เขียน: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร
ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร
“รออยู่ตรงนี้แล้วเธออยู่ไหน
เธอจะยังคิดถึงฉันบ้างไหม หรือไม่ใช่
กลับมากอดฉันสักทีได้ไหม
ขอแค่ครั้งเดียว แม้แค่ครั้งเดียว ก่อนเธอลบฉันไป”
เสียงที่เย็นแต่นุ่มของนักร้องพร้อมเมโลดี้ดรีมป๊อป ดนตรีฟังง่าย ให้ความเพลิดเพลิน ผสมกับเสียงกีตาร์และเสียงซินธิไซเซอร์ (เครื่องสังเคราะห์เสียง) หวานๆ ฟุ้งๆ พาให้ฉันล่องลอยเพ้อฝันไปกับเนื้อเพลง ‘หรือไม่ใช่’ แสนเศร้า จนรู้สึกจมดิ่งไปอยู่พักใหญ่ ฉันเพิ่งเข้าใจคำว่า ‘หูเคลือบทอง’ หลังจากได้ฟังศิลปินวง Dept ร้องสดครั้งแรกในคอนเสิร์ต และหลังจากนั้นฉันก็ได้กลายเป็นแฟนคลับของวงนี้อย่างเต็มตัว
เจ้าของเสียงสวรรค์ที่ฉันพูดถึงคือ เบนซ์-ภวัต โอภาสสิริโชติ รับหน้าที่ร้องนำและกีตาร์ มาพร้อมกับมือคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์ ลุค ทาวน์เซน ทั้งคู่รู้จักกันจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเพลงทั้งหมดเบนซ์เป็นคนแต่งเนื้อและทำนอง แล้วเอามาให้ลุคช่วยกันปรับอีกที ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวง ‘อินดี้’ อย่างเต็มตัว ก่อนจะเข้าสังกัดค่ายเพลง Smallroom ไปเมื่อปลายปี 2019
อินดี้ คืออะไร
อินดี้ มาจากคำว่า Independent แปลว่า อิสระ ไม่ขึ้นกับใคร ดังนั้นตามความหมายแล้ว เพลงอินดี้ หรือดนตรีอินดี้ ก็คือดนตรีที่ผู้ผลิตคิดเองและทำเองได้อย่างอิสระ และ ‘เป็นตัวของตัวเอง’
แม้ในสมัยก่อนอาจดูเหมือนมีศิลปินจำนวนมาก แต่การจะทำเพลงได้ต้องมีทั้งเม็ดเงิน ค่าเช่าห้องบันทึกเสียง และอุปกรณ์ราคาแพง รวมถึงยังต้องรับมือกับความเสี่ยง จึงเกิดค่ายเพลงมาเพื่อนำเสนอศิลปิน รูปแบบของดนตรี และโปรโมตกับสื่อต่างๆ แต่การจะสร้างอะไรที่ฉีกจากเดิมนั้นมีความเสี่ยงสูง การผลิตเพลงเลยเป็นของค่ายเพลงใหญ่ซึ่งมักกำหนดแนวเพลงให้กับศิลปิน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเริ่มเบื่อดนตรีแนวเดิมๆ และต้องการเพลงที่ต่างจากเดิม ขณะที่ค่ายเพลงก็เริ่มมีไอเดียและเงินลงทุนมากขึ้น จึงเริ่มมองหาศิลปินหน้าใหม่ที่มาพร้อมดนตรีแนวใหม่เพลงอินดี้จึงเริ่มแทรกซึมเข้ามาจนทำให้ผู้คนรู้จัก และประสบความสำเร็จ จนอาจกลายเป็น ‘เพลงแมส’ ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ และบางค่ายเพลงก็สร้างมาเพื่อเพลงอินดี้โดยเฉพาะ
