SocietyWritings

นักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์กับการปลดปล่อยความเครียดผ่าน ‘มีม’

เรื่อง สาธิต สูติปัญญา
ภาพ ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ

โควิด-19 ทำให้นักเรียน-นักศึกษาหลายต่อหลายคนต้องใช้ชีวิตส่วนมากอยู่หน้าจอสมาร์ตโฟน แทบเลต และคอมพิวเตอร์ น่าเศร้าที่นักศึกษาปีหนึ่งในช่วงนี้ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ที่บ้านหรือที่หอพักอย่างเงียบ ๆ แบบออนไลน์ และก็น่าเศร้าที่นักศึกษาปีสุดท้ายต้องเรียนจบจากมหาวิทยาลัยไปแบบมีหน้าจอสี่เหลี่ยมเป็นสักขีพยาน

ทว่า ขณะที่นักเรียน-นักศึกษาหลายคนเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน นักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์ปีสูงกลับเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัย พวกเขาต้องแบกรับต้องความเครียดที่อาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการลงคลินิก ความกังวลจากความคาดหวังของอาจารย์ ความคาดหวังจากที่บ้าน ความคาดหวังจากคนไข้ และท้ายที่สุดความคาดหวังจากแพทยสภาและทันตแพทยสภาที่ยังคงเกณฑ์วัดผลเดิมไว้ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเปลี่ยนไป

ภายใต้การแบกรับความกดดันและความเครียดต่าง ๆ อย่างที่กล่าวไป ‘หมอมีม’ เพจที่สร้างมุกตลกเสียดสีเรื่องราวที่เหล่านักศึกษาแพทย์ผู้ก่อตั้งเพจเจอขณะเรียน ซึ่งมีคนกดติดตามถึง 41,891 คนและ ‘จักรเรศศศ’ แอคเคานต์อินสตาแกรมมุกตลกแนวเสียดสีของนักศึกษาทันตแพทย์ที่มีผู้ติดตาม 4,426 คน ก็เป็นสองช่องทางที่เหล่าว่าที่แพทย์-ทันตแพทย์ใช้เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาประสบมา ผ่านรูปแบบการสื่อสารที่ตลก ขบขัน และท่าทีเสียดสี

สิ่งที่นักศึกษาทันตแพทย์ต้องเจอ

ผู้ก่อตั้งแอคเคานต์อินสตาแกรม ‘จักรเรศศศ’ ซึ่งเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างมากให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษา จากเดิมที่เรียนเนื้อหาแบบออนไซต์ กลับต้องเปลี่ยนเป็นออนไลน์ โดยน้อง ๆ ชั้นปีต้น ๆ (preclinic) ต้องย้ายมาเรียนออนไลน์เกือบทั้งหมด

น่าสังเกตว่า ในชั้นปีที่สูงขึ้นการเรียนการสอนของนักศึกษาทันตแพทย์ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือตัวนักศึกษา อาจารย์ และคนไข้ พอมีการระบาดของเชื้อไวรัสคนไข้ไม่กล้ามาที่คลินิกเนื่องจากกังวลว่าจะติดเชื้อและมองว่าการทำทันตกรรม เช่น ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟันยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นลำดับแรก

ประกอบกับนักศึกษาทันตแพทย์เองก็ไม่กล้าทำงานทันตกรรมเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ  โควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น การขูดหินปูนเป็นงานทันตกรรมที่มีความฟุ้งกระจายของละอองน้ำสูงจึงเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายได้ ซึ่งทางคณะเข้าใจสถานการณ์จึงประกาศหยุดเรียน 2-3 ครั้ง “ผลสุดท้ายจากการประกาศหยุดและความกลัวของคนไข้ทำให้เคส (คนไข้) ที่ได้ลดลง เผลอแปบเดียวจบไปอีก 1 ปี เราแทบไม่ได้เคสมารักษาเลย แถมหยุดครั้งหนึ่งก็เป็นเดือน พอเปิดเรียนมาก็ต้องรื้อฟื้นทักษะกันใหม่ตลอด”

