เรื่องและภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์
การสันทนาการในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่หรือไม่?
สันทนาการ หรือ นันทนาการ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด ดังนั้นในการจัดกิจกรรมใดขึ้นมาเลยมักมีการนำการสันทนาการมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรม แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีข้อจำกัดเรื่องการจับกลุ่มหรือรวมตัว และมีการรณรงค์ให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้เกิดการปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ผู้คนห่างหายจากการรวมตัวทำกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์
ต่อมาหลังจากหมดยุคโควิด-19 ผู้คนก็เริ่มออกมาใช้ชีวิตกันอย่างเต็มที่และเริ่มหันกลับมาทำกิจกรรมกันมากขึ้น ในรั้วมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากออนไลน์มาเป็นออนไซต์ ทำให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมพบปะกันโดยตรงเหมือนก่อน เช่น งานปฐมนิเทศเพื่อนใหม่ของมหาวิทยาลัยหรือคณะต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อให้เฟรชชี่ได้มาเจอและทำความรู้จักกัน แต่เมื่อไม่เคยเจอกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือรู้จักกัน จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมบางอย่าง จัดขึ้นเพื่อมาทลายกำแพงของแต่ละคนและเชื่อมสัมพันธ์ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น
แน่นอนว่าหนึ่งในกิจกรรมคงไม่พ้น ‘การสันทนาการ’
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบทของสังคมเปลี่ยนไป แนวคิดในการทำกิจกรรมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “เพลงนี้สนุกนะ เคยร้องได้ แต่ตอนนี้ห้ามร้องแล้ว เพราะเนื้อเพลงมีเนื้อหาที่ Bully มากเกินไป” “ท่าเต้นนี้ก็เคยเต้นได้ แต่ปัจจุบันเต้นไม่ได้แล้ว เพราะมัน Sexual ไป” จึงทำให้เกิดคำถามว่า ‘กิจกรรมสันทนาการในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ไหม?’
เรามีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนชุมนุมสันทนาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ กองสันฯ ซึ่งเป็นชุมนุมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสันทนาการครบกระบวนการและเป็นทีมสันทนาการกลางของมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างช่วงสันทนาการของงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2566 ที่กองสันฯ ได้รับเชิญให้ไปจัดกิจกรรมในช่วงนี้ โดย ก้องกี้ พิเชษฐ์ ชายทวีป นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำสันทนาการรุ่นที่ 20 ได้มาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้
ขอบคุณภาพจาก Facebook : กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU)
คิดว่าการสันทนาการคืออะไร?
คิดว่าการสันทนาการเป็นการสร้างสีสันและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงเป็นการทำให้ทุกคนได้พูดคุยและสนิทกันมากขึ้น ด้วยเทคนิคของการสันทนาการเนี่ย ตั้งแต่ Ice Breaking ไปจนถึงจบกระบวนการ ทุกกระบวนการทำให้คนได้คุยกัน แล้วก็จะเริ่มคุยกันไปเรื่อย ๆ จนสนิทกันไป
ขอบคุณภาพจาก Facebook : กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU)
ในตอนที่เจอ ‘การสันฯ’ ครั้งแรก เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?
