เขียน: วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร
ภายใน – ห้องเรียน – แปดโมง
8 โมงเช้าวันอังคาร ร่างไร้สติของฉันพาตัวเองมายังห้องเรียนจนได้ อาจารย์เริ่มพูดที่หน้าชั้นเรียนไปได้สักพักแล้ว คลาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์เฟมินิสต์ในหัวข้อทฤษฎี intersectionality หรือทฤษฎีอัตลักษณ์ทับซ้อน ของ Kimberlé Crenshaw นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ทำให้ฉันค้นพบการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของคนคนหนึ่งผ่านวิธีคิดแบบคณิตศาสตร์เรื่องเซ็ต
หากเราแทนค่าแต่ละอัตลักษณ์ของบุคคลด้วยเซ็ตวงกลม เช่น เซ็ตของเชื้อชาติ เซ็ตของสีผิว และเซ็ตของเพศ ซึ่งแต่ละวงจะมีกลุ่มที่ถูกกดทับ เช่น เชื้อชาติแอฟริกัน ผิวดำ และเพศหญิง และถ้าเซ็ตของบุคคลนั้นอยู่ในกลุ่มที่ถูกกดทับมากเท่าไหร่ จุดที่เซ็ตทับซ้อนกันยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และทำให้แต่ละคนถูกกดทับมากน้อยต่างกันไป
ขอบคุณภาพจาก Sylvia Duckworth (https://www.flickr.com/photos/sylviaduckworth/50245846893)
คลาสเรียนในวันนั้นจบลง แต่ความรู้สึก ‘ว้าว’ กับความรู้ใหม่ที่เข้าใจง่ายนี้ ยังติดอยู่ในหัว จนกระทั่งช่วงที่การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 เริ่มร้อนแรงขึ้น เมื่อ Donald Trump แคนดิเดตวัย 78 ปี จากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ถูกลอบยิงขณะปราศรัย แม้ทรัมป์จะได้รับบาดเจ็บแต่ยังแสดงสปิริตด้วยการแทรกตัวจากวงล้อมของการ์ดและชูกำปั้นขึ้น พร้อมกับเลือดที่เปื้อนใบหู นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของทรัมป์ดูเป็น ‘นักสู้’ และคะแนนความนิยมของพรรครีพับลิกันก็พุ่งสูงขึ้น
ตรงกันข้ามกับความนิยมของ Joe Biden ประธานาธิบดีวัย 81 ปี และแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ที่ถูกบีบให้ถอนตัว เพราะผู้สนับสนุนพรรคมองว่าไบเดนไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ปัญหาสุขภาพ และอายุ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแคนดิเดตกลางคันเป็น Kamala Harris รองประธานาธิบดีวัย 60 ปี และที่สำคัญเธอเป็นผู้หญิงผิวดำ เชื้อสายแอฟริกัน-เอเชียน ซึ่งอยู่ใน 2 วงที่ถูกกดทับ นั่นคือสีผิวและเชื้อชาติ
ความน่าสนใจของแคนดิเดตคนใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นำฉันกลับไปหาอาจารย์คนเดิม…อีกครั้ง
ภายใน – ออฟฟิศ – บ่ายครึ่ง
แผ่นป้ายสีน้ำเงินหน้าประตูห้องติดชื่อ พนารัตน์ อานามวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงเจนเดอร์ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ฉันมาที่นี่ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งนี้
ในวันที่สัมภาษณ์ (12 พ.ย.) นับเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผ่านพ้นไป ผลสรุปว่าได้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่หน้าคุ้น นั่นคือทรัมป์ การสัมภาษณ์จึงเริ่มต้นขึ้น และสรุปได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ ว่าด้วยอัตลักษณ์ นโยบาย และอนาคตของสหรัฐฯ
Q: ในภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอะไรที่พิเศษหรือแปลกใหม่ไปจากครั้งก่อนๆ ไหม
อะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราก็ได้เห็น
ถ้าพูดกันในเชิงข้อเท็จจริง ทรัมป์คืออาชญากรที่มีคดีติดตัวหลายคดีไม่ใช่แค่คดีเดียว ทั้งยักยอกเงินแคมเปญตัวเอง จ่ายเงินปิดปากดาราหนังโป๊ที่ตัวเองไปมีสัมพันธ์ด้วย ซึ่งศาลก็ตัดสินว่าทรัมป์มีความผิดจริง อันนี้ก็เป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น เราก็ได้เห็น เป็นอาชญากรมาลงสมัครประธานาธิบดี แล้วยังชนะอีก
และฝั่งพรรคเดโมแครตเองก็มีอะไรที่ไม่เคยเห็นเหมือนกัน ปกติเราจะรู้ตัวแทนของพรรคใหญ่ก่อนวันเลือกตั้งหลายเดือน และจะมีเวลาสร้างแคมเปญ หาทุน ปราศรัยนโยบายของพรรค แต่ในครั้งนี้ไบเดนเพิ่งถอนตัว 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง และสำหรับแฮร์ริส มันเป็นงานหนึ่งชิ้นที่หนัก เป็นงานหินที่ต้องมาทำหน้าที่นี้แทนในเวลาแค่ 3 เดือน ซึ่งก็เป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นจริงๆ
I. ว่าด้วยอัตลักษณ์
Q: แล้วเราสามารถโยงการเลือกตั้งในครั้งนี้กับทฤษฎี intersectionality ได้อย่างไร
Barack Obama เป็นผู้ชายผิวดำ ถ้าเขาจะโดนคนเกลียดชัง ก็คงเป็นคนที่เหยียดผิว หรือเหยียดเชื้อชาติ (racist) หรือถ้า Hillary Clinton เป็นผู้หญิงผิวขาว คนที่จะเหยียดเธอก็จะเป็นพวกเหยียดเพศ (sexist และ misogynist) แต่แฮร์ริสเป็นทั้งผู้หญิงและคนผิวดำ เธอก็คงจะถูกเหยียดทั้งสองทาง ทั้งเพศสภาพและสีผิว คำว่า intersectionality นี้คือตรงกลางที่ถูกเหยียดทั้งสองทาง หรืออาจจะมากกว่าสองทางว่ามันส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร
Q: คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้แฮร์ริสพ่ายแพ้ในครั้งนี้ได้บ้าง
อาจารย์อาจจะต้องออกตัวก่อนว่าถ้าให้เลือกระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริส ก็คงเลือกแฮร์ริส แต่ก็ไม่ชอบขนาดนั้นอยู่แล้ว…ถ้าในเชิงการเมืองคิดว่าแฮร์ริสเสียเปรียบมากๆ เพราะเธอเป็นรองประธานาธิบดีของไบเดน ซึ่งไบเดนไม่เป็นที่นิยม และเธอจะโดนโยงและผูกไว้กับไบเดนตลอด นโยบายของเธอก็ไม่สามารถพูดได้ว่า เราจะทำให้มันแตกต่างจากเดิม เพราะจะโดนถามว่า ทำไมไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้
ส่วนในเชิงบุคลิกภาพ ทรัมป์ก็ล้อว่า ‘Laughing Kamala’ เพราะเธอหัวเราะอร่อยมาก หัวเราะแบบสะใจ แต่อาจารย์รู้สึกว่าพอเธอมาเป็นตัวแทนพรรคแล้ว ก็พูดจาเป็นผู้เป็นคนกว่าไบเดนแน่ๆ
Q: แล้วในเชิงอัตลักษณ์ล่ะ คิดว่าคนอเมริกันยังไม่พร้อมสำหรับผู้นำหญิงผิวดำ เอเชียนหรือเปล่า
ถ้าถามว่าเธอไม่ชนะเพราะเป็นผู้หญิง มันก็พูดยากและแยกยาก แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ นโยบายของแฮร์ริสแทบไม่ต่างจากนโยบายของไบเดน แต่ไบเดนชนะ คุณลุงที่มาจากเพนซิลเวเนียชนะ แต่แฮร์ริสแพ้ มันก็อาจจะมีบางอย่างนอกเหนือจากนโยบายที่ทำให้คนไม่ชอบหรือเปล่า อาจารย์คิดว่าก็อาจจะ ‘มีส่วน’ ที่บางคนไม่อยากได้ผู้นำเป็นผู้หญิงหรือผู้หญิงผิวดำ
เราน่าจะฟันธงไม่ได้ว่าคนอเมริกันพร้อมหรือไม่ แต่มีข้อมูลที่บอกว่าพรรครัฐบาลทั่วโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถ้ามีการเลือกตั้งจะแพ้เยอะมาก หรือไม่ก็ได้คะแนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมันไม่ดี คนทั่วโลกจึงรู้สึกว่าที่เศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีเงินเป็นเพราะรัฐบาลบริหารแย่ หากพิจารณาจากสิ่งนี้ ก็ไม่เกี่ยวกับการที่แฮร์ริสเป็นผู้หญิงผิวดำ
