เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง

Spoiler Alert : บทความนี้มีการสปอยเนื้อหาของ The Evil Within, The Evil Within DLC: The Assignment, The Evil Within DLC: The Consequence, The Evil Within : The Executioner และ The Evil Within 2
TW: ภาพประกอบบทความมีเลือดและอาจทำให้รู้สึกขยะแขยง
.
ผมฝันร้ายครั้งแรกสมัยมัธยมต้น มันเป็นช่วงที่ผมเริ่มดูช่องยูทูปของคนไทยที่มาเล่นเกมให้ดู ทั้งเกมแอคชัน เกมผจญภัย เกมแก้ปริศนา และแนวเกมที่เจ้าของช่องเล่นน้อยที่สุด ‘เกมผี’
แม้คลิปที่ดูล่าสุด จะเป็นเกมผีที่ผู้เล่นสามารถสู้กลับได้ แต่ด้วยบรรยากาศของเกม เพลงประกอบที่หลอนหู และลักษณะของศัตรูที่ค่อนข้างน่ากลัว เลยไม่ยากที่สิ่งเหล่านี้จะติดอยู่ในหัวของผม แม้ตอนที่นอนหลับ
ผมฝันว่าวิ่งอยู่ในโรงพยาบาลแถวบ้าน ไม่มีผู้คน ไม่มีของอะไรอยู่เลย มีเพียงแสงไฟตามทางที่กำลังชี้ให้ผมวิ่งไปข้างหน้า ในขณะที่มีเสียงเลื่อยไล่ตามผมมา ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิ่งไปนานขนาดไหน รู้ตัวอีกทีก็สะดุ้งตื่นมากลางดึก ตัวชุ่มไปด้วยเหงื่อ แม้จะอยู่ในห้องแอร์ที่อุณหภูมิ 24 องศา
ผมรีบหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาค้นหาชื่อคลิปที่เพิ่งดูไป และมันก็ทำให้ผมจำชื่อของมันได้ขึ้นใจ…‘The Evil Within’
.
จุดเริ่มต้นของฝันร้าย
‘เซบาสเตียน แคสเตลลานอส’ นักสืบจากสำนักงานตำรวจเมืองคริมสัน ได้รับรายงานว่าเกิดเหตุคดีฆาตกรรมที่โรงพยาบาลจิตเวชบีคอน เขาและเพื่อนร่วมทีม ‘โจเซฟ โอดะ’ ‘จูลี่ คิดแมน’ และ ‘ออสการ์ คอนเนลลี’ ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุและพบเจอกับภาพอันน่าสยดสยอง

ภาพประกอบจาก : https://www.ign.com/videos/the-evil-within-walkthrough-chapter-1-an-emergency-call-part-1
เมื่อพวกเขาได้พบกับ ‘ลูวิค’ ผู้ป่วยปริศนาพร้อมผ้าคลุมสีขาวที่เลอะไปด้วยเลือด ทั้งทีมก็ถูกดึงเข้าไปในโลกแห่งความฝัน และต้องเจอกับอันตรายมากมาย ทั้งมนุษย์เสียสติ ปีศาจตัวใหญ่ถือเลื่อยยนต์ แมงมุมยักษ์ รวมไปถึงสมองขนาดใหญ่ เขาต้องตามหาความจริงให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะต้องหาทางออกไปจากฝันร้ายนี้ให้ได้

.
นั่นคือเรื่องราวโดยย่อของ ‘The Evil Within’ เกมจาก ‘Tango Gameworks’ ค่ายเกมแดนอาทิตย์อุทัย ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2014 กับฝีมือการกำกับของ ‘ชินจิ มิคามิ’ เจ้าพ่อเกมสยองขวัญเอาชีวิตรอด ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้กับเกมระดับตำนานอย่าง ‘Resident Evil’
ตัวเกมเป็นแนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด หรือ Survival Horror โดยเกมมีลักษณะเป็นเส้นตรงและเล่นผ่านไปในแต่ละบท เรามีหน้าที่บังคับตัวละครเอกอย่าง ‘เซบาสเตียน’ เพื่อกำจัดศัตรูระหว่างทางและผ่านพื้นที่นั้นไปให้ได้ โดยจะมีอาวุธให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะปืนพก ปืนลูกซอง หน้าไม้ หรือแม้กระทั่งขวานที่เก็บได้จากศัตรู

