เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง
การเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิกตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำให้ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาคริสต์อยู่บ่อยครั้ง ฉันจึงรู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมนตร์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสียงสวดภาวนา เสียงขับขานบทเพลงประกอบพิธี หรือแสงสะท้อนจากกระจกสีที่ตกแต่งอยู่รอบตัวโบสถ์ก็ตาม
ทว่าสิ่งที่เป็นดังจุดศูนย์รวมจิตใจของผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากบาทหลวงในชุดเสื้อคลุมสีขาวสะอาดตาผู้ยืนประกอบพิธีกรรมอยู่เบื้องหลังแท่นบูชาอันศักดิ์สิทธิ์
นั่นคือภาพของศาสนาคริสต์ที่ฉันมองเห็นมาโดยตลอด จนกระทั่งได้พบเจอกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งมักจะลุกขึ้นยืนหรือนั่งลงด้วยท่าทางสำรวมสงบนิ่งตามคำบอกของบาทหลวง แต่เธอไม่เคยพนมมือสวดภาวนาหรือร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเหมือนคนอื่นๆ ในโบสถ์ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเป็นคริสเตียน หรือก็คือผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
.
“และต่อมา ก่อนที่เขาร้องเรียก เราจะตอบ ขณะที่เขายังพูดอยู่ เราจะฟัง” (อิสยาห์ 65:24)
เท่าที่ได้เรียนรู้มา ชาวคริสเตียนเชื่อว่าพวกเขาสามารถอธิษฐานพูดคุยกับพระเจ้าได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อกลางอื่นใด ดังนั้นศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์จึงไม่มีพระสันตะปาปาหรือบาทหลวง ผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
แต่ถ้าหากไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างพระสันตะปาปาหรือบาทหลวง ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์จะสามารถดำรงอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานเช่นนี้ได้อย่างไร
“ศิษยาภิบาลไง” นั่นคือคำตอบของเพื่อนผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกของคริสตจักรไมตรีจิต คริสตจักรของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
“ศิษยาภิบาลเป็นคนสำคัญที่ช่วยจัดการทุกอย่างในโบสถ์ คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้คิดถึงเท่าไร แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้ที่นำทางให้สมาชิกไปในทิศทางที่ควรไป แล้วก็เป็นคนคอยจัดการทุกอย่างเบื้องหลัง เขารู้ว่าตัวเองสำคัญ แต่ด้วยความเป็นคริสเตียน เขาถือว่าทุกสิ่งที่ทำคือเพื่อถวายพระเจ้า เขาเลยคิดว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ แต่สำหรับสมาชิกอย่างเราแล้ว มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก”
เธอยังเล่าด้วยว่า ศิษยาภิบาลมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์อย่างมาก เพราะเป็นทั้งนักเทศนา รวมถึงเป็นคนประกาศเรื่องราวของพระเจ้าให้ผู้ที่ยังไม่ได้นับถือได้รับรู้รับฟัง
“ถ้าหากไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาล ก็อาจจะไม่มีสมาชิกที่เข้ามาเชื่อในพระเจ้า คริสตจักรอาจจะอยู่มาไม่ถึงปัจจุบันเลยด้วยซ้ำ” และนั่นก็คือเหตุผลที่ฉันตัดสินใจมาสัมภาษณ์ ‘เมษ – ศิลา เศรษฐ์โสภณกุล’ อายุ 32 ปี ศิษยาภิบาล ณ คริสตจักรไมตรีจิต
.
“แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราทั้งในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กิจการ 1:8)
จากเว็บไซต์ของทางคริสตจักรไมตรีจิตระบุว่า สถานที่แห่งนี้เป็นคริสตจักรของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์นิกายแบปทิสต์ (หนึ่งในนิกายย่อยของโปรเตนแตนต์) แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ได้รับการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1833 ผ่านทางศาสนาจารย์จอห์น เทย์เลอร์ โจนส์ และภรรยา หนึ่งในคณะมิชชันนารีอเมริกันแบปทิสต์ ผู้เดินทางเผยแผ่ศาสนาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
เมษเล่าให้ฟังว่า อันที่จริงแล้ว เป้าประสงค์แรกของคณะมิชชันนารีนี้คือการประกาศศาสนาไปจนถึง ‘สุดปลายแผ่นดินโลก’ ซึ่งคำว่า ‘สุดปลายแผ่นดินโลก’ ตามความเข้าใจของชาวอเมริกันขณะนั้นหมายถึงประเทศจีน ทว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีนได้เพราะความเข้มงวดของระบอบการปกครอง จึงเดินทางลงมาทิศใต้และเข้ามายังประเทศไทยแทน
อย่างไรก็ตาม ทางราชการของประเทศไทยไม่อนุญาตให้คณะมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาใหม่ให้ชาวไทยในช่วงเวลานั้น เพราะเกรงว่าจะเบียดบังความเชื่อในพระพุทธศาสนาของคนไทย ศาสนาจารย์โจนส์จึงทำได้เพียงประกาศพระกิตติคุณของพระเจ้าให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยภายหลังก็มีการส่งศาสนาจารย์เข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงมีจำนวนสมาชิกผู้ศรัทธามากขึ้นด้วย ทางคณะมิชชันนารีอเมริกันแบปทิสต์จึงได้ทำการสถาปนา ‘คริสตจักรวัดเกาะ’ ขึ้นในปี ค.ศ. 1837 ณ บริเวณตรอกข้าวสาร ถนนสำเพ็ง
ทว่าเพราะแหล่งที่ตั้งของคริสตจักรวัดเกาะนี้อาจจะไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นชุมชนที่มีการค้าขาย ทำให้มีผู้คนพลุกพล่านและส่งเสียงดังตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นยามเช้าหรือค่ำคืน อีกทั้งสมาชิกผู้ศรัทธาในพระเจ้าก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1931 ทางคริสตจักรก็ได้ย้ายสถานที่ไปบริเวณถนนไมตรีจิต ใกล้กับ ‘วงเวียน 22 กรกฎาคม’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘คริสตจักรไมตรีจิต’ ในปัจจุบัน
.
จงวางใจในพระเยโฮวาห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความเข้าใจของตนเอง (สุภาษิต 3:5)
สำหรับเมษที่เป็นคริสเตียนแล้ว การอธิษฐานพูดคุย หรือการได้รับสัญญาณบางอย่างจากพระเจ้าเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ไม่ใช่เรื่องวิเศษหรือแปลกประหลาดแต่อย่างใด รวมถึงในตอนที่พระเจ้าเรียกให้เขาไปทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลด้วยเช่นกัน
“อาชีพศิษยาภิบาลเป็นอาชีพที่ค่อนข้างประหลาดตรงที่ว่า…เราเลือกทำเองไม่ได้” เมษเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม “คือคนที่จะมาเป็นศิษยาภิบาลได้ ต้องเป็นคนที่ถูกพระเจ้าเรียกเท่านั้นครับ”
ก่อนที่เมษจะมาเป็นศิษยาภิบาล เขาเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรีจาก ACC School of Commerce หรือศูนย์การศึกษาภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ซึ่งเรียนเกี่ยวข้องกับการบริการธุรกิจ โดยที่เขาตั้งมั่นว่าเขาจะออกมาทำธุรกิจเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงนำเงินไปถวายให้กับคริสตจักร แต่เมื่อเรียนจบแล้ว เมษไม่ได้ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่ใดและมาช่วยงานที่คริสตจักรแทน