ในปี 2016 ที่คลินตันลงสมัคร เราจะสังเกตได้ว่าแคมเปญของคลินตันจะเน้น ‘First Women President’ คือนำเสนอเพศสภาพค่อนข้างมาก แต่ครั้งนี้ไม่มีเลย แฮร์ริสไม่ได้นำเสนอเรื่องอัตลักษณ์ของตัวเองสักเท่าไหร่ ไม่มีการพูดว่า ถ้าเลือกฉัน ฉันจะเป็น First Women President หรือฉันจะเป็น First African-Asian President ซึ่งอาจารย์คิดว่าส่วนหนึ่งที่แฮร์ริสไม่ย้ำเรื่องนี้ เพราะเธออาจจะรู้ว่าคนอเมริกันไม่อยากได้ Identity Politics (การเมืองเชิงอัตลักษณ์)
Q: เป็นไปได้ไหมว่าการที่แฮร์ริสไม่ชูเรื่องอัตลักษณ์ เพราะต้องการทำให้มันเป็นเรื่องปกติ
น่าจะใช่ มันอาจจะทำให้คนกลุ่ม conservative (อนุรักษนิยม) ยอมรับเธอมากขึ้นก็ได้ เพราะถ้าเกิดเธอออกไปพูดว่า “I’ll be the First Black Women President.” ทุกวัน คนที่เกลียด Identity Politics คงรำคาญ การที่แฮร์ริสแทบไม่พูดถึงสีผิวและเพศสภาพตัวเองเลย น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้คนยอมรับเธอมากขึ้น
เพื่อนอาจารย์ที่เป็นคนอเมริกัน-อินเดียน เค้าก็ตื่นเต้น ภูมิอกภูมิใจว่าจะไปเลือกผู้หญิงลูกครึ่งอินเดียมาเป็นประธานาธิบดี แต่บ้านเขาอยู่มลรัฐเท็กซัส (ถิ่นรีพับลิกัน) คือแบบโยนลงแม่น้ำอะ โหวตไปยังไงก็ไม่ได้…อาจารย์เลยรู้สึกว่าอัตลักษณ์มันก็สำคัญ แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้าคุณเป็นผู้หญิงผิวดำแต่ไม่ได้มีนโยบายที่จะช่วยเหลือหรือต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงผิวดำ มันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันก็แค่นั้น แค่เรื่อง identity แบบกลวงๆ เฉยๆ
Q: ถ้าอย่างนั้น สีผิวและเพศสภาพยังเป็นประเด็นสำหรับคนอเมริกันอยู่ไหม หรือพวกเขาเลือกที่นโยบายจริงๆ
มันก็พูดยาก แต่ว่าก็ ‘มีส่วน’ ช่วงแรกๆ ที่เธอขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคแทนไบเดน จะเห็นความเหยียดอยู่ เช่น บอกว่าแฮร์ริสขึ้นมาถึงตรงนี้ได้เพราะ “She slept her way to the top.” คือหาว่าเธอ ‘นอน’ กับคนมีอำนาจถึงมาอยู่ตรงนี้ได้ ทั้งๆ ที่เธอก็เรียนจบกฎหมาย เป็นอัยการในแคลิฟอร์เนียที่ต้องลงเลือกตั้ง และเธอก็ชนะเลือกตั้งที่นั่น สร้างโปรไฟล์มาเรื่อยๆ จนได้เป็น nominee ในปี 2019 (หนึ่งในผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็น candidate ของพรรคเดโมแครต) และพอไบเดนได้เป็นตัวแทนก็เลือกแฮร์ริสมาเป็นรองประธานาธิบดี และทุกอย่างไม่มีอะไรที่สนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวเลย เราอาจตีความข้อกล่าวหาได้ว่ามันคือการเหยียดผู้หญิงอย่างแท้จริง
Q: ในเชิงประวัติศาสตร์ การที่ผู้หญิงผิวดำก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคแล้วทำคะแนนได้ระดับนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนไหม
มัน…ก็เปลี่ยน แต่ว่าเธอก็แพ้ มันเลยอาจจะไม่ได้เปลี่ยนมากมาย คงเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ผู้หญิงผิวสีได้ขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะเธอก็แพ้ทรัมป์อยู่ดี…มันเหมือนเป็นก้าวเล็กๆ แต่ไม่เปลี่ยนมากเท่าที่ควร
II. ว่าด้วยนโยบาย
