เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย
สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ.
เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม?
ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ
ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ
และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน
แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร…
จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน (โปรดจดจำเขาไว้จนถึงตอนจบของเรื่อง) เขาอธิบายให้ฟังว่าอาชีพ ‘สายส่งหนังสือ’เป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ เพราะสำนักพิมพ์ไม่สามารถส่งหนังสือของตัวเองไปยังร้านหนังสือทั้งประเทศได้โดยง่าย สายส่งจึงเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปกระจายให้แก่ร้านหนังสือต่างๆ อย่างทั่วถึง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าถ้าหากไม่มีสายส่งแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ก็จะไปไม่ถึงร้านหนังสือ หรือต่อให้ไปถึงก็คงไม่สามารถครอบคลุมร้านหนังสือได้ทั่วประเทศดังที่สายส่งทำ สายส่งหนังสือจึงเปรียบเสมือนกลไกแสนสำคัญของวงการหนังสือ
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
แต่น่าแปลกที่กลไกนี้กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก อาจเป็นเพราะสายส่งในประเทศไทยนี้มีไม่กี่แห่ง และส่วนใหญ่มักอยู่ภายใต้บริษัทเครือใหญ่ที่มีทั้งสำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือเป็นของตัวเอง ซึ่งเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม ฉันยังโชคดีที่มีโอกาสได้เจอกับ ‘วินัย ชาติอนันต์’ ผู้จัดการบริษัทเคล็ดไทย จำกัด บริษัทที่ทำหน้าที่สายส่งมาตั้งแต่ปี 2522 จวบจนถึงปัจจุบัน ฉันจึงอยากชวนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับอาชีพสายส่งหนังสือมากยิ่งขึ้นผ่านคำบอกเล่าของคุณวินัยไปด้วยกัน
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
เคยได้ยินไหมว่าสายส่งเคล็ดไทยทำงานยังไง?
คุณวินัยเล่าให้ฟังว่า เคล็ดไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจร้านหนังสือชื่อ ‘ศึกษิตสยาม’ และสำนักพิมพ์ชื่อ ‘เคล็ดไทย’ ก่อนจะแยกตัวเป็น ‘สายส่งศึกษิต’ หรือที่ผู้คนในวงการหนังสือจะรู้จักกันในชื่อ ‘สายส่งเคล็ดไทย’ ที่ออกมารับหน้าที่สายส่งหนังสืออย่างเต็มตัวในปี 2522 เนื่องจากช่วงปี 2516-2519 ประชาธิปไตยในประเทศไทยเบ่งบาน การอ่านก็เติบโตอย่างรวดเร็ว สำนักพิมพ์จึงต้องการตัวแทนช่วยนำหนังสือไปจัดวางตามร้านหนังสือ ซึ่งสายส่งศึกษิตของเคล็ดไทยเป็นผู้รับหน้าที่นั้น
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
ส่วนในปัจจุบัน เคล็ดไทยยังเป็นผู้ทำหน้าที่สายส่งได้อย่างดี ร้านหนังสือกว่า 800 ร้านทั่วประเทศก็พึ่งพาหนังสือจากสายส่งเคล็ดไทย และสำนักพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 20 เจ้าก็เป็นลูกค้าที่เชื่อใจในฝีมือของบริษัทสายส่งแห่งนี้
ทั้งนี้เรียกได้ว่าเคล็ดไทยเป็นบริษัทสายส่งที่ทั้งมีอายุยืนยาวและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคู่ค้ามากโขเลยทีเดียว
