Writings

คุยกับ ณัชพล การวิวัฒน์ : ชีวิตการเรียน โอกาส และความฝันของนักศึกษาพิการผู้รักในคอมพิวเตอร์

เรื่องและภาพ : ปาณิสรา ช้างพลาย

คนพิการหลายคนมีความฝัน ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากคนในสังคม การได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ไปจนถึงการมีอาชีพรองรับในอนาคต ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงฝันนั้นได้ ด้วยระบบโครงสร้าง หรือนโยบายทางสังคมที่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิการได้ไม่เต็มที่ หรือครอบคลุมมากพอ บวกกับทัศนะคติของคนในสังคมบางส่วนที่พร้อมจะปิดประตูความฝันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ด้วยแนวคิดที่ว่า คนพิการนั้นมี ‘ข้อจำกัดทางร่างกาย’ บ่อยครั้งจึงไม่แม้แต่จะหยิบยื่น ‘โอกาส’ ให้พวกเขาได้ลองทำดูก่อน  

ณัช-ณัชพล การวิวัฒน์ นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 คือคนพิการทางสายตาที่มีความสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ปัจจุบันนอกจากเรียนหนังสือแล้ว เขายังเริ่มทำงานในตำแหน่งวิศวกรรมซอฟแวร์ (software engineer) ของบริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยคนพิการ ผ่านการเขียนและพัฒนาระบบบนคอมพิวเตอร์ เพื่อมอบโอกาสการทำงานให้กับคนพิการด้วยกัน ซึ่งถ้าหากว่ากันตามตรงแล้ว เราอาจไม่ค่อยได้เห็นคนพิการในไทยประกอบอาชีพที่มีความยุ่งยากซับซ้อน หรืออาศัยทักษะขั้นสูงแบบนี้เท่าไรนัก   

Varasarnpress ชวนสนทนากับณัชในประเด็นเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ตลอดจนความฝัน และสิ่งที่อยากให้สังคมสนับสนุนคนพิการให้มีโอกาสได้ทำตามความฝันนั้น

“ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่คนพิการด้วยกันมองว่าคนพิการทำได้ แต่สังคมหรือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองแบบนั้น เลยไม่ได้ให้โอกาสเราในการทำสิ่งต่างๆ ”

คุณณัชกล่าวขณะให้สัมภาษณ์

การให้โอกาสคือการเชื่อมั่นในศักยภาพของคนพิการว่าข้อจำกัดเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เราหลายหลาย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝัน และเดินตามเส้นทางเพื่อไปสู่ฝันนั้นโดยไม่ควรมีใครมาบอกว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ 

เริ่มให้ความสนใจกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วกลายมาเป็นสาขาที่เลือกเรียนได้ยังไง

เริ่มจากช่วงมัธยมที่ได้หัดเล่นคอมพิวเตอร์แบบจริงจัง ได้ลองเขียนโค้ด (code) ก็เลยรู้ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ ถึงคนอื่นจะมองว่าเป็นเรื่องที่ยากหรือน่าเบื่อ แต่เรากลับมองว่ามันสนุก เลยอยากเรียนและทำงานต่อในสายนี้ เพราะเราคิดว่างานที่ดีคืองานที่ทำแล้วสามารถสนุกกับมันได้ เราศึกษาเกี่ยวกับการเขียนโค้ดด้วยตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็มีบางจุดที่ยังไม่เข้าใจ เพราะการเรียนด้วยตัวเองมันไม่เหมือนกับการมีสื่อการสอนที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น พอได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว เราก็จะถูกสอนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงทุกเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ ข้อมูลมันก็จะแน่นและเข้าใจได้ง่ายกว่าการมานั่งศึกษาเอง อีกทั้งการเรียนในคณะก็ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นในแง่ที่ว่า เรารักในสิ่งที่กำลังเรียนอยู่จริงๆ หรือเปล่า