Q: หรือที่จริง คนอเมริกันอาจจะพร้อมแล้วสำหรับการมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงผิวดำ แต่ไม่เลือกเพราะ ‘ไม่ป๊อป’
ก็เป็นไปได้ส่วนหนึ่ง เพราะนโยบายแฮร์ริสก็คือนโยบายไบเดนเดิม ซึ่งมันไม่เป็นที่นิยมขนาดนั้น…ถ้าเราดูจาก Exit Polls (ผลสำรวจที่เก็บข้อมูลจากผู้มาใช้สิทธิหลังออกจากคูหา) จะเห็นว่าคนแทบทุกกลุ่มเปลี่ยนใจจากไบเดนไปเลือกทรัมป์มากขึ้น ทำให้คะแนนมันทิ้งห่างกันจนประกาศผลได้ภายในวันเดียว
อีกอย่างหนึ่งที่เรายังไม่ได้พูดถึงกันเลยคือนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมมากๆ ของแฮร์ริส นั่นคือนโยบายเรื่องสงครามกาซาที่คนอเมริกันหลายคนรับไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังคงขายอาวุธ ส่งอาวุธให้กับอิสราเอล ทั้งๆ ที่ภาพมันก็ออกมาว่าเด็กถูกยิง โดนระเบิด นั่นทำให้คนไม่ชอบไบเดน แล้วแฮร์ริสเองก็ไม่ได้พูดว่าจะทำให้อะไรต่างจากเดิม ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้คนที่เราคิดว่าเกลียดทรัมป์แน่ๆ แหละ แต่ก็ทำใจโหวตให้แฮร์ริสไม่ได้ เพราะมีส่วนสนับสนุนอิสราเอลที่ยิงถล่มกาซา
แม้นักเคลื่อนไหวจะบอกให้แฮร์ริสเชิญคนปาเลสไตน์ขึ้นพูดในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต เพื่อบอกว่า เราจะเปลี่ยนทิศทาง แต่ก็ไม่มีคนปาเลสไตน์ได้พูดเลย เวลาแฮร์ริสเจอนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงให้เลิกขายอาวุธ ส่งอาวุธให้อิสราเอล ก็จะไม่ตอบโต้ด้วย และไม่มีท่าทีว่า เราจะทำให้สงครามสิ้นสุดลง…ส่วนหนึ่งมันก็เป็นนโยบายของเธอเองนั่นแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นผู้หญิง เป็นคนผิวดำ หรือเป็นเอเชียนหรือเปล่า
Q: แต่เมื่อดูจาก Exit Polls จะเห็นผู้หญิงเลือกแฮร์ริสมากกว่า มันเป็นเพราะอะไร
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเลือกแฮร์ริสมากกว่าทรัมป์ แต่มันไม่ใช่เพราะแฮร์ริสเป็นผู้หญิง อาจารย์คิดว่ามันเป็นเพราะนโยบาย Abortion Bans ของทรัมป์ (แบนการทำแท้ง) มันเลยไม่น่าเกี่ยวกับตัวเธอ ต่อให้เป็นไบเดนเหมือนเดิม ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็น่าจะเลือกพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกัน เพราะตอนนี้ในสหรัฐฯ เรื่องสิทธิการทำแท้งเป็นประเด็นร้อนที่เขายังถกเถียงกัน เนื่องจากเมื่อปี 2022 ศาลสูงสุดตีตกคำตัดสิน Roe v. Wade ที่ทำให้สิทธิยุติการตั้งครรภ์บังคับใช้ทั่วประเทศ มันเลยขึ้นอยู่กับแต่ละมลรัฐว่าจะทำอย่างไร ถ้าเราอยู่ในมลรัฐที่หัวก้าวหน้า เช่น มลรัฐแมสซาชูเซตส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เราก็จะเข้าถึงการทำแท้งได้ แต่ถ้าเราอยู่ในมลรัฐเท็กซัส หรือมลรัฐฟลอริดาก็จะทำไม่ได้
กฎหมายที่แบนการทำแท้งของพรรครีพับลิกัน มันแบนชนิดที่ถ้าเด็กในท้องยังหายใจอยู่ หมอจะไม่สามารถเอาเด็กออกมาได้ ไม่งั้นจะผิดกฎหมาย กลายเป็นว่าถ้าแม่ท้องนอกมดลูก แต่เด็กยังไม่ตายก็เอาออกไม่ได้ หรือถ้าแม่แท้งลูก หมอจะต้องยืนยันก่อนว่าเด็กไม่มีชีพจรแล้ว ถึงจะกล้าเอาเด็กออกมา มันกลายเป็นว่ามีผู้หญิงในหลายมลรัฐมากที่เสียชีวิตในห้องฉุกเฉิน เพราะหมอไม่กล้าเอาเด็กออก เนื่องจากอาจผิดกฎหมายได้
