Art & CultureLifestyleWritings

สวัสดี ฉันชื่อ ‘แมรี่ ซู’: หลบสู่ความฝัน ผ่านตัวละครเก่งเทพ

เรื่อง : นิชดา พูลเพชร
ภาพประกอบ : ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ

เธอสวย เธอเก่ง ดวงตาของเธอส่องประกายระยับราวกับดาวพราวพร่างฟ้า เสื้อผ้าของเธอโดดเด่นกว่าใคร เธอมีพลังเวทเหนือจอมเวทที่เก่งกาจที่สุด เธอเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายหลังสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เธอทำให้ผู้ชายทั้งโลกตกหลุมรักโดยไม่ต้องทำอะไรเลย

เธอคือ ‘แมรี่ ซู’ ประเภทของตัวละครที่หลายคนเกลียด แต่ขณะเดียวกันก็กลับถูกสร้างขึ้นมามากมาย ทั้งในรูปของนางเอกนิยายรักแฟนตาซี ไปจนถึงเจไดคนสุดท้ายอย่างเรย์ สกายวอล์กเกอร์ จากสตาร์วอร์ส

แมรี่ ซูคือใคร?

“โอ้พระเจ้า โอ้ ให้ตาย” แมรี่ ซูคิดคร่ำครวญในขณะที่เธอกำลังก้าวเข้าไปในห้องบังคับการของยานเอนเทอร์ไพรส์

“สวัสดี นี่ฉันเอง เรือโทอายุน้อยที่สุดในกองทัพ – สิบห้าขวบครึ่งเท่านั้น”

นั่นเป็นประโยคเปิดตัวของแฟนฟิก (fanfiction – งานเขียนที่ต่อยอดมาจากเนื้อเรื่องที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเขียนโดยแฟนคลับของเรื่องนั้นๆ ) ชื่อ a trekkie’s tale เป็นแฟนฟิกของซีรีส์แนวไซไฟ star trek เขียนโดยพอลล่า สมิธ ซึ่งตีพิมพ์ใน ‘แฟนซีน’ (fanzine) หรือนิตยสารทำมือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสนใจเฉพาะกลุ่ม ชื่อ menagerie ในปี ค.ศ. 1974 โดยแฟนฟิกเรื่องนี้มีความยาวเพียง 4 ย่อหน้า เนื้อหาเล่าถึงการผจญภัยของเรือโทสาว แมรี่ ซู ผู้ช่วยลูกเรือยานเอนเทอร์ไพรส์จากการจองจำโดยมนุษย์ต่างดาวตัวเขียว ก่อนที่เธอจะตายจากไปด้วยโรคร้ายลึกลับ จนทำให้ลูกเรือเอนเทอร์ไพรส์ที่เหลือต้องหลั่งน้ำตาอย่างไม่อายด้วยความเสียดายใน ‘ความอ่อนเยาว์อันงดงาม และความงามอย่างอ่อนเยาว์’ ของเธอ

พอลล่าให้สัมภาษณ์ในงาน mediawest con* ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2010 ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเขียนแฟนฟิกในตำนานเรื่องนี้ไว้ว่า

“แฟนซีนที่ฉันอ่านมักจะมีแฟนฟิกที่มีพล็อตเหมือนๆ กันอยู่ทุกเล่ม คือ นางเอกของเรื่องต้องเป็นเด็กสาวอายุน้อยที่สุดในกองเรืออวกาศ เธอก้าวขึ้นสู่ยานเอนเทอร์ไพรส์ ลูกเรือทุกคนตกหลุมรักเธอ จากนั้นพวกเขาก็ออกผจญภัยไปด้วยกัน แต่ที่แปลกคือ การผจญภัยทั้งหมดเหมือนโคจรอยู่รอบตัวเธอ คนอื่นๆ ในเรื่องต่างต้องหลีกทางให้ ตัวละครนี้มักจะมีจุดสังเกตแปลกๆ เช่น ผมหรือสีตาที่ผิดธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นลูกครึ่งชาววัลแคน (หนึ่งในเผ่าพันธุ์ต่างดาวจากเรื่อง star trek) เหมือนกับผู้เขียนแฟนฟิกเหล่านี้มีเวลาเขียนแค่ครึ่งชั่วโมงก่อนตีพิมพ์ มันเขียนออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

