เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง
ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ
.
จากกรณี อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนกันยายนที่ผ่าน กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 28 กันยายน รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 52 รายและผู้บาดเจ็บสะสมรวม 1,722 ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเสวนา ‘ผลักดันระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย กรณีตัวอย่างน้ำท่วม’ ในวันที่ 18 ตุลาคม ระบุว่า การแจ้งเตือนสาธารณภัยสร้างความสับสน จนประชาชนไม่สามารถเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือกับภัยได้ นั้น
วสันต์ เหลืองประภัสร์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาความซ้ำซ้อนของการแจ้งเตือนเหตุอุทกภัยที่ผ่านมานับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐไทย เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความชัดเจนในการสร้างระบบเตือนภัยแห่งชาติ ทำให้ไม่มีช่องทางหลักในการสื่อสารแก่ประชาชน โดยปัญหาการแจ้งเตือนเหตุอุทกภัยดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยการใช้บทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงานเป็นตัวกำหนดหน้าที่ และจะต้องมีการกำหนดว่าจะใช้ระบบเตือนภัยรูปแบบใด ทางแอปพลิเคชันหรือ SMS จากนั้นจึงกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ แล้วค่อยกำหนดงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ที่ต้องใช้ร่วมกันในภายหลัง
วสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการบูรณาการของราชการเกิดจากหลายเหตุผล แต่อธิบายด้วยมุมมองของนิติศาสตร์ได้ว่า เป็นเพราะหน่วยงานรัฐไทยส่วนกลาง โดยเฉพาะกรมที่อยู่ใต้สังกัดของกระทรวงต่างๆ มีลักษณะเป็นนิติบุคคล คล้ายบริษัทที่มีทรัพยากร เช่น เงิน คน อำนาจ เป็นของตัวเอง ทำให้ติดขัดเมื่อต้องทำงานร่วมกัน โดยหากรัฐบาลไม่ชัดเจนว่างานเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน ก็จะไม่รู้ว่าใช้งบประมาณและทรัพยากรของใครดำเนินงาน
“การที่รัฐบาลจัดงบกลางขึ้นมาเพื่อส่งเสริม ช่วยเหลือ การดำเนินงานที่ต้องการการบูรณาการระหว่างกรม เป็นเพียงเครื่องมือการแก้ปัญหาปลายเหตุ การสร้างความร่วมมือต้องการการแก้ไขหลายเรื่อง” วสันต์ กล่าว
วสันต์ กล่าวว่า แม้ว่าแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 จะเป็นแผนการที่กำหนดบทบาทให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณภัย แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานเหล่านั้นกลับมองว่าผู้รับผิดชอบหลักคือกระทรวงมหาดไทยและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ใช่งานหลักของตนเอง จึงขาดความกระตือรือร้นในการจัดกิจกรรมหรือดำเนินงานตามแผน
“ในฝ่ายการเมืองเอง หากคณะรัฐมนตรีไม่กระตือรือร้น ที่จะสั่งการ เรียกประชุม ให้เตรียมการอย่างสม่ำเสมอ กลไกก็จะเฉื่อยในการดำเนินงานตามแผน” วสันต์ กล่าวและว่า การป้องกันสาธารณภัยไม่ใช่เรื่องที่เกิดทุกวัน พอไม่มีเหตุก็จะมองว่าเป็นงานครั้งคราว เมื่อเกิดเหตุแล้วค่อยดำเนินงาน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องมีการซ้อม ประชุม วางแนวทางและเตรียมการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
วสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปโครงสร้างราชการเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากมีผลกระทบสูง เช่น การปฏิรูปยุบรวมกรมจะกระทบต่อตำแหน่งงาน โดยเฉพาะในหน่วยงานใหญ่ๆ ที่อาจทำให้มีตำแหน่งระดับสูงน้อยลง เกิดเป็นการต่อต้านจากข้าราชการ ในทางการเมืองเองก็ไม่กระตือรือร้นที่จะปฏิรูป เพราะจะกระทบต่ออำนาจของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งการปฏิรูปดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงและไม่ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มจากประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปโครงสร้างราชการนี้คืออะไร
“เราต้องกลับมาทบทวนว่า กระทรวง ทบวง กรม ภูมิภาค ท้องถิ่น มีไว้ทำอะไร เราต้องเริ่มคุยกัน แต่ตอนนี้เราไม่คุย ทำให้แต่ละหน่วยงานแสดงบทบาทผสมปนเปกันไปหมดกันไปหมด” วสันต์ กล่าว
บรรณานุกรม
รัฐบาลไทย (2567). สธ.เผย “น้ำท่วม” ทำเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เหตุสำลักน้ำปอดติดเชื้อ สั่งเฝ้าระวังเหตุภาคใต้ใกล้ชิด. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/88522