เราอาจคิดได้ว่า เพลงอินดี้ในปัจจุบันกลายเป็นแนวดนตรีที่ออกกับค่ายยักษ์ใหญ่ก็ไม่ผิด เพราะโดยหลักของความเป็นอิสระหรืออินดี้นี้ ไม่ได้ตั้งแง่รังเกียจอุตสาหกรรมดนตรี เพียงแต่ต้องการเป็น ‘นายของตัวเอง’ ถึงอย่างนั้น ศิลปินอินดี้บางคนก็เริ่มเรียนรู้ว่า การเป็นตัวของเองนั้นมีความสุข แต่ในมุมการทำงานก็ยังสื่อสารความเป็นตัวเองออกไปสู่วงกว้างไม่ได้ จึงเลือกเข้าร่วมกับค่ายยักษ์ใหญ่ เช่น Dept จาก Smallroom และ SHERRY จาก Spicy Disc. ซึ่งทิศทางเพลงก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแค่ต้องการจัดระเบียบแนวคิดให้เป็นรูปแบบ และเผยแพร่ตัวตนให้ผู้คนรับรู้มากกว่าเดิม
อินดี้ยุค 1990-2000’s
ในช่วง 90’s ถือเป็นยุคทองของวงการเพลงไทย เพราะมีแนวดนตรีที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีศิลปินแจ้งเกิดอีกมากมาย ทั้งจากค่ายเล็กและใหญ่ แม้แต่ศิลปินไร้สังกัด หรือ ‘ศิลปินอินดี้’
แนวเพลงที่ศิลปินอินดี้ทำส่วนใหญ่เป็นดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวเพลงที่เป็นกระแสในช่วงเวลานั้น ที่ส่วนมากเป็นเพลงแนวกลางๆ เน้นฟังง่ายๆ จึงเรียกได้ว่าเป็น ยุคที่อัลเทอร์เนทีฟไทยรุ่งเรือง (Alternative) เลยทีเดียว แต่ก็เป็นเพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จะกลับมาทวงตลาดเพลงคืนได้ในที่สุด แต่ถึงอย่างไร เพลงจากยุคนั้นก็ยังเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
อย่างเจ้าของเพลงรักสุดร็อก กับท่อนฮิตติดหู “ในใจไม่เคยมีผู้ใด จนความรักเธอเข้ามา ทำให้ดวงตาฉันเห็นความสดใส” หรือเพลง ‘ก่อน’ ของ Moderndog ศิลปินวงแรกของค่าย Bakery Music ซึ่งเริ่มต้นจากวงดนตรีนิสิตที่ชนะการประกวด Coke Music Awards ประจำปี 1992 จากนั้นก็ได้ออกอัลบั้มที่ทำเองชุดแรก ‘โมเดิร์นด็อก-เสริมสุขภาพ’ ในปี 1994 สังกัดค่าย Bakery Music มีเพลงดังอย่าง ‘บุษบา’, ‘ก่อน’ และ ‘ทบทวน’
โมเดิร์นด็อกถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้ โดยมี ป๊อด-ธนชัย (ร้องนำและกีตาร์), เมธี (กีตาร์) และ โป้ง-ปวิณ (กลอง) โมเดิร์นด็อกกลายเป็นศิลปินในดวงใจของนักร้อง นักดนตรีรุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับค่าย Bakery Music ที่กลายเป็นกระแสให้เกิดค่ายเล็กค่ายน้อยจำนวนมากตามมา
ต่อมาวง สี่เต่าเธอ โด่งดังในยุคอินดี้บูม โดยชื่อวงล้อมาจาก สี่เต่าทอง ชื่อเรียกของวง ‘The Beatles’ ก่อตั้งในปี 1995 ช่วงอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรือง เป็นวงดนตรีแนวป็อป, ร็อก และดิสโก้ มี คงเดช (นักร้องนำ), ตั๊ก-สฤษฎ์พร (กีตาร์), กุ่ย-อภิเชฐ (เบส), ปูน-กิรเดช (กลอง) และ ซุง-กิตติกร (กีตาร์) เป็นสมาชิก ซึ่งได้ รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ มาเป็นเจ้าของค่ายต้นสังกัดของวง ต่อมารุ่งโรจน์ก่อตั้งบริษัท Small Room ในปี 1999 วงสี่เต่าเธอถือว่าเป็นวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ-ป็อปรุ่นใหญ่ของเมืองไทย แต่หลังจากปล่อยอัลบั้ม ‘สิริมงคล’ ไปในปี 2007 กลับไม่มีอัลบั้มใหม่ออกมาอีกเลย อาจเพราะตอนนั้นแฟนเพลงไม่เยอะพอที่จะทำเพลงเป็นอาชีพหลักได้