ถึงอย่างไร ฉันเองก็ไม่ได้อยากทำความรู้จักสายส่งหนังสือเพียงแค่เบื้องหน้าเท่านั้น แต่ยังอยากเรียนรู้ไปถึงวิธีการทำงานของพวกเขาด้วย คุณวินัยจึงเล่าให้ฟังอยากออกรสออกชาติว่า สายส่งต้องทำงานกับอีก 2 ส่วนหลักของวงการหนังสือ ซึ่งก็คือสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ โดยระบบการนำส่งหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปยังร้านหนังสือที่ใช้โดยทั่วไปเรียกว่า ‘ระบบฝากขาย’
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
ระบบฝากขาย คือสำนักพิมพ์จะนำหนังสือที่ตีพิมพ์ของตนมามอบให้กับสายส่ง และสายส่งจะทำหน้าที่กระจายหนังสือเหล่านั้นไปให้ร้านหนังสือต่างๆ เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาการขายตามแต่กำหนด สายส่งจะกลับไปยังร้านหนังสือทั้งหลายเพื่อเก็บหนังสือเล่มที่ขายไม่ออกกลับคืนมาไว้ที่คลังแล้วจึงค่อยมาแบ่งสรรปันส่วนรายได้จากการขายระหว่างร้านหนังสือ สายส่ง และสำนักพิมพ์ ซึ่งคุณวินัยระบุว่าการ ‘นัดเคลียร์บัญชี’ กันจะมีเป็นรอบๆ ตั้งแต่ 2 เดือน 3 เดือน ไปจนถึง 6 เดือน หรือ 1 ปีก็มี
ทว่าระบบฝากขายนี้เองที่ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่สำนักพิมพ์ ลองนึกภาพตามว่าเราเองเป็นสำนักพิมพ์ที่ส่งหนังสือไปให้สายส่ง สายส่งส่งต่อไปให้ร้านหนังสือ รอจนกว่าจะครบเวลาการขาย สายส่งจะกลับไปรับหนังสือคืนจากร้านหนังสือและเริ่มแบ่งรายได้ ก่อนที่สายส่งจะแบ่งเงินมาให้สำนักพิมพ์อย่างเรา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาร่วม 2 เดือนขึ้นไป
นั่นแสดงว่าระหว่างช่วงเวลาแห่งการรอคอยนี้ รายได้จากการขายหนังสือหน้าร้านจะไม่ตกมาถึงสำนักพิมพ์เลยแม้แต่บาทเดียว
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Full Moon Book Sale
กลับกันในอีกระบบหนึ่งที่คุณวินัยเล่าให้ฉันฟังก็คือ ‘ระบบซื้อขาด’ ซึ่งเป็นระบบที่สายส่งจะซื้อขาดหนังสือจากสำนักพิมพ์ หรืออธิบายง่ายๆ ว่าสำนักพิมพ์ตีพิมพ์มาเท่าไร สายส่งจะขอรับซื้อหนังสือเหล่านั้นไว้ทั้งหมดและนำไปกระจายต่อให้ร้านหนังสือ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสำนักพิมพ์จะได้รับเงินก้อนจากการขายหนังสือให้สายส่งทันที โดยไม่ต้องรอคอยอย่างระบบฝากขาย ทว่าระบบดังกล่าวกลับกลายเป็นการโยนความเสี่ยงมาไว้ที่สายส่งแทน เพราะถ้าหากหนังสือที่ใช้เงินก้อนซื้อมาดันขายไม่ออก นั่นหมายความว่ารายได้ของสายส่งก็จะหายไป
คุณวินัยเล่าว่าทางสายส่งเคล็ดไทยเองก็พยายามซื้อขาดหนังสือบางเล่มของบางสำนักพิมพ์ เนื่องจากเข้าใจว่าสำนักพิมพ์ในประเทศไทยนั้นมีเงินหมุนเวียนไม่มาก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่การจะซื้อขาดครั้งหนึ่งต้องประเมินในหลายๆ ด้าน เพื่อไม่ให้สายส่งต้องรับความเสี่ยงมากเกินไปเช่นกัน
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Full Moon Book Sale
ระบบแรก สำนักพิมพ์ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายระหว่างรอเงินที่ได้จากการขายหนังสือคืนมา…
ระบบที่สอง สายส่งต้องแบกรับความเสี่ยงจากการซื้อขาดหนังสือ…
ฉันมองว่าเรื่องนี้ช่างน่าเศร้า เพราะไม่มีใครสามารถมองหาระบบ ‘ตรงกลาง’ ที่จะมาช่วยแบกรับปัญหาของทั้งสำนักพิมพ์และสายส่งได้เลย…จนกระทั่งคุณวินัยเล่าถึงระบบหนึ่งที่เคล็ดไทยทำขึ้น เพื่อช่วยเหลือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ต้องการเงินก้อนล่วงหน้าจริงๆ
เคยได้ยินไหมว่าสายส่งเคล็ดไทยมีระบบแอดวานซ์เช็ค?
