MediaShot By ShotWritings

Finding Braille Block ธรรมศาสตร์แฟร์กับเบรลล์บล็อกที่หายไป

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

ระหว่างทางเดินจากประตูเชียงราก 1 เข้าไปยังงานแฟร์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังย่านรังสิต ปรากฏเส้นทางของแผ่นกระเบื้องจัตุรัสสีเหลืองกว้างราว 30 ซม. วางต่อกันยาวไปตามทางเท้า บ้างเป็นแผ่นที่สมบูรณ์ บ้างก็เป็นแผ่นที่แตกหัก ก่อนเส้นทางจะขาดหายไปอย่างไร้เหตุผล ทั้งที่ข้างหน้าไม่ใช่ทั้งทางม้าลาย บันได หรือประตูทางเข้า หากแต่เป็นทางลาด ก่อนแผ่นกระเบื้องจะเริ่มปูใหม่อีกครั้งถัดไปจากทางลาดนั้น 

แผ่นกระเบื้องสีเหลืองที่ว่าคือ ‘เบรลล์บล็อก’ (Braille Block) หรือ ‘ไกด์ดิงบล็อก’ (Guiding Block) เป็นแผ่นกระเบื้องนำทางสำหรับคนพิการทางการเห็นที่ใช้ไม้เท้าขาว หากลองสังเกต จะพบว่าพื้นผิวของบางแผ่นมีลักษณะเป็นเส้นยาวเรียงกัน หมายถึงเดินต่อไปได้ตามแนวของเส้น ส่วนพื้นผิวของบางแผ่นมีลักษณะเป็นจุดเรียงตัวกระจายกัน หมายถึงให้หยุดหรือระวังทางข้างหน้า เพราะอาจเป็นทางข้าม ทางต่างระดับ หรือบอกให้เปลี่ยนทิศทาง

เมื่อปี 2563 ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘ธรรมศาสตร์ + เบรลล์บล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม’ ขึ้น เพื่อพูดคุยถึงประเด็นความเท่าเทียมของคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการทางการเห็น ในงานเสวนามีการแลกเปลี่ยนความเห็นจากคนพิการ เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้และพัฒนาสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่ศูนย์รังสิตและศูนย์ท่าพระจันทร์ให้เหมาะสมขึ้น

เบรลล์บล็อกเหล่านี้จึงพบเห็นได้ทั่วไปตามทางเท้าในมหาวิทยาลัย ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ ‘เข้าใจ’ ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อการเดินเท้าของคนพิการทางการเห็นมาโดยตลอด

ทว่าเมื่อมาเริ่มสังเกต กลับพบว่าทางเท้าธรรมดาบางแห่งก็ยังไม่ได้เป็นมิตรกับทุกคน ทั้งทางเดินแคบบ้าง พื้นไม่เรียบบ้าง ปูอิฐบล็อกไม่เสมอบ้าง ชนิดที่ไม่ว่าใครก็คงต้องเคยเดินสะดุดกันสักครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า

แล้วทางเบรลล์บล็อกที่มีอยู่จะใช้งานได้จริงแค่ไหน?

และด้วย ‘สภาพ’ ทางเท้าเช่นที่กล่าวไป  ธรรมศาสตร์ก็ยังจัดงานแฟร์ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก ‘ธรรมศาสตร์แฟร์ ครั้งที่ 1’ (Thammasat Fair 1st ) จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘FAIR’ (Food Art Innovation Relax) ดึงดูดคนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก มากเสียจนต้องเดินเบียดกันบนทางเดินแสนแคบที่ถูกร้านค้าขนาบทั้งสองข้าง ยิ่งกว่านั้นทางเบรลล์บล็อกบางช่วงยังถูกกินที่ไปจนหมด ทั้งจากร้านค้าต่างๆ รถจักรยานยนต์ที่จอดขวาง และคนยืนกินอาหาร จนชั่วขณะหนึ่งผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าเส้นทางเบรลล์บล็อกเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่ให้กลายเป็นเพียงเส้นกำหนดเขตร้านค้าไปแล้วหรือเปล่า…