ในช่วงแรก ชื่อ ‘แมรี่ ซู’ เป็นเพียงมุกตลกเสียดสีแฟนฟิกแนว self-insert หรือแนวที่ผู้เขียนเขียนให้ตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง ภายในกลุ่มแฟนคลับของภาพยนตร์ star trek เท่านั้น แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนทั่วไปมากขึ้นนับตั้งแต่ยุค 90’s บุคลิกของตัวละครอย่าง แมรี่ ซู ก็แพร่หลายจากกลุ่มแฟนคลับสู่วัฒนธรรมกระแสหลักอย่างสมบูรณ์

โดยทั่วไป แมรี่ ซู มักเป็นสาวน้อยผู้แสนจะเพอร์เฟ็กต์ เธอนั้นดีกว่า สวยกว่า และเก่งกว่าตัวละครตัวอื่นๆ ในเรื่องทั้งหมด และความน่ารักน่าหลงใหลนี้เองที่ทำให้เธอกลายเป็นที่รักของทุกๆ คนในเรื่อง กระทั่งฝ่ายตัวร้ายยังต้องยอมรับในความเลิศเลอเหนือใครๆ ของเธอ (ไม่ว่าในสายตาผู้อ่านจะมองว่าอย่างไรก็ตาม)

แมรี่ ซู มักจะแตกต่างตัวละครอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่แปลกไปจากโลกที่อาศัยอยู่ หรือสายเลือดจากเผ่าพันธุ์หายาก นอกจากนี้ ภูมิหลังของเธอมักจะเข้มข้น หลายครั้งหดหู่ชวนเรียกน้ำตา ใครก็ตามที่ได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าวเป็นอันต้องสะเทือนใจและสงสารแมรี่ ซูที่ต้องพบเจอกับโชคชะตาแสนเศร้ากันทุกราย

ไม่ว่าตัวแมรี่ ซูจะมีรูปลักษณ์หรือนิสัยใจคออย่างไรในเรื่อง แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้ชัดว่าตัวละครสักตัวเป็น ‘แมรี่ ซู’ หรือไม่ คือความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวและโลกที่เธออาศัยอยู่ได้ตามแต่ใจ ไม่ว่าอุปสรรคใดก็ไม่เป็นปัญหาหากแมรี่ ซูต้องการให้มันไม่เป็นปัญหา แมรี่ ซูมีพลังมหัศจรรย์ที่สามารถกอบกู้โลกและบันดาลให้ตัวละครที่เธอ (หรือพูดอีกอย่างก็คือตัวผู้เขียน) จิ้นอยู่ สมหวังในความรักได้ภายในพริบตา

เมื่อแมรี่ ซู กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหลีกหนีเข้าสู่ความฝัน

“โลกของนิยายที่ฉันเขียนนั้นเต็มไปด้วยความอ่อนโยนไร้เดียงสา นั่นคือโลกที่ฉันอยากเข้าไปอยู่”

สเตเฟนี เมเยอร์ (stephenie meyer) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ทไวไลท์ (twilight) นวนิยายรักแฟนตาซีที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าของเธอว่าเพราะนิยายรักที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดเต็มไปด้วยความลามกและหยาบโลน สำหรับเธอ ทไวไลท์จึงเป็นการหลีกหนีจากความลามกโสมมบนโลกช้ำๆ ใบนี้

ในมุมมองคนนอก อาจมองว่า ความอ่อนโยนไร้เดียงสาที่เธอพูดถึง ช่างห่างไกลจากภาพแวมไพร์นิสัยพิลึกที่มักแอบเข้าห้องนอนผู้หญิงเพื่อมองดูเธอนอนหลับ อย่างเอ็ดเวิร์ด คัลเลนเหลือเกิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จินตนาการของสเตเฟนี่ ได้กลายเป็นเครื่องมือในการหลบหนีจากโลกจริงอันแสนน่าเบื่อสำหรับแฟนคลับนับล้านคนทั่วโลก ให้พวกเขาได้เข้าไปสัมผัสโลกเสมือนอันสวยงามที่ตนเองสามารถสวมบทเป็น เบลล่า สวอน นางเอกของเรื่อง เพื่อออกผจญภัยและออกเดตกับแวมไพร์หรือมนุษย์หมาป่าผู้เลิศเลอกว่าผู้ชายในโลกความจริงเป็นไหนๆ