พรรคเดโมแครตจึงเอาเรื่องนี้ขึ้นมาชู แม้ว่าแฮร์ริสจะไม่เชิญคนปาเลสไตน์ขึ้นพูดในการประชุมใหญ่ของพรรค แต่เชิญแม่ของผู้หญิงที่อายุ 20-30 ปีที่เสียชีวิตเพราะไม่สามารถทำแท้งได้ขึ้นไปพูด…เรื่องนี้มัน extreme มาก จนทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกที่จะ โอเค งั้นเราไปโหวตให้พรรคเดโมแครตดีกว่า
Q: แต่มนุษย์ conservative ที่นิยมความเป็นอเมริกัน หรือเห็นด้วยแต่ไม่แสดงออก คงจะเลือกทรัมป์แน่ๆ ใช่ไหม
อันนี้ก็พูดยาก อย่างช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ทรัมป์ไปจัดปราศรัยใหญ่ที่ Madison Square Garden แล้วก็เชิญนักคิด นักการเมืองขวาจัดขึ้นไปพูด แทบทุกสปีชจึงเต็มไปด้วยการเหยียดผู้หญิง เหยียดผิว เหยียดคนลาติน ซึ่งเหยียดจนทรัมป์กลัวกระแสตีกลับ (backlash) ว่าคนจะไม่เลือกตัวเอง ถึงขั้นต้องบอกว่าพรรคไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างที่พูดในปราศรัยนะ มันเลยน่าจะมีคนส่วนหนึ่งที่คิดแบบนั้นจริงๆ ขวาจัดจริงๆ เห็นด้วยกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น เห็นด้วยว่าคนลาตินไม่ควรเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ เห็นด้วยว่าผู้หญิงควรกลับไปเป็นแม่บ้าน แต่หลายๆ คนก็คงแค่ไม่อยากให้พรรคเดโมแครตบริหารประเทศแล้ว เลยเลือกอีกพรรคแทน
Q: แล้วไอเดีย America First ของทรัมป์ส่งผลอย่างไรไหม
ไอเดีย America First ของทรัมป์ทำอย่างนี้มาตั้งแต่การเลือกตั้งคราวก่อนๆ แล้ว ซึ่งมันดึงดูดคนชนชั้นแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะชอบนโยบายพรรคเดโมแครตมากกว่า เพราะจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการสังคมหลายๆ อย่าง แต่คนกลุ่มนี้กลับอยากได้นโยบาย America First ของทรัมป์ เพราะอยากได้ priority มากกว่า เนื่องจากบังคับไม่ให้โรงงานหรือบริษัทไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น แต่เอาการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาอยู่ที่สหรัฐฯ ฉะนั้นมันก็น่าจะเป็นนโยบายที่ทรัมป์ซื้อคนชนชั้นแรงงานได้ประมาณหนึ่ง
หลังๆ เราจึงเริ่มเห็นว่าคนชนชั้นแรงงานเริ่มไปเลือกทรัมป์เยอะขึ้น แปลว่ามันมีอะไรที่ทำให้เปลี่ยนนะ คือนโยบายพวกนี้แหละที่ทรัมป์บอกว่าเราจะช่วยเหลือ บังคับให้กลับมาตั้งโรงงานในประเทศ คนชนชั้นแรงงานก็ซื้ออันนี้มากกว่า เพราะรู้สึกว่าช่วงนี้เงินไม่ค่อยดี หางานยาก พอทรัมป์บอกจะไล่ผู้อพยพออกนอกประเทศให้หมด เลยไปเลือกทรัมป์มากกว่า เพราะคิดว่าผู้อพยพมาแย่งงาน นโยบายพวกนี้จึงดึงดูดใจ ทั้งๆ ที่ไบเดนพยายามมากและทุกครั้งที่มีการนัดหยุดงาน (strike) ไบเดนจะไปให้กำลังใจสหภาพแรงงานตลอด
III. ว่าด้วยอนาคตของสหรัฐฯ
Q: What if…แฮร์ริสชนะ มันจะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ไหม
ถ้าเธอชนะมันก็เปลี่ยน เราจะได้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เป็นผู้หญิงและผิวดำ โอ๊ะ น่าตื่นเต้น แต่ว่าในเชิงนโยบายก็แทบไม่ต่างจากไบเดน และเราจะเห็นต่อไปอีกเป็น 10 ปี แต่นโยบายภายในประเทศก็อาจจะดีขึ้นหน่อย ปัญหาเรื่องการทำแท้งก็คงถูกแก้ให้ดีขึ้น แต่นอกจากนั้นก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนมาก
Q: แล้วความพ่ายแพ้ของแฮร์ริสในครั้งนี้ จะนำไปสู่อนาคตของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ทรัมป์ขึ้นมาเปลี่ยนแน่นอน
