Art & CultureSocialWritings

“โมเอะ” ตัวละครอนิเมะผู้ไร้เดียงสา กับนัยยะทางเพศที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อ

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์

คงเป็นเรื่องน่าแปลกใจหากคุณหรือคนข้าง ๆ จะไม่เคยอ่านมังงะหรือดูอนิเมะมาก่อนเลยสักเรื่อง เมื่อกระแสความนิยมในการ์ตูนญี่ปุ่นมีมาตลอดตั้งแต่ยุค 90’s จนถึงปัจจุบัน ทั้งอนิเมะแนวแอคชั่นที่ชื่อคุ้นหูอย่าง Naruto กับ One Piece แนวแฟนตาซี/เหนือธรรมชาติอย่าง Inuyasha และ Demon Slayer ไปจนถึงแนวคอเมดี้ โรแมนซ์ และ Slice-of-Life อย่าง K-On!! กับ Love Live! ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน หรือเรื่องราวที่อยู่ในรั้วโรงเรียน โดยมีตัวละครหลักเป็นเด็กวัยรุ่น ที่มักจะให้ความรู้สึก ‘โมเอะ’ กับคนดู

คำว่า ‘โมเอะ’ (萌え; moe) ที่มาจาก ‘โมเอะรุ’ (萌える; moeru) นั้น แปลตรงตัวได้ว่า ‘แตกหน่อ’ ซึ่งถ้าหากนำไปใช้ในบริบทของการก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว ก็อาจหมายถึง ‘การแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว’ ได้ด้วย ขณะที่ความหมายเชิงศัพท์สแลงอันเป็นที่รู้โดยทั่วกันของแฟนอนิเมะ จะหมายถึง ความรู้สึกเอ็นดู หลงใหล หรือรักใคร่อย่างรุนแรงต่อตัวละครเพศหญิงหรือเพศชายในอนิเมะ ที่มีความน่ารัก เยาว์วัย สดใส และไร้เดียงสา จนรู้สึกอยากปกป้อง หรือทะนุถนอมไว้ ซึ่งบ่อยครั้งตัวละครที่ให้ความรู้สึกโมเอะเหล่านี้ก็มักมาพร้อมกับความ ‘เซ็กซี่’ หรือ ‘วาบหวิว’ และไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าการเป็นอาหารตาให้กับตัวละครหญิงหรือชายในเรื่องได้จับจ้อง พร้อมกับเลือดกำเดาไหลหรือน้ำลายยืดใส่เท่านั้น

ภาพจาก anime เรื่อง Castle Town Dandelion

‘ผู้หญิงหน้าอกใหญ่ ๆ ยั่วยวน ส่วนผู้ชายก็โชว์นั่น โชว์นี่ อยากดู anime ดี ๆ ที่ไม่มีนมมาให้รำคาญตา พอจะมีเรื่องไหนแนะนำบ้างมั้ยคะ การ์ตูนสมัยนี้มีแต่แนว โมเอะ ๆ น่าเบื่อจริง ๆ’ 

