เรื่อง : กัญญารัตน์ แป้งหอม
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
ประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2453 ครั้งที่ประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย กระทั่งในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการปกครองแล้ว กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นที่สนใจต่อสาธารณชน โดยในระยะนี้ความสนใจของประชาชนมุ่งไปที่ประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายที่ว่าด้วย การแสดงพฤติกรรมหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ซึ่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ยื่นเสนอชุดร่างกฎหมาย 5 ฉบับต่อรัฐสภาและแถลงว่า “เป็นชุดกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ซึ่งมีหลักการที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทา และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ของสาธารณชน” เพื่อปรับเปลี่ยนให้ข้อกฎหมายมีความเหมาะสม และยังธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อพิจารณากฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบข้อถกเถียงของกฎหมาย ดังเช่นว่า อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปีนั้นเป็นโทษที่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความผิดของประชาชนในฐานหมิ่นประมาท อันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 – 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือขอบข่ายของความผิดที่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์จะต้องมีพฤติกรรมเช่นไร เมื่อเกิดข้อกฎหมายที่ดูไม่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว กระบวนการยุติธรรมตลอดทั้งกระบวนอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเกิดความคิดเห็นว่าควรจะแก้ไขข้อกฎหมายนี้ให้ชัดเจน
เพื่อให้มองเห็นข้อถกเถียงของกฎหมายมาตรานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กรณีการต้องโทษของ นางอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานของรัฐก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นถึงความรุนแรงของโทษ โดยนางอัญชัญเป็นจำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งถูกตัดสินจำคุกกรรมละ 3 ปีจำนวน 29 กรรม รวมเป็น 87 ปี และได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องด้วยรับสารภาพต่อศาล จึงเหลือให้จำคุก 29 ปี 174 เดือน โดยนางอัญชัญต้องโทษในฐานความผิดเรื่องการแชร์คลิปเสียงการวิเคราะห์การเมืองไทยของดีเจคนหนึ่งและถูกจับกุมในปี 2558 ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคดีสะเทือนขวัญกลางปี 2560 ของนางสาวปรียานุช โนนวังชัย หรือ เปรี้ยว และคณะที่ได้ลงมือฆ่าชำแหละชิ้นส่วนนางสาววริศรา กลิ่นจุ้ยแล้วนำศพไปซ่อนเพื่ออำพรางคดี ผู้ลงมือกระทำถูกตัดสินจำคุกคนละ 34 ปี 6 เดือน เป็นเวลาน้อยกว่านางอัญชัญถึง 9 ปี จึงอาจสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินให้จำคุกในคดี ม.112 อาจมีลักษณะที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโทษความผิดในคดีอื่น ๆ
อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงขอบข่ายความผิดที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างคลุมเครือคือ คดีของนางสาวชญาภา โชคพรบุศศรี พนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 หรือกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงออกที่ยุยงให้เกิดความไม่สงบหรือก่อการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเธอถูกจับกุมในฐานเผยแพร่ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อนเพื่อยุติบทบาทของรัฐบาลซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลงบนเฟซบุ๊ก เธอถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 หลังจากนั้นจึงถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กโดยเจ้าหน้าที่ของศาลทหารอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้การตัดสินคดีเป็นการพิจารณาซึ่งไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนที่ศาลทหารกรุงเทพ จึงไม่สามารถทราบรายละเอียดได้ว่าการเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กของจำเลยได้กระทำการกล่าวถึง หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ท้ายที่สุดเธอได้รับโทษจำคุก 7 ปี 30 เดือน ทำให้เห็นว่าการเอาผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 นั้น อาจเกี่ยวเนื่องกับความคลุมเครือของพฤติกรรมซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้อย่างแน่ชัดว่า การกระทำใดเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีมาอย่างยาวนานเพื่อปกป้องเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อข้อกฎหมายมีช่องโหว่ก็ควรได้รับการแก้ไขให้มีความชัดเจนและมีอัตราโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่บุคคลได้กระทำไว้ เพื่อป้องกันการแอบอ้างอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเสนอข้อคิดเห็นโดยชอบธรรมของประชาชนที่มีต่อบ้านเมือง