เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย
ภาพ เก็จมณี ทุมมา
ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ดังเช่นภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์”
มนต์รักทรานซิสเตอร์เป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 โดยวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา รางวัลซึ่งมอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าและเป็นไปในทางเดียวกับงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกาศรีบูรพา นักเขียนผู้ขับเคี่ยวกับระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย
มนต์รักทรานซิสเตอร์ฉบับหนังสือถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2544 โดยเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ภาพยนตร์ของเป็นเอกได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปชิงรางวัลออสการ์ งานรางวัลทางภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถึง 4 เรื่อง คือ ภาพยนตร์เรื่องตลก 69 ปี 2542 เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ ปี 2545 เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ปี 2546 และเรื่องฝนตกขึ้นฟ้า ปี 2555
ว่ากันว่าภาพยนตร์ของเป็นเอกจะดูยากในสายตาของคนทั่วไป เนื่องจากเขาใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ มีสัญญะแฝงเพื่อเสียดสีสังคมอย่างลึกซึ้ง แต่มนต์รักทรานซิสเตอร์นับเป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องของเป็นเอกที่เข้าใจง่าย ด้วยความโดดเด่นที่ผสมผสานความตลก โรแมนติก เข้ากับมิวสิคัลเพลงลูกทุ่ง ทว่าไม่ทิ้งการสะท้อนปัญหาสังคมให้คนได้ถกเถียงมากว่า 20 ปี ก่อนที่เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อมนต์รักทรานซิสเตอร์ได้ฉายผ่านช่องทาง Netflix ในวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
มนต์รักทรานซิสเตอร์คือเรื่องราวชีวิตรักอัน “เรียบง่าย” ของแผนและสะเดา บรรยากาศลำคลอง ท้องนา และเพลงลูกทุ่งถ่ายทอดได้ดีจนหอมกลิ่นกองฟาง แม้ช่วงแรกพ่อของสะเดาจะไม่ยอมรับเจ้าแผนสักเท่าไรนัก แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้ครองรักกัน พร้อมกับที่แผนซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์ให้สะเดาเป็นของขวัญวันแต่งงาน ชีวิตของทั้งสองดำเนินไปตามแบบแผนอย่างสงบ ก่อนที่กลิ่นฟางไหม้จะเริ่มลอยมาตามสายลม เมื่อคนเป็นสามีจำต้องไปเกณฑ์ทหารในขณะที่สะเดาเพิ่งตั้งครรภ์ได้เพียง 5 เดือน
และเรื่องราวก็เริ่มต้นที่ตรงนี้
เมื่อชีวิตถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ใจไม่ได้ปรารถนา ยามโอกาสอื่นที่เฝ้าฝันลอยมาอยู่ตรงหน้า มีหรือที่มนุษย์จะไม่ตะครุบมันเอาไว้ ชีวิตรักตามฉบับแบบแผนจึงถูกพักเอาไว้ก่อน เมื่อเส้นทางสู่การเป็นนักร้องของทหารเกณฑ์หนุ่มเริ่มชัดเจนขึ้น
แต่เมื่อเดินไปไกลเท่าไร ถนนที่เคยลาดยางก็เริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อ นานวันเข้าก็แปรเปลี่ยนเป็นหินกรวด ยิ่งเดินยิ่งเจ็บปวด ยิ่งพยายามยิ่งรวดร้าว
คงจริงที่เส้นทางชีวิตนั้นไม่เคยง่าย แม้โอกาสจะเหวี่ยงให้แผนขึ้นไปอยู่สูงเทียมฟ้า ก็มีสิทธิ์ร่วงหล่นลงมาแนบดิน ประกอบกับความจน เมื่อล้มจึงล้มลงบนพื้น อยากเงยหน้ามองผืนฟ้าให้ชัดเพียงใด ก็มองเห็นแค่ดอกยางใต้รองเท้าของผู้มีอำนาจ
เพราะว่าจนจึงวิ่งตามความฝันได้ยากกว่า
เพราะว่าจนจึงถูกเอาเปรียบได้ง่ายกว่า
และเพราะว่าจน จึงไม่มีสิทธิ์อ้าปากเรียกร้องจาก “ผู้มีพระคุณ”
แม้มนต์รักทรานซิสเตอร์จะทำหน้าที่ตีแผ่ชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนในเมืองหลวงท่ามกลางสังคมซึ่งเต็มไปด้วยอำนาจนิยมได้อย่างถึงทรวง แต่คงนับว่าโชคดีไม่น้อยที่แผนเป็นแค่ตัวละคร แผนที่ผิดแผน จึงเป็นเพียงแผนที่ถูกสร้างขึ้น
แต่ในความเป็นจริงยังมีชายไทยอีกหลายคนที่ชีวิตต้องผิดแผนจนยากจะย้อนกลับไปแก้ไข เพียงเพราะการบังคับให้เกณฑ์ทหารของสังคมไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นฤดูเกณฑ์ทหารที่มักจะพบเห็นภาพคนเป็นลมล้มพับลงไปที่พื้นเนื่องจากจับสลากได้ใบแดง เพราะนั่นหมายถึงการต้องจ่ายเวลาชีวิตของเขาราว 2 ปีในค่ายทหาร
ทั้งที่ในปัจจุบันการเกณฑ์ทหารอาจไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป เนื่องจากความต้องการทหารที่กองทัพบกประกาศในแต่ละปีมีจำนวนสูงกว่าความจำเป็นเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยกองทัพต้องการทหารปีละราว 100,000 คน ซึ่งจะได้มาจากการบังคับเกณฑ์ทหารประมาณปีละ 60,000 คน และแบ่งเป็นผู้สมัครใจเป็นทหารอีกประมาณปีละ 40,000 คน
แต่เมื่อสำรวจสัดส่วนทหารที่มีอยู่เดิมกับประชากรไทย โดยเทียบกับตัวเลขของประเทศรอบข้าง พบว่าไทยมีจำนวนทหารที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ค่อนข้างมาก ซึ่ง ThaiArmedForce เว็บไซต์ด้านข้อมูลและความเคลื่อนไหวทางทหาร ความมั่นคง และการบินของไทยได้รายงานไว้ในปี 2564 ว่า อัตราส่วนของคนไทย 1,000 คนจะมีทหาร 5.4 คน ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย จากประชากร 1,000 คนจะมีทหาร 1.48 คน และประเทศฟิลิปปินส์ จากประชากร 1,000 คนจะมีทหาร 1.29 คน
ส่วนประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่กว่าไทย และมีสัดส่วนกองทัพต่อประชากรสูงกว่าไทย ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในสภาวะสงครามทั้งทางเทคนิคและทางปฏิบัติ เช่น รัสเซีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ อิหร่าน และเมียนมา
การมีอยู่ของระบบเกณฑ์ทหารจึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปเพื่อดำรงอำนาจนิยมในสังคมหรือไม่ เนื่องจากค่ายทหารคือพื้นที่ที่คำสั่งและลำดับขั้นทางอำนาจสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จนมีหลายกรณีที่ทหารชั้นผู้น้อยถูกทำร้ายจนเสียชีวิต โดยข้อมูลจากประชาไทรายงานว่าตั้งแต่ปี 2552-2560 มีทหารและทหารเกณฑ์เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ศพ และมีถึง 4 ศพ ที่มีสาเหตุมาจากการถูกซ้อมทรมาน
แม้จะไม่ใช่ชายไทยทุกคนที่ต้องทิ้งชีวิตไว้ในค่ายทหาร แต่ผู้ชายวัย 20 กว่าซึ่งกำลังสร้างรากฐานเพื่อเติบโตแทบทุกคนต้องถูกระบบบังคับเกณฑ์ทหารเข้ามามีบทบาทในชีวิต ดังนั้นการตั้งคำถามเพื่อหาทางออก ให้กับระบบเดิมๆ ที่ยังคงต้องการการตรวจสอบจึงเป็นเรื่องจำเป็น
เพื่อไม่ให้ชีวิตของใครต้องเสี่ยงผิดแผนอีกต่อไป