หลายคนคงพยักหน้าเห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้พันทิปข้างต้น เพราะก็เคยหงุดหงิดที่ผู้เขียนหรือผู้ผลิตเน้นขาย “แฟนเซอร์วิส” (ファンサービス; fan sābisu) มากเกินไป จนรู้สึกหมดอารมณ์ที่จะดูอนิเมะเรื่องนั้นต่อ ซึ่งในบริบทนี้ แฟนเซอร์วิสก็เป็นได้ทั้งการ oversexualize ตัวละคร หรือการทำให้ตัวละครกลายเป็นวัตถุทางเพศ เช่น การวาดสรีระตัวละครหญิงให้เห็นส่วนโค้งเว้าอย่างชัดเจน หน้าอกใหญ่ เอวเล็ก สะโพกผาย มีก้น ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นหรือรัดรูป นุ่งกระโปรงสั้น ฯลฯ หากเป็นตัวละครชายก็จะถูกวาดให้มีกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ มีเส้นเลือดขึ้นที่แขน หรือไม่ก็ทำให้มีความเป็นผู้หญิง (femineity) ไปเลย จะได้เอาไป ‘จิ้น’ กับตัวละครชายอื่นในเรื่องได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเขียนให้มีสถานการณ์ที่ล่อแหลมหรือฉากที่มีนัยยะทางเพศบางอย่าง เช่น ตัวละครหกล้มหรือโดนลมพัดจนกระโปรงเปิด อวัยวะไปสัมผัสกับหน้าอกหรือก้นของตัวละครอื่นโดยบังเอิญ การกระชากเสื้อผ้าอีกฝ่ายขาดจนเห็นผิวใต้ร่มผ้า การที่ตัวละครถูกแอบมองหรือแม้กระทั่งถูกคุกคามเมื่ออยู่ในสภาพโป๊เปลือย ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งฉากเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อพล็อตเรื่อง อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงความโก๊ะ ซุ่มซ่าม และอ่อนต่อโลกของตัวละครที่ถูกนำเสนอพร้อมกับบริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความคิดที่ว่า ‘มันก็ตลกดี’ ‘มันเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับอนิเมะ’ หรือ ‘มันเป็นการ์ตูน ไม่ใช่ชีวิตจริงสักหน่อย’

ภาพจาก anime เรื่อง My Youth Romantic Comedy Is Wrong, As I Expected

ตัวอย่างเหล่านี้จะยิ่งเห็นได้ชัดในอนิเมะหมวดเอ็ตจิ (エッチ; ecchi) หรือการ์ตูนทะลึ่ง ที่นำเสนอเนื้อหาลามก ล่อแหลม หรือขายแฟนเซอร์วิสเป็นหลักอยู่แล้ว รวมไปถึงโชเน็น (少年; shōnen) ที่มีเนื้อหาเอาใจกลุ่มเป้าหมายเพศชายเป็นหลัก ทำให้การเล่าเรื่องมักถูกถ่ายทอดผ่าน Male gaze หรือสายตาของเพศชายที่อาจอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด หรือความเชื่อที่มีต่อเพศหญิง เช่น เพศหญิงจะต้องมีรูปร่างบอบบาง ตัวเล็กหรือตัวเตี้ยกว่า เด็กกว่า ต้องมีเสียงเล็กแหลม มักพูดเสียงค่อย มีนิสัยขี้อาย ไม่สันทัดในเรื่องเพศ อ่อนแอ และอ่อนไหวง่าย จึงควรได้รับการปกป้องดูแลจากเพศชาย

Honda Toru นักวิจารณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น ‘โอตาคุ’ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องโมเอะ ในหนังสือ The Moé Manifesto ว่า ‘การที่ตัวละครนั้นอ่อนแอ กระตุ้นให้เราอยากปกป้องและทะนุถนอมพวกเขา ตัวละครนี้ต้องการการสนับสนุน ความรัก และการเอาใจใส่ ต่อให้แข็งแกร่งและมีอิสระอยู่แล้วก็ตาม ถ้าเธอไม่มีความอ่อนแอเลยสักนิด เธอก็จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง การเข้าหาสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้นคงเป็นเรื่องยาก’ ในขณะที่ Ito Noizo นักวาดภาพประกอบและนักออกแบบตัวละครในเกมสำหรับผู้ใหญ่ กล่าวว่า ‘เพราะเด็กผู้หญิงที่เป็นแบบนั้นจะน่ารักที่สุด พวกเขาไร้เดียงสา บริสุทธิ์ และจริงใจ พวกเขาไม่เจ้าแผนการหรือคิดจะเล่นเกมกับใคร’ ซึ่งบุคลิกที่ว่ามานี้ล้วนสะท้อนให้เห็นผ่านตัวละครโมเอะแทบทั้งสิ้น