อีกหนึ่งวงสุดอินดี้อย่าง Death Of A Salesman วงดนตรีไทยแนวอินดี้ร็อก ก่อตั้งและมีผลงานเพลงในปี 2002 โดยมีนักร้องนำคือ กระชาย-จตุรวิธ และ ปริญญ์ สังกัดค่าย Smallroom พวกเขาทำเพลงกันเองตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ก่อนที่จะได้มีโอกาสนำเพลง ‘สปิน’ เข้ามาอยู่ในอัลบั้ม ‘Smallroom 002’ และเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังเพลงนอกกระแส ซึ่งถ้าพอตามวงการเพลงอินดี้ไทยตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000s ก็คงพอรู้จัก ‘เหม่อ’, ‘เรือชูชีพ’, ‘มีฉันมีเธอ’ และ ‘มอเตอร์ไซค์’ อยู่บ้าง แต่หลังจากพวกเขาออกผลงานอัลบั้มแรก ‘Death of A Salesman’ ก็ยังไม่มีข่าวการออกอัลบั้มใหม่แต่อย่างใด
อินดี้ยุค 2010-2020’s
ด้วยการเติบโตของค่ายเพลงและสื่อตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้วงอินดี้ต่างๆ เป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม อีกทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่งผ่านพ้นทำให้คนไทยโหยหาคอนเสิร์ต วงอินดี้จึงมีพื้นที่เติบโตในการแสดงสดมากขึ้น
วงที่เรียกกระแสอินดี้กลับมาได้ก็คงจะเป็น Dept ที่มีเพลงฮิต 29 ล้านวิวในยูทูป อย่าง ‘ลาลาลา’ ด้วยสไตล์ดนตรีแนวซินธ์ป๊อป (Synth-pop) ดนตรีที่เน้นเครื่องสังเคราะห์ ที่มีซาวด์เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เดปท์กลายเป็นที่จดจำอย่างรวดเร็ว อัลบั้มแรกของพวกเขาในปี 2018 ชื่อว่า One Night Event โดยที่เนื้อหาทั้ง 3 เพลงมีความเชื่อมโยงกันตามชื่อ ‘Just All The Night’, ‘แล้วเธอจะรู้บ้างไหม?’ และ ‘หรือไม่ใช่’ ซึ่งเป็นเพลงที่ทำก่อนเข้าค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Smallroom
ถัดมา Whal & Dolph วงอินดี้ป๊อปจากสังกัด What The Duck วงที่มีความโดดเด่นในเรื่องของเนื้อหาเพลงที่มีความเศร้า แต่ทำนองสดใสน่ารัก ป๊อปๆ ไม่ได้หดหู่ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นวง ‘ดนตรีนมเย็น เนื้อเพลงอเมริกาโน่’ อย่างเพลง ‘ไม่รู้ทำไม’, ‘เก็บเธอเอาไว้ดูก่อน’ และ ‘แล้วเธอ’ จาก ปอ – กฤษสรัญ (ร้องนำ) และ น้ำวน – วนนท์ (กีต้าร์) โดยเริ่มจากการที่พวกเขาเป็นเพื่อนกันมานาน 6 ปีทำให้มีการทำเพลงสไตล์คล้ายๆ กัน ซึ่งแต่ก่อนพวกเขาทำเพลงร็อก แต่ด้วยช่วงเวลาหรืออะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ผู้คนเข้าไม่ถึงเพลง จึงได้ทำโปรเจกต์ Whal & Dolph และได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ จนได้กลายมาเป็นวงที่มีผู้คนรักมากมายจนถึงปัจจุบันนี่เอง