เราต้องรอดูว่าสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของสหรัฐฯ ที่สร้างกันมาเป็นร้อยๆ ปี มันจะสู้แนวคิดขวาจัดของ ‘คนบ้า’ คนหนึ่งได้ไหม ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งแปลว่าเขาสามารถเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ แล้วสภาสูงก็จะโหวตเพื่อยืนยืนการเสนอ ซึ่งถ้าพรรครีพับลิกันมีเสียงอยู่ในสภาสูงก็ยิ่งมีสิทธิว่า ถ้าทรัมป์เสนอใครไปก็น่าจะได้…แปลว่าทั้ง 3 แขนงของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเป็นของทรัมป์หมดเลย ทั้งฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะไม่มีอะไรมาคานความเป็นบ้าของคนคนนี้ได้อีก และเราก็ต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯ จะเอาตัวรอดยังไง
ด้วยความที่ทรัมป์มีเพื่อนสนิทที่เป็นนักธุรกิจเยอะแยะไปหมด แล้วเขาจะเอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน เช่น พอทรัมป์พูดว่าสนับสนุน Elon Musk ทั้งหุ้นเอ็กซ์ หุ้นเทสลา หุ้นสเปซเอ็กซ์ขึ้นเยอะมาก ซึ่งในเมืองไทย ถ้านักการเมืองไทยทำแบบนี้ถือว่าคือการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง
ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นยังไง…
Q: ในฐานะที่อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มีมุมไหนไหมที่นำมาวิเคราะห์กับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
ก็คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มันไม่ดี ค่าครองชีพที่มันสูง ซึ่งคนอเมริกันบางส่วนก็โกรธพรรคเดโมแครตเพราะรู้สึกว่าบริหารไม่ดี เขาเลยมีเงินน้อยลง ค่าครองชีพสูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แฮร์ริสแพ้ และสาเหตุที่ทำให้พรรครัฐบาลทั่วโลกได้คะแนนความนิยมลดลง
ด้วยความที่เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเนอะ ก็มีความ ‘ปวดตับ’ เล็กน้อย เพราะเมื่อเราดูข้อมูลจริงๆ แล้วเนี่ย อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ มันต่ำลงจริงๆ ‘Bidenomics’ (นโยบายด้านเศรษฐกิจของไบเดน) ที่ไบเดนพยายามทำมันอาจจะไม่ได้หวือหวา แต่ก็มีผลนะ ตัวเลขการว่างงานมันลดลง ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็ต่ำกว่าที่อื่นๆ ค่อนข้างมาก แม้ช่วงที่โควิด-19 ระบาด อัตราต่างๆ ก็ขึ้นสูงมาก แต่ก็ลดลงค่อนข้างเร็ว
ดูเหมือนว่า Bidenomics จะน่าเบื่อ ไม่หวือหวา คนด่าว่าทำไมฉันยังจนอยู่ แต่ถ้าดูที่ข้อมูลจริงๆ มันก็พอเห็นผล พอเวิร์กอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่วิธีหาเสียงที่ดีนัก เพราะต่อให้เรารู้ว่าตอนนี้ค่าครองชีพสูง แต่มันต่ำกว่าที่อื่นเยอะเลยนะ คนอเมริกันก็จะถามว่า แล้วฉันจะแคร์ทำไม ก็ค่าครองชีพมันยังสูงอยู่
อีกอย่างคือนโยบายของทรัมป์ก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าครองชีพลดลงได้เลย เช่น ทำสงครามการค้ากับจีน ราคาสินค้ามันก็ต้องขึ้น ค่าครองชีพก็จะยิ่งสูง การที่จะเก็บภาษีนำเข้า คนที่จ่ายค่าภาษีนำเข้าท้ายที่สุดก็คือผู้บริโภคในประเทศ ต่อให้ทรัมป์บอกจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากจีน จีนก็ขายของมาให้อยู่แล้ว คนที่จ่ายจริงๆ คือคนที่นำเข้ามา แล้วค่าสินค้าก็จะสูงขึ้น และขายสินค้าในราคาที่แพงขึ้น