‘กร’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นคนพิการทางการเห็น เล่าให้ฟังถึงการใช้ทางเบรลล์บล็อกในศูนย์รังสิตในวันธรรมดาว่า บางครั้งที่เดินคนเดียวก็จำเป็นต้องใช้ แต่ทางเบรลล์บล็อกในมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้มีสภาพสมบูรณ์ เช่น ตัวจุดหายไป หรือกระเบื้องแตกไป ทำให้ใช้อรรถประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ 

เช่นเดียวกับการจัดการทางเท้าโดยรวมในประเทศที่กรมองว่ายังจัดการได้ไม่ดีพอ เช่น ฟุตบาทในที่สาธารณะกลายเป็นที่ตั้งร้านค้า หรือที่จอดรถจักรยานยนต์ไป ทางเบรลล์บล็อกในไทยจึงอาจเรียกได้ว่า ‘มี แต่ไม่ได้คุณภาพ’ 

กรไปเดินงานธรรมศาสตร์แฟร์มาแล้ว 2 ครั้ง และให้ความเห็นว่า

“มันไม่ได้เอื้อต่อคนพิการทางการเห็นให้เดินคนเดียวได้ เพราะการจัดการร้านค้าทำให้ทางเดินแคบมาก พอคนเยอะก็ทำให้เราไม่สามารถพึ่งพาตนเองหรือไปคนเดียวได้ อีกอย่าง ถ้าจะใช้ไม้เท้าขาวในงาน มันก็ไม่ได้สะดวกขนาดนั้น เว้นแต่ไปกับเพื่อนที่มองเห็นปกติ ซึ่งเราก็ทำแบบนั้น เพราะถ้าไปคนเดียวคงหลงทาง”

กรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ด้วยรูปแบบของงานจึงทำให้ฝ่ายผู้จัดงานอาจไม่ได้นึกถึงว่าคนพิการทางการเห็นจะมาเดินงานทุกวัน อาจคิดว่าคงมากับเพื่อน หรือบางทีอาจไม่ได้นึกถึงเลย

สำหรับการแก้ปัญหาทางเบรลล์บล็อก กรเสนอว่า ทางมหาวิทยาลัยควรจัดการทางเท้าทั่วไปให้ดีเสียก่อน เช่น พื้นต้องเรียบเสมอกัน แล้วค่อยมาจัดการทางเบรลล์บล็อกซึ่งมีคนใช้น้อยกว่า เพราะถ้ายังทำทางเท้าปกติให้ดีไม่ได้ เบรลล์บล็อกก็คงจัดการให้ดีไม่ได้เช่นกัน

ถึงอย่างนั้น กรก็ยังคิดว่า ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการมากที่สุด และอาจดีที่สุดในประเทศ แต่เมื่อเทียบกับระดับสากลก็คงไม่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุด

ด้วยเรื่องราวดังที่กล่าวไป ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาลองสังเกตและตั้งคำถามถึงทางเบรลล์บล็อกและทางเท้าในงานธรรมศาสตร์แฟร์ครั้งนี้ ไปพร้อมกับ Photo Essay ‘Finding Braille Block ธรรมศาสตร์แฟร์กับเบรลล์บล็อกที่หายไป’ และร่วมกันหาคำตอบว่าการจัดการทางเท้าในงานครั้งนี้นำมาซึ่งความ ‘เท่าเทียม’ ของทุกคนจริงไหม หรือเป็นความเท่า ‘เทียม’ เพียงเท่านั้น

ปัญหาของทางเบรลล์บล็อกที่พบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งปัญหาความต่อเนื่องของเส้นทาง และความสมบูรณ์ของกระเบื้อง

 

 

สภาพทางเบรลล์บล็อกช่วงก่อนและในเวลาที่คนร่วมงานหนาแน่น พบปัญหารถจักรยานยนต์จอดขวางทางเดินเท้าและทางเบรลล์บล็อก

 

ปัญหาการจัดการขยะที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ทางเบรลล์บล็อก

 

ร้านค้าตั้งอุปกรณ์ประกอบอาหารที่มีความร้อนทับทางเบรลล์บล็อก

 

 