หลายครั้ง แมรี่ ซูมักจะเป็นตัวตายตัวแทนของผู้เขียน (ซึ่งมีภาพจำว่าจะต้องเป็นผู้หญิง) ตัวละครที่เข้าข่ายเป็นแมรี่ ซูมักจะมีชื่อเหมือนผู้เขียนเอง หรือชื่อที่ผู้เขียนชอบ เธอมักจะมีนิสัย ท่าทาง รูปร่างลักษณะคล้ายหรือเหมือนตัวผู้เขียนในเวอร์ชันที่ดีกว่า บ่อยครั้งแมรี่ ซูถูกใช้เป็นเครื่องสนองความต้องการของผู้เขียนที่อยากเห็นตัวเองออกผจญภัยและสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครตัวโปรดของตัวเอง

หากพูดถึงการใช้แมรี่ ซูเพื่อหลบหนีจากความเป็นจริง การไม่พูดถึงวรรณกรรมคลาสสิกจากอิตาลีอย่าง divine comedy ก็คงเป็นเรื่องแปลก โดยดันเต อาลีกีเอรี ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษประพันธ์มหากาพย์เรื่องนี้ขึ้นขณะที่ตนเองถูกเนรเทศจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีบ้านเกิด

ในยุคที่กลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้ามยึดครองอำนาจไว้ได้ ในบทกวี ดันเต (ตัวละคร) ผู้อ่อนแอและถูกไล่ล่าจากสัตว์ป่าและบาปกรรม ถูกช่วยไว้โดยเวอร์จิล กวีสมัยโรมันผู้เป็นไอดอลของ ดันเต (ผู้เขียน) ทั้งสองได้ออกผจญภัยไปในนรก แดนชำระ และท้ายสุดที่สรวงสวรรค์ ดันเตผู้เขียนจินตนาการภาพตนเองอยู่เคียงข้างเวอร์จิลและหญิงสาวในฝันของตนอย่างเบียทริสผ่านบทกวี และเขาก็ยังเขียนบทให้นักบุญเปโตร ออกปากด่าพระสันตะปาปาที่เขาเกลียดอย่างออกนอกหน้า

ดังนั้น หากจะนับว่า divine comedy เป็นแฟนฟิกคัมภีร์ไบเบิลเวอร์ชันเสียดสีสังคมสมัยนั้น ก็คงไม่ผิดนัก

ความหมายของ ‘แมรี่ ซู’ ที่เปลี่ยนไป

มาถึงตรงนี้ ถ้าคุณเกิดความรู้สึก ‘หมั่นไส้’ ในความสุดแสนจะเพอร์เฟ็กต์ของแมรี่ ซู คุณไม่ได้คิดไปเองคนเดียว

นับตั้งแต่พอลล่า สมิธตีพิมพ์แฟนฟิกขนาดสั้นของเธอราว 50 ปีก่อน แมรี่ ซูกลายเป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านต่างร้อง ‘อี๋’ เมื่อเจอ นั่นเป็นเพราะหลายคนเกิดภาพจำว่า ‘แมรี่ ซู’ มักจะถูกเขียนโดยผู้เขียนผู้หญิง ที่ขาดประสบการณ์ทั้งในด้านการเขียนและการใช้ชีวิต เหมือนอย่างนักเขียนแฟนฟิกประเภทที่พอลล่า สมิธพูดถึงในบทสัมภาษณ์ของเธอ ว่าผู้เขียนแฟนฟิกเหล่านี้เหมือนมีเวลาเขียนแค่ครึ่งชั่วโมงก่อนตีพิมพ์เท่านั้น 

นั่นทำให้แมรี่ ซูกลายเป็น ‘Synonym’ ของตัวละครผู้หญิงห่วยๆ ที่เขียนโดยนักเขียนหญิงที่เขียนไม่ได้เรื่อง

ตั้งแต่ช่วงยุค 90’s เป็นต้นมา ทั้งนักเขียนที่เขียนแฟนฟิก และเขียนนิยายที่ไม่อิงกับเนื้อหาเดิมใดๆ ต่างกลัวว่าตัวละครของพวกเขาจะเข้าข่ายเป็นแมรี่ ซู พวกเขาจึงยอมทำให้ตัวละครหญิงของตนเองสวยน้อยลง เก่งน้อยลง สำคัญน้อยลง จนทำให้ตัวละครเสียคุณค่าและความน่าสนใจไปเสียหมด ซ้ำร้าย ความเป็นแมรี่ ซูถูก ‘ตั้งคำถาม’ จนกระทั่งเกิดแบบทดสอบหลากหลายชุดขึ้น เพื่อให้นักเขียนได้ประเมินตัวละครของตัวเอง

