เรื่อง: ภัชราพรรณ ภูเงิน, ณฐนนท์ สายรัศมี และ ยลพักตร์ ขุนทอง
ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ, ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร, ยลพักตร์ ขุนทอง และ อชิรญา ปินะสา

‘งานธรรมศาสตร์แฟร์’ กลับมาอีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต แม้ว่าปีนี้งานจะใหญ่ขึ้น แต่ดูเหมือนว่าคนจะออกมาใช้จ่ายไม่เท่าครั้งก่อน ไม่รู้ว่าเพราะเศรษฐกิจแย่ หรืออะไรกันแน่ เมื่อกลายเป็นงานหินสำหรับพ่อค้าแม่ค้าไปแล้ว เห็นทีคงต้องงัดเอา ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’ มาช่วยสู้อีกแรง แน่นอนว่าสายมูมีอยู่ทุกวงการ พ่อค้าแม่ค้าในธรรมศาสตร์แฟร์ครั้งนี้จะมีทีเด็ดอะไรซ่อนอยู่ สำหรับใครที่อยากรู้ เราไปสืบมาให้แล้ว
ไร่นายก้อง (โซน ข)

เมื่อเดินผ่านร้าน ‘ไร่นายก้อง’ นอกจากน้ำข้าวโพดที่ดึงดูดใจให้อยากเดินเข้าไปซื้อ ตาของเราก็สะดุดเข้ากับอะไรบางอย่างที่วางอยู่บนหิ้งพระภายในร้าน เราเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนต้องเคยเห็นสิ่งนี้ผ่านตามาบ้าง นั่นคือ พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ทรงทอดปลาทู
หลังเข้าไปสอบถาม ‘พี่ครีม’ น้องสาวเจ้าของร้าน ก็พบว่า ไร่นายก้องบูชาสิ่งนี้เพื่อเสริมโชคลาภและความสำเร็จด้านการค้าขาย
ความเชื่อนี้สืบทอดกันมาช้านาน โดยเฉพาะในหมู่พ่อค้าแม่ค้า โดยพี่ครีมเองได้รับความเชื่อนี้มาจากครอบครัวของเธอ ทุกครั้งที่ค้าขาย เธอจะบูชาและขอพรกับพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ควบคู่ไปกับการไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่ที่ไปค้าขายเสมอ และตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เปิดร้านมา ไม่มีครั้งไหนเลยที่ท่านไม่ให้ตามคำขอ

ขนมเบื้อง ท่าพระ เจ้าเก่า (โซน J)

‘แปะโรงสี’ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ ‘พี่ก้อง’ เจ้าของร้านขนมเบื้อง ท่าพระ เจ้าเก่า บูชาอยู่ แม้จะเปิดร้านมากว่า 60 ปีแล้ว แต่การบูชาแปะโรงสีพึ่งถูกนำเข้ามาช่วง 10 ปีให้หลังโดยแฟนของพี่ก้อง ความเชื่อนี้เดิมเป็นของคนจีนโพ้นทะเล มีการเล่าต่อกันมาเรื่อยๆ ว่าช่วยเรื่องโชคลาภและการค้าขาย พี่ก้องและแฟนจึงได้ลองนำมาบูชาที่ร้านดู หวังให้ท่านช่วยเหลือ
พี่ก้องเล่าว่า ปกติแล้วตนเองไม่ใช่คนที่ชอบขออะไร นานๆ ครั้งจึงจะขอที แต่ทุกครั้งที่ขอก็มักสมหวังเสมอ จึงทำให้เชื่อมั่นในแปะโรงสี และบูชาต่อจนถึงปัจจุบัน

(น้ำพริก) จอห์น สู้ชีวิต (โซน D)