อีกหนึ่งนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครอธิบายให้ฟังถึงเกณฑ์การวัดผลของการเรียนทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยของเขาว่า ทางทันตแพทยสภาจะกำหนดสิ่งที่นักศึกษาทันตแพทย์ทั่วประเทศต้องทำ (requirement) ขึ้นมาว่านักศึกษาหนึ่งคนควรจะต้องทำอะไรบ้างก่อนที่จะเรียนจบ เช่น ต้องขูดหินปูนเท่านี้ครั้ง ต้องถอนฟันเท่านี้ซี่ หรือต้องรักษารากฟันให้ครบจำนวนหนึ่งจึงจะเรียนจบตามเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดมา

ในช่วงเวลาปกตินักศึกษารายนี้เล่าว่า มหาวิทยาลัยของเขาจะกำหนดเกณฑ์ให้มากกว่าที่ทันตแพทยสภากำหนดมา ดังนั้นนักศึกษาที่เรียนจบคณะทันตแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดังกล่าว จะเป็นทันตแพทย์ที่ว่ากันว่ามีประสบการณ์ในการทำฟันมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น ปกติการรักษารากฟันของฟันกราม จะไม่ถูกบรรจุอยู่ใน requirement ในชั้นปริญญาตรีของทันตแพทยสภาเพราะมีความซับซ้อนสูง แต่ที่มหาวิทยาของเขา ทางคณะบรรจุการรักษารากฟันของฟันกรามเพิ่มลงไปด้วย

อย่างไรก็ตามการที่นักศึกษาทันตแพทย์จะสามารถเก็บ requirement หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ในหมู่นักศึกษาว่า ‘เก็บ R’ ได้ครบ พวกเขาจะต้องหาคนไข้เพื่อทำการรักษาให้ได้ โดยในสถานการณ์ปกตินักศึกษาจะได้รับคนไข้มารักษาจากการแจ้งความประสงค์ขอรักษาทางทันตกรรมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ผ่านระบบการเรียนการสอน ซึ่งจะมีราคาไม่สูง แต่จะต้องมาที่มหาวิทยาลัยเพื่อรักษาหลายครั้งเมื่อเทียบกับการทำฟันที่คลินิกทันตกรรมที่ไม่ใช่ระบบการเรียนการสอน เนื่องจากนักศึกษาต้องรักษาทีละขั้นตอน และต้องให้อาจารย์มาตรวจทุกขั้น

ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ นักศึกษารายนี้อธิบายว่า คนไข้มักไม่กล้ามาที่คลินิกเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส จนทำให้นักศึกษาทันตแพทย์ในรุ่นเดียวกันหลายคนไม่สามารถเก็บ requirement ได้

“ทางคณะเรียกประชุมนักศึกษาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าคณะจะเปิดให้กลับไปเรียนในห้องเรียนปกติ เพื่อทำคลินิก อย่างไรก็ตามอาจารย์ที่อาวุโสท่านหนึ่งแจ้งว่า ยังไม่มีนโยบายใด ๆ ในกรณีที่นักศึกษาไม่มีคนไข้ แต่ในเบื้องต้นอาจารย์บอกว่าให้นักศึกษาช่วยกันเรียน ช่วยเหลือเรื่อง requirement กันเองไปก่อน ใครถอนฟันเยอะแล้วก็แบ่งให้เพื่อน ส่วนใครยังไม่ได้ทำ requirement ไหนก็ไปขอแลกกับเพื่อนในชั้นปีเดียวกันไปก่อน เราคิดว่านอกจากจะต้องแบกรับภาระความเครียดว่าจะนำเชื้อจากโรงพยาบาลไปติดคนที่บ้านหรือไม่แล้ว นักศึกษาทันตแพทย์ยังต้องมานั่งคิดว่าจะเก็บ requirement ครบหรือเปล่า”

สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ต้องเจอ

นักศึกษาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวังนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า โควิด-19 ไม่ได้มีผลต่อการเรียนในวอร์ด (ตึกผู้ป่วย) มากนัก เพราะท้ายที่สุดระบบจะคัดแยกคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้พบกับนักศึกษาแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งปกติจะเป็นรุ่นพี่ extern (นักศึกษาแพทย์ปี 6) และ intern (แพทย์จบใหม่หรือแพทย์ที่ใช้ทุน 3 ปี) ที่ต้องดูแลผู้ป่วยดังกล่าว “อย่างไรก็ตามเราก็กลัวโควิดนะ เราพยายามไม่กลับบ้าน เวลาอยู่วอร์ดก็พยายามระวังตัวให้มากที่สุด ล้างแอลกอฮอล์ตลอด 1 นาที แตะอะไรมาก็ล้าง”

นักศึกษาแพทย์รายนี้เล่าว่า ความเครียดของนักศึกษานักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่นอกจากความกังวลว่าจะนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่กระจายต่อที่บ้านแล้ว คือเรื่องที่ต้องจำเนื้อหายาก ๆ ในเวลากระชั้นชิด ถ้ามีเวลามากพอที่จะทำความเข้าใจและจำประเด็นต่าง ๆ เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา แต่ในความเป็นจริงคือทั้งเนื้อหาที่เยอะประกอบกับการที่ต้องขึ้นไปทำงานบนวอร์ด หลังจากเสร็จงานก็เหนื่อย ซึ่งพอถึงเวลาที่จะต้องทบทวนเนื้อหาหรือตกผลึก บางครั้งก็ล้าจนหลับไป “หลายครั้งจะมีช่วงที่เรางานเยอะ มีสอบด้วย แล้วดันต้องไปทำงานในวอร์ด ซึ่งงานในวอร์ดหนักมาก ๆ เราก็ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรก่อน ทุกอย่างมันเยอะไปหมด”

มีมจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ หมอมีม

นักศึกษารายนี้อธิบายเพิ่มเติมถึงอีกหนึ่งความเครียดที่นักศึกษาแพทย์มักประสบว่า อาจารย์แพทย์ที่มหาวิทยาลัยของเขามักคิดว่าถ้านักศึกษาเรียนและอ่านเนื้อหามาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเวลาอาจารย์ถามคำถาม นักศึกษาจำเป็นต้องตอบคำถามได้อย่างคล่องแคล่ว และถ้าตอบไม่ได้จะต้องมีการว่ากล่าวนักศึกษาจึงจะดีขึ้นและจำเนื้อหาได้ “มีอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าว่าจะมีอาจารย์บางคนชอบดุชอบด่านักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ที่นี่เราเรียกการที่โดนอาจารย์ดุด่าว่า ‘จารย์ซอย’ มีนัยยะประมาณว่า no pain no gain (ไม่เจ็บ ไม่จำ) และสุดท้าย พอนักศึกษาเหล่านั้นเรียนจบไปก็จะมาขอบคุณอาจารย์ที่ดุด่า นี่อาจเป็นต้นเห็นว่าทำไมอาจารย์หลายท่านยังใช้วิธีนี้”

มีมจากเฟ๊ซบุ๊กแฟนเพจ หมอมีม

ยิ่งไปกว่านั้นบริบทการเรียนของนักศึกษาแพทย์ก็ค่อนข้างเครียด นักศึกษาแพทย์รายนี้เล่าว่า ส่วนตัวเธอไม่เครียดกับเรื่องเรียนหรือการโดนอาจารย์ ‘ซอย’ มากนักเนื่องจากเธอชินแล้ว แต่เธอเครียดเกี่ยวกับเรื่องเวลาและคุณภาพชีวิตของเธอมากกว่า