ทางเบรลล์บล็อกถูกเปลี่ยนหน้าที่จากกระเบื้องนำทางคนพิการทางการเห็นสู่กระเบื้องกำหนดเขตร้าน และด้วยการจัดการร้านค้าที่ไม่ดี ทำให้คนพิการทางการเห็นไม่สามารถเดินงานเพียงคนเดียวโดยใช้ไม้เท้าขาวได้

รายการอ้างอิง

thisAble.me. (4 เมษายน 2018). ไขรหัสบนทางเท้า เบรลล์บล็อกคืออะไร? เข้าถึงได้จาก thisable.me: https://thisable.me/content/2018/04/402

กรุงเทพธุรกิจ. (19 มีนาคม 2024). ปักหมุดเที่ยวงาน ธรรมศาสตร์แฟร์ ครั้งที่ 1 จัดเต็ม 12 วัน 12 คืน ห้ามพลาด! เข้าถึงได้จาก bangkokbiznews.com: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/travel/1116965

ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง. (6 ธันวาคม 2020). สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ธรรมศาสตร์ + เบรลล์บล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม”. เข้าถึงได้จาก law.tu.ac.th: https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-thammasat-braille-block/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Media

Media

ชวนมองปรากฏการณ์ความนิยม Unsung heroes ทำไมเราถึงสนใจเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไร้พลังวิเศษ

เรื่อง: พนิดา ช่างทอง วิดีโอ: พนิดา ช่างทอง, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ ชวิน ชองกูเลีย เรียบเรียง: พนิดา ช่างทอง . ...

Media

ชวนคุยกับพริก ‘ผู้ช่วยผู้กำกับ’ อาชีพเบื้องหลังความสำเร็จของงาน Production

เรื่องและวีดีโอ: ภัสรา จีระภัทรกุล . อาชีพผู้ช่วยผู้กำกับคงเป็นอาชีพที่หลายคนเคยได้ยินผ่านหูมามาก แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าอาชีพนี้ต้องทำอะไรบ้าง ทักษะและประสบการณ์แบบใดที่จะหล่อหลอมให้คนคนหนึ่งสามารถควบคุมคนอื่นหลายสิบคน และพากองถ่ายไปข้างหน้าจนสรรค์สร้างสื่อมากมายให้ได้รับชม . วันนี้ Varasarn press จะพาผู้ชมไปจับเข่าคุยกับ ‘พริก อภิชญา ...

Shot By Shot

แผงขายอาหารริมทาง (เท้า) ยามเช้า แผงเสบียงสีเทาราคาย่อมเยาของชาวออฟฟิศ

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ในเช้าวันเร่งรีบของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ เหล่ามดงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แทบจะไม่มีแม้แต่เวลาหยุดพักกินข้าวหรือมีเงินเดือนพอจะแวะกินร้านอาหารดีๆ ได้ตลอด สิ่งที่พอจะช่วยชีวิตให้ยังคงมีเงินเก็บอยู่ ก็คงเป็นอาหารประเภทที่สามารถซื้อและพกพาไปได้ในราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งก็คืออาหารจากรถเข็น หาบเร่ แผงลอยอาหาร หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และ ชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ...

Media

Bangkok Pride 2024 : เรื่องที่พาเหรดปีนี้อยากบอก

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . มองไปทางไหนก็เจอแต่สีรุ้ง!  เมื่อถนนถูกปิด เสียงดนตรีเร้าใจบรรเลงขึ้น และมวลชนสีรุ้งก็กำลังเคลื่อนตัว เป็นสัญญาณว่าพาเหรด Bangkok Pride 2024 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้คนต่างแต่งกายและแต่งแต้มเรือนร่างด้วยสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของ ...

Media

สัปเหร่อ: อาชีพผู้ปิดทองหลังพระ (เมรุ)

เรื่องและวีดีโอ: ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ปู่น้อย – บุญศรี ปริวันตา’ เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มชาวบ้านของหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะ ‘สัปเหร่อ’ ประจำหมู่บ้าน ปู่น้อยคอยทำหน้าที่ส่งร่างผู้ตายครั้งสุดท้ายสู่เถ้ากระดูก มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save