โมเอะ” บนเส้นแบ่งระหว่างโลกของอนิเมะ และโลกแห่งความเป็นจริง

หากพิจารณาจากความหมายและตัวอย่างที่หยิบยกมา จะเห็นว่า ‘โมเอะ’ ที่สื่อถึงความรู้สึกหลงใหล รักใคร่ ซึ่งยึดโยงกับความรู้สึกทางเพศนั้น มาจากตัวละครที่ยังเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ พานให้นึกถึงคำว่า ‘โลลิคอน’ ที่หมายถึงผู้ชายอายุมากที่มีรสนิยมชอบเด็กสาวอายุน้อย และ ‘โลลิ’ ซึ่งใช้แทนตัวเด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่แต่งตัวเซ็กซี่เกินวัย 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโมเอะ หรือโลลิ ต่างก็ไม่อาจนำมาใช้เป็นภาพสะท้อนของ ‘เด็ก’ หรือ ‘ผู้หญิง’ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อยู่ดี เมื่อจุดประสงค์หลักของการนำเสนอภาพจำเหล่านั้นมีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทั้งชายและหญิง ซึ่งเมื่อคนเห็นตัวอย่างบ่อยเข้าก็อาจนำไปสู่การเหมารวม (stereotype) ว่าเด็กผู้หญิงทุกคนต้องเป็นเหมือนตัวละครในอนิเมะ ที่ปฏิบัติเหมือนกัน หรือควรถูกปฏิบัติในแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่ควรจะเกิดขึ้น

ตัวละครโมเอะที่ถูก sexualize กลายเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ต้นแบบที่บางคนนำไปวางทาบบนตัวเด็ก ผู้หญิง หรือผู้ชาย (โดยเฉพาะที่เป็นนักเรียน นักศึกษา) และเมื่อเห็นว่ามีลักษณะที่ตรงกันก็จะเข้าใจว่าตัวเองได้สิทธิและอำนาจในการเข้าหา หรือทำความรู้จักอย่างลึกซึ้ง ไปจนถึงคุกคาม ซึ่งก็เป็นได้ตั้งแต่การแทะโลมทางสายตา การพูดจาลวนลาม การแตะเนื้อต้องตัว หรือการส่งข้อความหาในเชิงอนาจาร ที่ต่างก็นับว่าเป็นการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) และแม้จะมีโทษทางกฎหมาย แต่บ่อยครั้งตัวผู้ที่กระทำความผิดกลับไม่ได้รู้สึกว่าพฤติกรรมดังกล่าวร้ายแรงอะไร เพราะอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงการฉวยโอกาสเล็ก ๆ น้อย ๆ จากความไม่รู้ หรือไม่ทันระวังตัวของผู้ที่เด็กกว่า เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง (ที่อดไม่ได้) ก็เท่านั้น

Karuna Li นักศึกษาชาวเอเชียในวัย 20 ปี จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เมืองแอชวิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เล่าว่า ตัวละครจากอนิเมะบางเรื่อง อย่าง Lucy ใน Fairy Tail นั้น ทำให้ผู้หญิงเอเชียถูกมองว่าเป็นเด็กอยู่เสมอ “ตัวละครพวกนี้มักทำตัวเหมือนเด็ก เอาแต่ใจสูง และต้องการให้ตัวละครชายที่เป็นคนขาว ซึ่งก็มักจะเป็นพวกบ้ากาม มาช่วยเหลือตัวเอง” Li กล่าว

Li ยังให้เหตุผลอีกว่า infantilization หรือ ‘การทำให้ดูเด็กลง’ นั้น สร้างปัญหาให้กับเธอมากที่สุด เพราะเธอเป็นคนที่ดูเด็กกว่าอายุจริง ทำให้ทุกครั้งที่เดทต้องระวังตัวเพื่อไม่ให้ไปเจอกับคนที่เป็นโรคใคร่เด็ก (Pedophile) เข้า และต้องคิดอยู่เสมอว่าคนที่เดทอยู่นั้นคบกันเพราะเห็นว่าเธอแค่เด็กกว่าเฉย ๆ รึเปล่า