จนกระทั่งพระเจ้าทรง ‘เปิดประตู’ เผยเส้นทางชีวิตให้ เมษจึงมีโอกาสเข้าทำงานเป็นครูสอนวิชาดนตรีและพระคัมภีร์ให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนคริสเตียนแห่งหนึ่ง
เมษมีความสุขกับการทำงานนี้มาก เพราะเขามีโอกาสเข้าไปอยู่และสอนให้เด็กๆ มีความรู้ รวมถึงยังได้ช่วยเหลือคนที่มีปัญหาครอบครัวด้วย ทว่าชีวิตอันแสนสุขใจของเขาก็ต้องชะงัก เมื่อพระเจ้าบอกให้เขาลาออกจากการเป็นครูหลังจากทำงานไปได้เพียงหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น
“เรายังมีใจกับเด็กเหล่านั้นอยู่เลย แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองอยากใช้เวลาอยู่สอนเด็กๆ เหล่านั้น แต่ว่าพระเจ้าให้ออกกะทันหัน เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงแม้ใจจะยังอยากทำอยู่ แต่ถ้าพระเจ้าให้ออก เราก็จะเชื่อมั่นในพระเจ้าครับ” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
หลังจากที่ลาออกจากงานการสอนได้สองสัปดาห์ เมษมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมงานอบรมเกี่ยวกับ ‘Church Music’ หรือ ‘ดนตรีคริสตจักร’ ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดสอนโดยตรงในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และเมื่อเวลาผ่านไปอีกเพียงสองสัปดาห์ เขามีโอกาสได้เจอกับอาจารย์คนหนึ่งที่เดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาเยือนคริสตจักรไมตรีจิต และกำลังอยากมอบทุนการศึกษาให้ใครสักคน ซึ่งถ้าหากเมษคิดจะไปเรียนต่อ อาจารย์คนนี้ก็ยินดีจะมอบทุนให้
ในตอนนั้นเมษไม่มั่นใจว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคือการที่พระเจ้าทรงเปิดประตูมอบทางเลือกในชีวิตให้อีกครั้งหรือเป็นสิ่งที่เขาหลงคิดไปเอง เขาจึงอธิษฐานพูดคุยกับพระเจ้าว่า ถ้าหากพระเจ้าต้องการให้ไปเรียนต่อ ก็อยากให้พระเจ้าช่วยยืนยันว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็น ‘การเรียก’ จากพระองค์จริงๆ
.
เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วพระเยซูตรัสกับซีโมนเปโตรว่า “ซีโมนบุตรชายโยนาห์เอ๋ย ท่านรักเรามากกว่าพวกเหล่านี้หรือ” เขาทูลตอบพระองค์ว่า “ถูกแล้ว พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพระองค์รักพระองค์” พระองค์ตรัสสั่งเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:15)
จากพระวาจาของพระเจ้าดังกล่าว ‘เปโตร’ ซึ่งในภาษาดั้งเดิมคือ ‘Petros’ แปลว่า หิน เช่นเดียวกับคำว่า ‘ศิลา’ อันเป็นชื่อจริงของเมษที่มีความหมายว่า หิน เช่นกัน
“พระเจ้าเรียกเราผ่านพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่กล่าวว่า ‘จงเลี้ยงแกะของเรา’ ซึ่งในภาษาของคริสเตียนแล้ว แกะเปรียบเสมือนสมาชิกของคริสตจักร การที่พระเจ้าบอกว่าอยากให้เราเลี้ยงแกะ ก็คือพระองค์อยากให้เราเลี้ยงดูสมาชิก” เมษอธิบายวิธีการที่พระเจ้าเรียกเขามาช่วย ‘ดูแลแกะ’ ในฐานะศิษยาภิบาล ผ่านการอ่านพระคัมภีร์
แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ใครก็ตามที่จะเป็นศิษยาภิบาล จำเป็นต้องเรียนจบใบปริญญาด้านศาสนศาสตร์เสียก่อน ด้วยการชี้ทางและความช่วยเหลือจากพระเจ้า เมษจึงตัดสินใจเลือกสมัครเข้าเรียนคณะ Church Music ของ Singapore Bible College (SBC) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคณะที่เรียนทั้งทางด้านดนตรีไปพร้อมกับการเรียนพระคัมภีร์ ทว่าความยากลำบากของเส้นทางการเป็นศิษยาภิบาลนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนที่เมษต้องกรอกใบสมัครของทาง SBC
