจ้งในที่ลับไปเสียหน่อย แต่ถ้ามองในฐานะงานศิลปะ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานที่หาตัวเปรียบได้ยากเลยทีเดียว
.
สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะสังเกตได้จากตัวละครในทั้ง 4 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Bette และกลุ่มเพื่อนเลสเบียนในเมืองใหญ่, Wil และ Vivian ที่เติบโตมาในชุมชนชาวจีน, Leyla และ Tala ที่ต้องก้าวข้ามกำแพงของสังคมบ้านเกิด รวมถึง Hideko และ Sook-hee ที่ต้องหนีจากบ้านอันเต็มไปด้วยตัณหา ต่างมีจุดร่วมกันจุดหนึ่งคือ พวกเธอไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง หรืออย่างน้อยนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เหล่าผู้กำกับต้องการนำเสนอ พวกเธอต่างใช้ชีวิตของตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าสังคมจะรับรู้หรือยอมรับการมีอยู่ของพวกเธอด้วย
น่าเสียดายที่ซีรีส์และภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องนั้นหาดูได้ยาก เพราะสตรีมมิ่งในไทยไม่นำเข้ามาฉาย ยิ่งฉายผ่านสื่อโทรทัศน์ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะกองเซ็นเซอร์คงต้องทำงานกันหนัก ทั้งเบลอภาพและดูดเสียง จนอาจดูไม่รู้เรื่องและฟังไม่รู้ความเลยก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี เมื่อหันกลับมามองที่ไทย นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการผลิตและพูดถึงสื่อเลสเบียนมากกว่าแต่ก่อน ยอมรับถึงการมีอยู่ของเลสเบียน และไม่นำเสนอตอนจบที่น่าเศร้า ทำให้นางเอกของเราไม่ต้องเพียงเลิกราหรือตายจากกันเหมือนก่อน
แต่คงต้องยอมรับว่าบริบทของวัฒนธรรมและ ‘ศีลธรรมอันดี’ ก็ยังเป็นปัจจัยด่านหนึ่งที่ทำให้สื่อเลสเบียนไทยไม่ถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมาเท่าสื่อตะวันตก ความหลากหลายและประเด็นที่มีอยู่จำกัดจึงถูกนำมาใช้ซ้ำและ ‘ฉายซ้ำ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้