คุณวินัยเล่าด้วยความภูมิใจว่าระบบสำรองจ่ายหรือที่เขาเรียกว่าการจ่ายแอดวานซ์เช็คล่วงหน้า คือระบบที่ทางสายส่งเคล็ดไทยใช้ช่วยเหลือสำนักพิมพ์ที่ต้องการเงินล่วงหน้า โดยจะขออธิบายภาพระบบดังกล่าวให้เห็นชัดๆ ตามนี้
สมมติว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ตีพิมพ์หนังสือ 1 ปกออกมา 1,000 เล่ม เราต้องการนำหนังสือไปวางขายหน้าร้านหนังสือผ่านบริการของสายส่งเคล็ดไทย ทว่าไม่สามารถรอคอยได้นานถึง 2 เดือน ทางสายส่งเคล็ดไทยจะช่วยประเมินหนังสือของเราว่าใน 1,000 เล่มนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะขายออกกี่เล่ม
หากประเมินได้ว่าคงขายออก 300 เล่ม เคล็ดไทยจะจ่ายเงินเป็นเช็คล่วงหน้าให้แก่สำนักพิมพ์ของเรา โดยหักค่าบริการสายส่ง 42% จากราคาปก ก่อนจะนำอีก 58% ที่เหลือคูณกับจำนวนหนังสือที่จะขายออก 300 เล่ม ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับเงินสำรองจ่ายที่ทางสำนักพิมพ์สามารถนำไปใช้ได้ล่วงหน้า
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากหนังสือของสำนักพิมพ์ขายได้ 500 เล่ม ซึ่งมากกว่าที่เคล็ดไทยคาดการณ์ไว้ สายส่งก็จะค่อยนำเงินส่วนแบ่งจาก 200 เล่มที่ขายเพิ่มขึ้นมาได้จ่ายตามไปทีหลังเช่นเดิม
หรือถ้าหากหนังสือของสำนักพิมพ์ขายไม่ได้ตามเป้า 300 เล่มที่คาดไว้ เคล็ดไทยก็จะมาเจรจากับทางสำนักพิมพ์โดยตรงว่ารายได้ตอนนี้ติดลบ และจะพยายามช่วยหาทางออกไปด้วยกัน เช่น แนะนำแนวหนังสือที่กำลังขายได้ให้สำนักพิมพ์ลองพิจารณา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าทางสายส่งคาดการณ์ผิด หนังสือขายไม่ออกและค้างสต็อกสินค้าไว้เช่นนั้น สายส่งจะมีวิธีจัดการกับคลังหนังสือค้างสต็อกอย่างไร
คุณวินัยก็เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากเคล็ดไทยเองก็มีร้านหนังสือศึกษิตสยาม หากหนังสือเล่มไหนค้างสต็อกอยู่ก็จะนำมาวางขายหน้าร้านดังกล่าวในชื่องาน ‘Full Moon Book Sale’ เพื่อกระจายสินค้าออกจากคลังในราคาถูก รวมถึงมีการนำไปขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเพิ่มเติมด้วย
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Full Moon Book Sale
ทั้งนี้ถ้าหากยังขายไม่ได้อีก ทางสายส่งจะพูดคุยกับทางสำนักพิมพ์ให้พิจารณาการขายต่อให้พ่อค้าแม่ค้ารับซื้อหนังสือมือสอง และแม้ว่าคงจะไม่ได้กำไรอะไร แต่อย่างน้อยก็ยังพอเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้สำนักพิมพ์ไป
เคยได้ยินไหมว่าร้านหนังสือกำลังจะตาย?