“มันต้องกรอกใบสมัคร ต้องเขียนว่ามาเชื่อพระเจ้าได้ยังไง 3 หน้า ต้องเขียนว่าพระเจ้าเรียกยังไง 3-4 หน้า เขียนว่าทำไมถึงเลือกโรงเรียนนี้ ต้องเขียนประวัติชีวิตตัวเอง แล้วก็มีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างการให้อาจารย์รับรองความประพฤติในโบสถ์ของเรา ต้องขอใบวีซ่าที่เรียกว่า ‘Student Pass’ เพื่อเข้าเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ ต้องตรวจสุขภาพ คือมันเยอะมากเลย”
นอกจากนี้ เมษยังต้องสอบวัดระดับทางด้านดนตรีขั้นสูงที่สุดทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติของ ABRSM (The Associated Board of the Royal Schools of Music) ซึ่งเป็นสถาบันสอบด้านดนตรีที่มีมาตรฐานที่สุดในปัจจุบัน รวมถึงเขาต้องสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ IELTS (The International English Language Testing System) ที่เป็นการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างด้วย
เมษเล่าว่า ด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ทำให้มีเวลาฝึกซ้อมและติวข้อสอบเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เขาจึงไม่มั่นใจเลยว่าจะสามารถผ่านแบบทดสอบทุกอย่างได้ ในทุกครั้งที่สอบวัดระดับเสร็จ เมษจึงอธิษฐานพูดคุยกับพระเจ้าว่า “ถ้าพระเจ้าไม่ได้อยากให้ไป ก็ไม่ต้องให้สอบผ่าน จะได้ไม่ต้องไปสิงคโปร์”
แต่สุดท้ายแล้วคะแนนของแบบทดสอบทุกอย่างของเขาก็ผ่านเกณฑ์ไปได้ด้วยดี
ทว่าอุปสรรคยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่ยากที่สุดในการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศของเมษก็คือการขอทุน เนื่องจากพ่อแม่ของเขาเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป จึงไม่มีเงินมากเพียงพอจะส่งให้เขาไปเรียนต่อ เมษต้องทำเรื่องเพื่อขอทุนจากทางมหาวิทยาลัย โดยระบุว่าเขามีเพียงเงินทุนสนับสนุนจากทางอาจารย์ที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
หลังจากนั้นเมษก็อธิษฐานพูดคุยกับพระเจ้าอีกครั้งว่า ถ้าหากพระเจ้าไม่มอบทุนให้แก่เขา เขาก็ไม่สามารถไปเรียนได้ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้รับเงินทุนการศึกษาในที่สุด ซึ่งหากรวมทุนของทางมหาวิทยาลัยกับทุนของอาจารย์ผู้นั้นเข้าด้วยกัน มันก็เป็นจำนวนเงินมากเพียงพอให้เมษสามารถบินข้ามฟ้าไปเรียนที่ SBC ได้
อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากบนเส้นทางการเป็นศิษยาภิบาลของเมษยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อเขาต้องพบเจอกับเนื้อหาการเรียนที่ยากเกินความสามารถของตัวเอง ซึ่งทุกครั้งที่เขาผ่านพ้นบทเรียนในแต่ละเทอมมาได้ เขาก็กล่าวขอบคุณพระเจ้าที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือเขาอยู่เสมอ หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่ยากที่สุดอย่างการทำโปรเจ็กต์จบการศึกษาในระดับชั้นปีที่ 4 เมษเคยคิดจะจบชีวิตตัวเองเพราะเขาไม่สามารถทนต่อไปได้ แต่ก็เป็นพระเจ้าอีกเช่นกันที่ห้ามเขาเอาไว้
“ชีวิตมัน…มันไม่ได้ง่ายเลย” เมษถอนหายใจเมื่อคิดถึงช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทนในอดีต “พระเจ้าเรียกไปก็จริง แต่พระเจ้าไม่ได้เรียกให้เราไปทางสบาย จริงๆ แล้วมันขัดกับสิ่งที่อยากจะทำด้วย แต่สุดท้าย เราก็ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้ผ่านมาได้”
เมื่อเมษจบการศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ เขาก็เดินทางกลับมายังเมืองไทย และทางคริสตจักรไมตรีจิตเรียกให้เขาเข้าไปทำงานเป็นศิษยาภิบาล
“เรารู้สึกได้เลยว่าพระเจ้าเป็นคนทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น แล้วก็เป็นพระองค์อีกเช่นกันที่เรียกให้เรากลับมาอยู่ที่คริสตจักรนี้” เมษเอ่ยด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น
.
จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่กับท่าน จงเอาใจใส่ดูแล ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ด้วยการเห็นแก่ทรัพย์สิ่งของอันเป็นมลทิน แต่ด้วยใจพร้อม (1 เปโตร 5:2)
การ ‘เลี้ยงฝูงแกะ’ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของศิษยาภิบาล เมษได้อธิบายวิธีการดูแลสมาชิกผู้ศรัทธาในคริสตจักรไว้ว่า เขาจำเป็นต้องดูแลทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณของเหล่าสมาชิก
ทางด้านกาย ศิษยาภิบาลจะช่วยดูแลให้สมาชิกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยทางคริสตจักรเปิดพื้นที่ให้เหล่าสมาชิกได้มาเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมร่วมกัน คอยตระเตรียมอาหารไว้ให้สมาชิกที่เข้ามารับประทาน รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมเยียนสมาชิกที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาคริสตจักรค่อนข้างลำบาก
“เราคิดถึงพวกผู้อาวุโสหรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียงหรือคนที่เขาเดินทางมาลำบาก แทนที่เราจะให้เขามาคริสตจักร เราก็เอาคริสตจักรไปหาเขาแทน”
ทางด้านใจ ศิษยาภิบาลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะแนวทางในการดำเนินชีวิต ถ้าหากสมาชิกคนใดรู้สึกโศกเศร้าเสียใจก็สามารถเข้ามาพูดคุยกับพวกเขาได้ ส่วนทางด้านจิตวิญญาณ ศิษยาภิบาลก็จะคอยถามไถ่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับพระเจ้าว่า มีการได้พูดคุยกับพระเจ้าบ้างหรือไม่ กระทั่งตอนนี้รู้สึกสนิทใจกับพระเจ้าเช่นเดิมหรือเปล่า
นอกเหนือจากการดูแลเหล่าสมาชิกรายบุคคลแล้ว ศิษยาภิบาลยังต้องทำงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเทศนาและการนมัสการด้วยเช่นกัน เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เดินทางมายังคริสตจักรไมตรีจิตเพื่อฟังคำเทศนาและร่วมกันนมัสการแด่พระเจ้าในวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์
เมษอธิบายให้ฟังว่า ศิษยาภิบาลใช้เวลาในวันธรรมดาสำหรับการเตรียมเทศนา เพราะการเทศนาในแต่ละสัปดาห์จะไม่เหมือนกัน โดยจะมีการวางแผนล่วงหน้ารายปีว่าใครจะเทศน์เรื่องอะไรบ้าง ดังนั้นต่อให้ผู้เทศนาจะหยิบยกเรื่องราวเรื่องเดียวกันจากพระคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในการเทศน์ ถ้อยคำและประเด็นหลักที่พวกเขาสอนก็จะไม่เหมือนกันอยู่ดี
ส่วนการนมัสการนั้น เมษกล่าวว่าอันที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ทุกวัน เนื่องจากชาวคริสเตียนเชื่อว่า การนมัสการเปรียบเสมือนการตอบแทนคืนแก่พระเจ้าผ่านการทำอะไรสักอย่างด้วยใจจริง
“เพราะพระเจ้าเป็นพระเจ้า พระเจ้ายิ่งใหญ่ พระเจ้ารัก พระเจ้าส่งพระเยซูลงมาไถ่บาปให้กับมนุษย์ พระเจ้าทำทุกอย่างเลย เราไม่มีทางคืนพระเจ้าได้หมด” เมษเอ่ยด้วยน้ำเสียงจริงจัง “แต่อย่างน้อยการมานมัสการพระเจ้าทุกวันอาทิตย์ก็ถือว่าเป็นการคืนพระเจ้าแล้วครับ รวมถึงการร้องเพลง การถวายทรัพย์ หรือการตั้งใจทำงานอะไรสักอย่างก็นับว่าเป็นการคืนพระเจ้าเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม เมษบอกว่า การนมัสการพระเจ้าในวันธรรมดาทั่วไปก็เปรียบเสมือนการสื่อสารกับพระเจ้าเพียงลำพัง ทว่าในวันอาทิตย์ การนมัสการจะไม่ได้มีเพียงแค่ตัวผู้นมัสการกับพระเจ้าเท่านั้น เพราะยังมีชาวคริสเตียนที่มาร่วมกันนมัสการแด่พระเจ้าด้วย ดังนั้นจึงสามารถ ‘คืน’ ให้กับเพื่อนรอบตัวได้ด้วยเช่นกัน
“เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ครับ มนุษย์มีวันที่อ่อนแอ มีวันที่เรารู้สึกไม่อยากนมัสการพระเจ้าเลยอะไรอย่างนี้ครับ เราก็เลยต้องทำหน้าที่คอยช่วยพยุงเพื่อนขึ้นมา”
ไม่ใช่เพียงการเป็นผู้นำในการเทศนาและนมัสการเท่านั้น หน้าที่ของศิษยาภิบาลยังรวมไปถึงการสอนพระคัมภีร์ให้กับสมาชิกและคนนอกที่สนใจศึกษาด้วยเช่นกัน โดยเมษเล่าให้ฟังว่า การสอนพระคัมภีร์นั้นจะเป็นการชวนให้มานั่งพูดคุยร่วมกัน พร้อมตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นของแต่ละคน เช่น คิดอย่างไรกับพระคัมภีร์บทนี้ เรื่องราวในนี้สอนอะไรให้กับเรา หรือพระเจ้ากำลังต้องการจะบอกอะไรกับเรา
“เอาจริงๆ นะครับ คัมภีร์เล่มนี้” เมษหยิบพระคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาถือไว้ในมือ “เป็นหนังสือที่เราอ่านได้ตลอดชีวิต เวลาอ่านแต่ละรอบมันไม่เหมือนกัน เพราะว่าพระเจ้าบอกเราไม่เหมือนกัน ถามว่ามือมนุษย์เขียนไหม ก็คือมือมนุษย์เขียน แต่พระเจ้าใช้มือมนุษย์ในการเขียน ดังนั้นข้อความในคัมภีร์จึงมาจากพระเจ้า คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหรือแม้แต่ในอนาคตก็จะสามารถอ่านคัมภีร์เล่มนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าอ่านแล้วจบไป”
การเผยแผ่ศาสนาให้ไปถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ด้านนอกคริสตจักรได้ก็ยังเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของเหล่าศิษยาภิบาลเช่นกัน ซึ่งเมษเรียกหน้าที่นี้ว่า ‘การประกาศความเชื่อ’ โดยพวกเขาจะลงไปที่ชุมชนใดสักชุมชนหนึ่ง เข้าไปอยู่ร่วมกับคนในชุมชนเพื่อให้ผู้คนในบริเวณนั้นรู้จักเสียก่อน และเมื่อผู้คนเริ่มสนิทใจ ผู้ประกาศความเชื่อก็จะลองถามเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้า หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคนในชุมชน เผื่อว่าพวกเขาจะรู้สึกสนใจในพระเจ้า
“ไม่สนใจก็ไม่เป็นไร เพราะเราเชื่อว่าคนที่จะมาเป็นคริสเตียนคือคนที่พระเจ้าพูดกับเขาให้เขาเชื่อ เพราะเราไม่มีทางเอาอาวุธไปข่มขู่ให้เขามาเป็นคริสเตียนได้” เมษเล่าพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ “ถ้าปากบอกเชื่อแต่ใจไม่เชื่อก็ไม่มีผลอยู่ดี เพราะคริสตจักรของเราขอแค่คนที่เชื่อและพร้อมจะเชื่อจริงๆ เท่านั้น”
เมษให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยว่า การประกาศความเชื่อในประเทศไทยนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่รับเอาความเชื่อจากทุกศาสนามารวมกัน ซึ่งขัดกับหลักของคริสเตียนที่ต้องนับถือในพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
นอกจากนี้ ศิษยาภิบาลยังเป็นผู้ดูแลกิจกรรม ‘การบริการชุมชน’ ในช่วงวันเทศกาลต่างๆ อย่างวันอีสเตอร์ (Easter Day) ซึ่งเป็นวันที่ชาวคริสต์ร่วมระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู หรือเทศกาลคริสต์มาส โดยทางคริสตจักรไมตรีจิตจะเชิญชวนให้ ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ คริสตจักรไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เลี้ยงอาหาร จับฉลากแลกของขวัญ หรือแม้แต่กิจกรรมการบริจาคเลือดที่ทำงานร่วมกับทางโรงพยาบาล รวมถึงยังมีการเปิดคอร์สสอนให้ความรู้ด้านภาษา การปักเย็บ หรือการทำอาหาร โดยคิดราคาค่าใช้จ่ายในราคาที่ถูกกว่าคอร์สเรียนปกติทั่วไป