อะไรที่ทำให้เราตัดสินใจเข้าธรรมศาสตร์

เราได้มาร่วมงานเปิดบ้านของธรรมศาสตร์ ก็พบว่าที่นี่ยังไม่เคยรับคนตาบอดที่เรียนวิศวะมาก่อน แต่ส่วนใหญ่ที่อื่นเขาก็ไม่ได้รับเหมือนกันเลยไม่ได้คิดมากในส่วนนี้เราก็ลองสมัครดู และอีกปัจจัยที่เลือกธรรมศาสตร์ก็คือตอนนั้นมีค่ายแนะแนวแนะนำน้องของชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์ ที่จัดขึ้นเพื่อแนะนำน้องพิการช่วงวัยมัธยมในการเตรียมความพร้อมเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากที่ไปเข้าร่วมแล้วเราก็รู้สึกชอบในสังคมธรรมศาสตร์ ดูอบอุ่นดี อย่างน้อยที่สุดถ้าสอบเข้ามาได้ก็มีรุ่นพี่ที่รู้จักอยู่ แต่ที่อื่นเราไม่รู้จักใครมากเท่าที่นี่

ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีวิธีเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

เรารู้ตัวเองตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นแล้วว่าสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ มันเลยมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างมาก ซึ่งในมหาวิทยาลัยจะเริ่มสอนเนื้อหาตั้งแต่ระดับพื้นฐานสุด เพราะเพื่อนหลายคนที่เข้ามายังไม่เคยเขียนโค้ดมาก่อน เลยมองว่าถ้ามีพื้นฐานด้านการเขียนโค้ดมาบ้างก็จะได้เปรียบนิดหนึ่ง นอกจากนี้เราก็เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย เช่น ในโรงเรียนจะมีแข่งขันตอบคำถามเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือกิจกรรมสำหรับคนพิการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็ไปสมัคร แล้วเอาเกียรติบัตรเหล่านั้นมารวมเป็นพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งสุดท้ายก็ได้ใช้เพราะเราสมัครในรอบพอร์ตแล้วก็ติดเลย

การเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยในไทย มีข้อกังวลอะไรที่คิดว่าจะต้องเจอไหม

เรามองมหาวิทยาลัยที่เด่นด้านวิศวะคอมพิวเตอร์อยู่หลายที่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งในหลายๆ ที่ก็ไม่ค่อยมีคนพิการไปเรียน ทำให้สื่อการสอนหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อคนพิการมีไม่พอที่จะรองรับความต้องการมากขนาดนั้น อีกประเด็นคือเรื่องสังคมเพื่อน เพราะคนพิการที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยอื่นมีอยู่แค่หลักหน่วยถึงหลักสิบต้นๆ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับธรรมศาสตร์ที่มีนักศึกษาพิการเรียนอยู่ประมาณ 60 คนขึ้นไป 

facility หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ธรรมศาสตร์จัดสรรให้มีอะไรบ้าง และเป็นประโยชน์กับคุณมากน้อยแค่ไหน

เราได้ใช้พวกอุปกรณ์ให้ยืมต่างๆ เช่น ไม้เท้าที่ใช้ในการเดินทาง โดยจะมี 2 แบบหลักๆ คือแบบพับกับแบบสไลด์ แบบสไลด์จะมีขนาดที่เล็ก เบา เลยใช้งานได้สะดวกกว่า แต่หาซื้อได้ยากและมีราคาแพงกว่ามาก ซึ่งเป็นแบบที่ที่นี่มีให้ยืม อีกอย่างคือมีเรื่องของการผลิตสื่อการเรียนการสอนต่างๆ แต่ส่วนตัวเราไม่ได้ขอความช่วยเหลือด้านนี้เท่าไหร่ เพราะมันต้องใช้เวลาในการผลิตพอสมควร เช่น สื่ออักษรเบรลล์ที่ต้องใช้เวลาทำเยอะจริงๆ ถึงจะมีโปรแกรมช่วยแปลงแต่ก็อาจจะมีตัวอักษรตกบรรทัดบ้าง เรียงหน้าไม่ตรงบ้าง สุดท้ายก็ต้องใช้คนมาจัดหน้าเองทุกเราเลยเลือกที่จะไม่ใช้เพราะพยายามไม่ให้ปัญหาคอขวดในเรื่องเวลาไปอยู่ที่คนอื่น

คิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านไหนที่ควรปรับปรุงมากที่สุด เพื่อให้คุณใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น

เรื่องทางเดิน ทางที่ใช้เดินปกติมันเดินค่อนข้างยาก แต่ทางที่เดินสะดวกดันเป็นทางของรถจักรยาน เราเองก็มักจะเดินบนทางนี้ แต่ก็ต้องหลบๆ นิดหนึ่ง ถ้าจักรยานมาไวก็อาจจะโชคร้ายได้ มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ เลยคิดว่าควรจะมีช่องหนึ่งที่ทำให้เดินได้สะดวกไปเลย ไม่ต้องเป็นทางเดินคนพิการก็ได้ ขอแค่เป็นทางที่เรียบ ตรง ไม่ตกขอบด้านข้างลึกๆ ก็โอเคแล้ว ดูเป็นอะไรที่จับต้องได้และน่าจะแก้ได้ง่ายสุดแล้วนะ

เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเองบ้างไหม

เคยล้มครั้งหนึ่งที่แยกไฟแดงตรงโรงอาหารกรีน มันจะมีขั้นตรงสัญญาณไฟจราจรที่ไม่เสมอกัน แล้วก็เคยเดินเฉียดๆ รถจักรยานอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไร (หัวเราะ)

การเรียนการสอนในคณะเป็นยังไง มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง

มีเรื่องของสื่อ จริงๆ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดได้ไม่จบ เพราะคงเป็นปัญหาในทุกๆ ที่ แม้แต่กับคณะที่มีคนตาบอดเรียนอยู่หรือจบไปหลายคนแล้วก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นคณะที่ไม่เคยรับคนตาบอดเข้าเรียนมาก่อนเลยยิ่งเป็นปัญหาหนัก ทำให้เราต้องไปคุยกับอาจารย์ทีละคน และหาทางจัดการเองว่าวิธีการเรียนการสอนในแต่ละวิชาควรจะเป็นอย่างไร เช่น บางวิชาจะเปลี่ยนจากเลคเชอร์ปกติเป็นแบบที่เราสามารถเข้าถึงได้ มีการคุยกันว่าแบบนี้อ่านได้ไหม บางวิชาก็ใช้วิธีมาอธิบายเพิ่มเติมนอกชั้นเรียนแทน มันก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละคนด้วยว่าสามารถช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน บางคนสอนแค่ 1-2 วิชาก็จะมีเวลาช่วยเหลือได้เยอะหน่อย บางคนที่สอนหลายๆ วิชาก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่อย่างน้อยก็พอให้เราเข้าถึงเนื้อหาที่เรียนอยู่ได้บ้าง และก็มีบางวิชาที่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทำให้อะไรที่เราเข้าไม่ถึงก็เข้าไม่ถึงอยู่อย่างนั้น แต่ก็ต้องผ่านมันไปให้ได้

อย่างนี้ก็แปลว่ากลายเป็นเราที่ต้องขวนขวายเอง เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่มีมาตรฐานมากำหนดให้เราเข้าถึงได้เหมือนๆ กันทุกวิชา

ใช่ เพราะอย่างที่บอกมันเริ่มจากศูนย์ เลยไม่ได้กำหนดมาตรฐานอะไรมาตั้งแต่แรก เราก็คาดเดาได้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาเรียนอยู่แล้วว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อยที่อาจารย์ทุกวิชาจะสนับสนุน ในหนึ่งเทอมอาจจะมีแค่ 1-2 วิชาที่อาจารย์ช่วยเหลือเต็มที่ และมีอีกหลายวิชาที่เขาไม่ช่วยเหลืออะไรเราเลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการคุยกันด้วยว่าเรากล้าคุยกับเขามากน้อยแค่ไหน เวลาที่คุยกับอาจารย์เราก็ต้องลองคิดทางแก้มาเสนอว่าเราต้องการอะไร อาจจะเป็นทางที่รบกวนอาจารย์ไม่มากและแก้ปัญหาได้จริง แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เป็นคนวิเคราะห์วางแผนเอง เพราะมันคือปัญหาของเราเอง         