“บางคนอาจมองว่า เป็นหมอก็ต้องเสียสละสิ แต่ในความเป็นจริงเราโคตรรู้สึกไม่แฟร์ (ยุติธรรม) กับเรื่องเวลาทำงานของหมอเลย หมอทำงานตลอดเวลา ยิ่งหมอที่เป็นเวร เวลานอนมันน้อยมาก อย่างเราที่เป็นนักศึกษา ลงเวร 4 ทุ่ม บางวันก็ลง 5 ทุ่ม แล้วก็ต้องกลับมาทำงาน กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนตี 1 แล้วก็ต้องตื่นตี 5-6 โมงไปราวด์วอร์ด (ดูแลผู้ป่วย) ต่ออีก ซึ่งการเรียน การทำงานแบบนี้มันไม่ใช่แค่หนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน มันคือตลอดไป ถ้าเป็นวอร์ดหลัก เช่น ศัลยกรรม อายุรกรรม ก็แทบไม่มีวันหยุด แต่ถ้าเป็นวอร์ดรอง ๆ ที่คนไข้ไม่เยอะก็อาจจะมีเวลาเสาร์อาทิตย์หยุดพักบ้าง”

 น่าสนใจว่า ท้ายที่สุดนักศึกษาแพทย์รายนี้มองว่า ไม่ว่าอย่างไรเธอก็ต้องปรับตัวปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาและหาวิธีรับมือกับมันให้ได้ เธอมองว่าปัญหาก็คือโรคอย่างหนึ่ง เราก็ต้องรักษามันต่อไป “อย่างเพื่อน ๆ เราที่เรียนวิชาจิตเวชก็ได้ทำวิดีโอเกี่ยวกับปัญหาความเครียดของนักศึกษาแพทย์ขึ้นมา ก็เป็นหนึ่งวิธีที่เราพยายามช่วยเพื่อน ๆ ส่งเสียงของพวกเราออกไปและเราก็คิดว่ามีมก็อาจเป็นหนึ่งช่องทางการสื่อสารเช่นเดียวกัน”

‘มีม’ สื่อสารเรื่องจริงจัง ผ่านการเสียดสีและความตลก

ผู้ก่อตั้งเพจ ‘จักรเรศศศ’ อธิบายถึงจุดประสงค์ของการสร้างแอคเคานต์ว่า แอคเคานต์ ‘จักรเรศศศ’ คือตัวตนสมมติของนักศึกษาทันตแพทย์คนหนึ่งที่อยากระบายอารมณ์ อยากเล่าประสบการณ์ว่านักศึกษาทันตแพทย์ต้องเจอกับอะไรบ้างผ่านรูปภาพตลกแนวเสียดสี หรือ ‘มีม’ แต่ในช่วงหลัง แอคเคานต์นี้จะเริ่มเป็นชุมชนเล็ก ๆ ให้คนในเพจที่ส่วนมากเป็นนักศึกษาแพทย์/ทันตแพทย์มาระบายความเครียด มาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ สู่กันฟัง “ถ้าจะให้สรุปว่า ‘จักรเรศศศ’ คือใคร เราคือแอคเคานต์มีม แอคเคานต์ตัวละครสมมุติ แอคเคานต์ศูนย์รวมนักศึกษาทันตแพทย์ทั่วไทย”

มีมจากแอคเคานต์อินสตาแกรม จักเรศศศ

ผู้ก่อตั้งแอคเคานต์เล่าว่า จุดประสงค์ในการทำตัวตนสมมตินี้คือเขาอยากโพสต์มีมเกี่ยวกับคณะ ในช่วงแรกยังไม่ค่อยมีแอคเคานต์มีมเกี่ยวกับทันตแพทย์มากนัก ซึ่งถ้าเขาไปบ่น ไปวิจารณ์ลงแอคเคานต์หลัก ก็กลัวโดนนำข้อความที่โพสต์ไปฟ้องอาจารย์ บวกกับผู้ก่อตั้งแอคเคานต์รายนี้ไม่อยากทำให้ภาพพจน์ของคณะทันตแพทย์เสียหาย จึงตัดสินใจสร้าง ‘จักรเรศศศ’ ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามนักศึกษาทันตแพทย์และผู้ก่อตั้งแอคเคานต์รายนี้มองว่า ตามจุดประสงค์แรกเขาไม่คิดว่าการสร้างความตลกเสียดสีจากมีมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนหรือนโยบายใด ๆ แต่เมื่อมีผู้ติดตามแอคเคานต์มากขึ้น คนแชร์มากขึ้น อาจารย์ในคณะที่อายุไม่ห่างจากนักศึกษามากนักก็เข้าถึงสารที่เขาอยากจะแชร์ สารเกี่ยวกับความเครียดความกดดัน และสิ่งที่นักศึกษาทันตแพทย์ส่วนหนึ่งประสบ