แม้ว่าหน้าที่ของศิษยาภิบาลจะมีความหลากหลายและเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์นิกายแบปทิสต์ท์ยังคงแพร่หลายอยู่ในประเทศไทย แต่เมษกลับปฏิเสธความคิดเห็นนั้น เนื่องจากเขาเล็งเห็นว่าการที่ศาสนาดำรงอยู่ได้ เกิดขึ้นจากความเชื่อและความศรัทธาของสมาชิกทุกคนในคริสตจักร “สมาชิกทั้งหมดที่อยู่ในคริสตจักรอีก 3,000 คนก็เป็นคนประกาศความเชื่อเหมือนกันครับ คนเหล่านั้นก็เป็นคนที่สอนคัมภีร์เหมือนกัน จริงๆ สมาชิกทำหน้าที่แทบจะเหมือนศิษยาภิบาลได้ทุกอย่าง เพราะศิษยาภิบาลไม่ได้มีตำแหน่งสูงกว่าสมาชิกเลยครับ อันที่จริงแล้ว การมาเป็นศิษยาภิบาลมีตำแหน่งต่ำกว่าสมาชิกด้วยซ้ำ เพราะว่าเราต้องเป็นคนรับใช้สมาชิกในคริสตจักร”
.
จงมอบทางของท่านไว้กับพระเยโฮวาห์ วางใจในพระองค์ และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ (สดุดี 37:5)
การทำงานเป็นศิษยาภิบาลเหนื่อยมากไหม
ด้วยเนื้องานที่เยอะและขอบเขตการทำงานที่กว้างขวาง อีกทั้งยังได้ค่าตอบแทนไม่สูง เพราะเงินเดือนของศิษยาภิบาลในประเทศไทยเทียบเท่ากับอาชีพครู จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าหากเมษจะตอบว่าการทำงานตรงนี้ทั้งหนักและเหนื่อยเพียงใด ทว่าสิ่งที่เขาพูดมีเพียงว่า
“เยอะครับ เหนื่อยครับ มีความสุขครับ” หลังจากนั้นเขาก็หัวเราะออกมาอย่างสุขใจ
ถึงอย่างไรอาชีพที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมากอย่างศิษยาภิบาลย่อมมีปัญหาให้พบเจออยู่เป็นประจำ ซึ่งเมษก็ยอมรับว่าความยากของอาชีพนี้คือการประสานงานกับคนทุกรูปแบบ ในบางครั้งเขาเองก็ทะเลาะกับคนที่มีความคิดเห็นหรือวิธีการทำงานที่แตกต่างจากเขา ทว่าเมษก็ตระหนักได้ว่า คนทุกคนย่อมทำบาป คนทุกคนย่อมทำไม่ดี ดังนั้นเขาจึงไม่มีสิทธิ์ไปกล่าวหาว่าคนอื่นเป็นคนไม่ดี โดยที่ตัวเขาเองก็ยังคงเป็นหนึ่งในคนที่ทำบาปอยู่เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วพระเจ้าก็รักทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีข้อแม้ดังเดิม
“เราคิดว่าอาชีพศิษยาภิบาลก็เลยเป็นอาชีพที่คนส่วนมากไม่อยากทำ ที่มาทำเพราะพระเจ้าเรียก” เมษพูดพร้อมรอยยิ้ม “แต่พอเราทำแล้วเรามีความสุขไหม เรามีความสุข เราสนุกกับงานไหม เราสนุกกับงาน การที่เราได้เห็นคนของพระเจ้าเติบโตในเส้นทางของพระเจ้า อันนั้นคือความสุขที่สุดแล้ว หรือการเราได้เห็นเด็กๆ เติบโตขึ้นมาในคริสตจักรแล้วรักพระเจ้า…มันเป็นความสุขที่สุดของศิษยาภิบาลแล้วครับ”
.
ขอให้พระคุณแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
จงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด เอเมน (วิวรณ์ 22:21)
อ้างอิง
- ประวัติศาสตร์คริสตจักร. (มปป). สืบค้นจาก https://www.maitrichitchurch.org/about-us/
- บทอ่านจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาไทย. (มปป). สืบค้นจาก https://www.wordproject.org/bibles/ti/index.htm