‘ยายจอห์น’ ขายน้ำพริกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองตั้งแต่สามีและลูกเสียชีวิต เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว เธอเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อให้ขายดี เธอเองก็เคยทำตาม ‘วิธีของคนอื่น’ มาบ้างเช่นกัน แม้จะไม่บ่อยครั้ง
หลังจากได้ทดลองทำมาหลายวิธี สุดท้ายแล้ว สำหรับยายจอห์น ไม่มีสิ่งใดเห็นผลไปมากกว่าการเริ่มต้นจากความคิดและจิตใจของเธอ จะขายดีหรือไม่นั้น ทุกอย่างล้วนอยู่ที่ ‘ใจ’ เธอเชื่อว่าหากทำใจให้สงบนิ่งได้ จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ‘สำหรับคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สำหรับยายมันเป็นอย่างนั้น’
โกหนิง – ชาใต้นิ (โซน V)

นอกจากรสชาติของชาใต้ที่กลมกล่อมแล้ว ร้านโกหนิง – ชาใต้นิ ยังมีเคล็ดลับอีกอย่าง ที่ช่วยเสริมความเฮงในเรื่องการค้าขาย
‘พี่หนิง’ เจ้าของร้านเล่าว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทำเพื่อดึงดูดโชคลาภคือ การบูชาเจ้าพ่อกวนอูและพระนเรศวร
เจ้าพ่อกวนอูเป็นสิ่งที่ครอบครัวพี่หนิงนับถือมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน อีกทั้งตัวพี่หนิงยังเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อกวนอูด้วย ทำให้ตนเองเคร่งครัดในการทำบุญและการบูชามาก
นอกจากเจ้าพ่อกวนอู พี่หนิงก็บูชาพระนเรศวรควบคู่กันไปด้วย เพราะมองว่าท่านทั้งสองต่างเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนให้ความเคารพ
ความเคร่งครัดทั้งในการพัฒนารสชาติและการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพี่หนิงไม่สูญเปล่า มันผลิดอกออกผลให้เขาได้เห็น เพราะนอกจากจะขายดี ลูกค้ายังติดใจถึงขนาดกลับมาซื้อซ้ำกันหลายคน


เสื้อวินเทจ – Up to you vintage style (โซน N)

หนึ่งในสินค้าที่มาขายในงาน นอกจากอาหารและเครื่องดื่มคือ ‘เสื้อผ้า’
‘พี่โด้’ เจ้าของร้านเสื้อผ้าสไตล์วินเทจเล่าว่าตัวเขาไม่เชื่อในอำนาจของสิ่งลี้ลับ แต่ว่าแฟนเชื่อ
‘พี่ปาล์มมี่’ แฟนสาวของพี่โด้จะ ไหว้น้ำแดง ในวันแรกของการค้าขาย เพื่อเป็นการขออนุญาตสถานที่ เธอเชื่อว่าจะช่วยให้ทำมาค้าขายดีขึ้น
แม้ว่าการมาธรรมศาสตร์แฟร์ในครั้งนี้จะขายได้ไม่ดีเท่าตอนไปขายที่งานอีสานเขียว แต่เขาก็เข้าใจว่าเป็นเพราะกลุ่มตลาดที่แตกต่างกัน และพี่โด้เชื่อว่ายอดขายครั้งนี้ไม่ดีเท่าครั้งที่แล้วเพราะมีร้านค้ามากระจายยอดเยอะขึ้น

COCO20 – น้ำมะพร้าว (โซน เชียงราก)

‘พี่นัตตี้’ พนักงานร้านน้ำมะพร้าวที่ตระเวนขายตามงานต่างๆ บอกกับเราตรงๆ ว่าครั้งนี้ยอดขายไม่ดีเท่าที่ผ่านมา
เธอเล่าว่าเจ้าของร้านไม่ค่อยสนใจบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ตัวเธอเองนั้นตรงกันข้าม
แม้จะไม่ใช่เจ้าของ เธอ ไหว้แม่ย่านางร้านด้วยพวงมาลัย เพราะเชื่อว่าในสถานที่ที่ไปค้าขายจะมี เจ้าที่เจ้าทาง คอยปกปักรักษาอยู่ จึงไหว้ทุกครั้งเพื่อขอให้ท่านช่วยเปิดทางให้
เธอคิดว่าที่ยอดขายไม่ดี ไม่ได้เป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะร้านตั้งอยู่ในทางที่มีคนเดินน้อย