“เราคิดว่าแอคเคานต์ ‘จักรเรศศศ’ เป็นหนึ่งช่องทางที่จะสะท้อนการทำงานของอาจารย์ได้ดี มันตรงไปตรงมามากกว่าอ่านจากแบบสอบถามของคณะตอนท้ายเทอมที่เด็กหลายคนแทบจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเลยเพราะนักศึกษายังต้องใช้ชีวิตในคณะต่อ อย่างที่บอกชีวิตนักศึกษาทันตแพทย์ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยคือ อาจารย์ ตัวเรา และคนไข้นั้นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่ามีมจะสามารถเปลี่ยนแปลงในเชิงการบริหารการออกแบบมาตรการของคณะไหม ผมคิดว่าคงไม่ถึงจุดนั้น เนื่องจากมีมเป็น message (สาร) ที่ไม่เป็นทางการ สารเข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มมาก ๆ และอาจารย์ที่เห็นก็มักเป็นอาจารย์วัยรุ่น ในส่วนของอาจารย์ที่มีอำนาจต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของคณะ ส่วนตัวคิดว่าอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับ message เหล่านี้โดยตรงครับ”

วารสารเพรสติดต่อไปที่เฟซบุ๊กแฟนเพจหมอมีม เพื่อสอบถามถึงจุดประสงค์ของการสร้างเพจ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

‘มีม’ ในมุมมองพฤติกรรมศาสตร์

นายณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษกล่าวว่า โดยปกติแล้วคนที่มีความเครียดมักเกิดจากการที่บุคคลนั้นประสบกับเรื่องบางอย่างที่สร้างความเครียดให้ร่างกาย อาจจะเป็นความเครียดจากเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องการเรียน หรือเรื่องสอบ โดยบุคคลมักจะคิดเรื่องที่ตนเองเครียดซ้ำไปเรื่อย ๆ จึงเป็นสาเหตุให้ความเครียดนั้นยังคงไม่หายไป

โดยธรรมชาติ มนุษย์จะจัดการกับความเครียดด้วยกัน 3 วิธี วิธีแรกคือการรับมือกับความเครียดด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาใคร วิธีการต่อมาคือการเล่าเรื่องราวให้คนใกล้ชิด ให้ผู้ปกครองหรือให้จิตแพทย์ฟัง และสุดท้ายคือการพยายามหากลุ่มคนที่มีความเครียดคล้ายกันหรือเรียกว่าหาคนที่มี identity เหมือนกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ที่มีความเครียดรู้สึกว่ามีคนที่ประสบสิ่งเดียวกันอยู่ ในทางพฤติกรรมศาสตร์จะเรียกว่าการ form identity

นักพฤติกรรมศาสตร์รายนี้อธิบายว่า จากงานวิจัยที่เขาทำพบว่าบุคคลที่ตกงานจะมีความเครียดสูง มากกว่าความเครียดประเภทอื่นอย่างมาก เนื่องจากบุคคลที่ว่างงานจะเสียความเป็นตัวของตัวเอง เสียความมั่นใจ และรู้สึกว่าเขาไม่มีคุณค่า แต่น่าสนใจว่า ถ้าในชุมชนหรือกลุ่มเพื่อนตกอยู่ในสถานะว่างงานเช่นเดียวกัน ความเครียดที่เกิดขึ้นข้างต้นจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นการพูดคุย การระบายความเครียดให้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันฟัง ถือเป็นหนึ่งในการสร้าง identity และสามารถช่วยลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพมีมจากแอคเคานต์อินสตาแกรม จักเรศศศ