หนึ่งในแบบทดสอบความเป็น ‘แมรี่ ซู’ ที่กล่าวมา คือ the universal mary sue litmus test เขียนขึ้นในปี 2002 โดย สิเยรา มิกทายี เจ้าของเว็บไซต์ springhole เว็บไซต์ที่รวบรวมบทความและคำแนะนำสำหรับนักเขียน อย่างไรก็ตาม     สิเยราได้ออกมาประกาศว่า จะไม่สนับสนุนให้ใช้แบบทดสอบนี้อีกต่อไป และยังขอให้ผู้อ่านเว็บไซต์เลิกใช้คำว่าแมรี่ ซูเสีย โดยให้เหตุผลไว้ว่า

“แบบทดสอบความเป็นแมรี่ ซู ทำให้นักเขียนมากมายเข้าใจผิดว่า เพียงเพราะแค่ตัวละครของตนมีลักษณะอย่างนี้ หรือพล็อตเรื่องของตนเป็นแบบนั้น เท่ากับว่างานเขียนของเขานั้นห่วยแตกอย่างไร้ทางแก้ไข ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ตัวละครหรือพล็อตเรื่องจะดีหรือห่วยนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทแทบทั้งสิ้น และทุกวันนี้ชื่อของแมรี่ ซูถูกนำมาใช้จิกกัดตัวละครผู้หญิงแทบทุกตัวที่คนพูดนั้นไม่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นี่ยังเป็นปัญหาใหญ่จนทุกวันนี้”

ประเด็นที่ชื่อแมรี่ ซู ถูกนำมาใช้แทนคำดูถูกตัวละครผู้หญิงอย่างไม่เลือกหน้านั้น เป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งสำคัญ ที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ‘การต่อต้านแมรี่ ซู’ ขึ้นตั้งแต่ต้นๆ ยุค 2010’s เพราะความหมายของ  แมรี่ ซู เปลี่ยนไป จากที่แต่เดิมหมายถึงตัวละครที่เป็นตัวตายตัวแทนของผู้เขียนที่สมบูรณ์แบบจนเกินไป กลายมาเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้ตีตราตัวละครหญิงเก่งทั้งหลาย ในขณะที่ตัวละครชายที่เก่งเกินมนุษย์มนาอย่างเจมส์ บอนด์ หรือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ กลับได้รับคำสรรเสริญ ทั้งที่พวกเขาต่างเข้าข่ายความเป็นแมรี่ ซูเช่นกัน

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าชื่อของแมรี่ ซูกลายเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายนักเขียนนักอ่านที่เพียงต้องการหลบหนีจากโลกความเป็นจริง ไปสู่โลกเสมือนที่พวกเขามีอำนาจเหนือทุกสิ่งชั่วขณะ การชี้หน้าด่าตัวละครหญิงว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างแมรี่ ซู เป็นเหมือนการปิดปากไม่ให้ ‘เธอ’ มีสิทธิ์ได้โต้แย้ง และได้แสดงบทบาท ฉะนั้นอาจถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องพิจารณาความหมายของชื่อนี้เสียใหม่ เพราะหากนักเขียนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพอยากจะจินตนาการว่าตัวเองเป็น ‘พระเจ้า’ สักขณะ มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรไม่ใช่หรือ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
10
Love รักเลย
3
Haha ตลก
2
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

เมื่อความตายพาให้กลับบ้าน: พิธีศพอีสานผ่านสายตาคนรุ่นใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: ภัชราพรรณ ภูเงิน เสียงแจ้งเตือนข้อความดังขึ้นท่ามกลางความมืด ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู หน้าจอเรืองแสงบอกเวลา 05.22 น. ข้อความจากแม่ปรากฏขึ้นพร้อมประโยคสั้นๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ‘ยายเสียแล้วนะลูก’ เหมือนเวลาถูกหยุดไว้ ฉันรีบเก็บของใช้ที่จำเป็นก่อนออกเดินทางไปยัง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ...

Writings

จนกว่าเราจะพบกันอีก

เรื่อง : วีรนันท์ กมลแมน ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยผ่านแนวคิดอัตถิภาวนิยม ศรีบูรพาแต่งเรื่องสั้น “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. ...

Writings

ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save