หากถามถึงความท้าทายของอาชีพสายส่งในปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องพฤติกรรมของคนอ่านที่หันไปซื้อหนังสือออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์สำนักพิมพ์โดยตรง ผ่านร้านหนังสือออนไลน์ หรือผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce อย่าง Lazada และ Shopee ซึ่งการซื้อหนังสือออนไลน์ล้วนกระทบต่อความเป็นอยู่ของร้านหนังสือที่มีหน้าร้าน และในอีกทางหนึ่งก็กระทบกับสายส่งด้วยเช่นกัน
เพราะถ้าหากไม่มีร้านหนังสือ สายส่งก็คงไม่รู้จะนำหนังสือไปส่งให้ใคร…
คุณวินัยเล่าว่า ทางเคล็ดไทยเองก็พยายามปรับตัวโดยการนำหนังสือเข้าไปขายผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ผลตอบรับดีเท่าไรนัก แต่ก็ต้องปรับกันต่อไป โดยช่วงระยะเวลาที่แทบจะเรียกว่าวิกฤตของวงการการอ่านก็คือนับตั้งแต่ยุคโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา เพราะคนหันไปซื้อหนังสือออนไลน์เต็มตัว
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai (1) และ Kledthai (2)
นอกจากนี้ตลาดการอ่านก็ไม่ค่อยขยับขยายตัวให้เห็นในพักหลังมานี้ด้วย ซึ่งคุณวินัยออกความเห็นว่า การอ่านต้องเริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานสำคัญอย่างครอบครัวที่ช่วยสอนให้เด็กรู้ถึงคุณค่าของหนังสือ ส่วนภาคเอกชนและภาครัฐก็ต้องช่วยเหลือสนับสนุนทั้งการอ่านและวงการหนังสือเท่าที่จะทำได้
หลังจากนั้นคุณวินัยก็ยกตัวอย่างประสบการณ์ชีวิตของเขาให้ฉันฟังว่าทำไมการอ่านจึงสำคัญ…
ในตอนที่เป็นวัยรุ่น คุณวินัยรับหน้าที่ปั่นจักรยานส่งหนังสือตามร้านหนังสือต่างๆ เขาเป็นหนึ่งคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย เพราะเขาต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง
จนกระทั่งอายุเยอะขึ้นถึงเพิ่งเริ่มอ่าน ถึงได้เข้าใจว่าหนังสือนั้นสำคัญอย่างไร คุณวินัยพูดพลางถอนหายใจพร้อมรอยยิ้มว่า กว่าจะรู้ว่าหนังสือเป็นคลังความรู้ที่ช่วยมอบประสบการณ์ดีๆ ให้แก่คนอ่าน เขาก็อายุเยอะเสียแล้ว ช่างน่าเสียดายที่เขาละเลยการอ่านไป ณ เวลานั้น
ฉันเดาว่าเขาคงไม่อยากให้เด็กในยุคใหม่มองข้ามหนังสือไป เพราะมันต้องเป็นเรื่องน่าเสียดายมากจริงๆ
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
เคยได้ยินไหมว่าสายส่งทำให้ราคาหนังสือแพง?
สุดท้ายบทสนทนาของเราก็วนมาถึงเรื่องนี้จนได้…
แต่ก่อนที่จะพาทุกคนไปเผชิญกับข้อถกเถียงข้อใหญ่ในวงการหนังสือ ฉันจะขออธิบายคร่าวๆ ถึงวิธีการหารายได้ของสายส่งเสียก่อน
หากอ้างอิงตามโครงสร้างราคาหนังสือแล้ว การขายหนังสือได้ 1 เล่ม สำนักพิมพ์จะต้องแบ่งเงินจากการขายได้ให้สายส่ง 40-45% หรือกล่าวง่ายๆ คือหากขายหนังสือ 1 เล่มในราคาเล่มละ 100 บาท สายส่งจะได้เงินไป 40-45 บาท และอีก 55-60 บาทที่เหลือจะเป็นของสำนักพิมพ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสำนักพิมพ์นั้นยังได้รับสัดส่วนการแบ่งรายได้ที่มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่าสำนักพิมพ์ยังมีค่าใช้จ่าย อย่างค่าโรงพิมพ์ ค่าจ้างนักเขียนนักแปล ค่าจ้างนักออกแบบจัดหน้าหนังสือ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในออฟฟิศกรณีที่สำนักพิมพ์มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง เรียกได้ว่าเงินที่ตกมาถึงสำนักพิมพ์จริงๆ อาจมีเหลืออยู่ไม่ถึง 10 บาทเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นหากสำนักพิมพ์ต้องการกำไรจากการขายหนังสือเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงต้องเพิ่มราคาปกของหนังสือเพิ่มขึ้นนั่นเอง ฉันสรุปในใจ
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
คุณวินัยเล่าว่าทางสายส่งเคล็ดไทยคิดค่าบริการ 42% ของราคาปกของหนังสือที่ขายได้ ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ คนคงมองว่าเป็นการคิดเปอร์เซ็นต์ที่แพงและดูเหมือนเอาเปรียบทางสำนักพิมพ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว 42% นี้ ทางสายส่งยังต้องแบ่งไปให้ร้านขายหนังสืออีกด้วยเช่นกัน
การแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ร้านหนังสือแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ แบ่งให้ร้านหนังสืออิสระ 25% และแบ่งให้ร้านหนังสือ chain 33% โดยคุณวินัยให้เหตุผลว่าทางร้าน chain มีการขอแบ่งสัดส่วนเพิ่มเนื่องจากเป็นร้านที่มีหลายสาขา สามารถช่วยกระจายหนังสือไปได้หลายที่ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการจัดการบริหารหน้าร้าน ทางสายส่งจึงต้องยอมแบ่งจ่ายให้
ดังนั้นเมื่อมองดูดีๆ แล้ว หากสายส่งส่งหนังสือให้กับร้านหนังสืออิสระ สายส่งจะเหลือรายได้เพียง 17% และถ้าหากส่งหนังสือให้ร้านหนังสือ chain ต่างๆ ที่มีสาขาส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามห้างสรรพาสินค้า สายส่งจะเหลือรายได้เพียง 9% เท่านั้น
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
คุณวินัยเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า กำไรของสายส่งมีเพียงแค่ 2% หรือบางทีอาจจะน้อยกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ เพราะทางสายส่งเคล็ดไทยเองก็มีรายจ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีลูกจ้างจำนวน 50 กว่าคน จึงต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกเดือนซึ่งนับเป็นรายจ่ายที่แพงที่สุด รวมถึงยังมีค่าน้ำมันสำหรับการเดินทางนำหนังสือจากโกดังไปส่งให้ร้านหนังสือ และค่าสร้างโกดังสำหรับเก็บหนังสือเพิ่มเติมด้วย
เมื่อฉันถามถึงความคิดในการปรับเปลี่ยนการแบ่งสัดส่วนรายได้ คุณวินัยก็ออกความเห็นว่า ในตอนนี้ที่ทางสายส่งเคล็ดไทยคิด 42% ทุกธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยอมรับได้ ไม่ได้ถึงขั้นขัดสนทางการเงิน ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถใช้รูปแบบการแบ่งเปอร์เซ็นต์เช่นนี้ต่อไปได้โดยไม่ติดขัดอะไร
ฉันกลับมานั่งนึกในใจว่า ถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว สายส่งจากบริษัทเครือใหญ่ที่มี ‘หมวกหลายใบ’ ในการทำธุรกิจหนังสือ ไม่ว่าจะทำสำนักพิมพ์ สายส่ง รวมไปถึงมีหน้าร้านหนังสือ chain จำเป็นต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับร้านหนังสือด้วยไหม หรือ 40-45% ที่แบ่งให้ทั้งสายส่งและร้านหนังสือนั้นจะรวมกันเป็นหนึ่ง เข้าตรงสู่บริษัทในเครือเดียวกันไปเลย…
เคยได้ยินไหมว่าบริษัทเครือใหญ่มีสายส่งของตัวเอง?
ในความคิดของคุณวินัย การทำธุรกิจหนังสือไม่ควรเหมาเอาธุรกิจทุกรูปแบบไปไว้ภายใต้บริษัทเครือเดียวกัน ทว่าด้วยระบบทุนนิยมแล้วก็คงไม่สามารถไปห้ามใครได้ เพราะเมื่อเขาเห็นว่าธุรกิจนี้มันสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายขา ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งโรงพิมพ์เอง เขาก็ต้องขยายไป
หากเปรียบเทียบระหว่างสายส่งเคล็ดไทยและสายส่งจากเครือใหญ่แล้ว คุณวินัยมองว่าบริษัทเขาค่อนข้างเสียเปรียบในวงธุรกิจนี้ เนื่องจากบริษัทเครือใหญ่มีร้านหนังสือ chain หลากหลายสาขาของตัวเอง ดังนั้นย่อมต้องมีระบบจัดการการนำหนังสือไปส่งตามร้านหนังสือได้ง่ายกว่า
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
อีกทั้งการมีร้านหนังสือ chain ในมือยังเปรียบเสมือนการมีข้อมูลการขายจำนวนมากจากลูกค้าที่เข้าใช้บริการ ทำให้ตรวจสอบได้ง่ายว่าหนังสือแนวไหนขายได้ดี ณ ร้านไหน ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการเลือกนำหนังสือในสำนักพิมพ์ของเครือตัวเองมาจัดวางได้เยอะกว่าด้วย
เมื่อฉันลองนึกภาพตามแล้วก็เข้าใจคำอธิบายของคุณวินัยได้ทันที เพราะถ้าหากเดินเข้าร้านหนังสือ chain ทั้งหลายแล้ว ฉันมักจะเห็นแต่หนังสือที่มาจากสำนักพิมพ์เดิมๆ ส่วนการจัดวางหน้าร้านในลักษณะที่คล้ายคลึงกันไปหมด
คุณวินัยเล่าว่า สายส่งภายใต้เครือใหญ่เหล่านั้นก่อตั้งขึ้นมาภายหลังสายส่งศึกษิต ทางเคล็ดไทยก็พยายามยืนหยัดอยู่มาจน 40 กว่าปีได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอายุการทำงานที่ทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ทำให้มีสำนักพิมพ์ที่เชื่อใจและมาใช้บริการสายส่งของเคล็ดไทยอยู่เสมอ
คุณวินัยปิดท้ายด้วยการกล่าวว่า แต่ถ้าหากเกิดวิกฤตขั้นร้ายแรงที่บีบให้สายส่งบริษัทเคล็ดไทยไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ ถึงจุดนั้นเขาก็คงต้องยอมปล่อยมือ…
ภาพประกอบจาก เพจ Facebook : Kledthai
เคยได้ยินไหมว่ามีทางแก้ปัญหาสายส่ง?