จากคำอธิบายดังกล่าว อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวอร์ริกรายนี้เชื่อมโยงคำอธิบายข้างต้นกับการใช้ความตลกเสียดสีจากมีม หรือ satire ของนักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการบรรเทาความเครียดจากสิ่งที่พวกเขาเจอมา คือพวกเขาพยายามเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาเจอทั้งดีและร้ายผ่านมีม เพื่อดึงดูดนักศึกษาที่เจอเหตุการณ์คล้ายกัน และนำไปสู่การพูดคุยกันราวกับเป็น community หนึ่ง

“อย่างไรก็ตามผมมองว่า มีมอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะดีล (รับมือ) กับปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาความเครียดจากการเรียนเพราะวิธีการที่ดีที่สุดคือต้องปรึกษากับจิตแพทย์ไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก แต่ผมก็เข้าใจว่าถ้าเราไม่มีทางออก ไม่สามารถเข้าถึงนักจิตแพทย์ได้ การใช้มีมก็อาจจะเป็นวิธีการที่เขาทำได้ง่ายที่สุดในการบรรเทาความเครียดลง”

นำไปสู่การแก้ไขหรือแค่ระบายกันภายในกลุ่ม

ศาสตราจารย์รายนี้มองว่า มนุษย์มักเข้าถึงสิ่งที่เฮฮา สนุกสนานและตลกมากกว่าสิ่งที่จริงจังและเครียด ดังนั้นถึงแม้ว่าการทำมีมของนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นการสื่อสารเรื่องจริงจัง แต่การใช้รูปแบบการสื่อสารที่ตลกก็ช่วยสร้าง social group (กลุ่มสังคม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่า การสร้างมีมซึ่งมีความตลก-เสียดสีอาจไม่สามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเรียน-การสอนจากอาจารย์ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจได้ “อย่างดีที่สุดสารจากมีมอาจไปถึงกลุ่มผู้มีอำนาจแต่พวกเขาอาจคิดว่า เด็กพวกนี้มันด่าฉันนิ นี่เหรอสิ่งที่พวกเด็ก ๆ เขาคิดกัน” ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาใด ๆ

ภาพมีมจากแอคเคานต์อินสตาแกรม จักเรศศศ

“เรื่องตลกเสียดสีผ่านมีม ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้มีอำนาจยอมเปลี่ยนนโยบาย เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการ attack (โจมตี) ถามจริง ๆ ว่าถ้าคนที่กุมอำนาจเขาเห็นว่ามีคนมา attack เขา มาทำให้เขารู้สึก threaten (ถูกคุกคาม) ใครจะอยากเปลี่ยนนโยบายให้เรา เราต้องสื่อสารแบบที่ทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกว่าโดนต่อต้าน”

แต่มหาวิทยาลัยก็ต้องแสดงให้นักศึกษาเห็นว่าคุณก็เข้าใจพวกเขา

ในกรณีที่คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมอบความรับผิดชอบให้นักศึกษาทันตแพทย์แลกเปลี่ยน requirement กับเพื่อนในชั้นปีเดียวกันเองในกรณีที่ไม่มีคนไข้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ศาสตราจารย์รายนี้เสนอทัศนะว่า เขาไม่เห็นด้วยที่จะโยนความรับผิดชอบให้นักศึกษา เพราะว่านอกจากนักศึกษาจะต้องแบกรับความเครียดจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พวกเขายังต้องกังวลว่าจะเก็บ requirement ครบหรือไม่ “ผมมองว่าควรเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยควรให้นักศึกษาทันตแพทย์แต่ละคนมาลงชื่อว่าพวกเขาเหลือ requirement เท่าไรแล้ว จากนั้นคณะจึงจัดการแลกเปลี่ยน requirement เองอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่โยนภาระให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกันเอง”