ความเป็นเด็ก ไร้เดียงสา ร่าเริง หรือแม้แต่ความอ่อนโยนแบบโมเอะ มักยึดโยงกับความเป็นหญิง ในขณะที่ความเป็นชายมักถูกเล่าผ่านตัวละครที่กล้าหาญ บ้าบิ่น ชอบใช้กำลัง และมีนิสัยทะลึ่ง ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้เป็นได้ทั้งผลผลิตจากค่านิยมปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) ในสังคม และตัวตอกย้ำที่ทำให้มันฝังรากลึกลงไปในหัวของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนพัฒนาเป็นบรรทัดฐาน (norm) ที่ทำร้ายคนที่เอื้อมไม่ถึงเส้นนั้น เช่นเดียวกับคนที่ยึดถือมันไว้อยู่ตลอดเวลา

ผู้หญิงที่แข็งกร้าว ไม่ได้อ่อนโยน ก็สมควรได้รับความรัก หรือการปกป้องไม่ต่างกัน ขณะที่ผู้หญิงที่ไร้เดียงสาก็ไม่ได้แปลว่าจะดูแลตัวเองไม่ได้เสมอไป ส่วนผู้ชายทุกคนก็ไม่ได้หมกมุ่นเรื่องเพศ หรือเข้มแข็งเพื่อคนอื่นได้ทุกเมื่อ จะเห็นได้ว่าชีวิตของคนจริง ๆ นั้นมีมิติที่ซับซ้อน และหลากหลายกว่าตัวละครในอนิเมะมาก จึงไม่แปลกที่การอยู่นอกบรรทัดฐาน หรือการพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นจะสร้างความอึดอัด ความท้อใจ และส่งผลในแง่ลบต่อการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ไม่มากก็น้อย

การขีดเส้นแบ่งระหว่างโลกของอนิเมะและโลกในชีวิตจริง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าควรทำ โอตาคุ หรือผู้ที่ชื่นชอบอนิเมะหลาย ๆ คนก็ไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้ พวกเขาตระหนักดีว่าโลกของอนิเมะเป็นโลกเสมือนจริงที่กว้างขวาง และได้รับแรงกดดันทางสังคมน้อยกว่าโลกที่ใช้ชีวิตอยู่ เพราะเป็นโลกที่ในบางมุมตัวละครหน้าตาพื้น ๆ นิสัยธรรมดาก็ยังมีที่ยืน เป็นโลกที่ในบางครั้งตัวละครเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็นมากกว่าเพื่อนหรือคนที่บ้าน และเป็นโลกที่พร้อมจะโอบรับความเป็นเด็ก หรือความแปลกประหลาดภายในตัวทุกคนอยู่เสมอ

โลกของอนิเมะซึ่งเป็นโลกสีเทา ๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและตัวละครที่เปิดกว้างทั้งในแง่ของมิตรภาพ ความรัก หรือแม้แต่เรื่องเพศ คงจะไม่ถูกทุบทำลายไปได้ง่าย ๆ ตราบใดที่คนดูไม่นำชุดความคิดบางอย่างภายในนั้นออกมาใช้กับโลกภายนอกอย่างผิดบริบท หรือไม่ถูกไม่ควร เช่นเดียวกับตัวละครโมเอะ ที่ถ้าหากมองในด้านบวก มันก็เป็นแค่ตัวแทนของเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายในช่วงเยาว์วัยที่ไร้เดียงสา และมอบความสดใส หรือความรู้สึกดี ๆ ให้กับคนดู…ที่อาจหาไม่ได้อีกแล้วในโลกแห่งความเป็นจริง

อ้างอิง

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
41
Love รักเลย
31
Haha ตลก
9
Sad เศร้า
7
Angry โกรธ
13

Comments are closed.

Writings

SOMEWHERE ONLY WE KNOW จุดพักใจของเหล่า ‘คนหัวเมฆ’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง หมายเหตุ : คำอธิบายทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้เขียนตีความด้วยตัวเอง ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวจากมุมมองของผู้เขียนได้ แต่อยากชวนไปดูที่งานด้วยนะ 🙂 “คิดงานไม่ออก” ผมบ่นขึ้นมาขณะที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นเป็นเวลา 10 โมงของวันอาทิตย์ที่อุณหภูมิเกือบ ...

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save