ด้วยความที่เป็นเกมแนวเอาชีวิตรอด เกมจะให้กระสุนในการจัดการศัตรูมาเพียงน้อยนิด (ย้อนแย้งกับจำนวนปืนที่เรามี) ซึ่งหากจะเคลียร์ศัตรูทั้งหมดในพื้นที่อาจทำไม่ได้ เนื่องจากกระสุนไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องคิดวิธีที่จะจัดการศัตรูโดยเสียทรัพยากรน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้กับดักที่วางอยู่ทั่วพื้นที่ หรือการแอบเข้าไปโจมตีจากด้านหลังของศัตรู ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการคำนวณของเราเอง
เกมมาพร้อมกับการออกแบบแผนที่สไตล์ชนบทของประเทศฝั่งตะวันตก สลับกับตึกขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน พร้อมกับการออกแบบพื้นที่ให้มีความซับซ้อนในการเดิน บ้างก็เป็นวงกลมให้เดินทะลุถึงกันได้หมด บ้างก็มีเส้นทางที่ปิดตาย เพื่อให้เราใช้ประโยชน์จากมัน หรือไม่เราก็อาจจะโดนพื้นที่เหล่านั้นเล่นงานเสียเอง

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เกมมีการตั้งค่าเริ่มต้นให้มีแถบสีดำด้านบนและด้านล่างของจอ ซึ่งเราจะพบเห็นการวางสัดส่วนภาพแบบนี้ได้จากภาพยนตร์ ซึ่งเป็นความตั้งใจของตัวชินจิที่อยากให้เกมมีความเป็นภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น แต่หากใครไม่ชินก็สามารถที่จะเปลี่ยนกลับไปเป็นสัดส่วนปกติได้
.
ทางด้านเพลงประกอบหลัก ได้ใช้เพลงเก่าสมัยปี 1905 อย่าง ‘Clair De Lune’ ของศิลปิน Claude Debussy ที่ใช้เครื่องดนตรีเพียงสองอย่างคือเปียโนและไวโอลิน กับทำนองที่ให้ความรู้สึกถึงความเศร้าปนความสยองขวัญเล็กน้อย ในขณะที่กลางเพลงก็มีความยุ่งเหยิงเพิ่มเข้ามา จึงเข้ากับเนื้อหาของเกมได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของเพลงประกอบอื่นๆ ภายในเกม ได้ ‘ทาคาดะ มาซาฟูมิ’ นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นที่เคยร่วมงานกับชินจิมาก่อนใน ‘Vanquish’ เมื่อปี 2010 มาร่วมงานกันอีกครั้ง โดยมีเพลงที่น่าสนใจอย่าง ‘Hide and Seek’ กับการใช้จังหวะดนตรีที่หนักและดุดัน ที่เหมือนกำลังบีบคั้นผู้เล่นให้ก้าวผ่านพื้นที่ไปโดยเร็ว ก่อนที่จะถูกเจอตัวและเหลือกลับไปเพียงชื่อเท่านั้น
.
อย่างสุดท้ายคือเนื้อเรื่อง การออกแบบลำดับการเล่าเรื่องที่มีความญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น กับเรื่องราวของนักสืบที่มีปัญหาในครอบครัว ติดเหล้า ไปพบเจอกับเรื่องราวประหลาดที่ไม่สามารถหาเหตุผลได้ จนสุดท้ายรู้ว่ามันคือการทดลองเครื่องเชื่อมความฝันของบริษัทยักษ์ใหญ่ ‘Mobius’