อย่างที่มหาวิทยาลัยวอร์ริก ที่ศาสตราจารย์รายนี้ทำงานอยู่ก็มีการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น จากเดิมมหาวิทยาลัยจะนำวิชาที่นักศึกษาเรียนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ยว่านักศึกษาจะได้หรือไม่ได้เกียรตินิยม แต่ภายใต้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นักศึกษามีความเครียดมากขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป อาจารย์และนักศึกษาไม่สามารถใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมได้ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงแสดงให้นักศึกษาเห็นว่ามหาวิทยาลัยเห็นใจและเข้าใจนักศึกษาโดยการนำคะแนนของวิชาเรียน 2-3 วิชาที่นักศึกษาได้คะแนนดีที่สุดมาคำนวณการได้หรือไม่ได้เกียรตินิยมแทนการคำนวณจากทุกรายวิชา

ทางออกสู่การแก้ไขนโยบาย

อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวอร์ริกมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องการให้ผู้ที่มีอำนาจรับฟังเสียงของเรา ในกรณีนี้คืออาจารย์ ผู้บริการ และนักศึกษา วิธีการ approach (เข้าหา) คือสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี นักศึกษาควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้อาจารย์หรือผู้ที่กุมนโยบายรู้สึกว่าถูกโจมตี ทั้งสองฝ่ายควรหา zone of acceptability หรือพื้นที่ที่เราไม่ขอมากเกินไปจนอีกฝ่ายต่อต้านกลับมา และอีกฝ่ายก็ไม่ดันกลับมาด้วยความแรงที่มากจนเกินไป มีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ

“การสื่อสารที่ดีที่สุด คือเราจะต้องมี empathy เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต่างฝ่ายต่างต้องไปยืนอยู่ที่ point of view (ทัศนะ) ของอีกฝั่งก่อน อย่างเช่นว่า นักศึกษาอาจจะไปพูดกับอาจารย์ว่า เขาเข้าใจนะว่าทำไมอาจารย์ถึงพูดเช่นนั้น แต่ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมีโอกาสไหมที่จะยินยอม ที่จะประนีประนอม ร่วมหาหนทางที่ไม่กดดันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป” ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์รายนี้ทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด แม้ว่าเรื่องราวในสารคดีชิ้นนี้จะพูดถึงความเครียดและสิ่งที่นักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์ต้องประสบ อย่างไรก็ตามวารสารเพรสหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวีอาจเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุก ๆ ท่านไม่เฉพาะนักศึกษาสายสุขภาพ มากไปกว่านั้น สารคดีชิ้นนี้อาจเป็นแนวทางให้อาจารย์ ผู้บริหารในทุก ๆ สาขาวิชานำข้อมูลไปปรับใช้ให้เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และไม่มากก็น้อย สารคดีชิ้นนี้อาจสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมเข้าใจถึงอีกด้านหนึ่งของวิชาชีพแพทย์และทันตแพทย์ ว่าพวกเขาต้องประสบกับความเครียดและความกดดันจากปัจจัยใดบ้าง

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
36
Love รักเลย
14
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
6
Angry โกรธ
1

More in:Society

News

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ระบุ หากรัฐบาลทรัมป์จะขับไล่ผู้อพยพ ต้องเพิ่มงบประมาณหลายล้าน และอาจทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง อาจารย์รัฐศาสตร์มธ.ชี้ รัฐบาลอเมริกาสามารถออกคำสั่งนโยบายเนรเทศผู้อพยพได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้อพยพยังขาดความสามารถในการดำเนินการตามนโยบายนี้ อีกทั้งหากขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจขาดแรงงาน พร้อมเสริมว่าในบางเมืองนั้น รัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินการกับผู้อพยพได้ . ...

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save