หนึ่งวงร็อกอินดี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ Solitude is Bliss หลายคนคงคุ้นเคยกันดีในแนว alternative rock ภายใต้ค่ายเล็กๆ อย่าง Minimal Records ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนในการออกทัวร์ ด้านดนตรีของวงนั้นมีความครีเอทีฟแปลกใหม่ ในทางกลับกันก็จะมีกลิ่นอายของยุค 60s เนื้อหาเพลงส่วนใหญ่พูดถึงการเสียดสีสังคม การเมือง ชีวิต และความรัก ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือความจัดจ้านของดนตรีที่ฟุ้งเข้ากันได้อย่างลงตัว โดยมีสมาชิก เฟนเดอร์ – ธนพล (ร้องนำ, กีตาร์), เบียร์ – เศษรฐกิจ (กีตาร์), โด่ง – จอมยุทธ์ วงษ์โต (เบส), ปอนด์ – ทรงพล (คีย์บอร์ด) และ แฟรงค์ – ศรัณย์ (กลอง)
ถึงอย่างนั้น วงอินดี้ที่ไม่มีสังกัดแต่เป็นที่รู้จักก็ยังมีอยู่ เช่น YEW ประกอบไปด้วยสมาชิก ทิ้ว – ปรัชญ์ (ร้องนำ), พี – วรพัทธ์ (กีตาร์) แดน – นรุตม์ (กีตาร์) และ ทรัพย์ – สหธรรม (กลอง) กลุ่มเพื่อนจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วงดนตรีที่ผสมผสานไปด้วย Math Rock, Indie Rock, Brit Rock ไปจนถึง Alternative Rock เพลงแรกของยิวคือ ‘โลกซึ่งไร้ลมหายใจของวันวาน’ ออกแนวร็อกและมีทำนองดนตรีที่แปลกใหม่ผสมกันอยู่ในเพลงเดียว แต่เพลงที่ทำให้ยิวเป็นที่รู้จัก คือ ‘summer time’ ที่ถูกปล่อยมาในปี 2020 เนื้อหาเพลงสุดเศร้าแต่ทำนองน่ารักที่ได้วงสาวน้อยเสียงหวานอย่าง LANDOKMAI มาร่วมฟีทเจอริง อาจไม่ใช่แนวร็อคจ๋าอย่างเพลงแรก มีความซอฟต์ลงมา ซึ่งก็ถือว่ามีความเป็นตัวเอง และมีความหลากหลายสมกับเป็นวงอินดี้
อีกหนึ่งวงอินดี้สุดฮิตที่หลายๆ คนคงเคยได้ยินท่อน “โอ้ว แต่ฉันยังคงรอ เมื่อใจของฉันนั้นเองก็รู้ดีอยู่ โอ้ว เธอหยุดทีได้ไหม หยุดก่อนที่ใจของฉันจะสลายไป” ที่มียอดวิวในยูทูปถึง 133 ล้านวิวอย่างเพลง ‘คำตอบ’ จากวง Safeplanet ที่มีดนตรีแนวป๊อป และเมโลดี้ที่ติดหู โดยดีไซน์ซาวนด์จากความเป็นตัวเอง ทำให้หลายเพลงมีทำนองที่คล้ายกัน อีกทั้งชื่อวงก็มีความหมาย เนื่องจากพวกเขาอยากจะมีพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างผลงานอย่างสบายใจ มีสมาชิกประกอบไปด้วย เอ – ฐิติภัทร (ร้องนำ/กีตาร์), ดอย – อภิวิชญ์ และ อดีตสมาชิกที่เพิ่งออกจากวงในปีนี้ ยี่ – ชยปัญญ์ (เบส) ซึ่งเพลงแรกๆ ที่ถูกปล่อยในต้นปี 2016 ของพวกเขามีความเข้าใจยากเพราะอยู่ในช่วงทดลอง แต่เพลงหลังๆ ก็เริ่มคลี่คลายทำให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น