หวังว่าทุกคนคงจะยังจดจำคุณน้าคนแรกตอนเปิดเรื่องได้ คุณน้าที่เป็นผู้ทำงานในวงการหนังสือมานาน มีความคิดเห็นหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับแวดวงดังกล่าว อีกทั้งยังพร้อมจะบอกเล่าและส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจที่หลายคนอาจไม่เคยรู้อีกด้วย
อย่างเช่นในครั้งนี้ที่ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณน้าอีกครั้ง เขาก็นำเรื่อง ‘ระบบแอดวานซ์เช็ค’ มาเล่าให้ฉันฟัง โดยเขามองว่าจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าให้กับสำนักพิมพ์นั้นเป็นการช่วยเหลือที่คล้ายจะดี แต่สุดท้ายก็ไม่ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากระบบแอดวานซ์เช็คมีลักษณะไม่ต่างจากระบบกู้เงินโดยมีหนังสือเป็นสิ่งค้ำประกัน
คล้ายกับว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กไปขอเงินกู้จากสายส่ง สายส่งก็มาประเมินดูว่าหนังสือของสำนักพิมพ์นี้จะขายได้สักเท่าไร แต่ถ้าสุดท้ายหนังสือขายไม่ได้ สำนักพิมพ์ก็เหมือนเป็นหนี้สายส่งไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ เคยมีการคิดหาระบบที่จะมาช่วยเหลือสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่ต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน และสุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ…
คุณน้าเล่าให้ฟังว่าระบบดังกล่าวคือ สายส่งนั้นพอจะรู้อยู่แล้วว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มาใช้บริการนั้นถนัดทำหนังสือแนวใด และถ้าหากสายส่งมองว่าสำนักพิมพ์นั้นๆ ผลิตหนังสือที่ดี มีคุณค่าต่อคนอ่าน ก็ให้ทางสายส่งทำสัญญาร่วมกับสำนักพิมพ์แห่งนั้น โดยกำหนดให้สำนักพิมพ์ผลิตหนังสืออกมาปีละ 12 เล่ม ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยตกลงช่วยกันเลือกหนังสือกับสายส่งก่อน และสายส่งจะช่วยซื้อขาดหนังสือทุกเล่มที่ได้รับการผลิตตามสัญญา การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กไม่เป็นหนี้
คุณน้าคิดว่าระบบแบบนี้อาจทำให้ความเสี่ยงไปอยู่สายส่งก็จริง แต่ถ้าหากเป็นสายส่งภายใต้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนหมุนเวียนเยอะและเติบโตมาก ก็สามารถใช้ระบบนี้คอยช่วยเหลือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กไปด้วยได้ แต่ไม่มีใครยอมทำ… โดยคุณน้ามองว่าคงเป็นเพราะระบบในปัจจุบันทุกอย่างต่างเอื้อให้บริษัทในเครือใหญ่เหล่านั้นหากำไรจากทุกธุรกิจในวงการหนังสือได้
เมื่อสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่รักหนังสือ ผลิตหนังสือออกมา แล้วไม่รู้ว่าจะหันไปใช้สายส่งที่ไหน สุดท้ายก็ต้องมาพึ่งพาบริษัทใหญ่อยู่ดี…ดีกว่าบริษัทใหญ่ต้องยอมจ่ายเงินสนับสนุนสำนักพิมพ์เล็กๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่ากับการลงเงินของเขาหรือเปล่า