สิ่งที่คุณกำลังเรียนหรือทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ถือได้ว่าเข้าใกล้ความฝันของตัวเองมากน้อยแค่ไหนแล้ว

ตอนนี้ความฝันเป็นจริงได้ประมาณ 90% แล้ว ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมาความฝันที่คิดไว้คือการได้เรียนในสิ่งที่ชอบและจบไปทำงานตรงสาย ซึ่งก็ทำสำเร็จหมดแล้ว ทั้งการได้เรียนต่อในคณะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการได้รับโอกาสลองทำงานในสายนี้ตั้งแต่ช่วงปีก่อน จะเหลือก็แต่การเรียนให้จบ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ปี 4 แล้ว รู้สึกดีใจนะที่สุดท้ายมันก็เป็นสิ่งที่เรารักและเลือกมาเรียนเอง โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากใคร หรือมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจทั้งนั้น

ความพิการทางสายตาเป็นข้อจำกัดอะไรในสายอาชีพที่คุณอยากทำหรือเปล่า

เป็นอยู่เหมือนกัน บางเรื่องเราทำไม่ได้ในสายอาชีพนี้ เช่น การทำกราฟิกจะเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เรามี แต่มันก็ดีอย่างเสียอย่าง เพราะสิ่งที่เรามี คนอื่นๆ ที่ทำกราฟิกก็ทำอย่างเราไม่ได้ คือเรามีข้อมูลเชิงลึก (insight) เรื่องการเข้าถึงคนพิการ เพราะฉะนั้นแม้ว่าสไตล์การออกแบบของเราอาจทำออกมาได้ไม่สวยนัก แต่รับรองว่าคนพิการสามารถเข้าถึงสื่อที่เราทำได้ ส่วนการทำงานในด้านอื่นๆ เราไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่อาจจะมีรูปแบบการทำงานที่ต่างจากคนอื่นไปบ้าง เช่น เวลาจะอ่านระบบฐานข้อมูล บางคนจะมองภาพที่เป็นกราฟแล้วอ่านเอาได้เลย แต่เราจะต้องแปลงจากภาพมาเป็นข้อความก่อนเพื่ออ่านจากตัวอักษรแทน ถึงวิธีการจะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถเข้าใจตรงกันได้

คิดว่าสังคมควรส่งเสริมหรือสนับสนุนคนพิการในด้านใดอีกบ้าง เพื่อให้คุณและอีกหลายๆ คนมีโอกาสได้ทำตามความฝันของตัวเองต่อไป

อยากให้สังคมลองให้โอกาสกับคนที่มีความตั้งใจจริงในการทำอะไรสักอย่าง เพราะสุดท้ายไม่ว่าผลมันจะออกมาเป็นยังไง อย่างน้อยๆ เขาก็มีโอกาสได้ลองทำแล้ว ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่คนพิการด้วยกันมองว่าคนพิการทำได้ แต่สังคมหรือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองแบบนั้น เลยไม่ได้ให้โอกาสเราในการทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะด้านอาชีพ หรือด้านการเรียนก็ตาม 

สุดท้ายถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร ลองพิสูจน์ดูก่อน จะได้ไม่ต้องคาใจว่าคนพิการสามารถทำเรื่องนั้นๆ ได้จริงรึเปล่า  เพราะมันก็คงมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ถ้ามันสำเร็จขึ้นมาจริง การที่เราให้โอกาสเขามันก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ส่วนถ้าล้มเหลว เราก็แค่หาความสำเร็จใหม่ที่ต้องการ จะได้รู้ว่าเรื่องนี้มีปัญหาอะไร และได้รู้ตัวเองว่าเราทำได้หรือไม่ได้จริงๆ จากการได้รับโอกาสในการทำสิ่งนั้นๆ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
7
Love รักเลย
4
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Articles

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง “วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…” เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save