วงที่เรียกตัวเองว่าอินดี้ในปัจจุบันมีมากกว่าแต่ก่อน ด้วยเงินทุน องค์ความรู้ และแมสมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้มีฐานแฟนคลับมากขึ้น และมีหลากหลายแนวกว่าเดิม จากที่เคยฮิตอยู่แค่แนว Alternative Rock อย่าง TELEx TELEXs ที่ทำเพลงแนวซินธ์ป๊อบ และเนื้อเพลงที่ให้ความรู้สึกอกหักแต่ก็ยังเท่อยู่ มีความโดดเด่นจนทำให้เทเลกซ์เทเลกส์เป็นวงหนึ่งในขวัญใจชาวอินดี้ หรือศิลปินที่ทำเพลงแนวป๊อปๆ อย่าง Loserpop ซึ่งถ้าดูจากชื่อวง คงเดาได้ไม่ยากว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเพลงอกหัก แต่ก็คงเป็นคนอกหักแบบอินดี้ป๊อปๆ และด้วยกลิ่นอายของดนตรีง่ายๆ ฟังสบายๆ แต่รู้ตัวอีกทีน้ำตาก็ไหลเสียแล้ว
แม้ว่าเพลง ‘อินดี้’ จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ยังมีอยู่ร่วมกันคือ ความหลงใหลในการทำเพลงของศิลปินที่ตั้งใจทำในสิ่งที่พวกเขารักออกมาให้สำเร็จ ขณะเดียวกันเพลงก็ยังทำหน้าที่สะท้อนความเป็นตัวตนของศิลปินออกมาอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะมีสังกัดหรือไม่ ให้คนที่รักในเสียงเพลงได้มีตัวเลือกในการฟังที่ต่างไปจากเดิมและมีความสุขไปกับการฟังเพลง
อ้างอิง
THE STANDARD. (16 กุมภาพันธ์ 2020). Dept เข้า Smallroom แล้วทำเพลงดี หรือทำเพลงดีเลยได้เข้า Smallroom เรามาหาคำตอบกัน. เข้าถึงได้จาก thestandard: https://thestandard.co/debt-get-into-smallroom-and-make-good-songs/
The MOMENTUM. (12 พฤศจิกายน 2022). วงดนตรีไม่จำเป็นต่อโลก แต่จำเป็นต่อเพื่อนทั้ง 5 คน ที่ชื่อ ‘สี่เต่าเธอ’. เข้าถึงได้จาก themomentum: https://themomentum.co/theframe-4-taoter/
entertain-indy. (26 สิงหาคม 2012). ประวัติและความเป็นมาของวงการเพลงอินดี้ไทย. เข้าถึงได้จาก wordpress: https://entertainindy.wordpress.com/2012/08/26/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad/#more-4
Jelly. (13 มิถุนายน 2019). #Jellytalk ทำความรู้จัก Safeplanet 3 หนุ่ม กับแนวดนตรีอินดี้ที่คุณฟังแล้วจะรัก!. เข้าถึงได้จาก: https://web.archive.org/web/20191108161707/https://jelly.in.th/articles/safeplanet-interview
fungjaizine. (2 มีนาคม 2018). Whal & Dolph เรื่องราวตลอดหนึ่งปี ในการว่ายทวนน้ำตามฝันของแก๊งปลาตัวเล็กแต่ใจใหญ่. เข้าถึงได้จาก fungjaizine: https://www.fungjaizine.com/feature/head_talk/whaldolph
voiceonline. (8 กันยายน 2015). เสน่ห์ที่ไม่เสื่อมคลายของเพลงอินดี้ในยุค 90. เข้าถึงได้จาก voicetv: https://www.voicetv.co.th/read/255723