อีกทั้งตอนจบที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า สรุปแล้วเซบาสเตียนได้ออกมาจากเครื่องเชื่อมความฝันหรือยัง พร้อมกับการทิ้งปมไปถึงเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการเป็นสายลับของคิดแมน การหายไปของโจเซฟ และความเป็นไปของชีวิตเซบาสเตียน
แม้ในด้านของความสยองขวัญ อาจไม่สามารถที่จะสู้เกมที่ปล่อยออกมาในช่วงเวลาเดียวกันอย่าง ‘Alien: Isolation’ ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ชินจิก็ทำให้โลกได้รับรู้แล้วว่าเกมที่มีชื่อว่า The Evil Within นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
.
ฝันร้ายที่ถูกคั่นกลาง
ก่อนที่ภาคต่อไปจะถูกปล่อยออกมา The Evil Within ก็มีเนื้อเรื่องเสริมเพิ่มเข้ามาสามอัน คือ The Evil Within DLC: The Assignment, The Evil Within DLC: The Consequence ทั้งสองเป็นเรื่องราวของ ‘จูลี คิดแมน’ นักสืบสาวที่ทำงานเป็นสายลับให้ Mobius และกำลังทำการทดลองเครื่องเชื่อมความฝัน ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่เล่าขนานไปกับเนื้อหาของเกมหลัก

อีกหนึ่งส่วนเสริมอย่าง The Evil Within : The Executioner ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้คุม (The Keeper) ปีศาจที่มีหัวเป็นตู้เซฟ ที่ในภาคหลักปรากฏตัวออกมาเป็นศัตรูที่เซบาสเตียนต้องจัดการ แต่ในส่วนเสริมนี้จะพูดถึงที่มาที่ไปของผู้คุม กับเป้าหมายในการตามหาลูกสาวของเขา
แม้ส่วนเสริมทั้งสามจะเป็นเพียงเรื่องราวของตัวละครรอง แต่ก็ทำให้ปมทั้งหมดคลายออกมากยิ่งขึ้น และหลังจากที่ส่วนเสริมชิ้นสุดท้ายปล่อยมาเพียงสองปี เรื่องราวของภาคต่อไปก็พร้อมที่จะนำเสนอให้กับเหล่าผู้เล่นอีกครั้งหนึ่งแล้ว
.
ถึงเวลาตื่นแล้ว?
‘The Evil Within 2’ วางจำหน่ายในปี 2017 กับเรื่องราวภาคต่อของฝันร้ายที่ยังคงตามหลอกหลอน ‘เซบาสเตียน’ เขายังคงคิดถึงมรสุมชีวิตที่กระทบเขาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งสูญเสียลูกสาวจากเหตุไฟไหม้บ้าน หย่าร้างกับภรรยา และล่าสุดคือเรื่องในโรงพยาบาลจิตเวชบีคอน
เขากลายเป็นคนติดเหล้าหนักจนถูกไล่ออกจากงาน และในขณะที่เขานั่งมอมเหล้าตัวเองอยู่ในบาร์แห่งหนึ่ง ‘จูลี คิดแมน’ ก็ได้ปรากฏตัวตรงหน้าเขา พร้อมกับพูดประโยคที่เขาจะต้องไม่เชื่อมันอย่างแน่นอน
“ลิลลี่ ลูกสาวของคุณยังไม่ตาย และตอนนี้เธอต้องการให้คุณช่วย”

แม้เซบาสเตียนจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เขาก็ตอบตกลงข้อเสนอของคิดแมน และเดินทางไปที่บริษัท ‘Mobius’ เพื่อที่จะกลับเข้าสู่เครื่องเชื่อมความฝัน และช่วยเหลือลูกสาวของเขาให้ได้
ในภาคนี้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องเล็กน้อย จากที่ภาคก่อนหน้านำเสนอแบบพื้นที่ปิดและเดินเรื่องแบบเส้นตรง มาในภาคนี้จะเปลี่ยนเป็นเมืองพื้นที่เปิดให้เราสามารถสำรวจได้อย่างอิสระ โดยเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ รายละเอียดของแผนที่ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ตัวร้ายหลักของภาคนี้จะไม่ใช่ ‘ลูวิค’ แล้ว แต่จะกลายเป็น ‘สเตฟาโน วาเลนตินี’ ฆาตกรโรคจิตที่ชอบถ่ายภาพศพของเหยื่อ ‘ธีโอดอร์ วอลเลส’ บาทหลวงผู้เป็นดั่งแสงสว่างของเมืองแห่งนี้ และคนสุดท้าย ‘ไมล่า แฮนซัน’ ภรรยาเก่าของเซบาสเตียน