ตอนแรกเรารู้สึกกลัวการสันทนาการ เพราะรู้สึกว่ามันเสียงดังมาก มันเป็น culture shock สำหรับเราเลยก็ว่าได้ แต่ว่ามันทำให้เราอยากลองเป็นคนจับไมค์สันทนาการ เพราะเรารู้สึกว่ามันคือข้อท้าทายสำหรับเรา จริง ๆ เราทำสันทนาการมาตั้งแต่ม.ปลายแล้วนะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่านี้ แล้วก็คิดว่าเพราะเป็นคนชอบพูดด้วยมั้ง พูดไปเรื่อยแบบนี้เลยอาจจะเหมาะกับการจับไมค์
ขอบคุณภาพจาก Facebook : กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU)
คิดยังไงกับที่คนชอบบอกว่า การสันฯ เท่ากับ การเต้น
มันคือภาพจำที่เป็นมาตั้งนานแล้ว คนเข้าใจว่าการสันทนาการคือเสียงดนตรีแล้วก็เต้น เขาเรียกว่าความรู้ที่มันฝังรากลึกลงไป เราต้องทำให้คนรู้ว่ากระบวนการสันทนาการไม่ใช่แค่การเต้น หรือการเล่นดนตรี แต่ว่ามันคือกระบวนการทุกอย่างที่จะทำให้ทุกคนเกิดการปฏิสัมพันธ์ไปกับการสันทนาการด้วย
ขอบคุณภาพจาก Facebook : กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU)
แล้วคิดว่าปัจจุบันการสันทนาการยังจำเป็นอยู่หรือไม่?
สำหรับเราแล้ว ถ้าถามว่าปัจจุบันมันยังสำคัญและจำเป็นอยู่ไหม เราว่ามันอยู่ที่บริบทว่าจะสำคัญและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน คือบางอันมันไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการสันทนาการสร้าง Relationship สำหรับคนในงานนั้น ๆ แต่บางงานก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการการสันทนาการเข้ามาช่วยในการทำกิจกรรม
ขอบคุณภาพจาก Facebook : กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU)
มีวิธีอย่างไรในการปรับ ‘การสันฯ’ ให้เข้ากับปัจจุบัน?
อันดับแรกเลยเราจะดูคนที่เราจะไปสันฯ ว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นแบบไหน ต่อมาเราสามารถใช้เสียงดังได้มากน้อยเท่าไหร่ การถึงเนื้อถึงตัวสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ข้อห้ามต่าง ๆ ของแต่ละงาน มันจะเป็นการปรับไปในแต่ละงาน เราจะต้องดูว่า เฮ้ย มันเป็นแบบนี้นะ ต้องปรับอย่างไร การสันทนาการหรือการวางสคริปต์งานของเราเนี่ยจะออกมาในรูปแบบไหน แล้วก็ด้วยความที่เด็กในปัจจุบันด้วยเพิ่งหายจากโควิด เขาก็อยู่คนเดียวหรือว่าอยู่หน้าจอคอมมาโดยตลอด อาจทำให้เกิดภาวะ introvert ทำให้คนไม่ได้ต้องการหรืออยากเข้าสังคมอะไรขนาดนั้น ก็เลยต้องมีการปรับไปในแต่ละงาน
หลังจากได้ฟังสัมภาษณ์แล้ว ผู้เขียนคิดว่าการสันทนาการในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ จากตัวผู้เขียนเองซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ และได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงระหว่างตัวผู้เขียนกับเพื่อนในช่วงก่อนและหลังกิจกรรม ยิ่งเสริมให้มีความคิดที่ว่าการสันฯ ยังจำเป็น แต่ต้องระวังเรื่องความเหมาะสมของเนื้อเพลงที่อาจมีเนื้อหา Bully หรือท่าเต้นที่มีความ Sexual
เนื่องด้วยสังคมในปัจจุบันมีความกังวลและตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้มากขึ้น หากยังมีการใช้อาจสร้างความไม่พอใจและความไม่สบายใจแก่คนที่ได้รับการสันทนาการก็เป็นได้ ซึ่งยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่สร้างสรรค์และสามารถนำมาใช้ได้กับบริบทสังคมในปัจจุบัน เช่น หยิบยกตัวละครในภาพยนตร์ยอดฮิตมาแปลงตามฉบับผู้สันฯ เป็นต้น ในเมื่อสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของตัวผู้จัดกิจกรรมว่าจะสร้างสรรค์หรือปรับเปลี่ยนให้ออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้คนที่ได้รับการสันทนาการได้มีส่วนร่วม สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และได้รับความสุขความสนุกไปกับกิจกรรมที่ได้ทำ