ก่อนวันเลือกตั้งก็มีคนที่ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ลงชื่อกันเป็นสิบคน เพื่อสนับสนุนแฮร์ริส และบอกว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ พัง ผลสุดท้ายทรัมป์ก็ชนะอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันก็ย้อนแย้งว่า เลือกทรัมป์เพราะอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่นโยบายของทรัมป์ก็ไม่เห็นดี มันจะช่วยคุณได้จริงๆ เหรอ
ภายใน – สหรัฐอเมริกา – หลังเลือกตั้ง
แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้ เราจะไม่ได้เห็นชัยชนะของพรรคเดโมแครตที่นำโดยแฮร์ริส แต่เราก็ได้เห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ทั้งชัยชนะของชายที่มีคดีติดตัว วิธีการเปลี่ยนตัวแทนกลางคันของพรรคเดโมแครตที่ดูไม่เวิร์กเท่าไร ความพ่ายแพ้ของแฮร์ริสที่ฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร และนโยบายเศรษฐกิจที่น่าติดตามของรัฐบาล ‘ทรัมป์ 2.0’
แม้พิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2025 แต่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็เริ่มประกาศรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะทำงานต่างๆ ออกมาแล้ว และหลายๆ ชื่อก็ทำให้ประหลาดใจอยู่ไม่น้อย
มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ชื่อว่า กระทรวงส่งเสริมประสิทธิภาพของรัฐบาล (Department of Government Efficiency) ซึ่งหนึ่งในผู้ที่จะเข้ามากำกับดูแลคือ Elon Musk นักธุรกิจ เจ้าของแอปพลิเคชันเอ็กซ์ บริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ที่ให้การสนับสนุนทรัมป์
นอกจากนี้อีกหนึ่งชื่อที่น่าสนใจคือ Robert F. Kennedy Jr. ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อต้านวัคซีน ซึ่งทรัมป์เลือกให้เขามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (Department of Health and Human Services) นั่นเอง
เช่นนี้แล้ว เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 ในปี 2025 จะขับเคลื่อนสหรัฐฯ และโลกในฐานะประเทศมหาอำนาจไปในทิศทางใดและอย่างไร
สโลแกน ‘TRUMP WILL FIX IT’ จะเป็นจริงไหม และจะ ‘MAKE AMERICA GREAT AGAIN!’ ได้จริงหรือเปล่า
“ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นยังไง…”
อ้างอิง
THE STANDARD. (19 กรกฎาคม 2024). ทรัมป์ถูกยิง ไบเดนถูกบีบให้ถอนตัว ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป. เข้าถึงได้จาก the standard: https://www.youtube.com/watch?v=A5wgj4x1z5Q
BBC. (10 พฤศจิกายน 2024). ใครคือตัวเต็งในโผฝ่ายบริหารชุดใหม่ของ ทรัมป์?. เข้าถึงได้จาก bbc: https://www.bbc.com/thai/articles/c3wq5lj3xqqo
CNN. (14 พฤศจิกายน 2024). Trump picks Robert F. Kennedy Jr. to be his Department of Health and Human Services secretary. เข้าถึงได้จาก cnn: https://edition.cnn.com/2024/11/14/politics/robert-f-kennedy-donald-trump-hhs/index.html
CBS NEWS. (14 พฤศจิกายน 2024). What to know about Trump’s Department of Government Efficiency, led by Elon Musk and Vivek Ramaswamy. เข้าถึงได้จาก cbsnews: https://www.cbsnews.com/news/trump-department-of-government-efficiency-doge-elon-musk-ramaswamy/