โดยเกมจะมาเฉลยในช่วงท้ายว่าทั้งสามคนนั้น เดิมทีเข้ามาในเครื่องเชื่อมความฝันนี้เพื่อต้องการจะช่วยเหลือลิลลี่ แต่ด้วยความไม่เสถียรของระบบ ทำให้ทั้งสามคนเกิดอาการคลั่งและทำตามสิ่งที่ตัวเองหลงใหล สเตฟาโนกับความหลงใหลในภาพถ่าย ธีโอดอร์กับความต้องการจะยึดครองเมือง และไมล่ากับความต้องการจะปกป้องลูกสาวสุดที่รัก
.
ทางด้านของเพลงประกอบจะเปลี่ยนเป็น ‘มาซาโตชิ ยานากิ’ นักประพันธ์ที่เคยช่วยทาคาดะในภาคแรก มาครั้งนี้เขาได้กลายมาเป็นนักประพันธ์หลักแบบเต็มตัว กับเพลงประกอบหลักที่เน้นความตึงเครียดมากขึ้น ลดความสยองขวัญลง และการกระแทกจังหวะเป็นช่วงๆ ในเพลงอย่าง ‘Where It All Begins’
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือเพลงที่เลือกใช้ในช่วงสุดท้ายของเกมนั้น ได้กลับไปใช้ ‘Clair De Lune’ เพลงที่ถูกใช้เป็นเพลงแรกของเกมภาคแรก แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงดนตรีให้มีความติดขัดระหว่างการเล่น คล้ายแผ่นเสียงที่ตกร่องจนทำให้เสียงสะดุด ซึ่งให้ทั้งความรู้สึกสงบ และน่าขนลุกในเวลาเดียวกัน
สอดคล้องกับตอนจบของเกมที่แม้เซบาสเตียนจะช่วยลิลลี่ไว้ได้ แต่ก็ต้องแลกกับชีวิตของไมล่าเช่นกัน เซบาสเตียน ลิลลี่ และคิดแมนจึงเลือกที่จะเริ่มออกเดินทางตามหาความสงบสุขอีกครั้ง ก่อนที่ภาพจะตัดกลับไปที่เครื่องเชื่อมฝัน และหน้าจอของมันเริ่มทำงานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง…

.
เมื่อเราตื่น เราอาจกลับไปฝันเรื่องเดิมไม่ได้อีกแล้ว
น่าเศร้าที่แม้จะมีการทิ้งท้ายไว้ว่าอาจจะมีภาคต่อไป แต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลับมีข่าวการปิดตัวของค่ายเกม Tango Gameworks จากคำสั่งของนายทุนใหญ่อย่าง ‘Microsoft’ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการ “จัดลำดับความสำคัญใหม่” กับบรรดาเกมและทรัพยากรณ์ของต่างๆ ในบริษัท
ซึ่งก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าทีมงานของ Tango Gameworks จะทำยังไงกันต่อ และเราจะได้เห็นการกลับมาสานต่อเรื่องราวของ ‘The Evil Within’ อีกครั้งไหมนั้น…เราอาจจะได้รู้กันภายในความฝัน
บรรณานุกรม
Microsoft Closes Redfall Developer Arkane Austin, Hi-Fi Rush Developer Tango Gameworks, and More in Devastating Cuts at Bethesda.
(7 พฤษภาคม 2567). IGN. สืบค้นจาก https://www.ign.com/articles/microsoft-closes-redfall-developer-arkane-austin-hifi-rush-developer-tango-gameworks-and-more-in-devastating-cuts-at-bethesda