โตมากับนม (โซน Y)

‘พี่นุ้ย’ เจ้าของร้านโตมากับนม ที่มีสาขาหลักอยู่ที่ตลาดนัดรวมของกินชื่อดังอย่างตลาดเซฟวันโกเล่าว่า เธอ ไหว้เจ้าที่มาจากบ้านก่อนออกมาค้าขายเป็นปกติอยู่แล้ว และเนื่องจากทำเลร้านของเธอในงานธรรมศาสตร์แฟร์นั้นตั้งอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ แม่ของเธอจึงแนะนำให้ไหว้นางไม้และเจ้าที่เจ้าทางด้วย เชื่อว่าจะช่วยเปิดทรัพย์และเปิดทางทำมาหากิน นอกจากนี้เธอยังสวม กำไลข้อมือปู่องค์ดำ เป็นเครื่องรางติดตัว โดยจะบอกให้ปู่ช่วยเรียกลูกค้า ให้ทำมาค้าขายคล่องอยู่เสมอๆ

สถานีเครื่องดื่ม By โบ (โซน R)

เดินในงานท่ามกลางความร้อนของอากาศ การเจอร้านน้ำที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าจึงเป็นขุมทรัพย์ ร้านนี้เป็นร้านขายเครื่องดื่มที่จัดวางร้านได้อย่างโดดเด่น มีเครื่องดื่มหลากหลายชนิดวางเรียงกันเป็นตั้ง ๆ เพื่อรอช่วยดับกระหายผู้คนที่มาเดินในงาน เมื่อพูดคุยกับ ‘พี่โบว์’ เจ้าของร้าน เพื่อถามถึงเคล็ดลับการค้าขาย เธอบอกว่าโดยปกติเวลาค้าขายจะไหว้ พระแม่ลักษมี เสมอมา ถึงแม้ว่าพระแม่จะโด่งดังจากการขอพรเรื่องความรัก แต่จริงๆ แล้วพระแม่เป็นเทวีแห่งโชคลาภและความร่ำรวย เธอเล่าว่าปกติเธอจะเข้าไปขอด้วยตัวเองที่ศาลของพระแม่ แต่บางครั้งถ้าไม่สะดวกไปก็จะไหว้พระแม่ออนไลน์ผ่านร้านที่รับฝากไหว้และมีชุดของไหว้ให้เลือกตามวัตถุประสงค์ของการขอพรได้เลย
เมื่อสังเกตเห็นพวงมาลัยที่คล้องอยู่หน้าร้าน จึงได้สอบถามถึงที่มาที่ไป ทำให้พบว่านอกจากตัวพี่โบว์ คุณแม่ของเธอที่มาช่วยเธอขายเครื่องดื่มในงานก็มีความเชื่อในเรื่องการ ไหว้เจ้าที่เจ้าทางในสถานที่นั้น ๆ เพื่อขอให้ท่านเปิดทางทำมาหากิน ให้ร้านเป็นที่พบเห็นได้ให้ด้วย
แม้หลายร้านจะมี ‘ของดี’ เป็นของตัวเอง แต่ในงานธรรมศาสตร์แฟร์ประจำปี 2568 ครั้งนี้ พ่อค้าแม่ค้าต่างพูดกันเซ็งแซ่ว่ายอดขายซบเซากว่าปีที่ผ่านมา แบบนี้ เคล็ด (ไม่) ลับของพ่อค้าแม่ค้าสายมูทั้งหลายจะเอาชนะพิษเศรษฐกิจได้ไหม จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามชม