เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี

“โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง”
ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ยกมือตอบคำถามแล้วพบว่ามันผิดมหันต์แถมเป็นคนละเรื่องเลยด้วยซ้ำ และอื่นๆ อีกมากมายตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันหลอกหลอนในหัวซ้ำๆ จนอยากร้องกรี๊ด
.
ความรู้สึก Cringe คืออะไร?
ในเชิงจิตวิทยา “Cringe” มีความหมายว่า ความรู้สึกอับอาย และบางครั้งก็เป็นความรู้สึกอายแทน (vicarious embarassment) มันคือความรู้สึกไม่ดี อึดอัด กระอักกระอ่วน เมื่อเห็นคนตกที่นั่งลำบากเชิงสังคม อย่างการอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอับอาย สุ่มเสี่ยงต่อการขายหน้า หรือสูญเสียสถานะทางสังคม
Melissa Dahl ผู้เขียน Cringeworthy: A Theory of Awkwardness กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ทำให้เราเขินอายคือตอนที่เราถูกดึงออกจากมุมมองของตัวเอง และทันใดนั้นเราก็สามารถมองเห็นตัวเองจากมุมมองของคนอื่นได้” ความรู้สึกอับอายจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวเองและคนอื่น
.
เบื้องหลังความ Cringe
ขอเริ่มด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาผู้เป็นบิดาแห่งวิชาวิวัฒนาการ ในเรื่องของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพื่อให้เห็นภาพขอเท้าความไปสมัยที่เรายังอาศัยอยู่ในถ้ำ ถือหอกวิ่งล่าสัตว์เป็นอาหาร ด้วยความอันตรายและไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้หนทางเพิ่มความอยู่รอดจึงเป็นการรวมกันเราอยู่ เพราะแยกหมู่เราตาย มนุษย์จึงแสวงหาการยอมรับจากสังคม ไม่ใช่เพราะรักคนอื่นแต่เป็นเพราะรักตัวเอง การถูกขับออกจากกลุ่มทำให้มีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง ความรู้สึกผูกพันกับกลุ่มสังคมที่อยู่ร่วมด้วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ
โชคดีที่สมัยนี้ทุกอย่างอำนวยความสะดวกให้เราอยู่รอดทางร่างกาย (ถ้ามีเงิน) แต่ในทางจิตใจกลับไม่ใช่อย่างนั้น
งานวิจัยของ Ethan Kross และ Edward Smith ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อธิบายว่า การถูกปฏิเสธทางสังคมสามารถส่งผลกระทบต่อสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกได้ไม่ต่างจากความเจ็บปวดทางร่างกาย
การทำเรื่องน่าอายจึงถือเป็นพฤติกรรมท้าทายบรรทัดฐานที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียสถานะทางสังคม ดังนั้น ต้นตอของความรู้สึกอับอายจึงมีสาเหตุมาจากการที่ธรรมชาติคัดสรรบังคับให้เราต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มนุษย์จึงแสวงหาการยอมรับและกลัวการถูกปฏิเสธจากสังคม เพราะมนุษย์ถูกวางเงื่อนไขมาจากวิวัฒนาการ มันคือสัญชาตญาณที่ยังคงมีอยู่
.
แล้วทำไมเราถึงรู้สึก Cringe กับคนอื่นด้วย?
การที่เราอายแทนนั้นไม่ต่างจากร้องไห้เมื่อดูหนังแล้วเห็นเจ้าของเสียใจที่หมาตาย หรือดีใจไปกับชัยชนะของทีมฟุตบอล นั่นเป็นเพราะสมองเราจำลองอารมณ์ที่ได้รับรู้ขึ้นมาให้เรารู้สึกเช่นเดียวกับอีกคน หรือที่เรียกว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron เซลล์ส่วนหนึ่งในสมองที่เอาไว้ตอบสนองพฤติกรรมการรับรู้บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสจากภายนอกผ่านทางร่างกาย หรือความรู้สึกในจิตใจ อย่างในที่นี้คือความอับอาย สถานการณ์ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดถูกกระตุ้น ทั้งส่วนหน้าของเปลือกสมองส่วน cingulate cortex (ACC) และ insula ส่วนหน้าซ้าย นอกจากนั้นแล้วสมองยังทำหน้าที่ตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง เพื่อประเมินสถานะทางสังคมว่าคนอื่นจะมองเราแบบไหนอยู่เสมออีกด้วย
ความรู้สึกอายแทนมีหลายระดับ บางครั้งก็แฝงด้วยความรู้สึกเชิงบวกที่พอดี อย่างการรู้สึกสงสารหรือเห็นใจคนที่ทำอะไรน่าอับอายลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพวกเดียวกับเรา เช่น เวลาที่เพื่อนออกไปนำเสนองานหน้าห้องแล้วเล่นมุกไม่ฮาพาเพื่อนเครียดจนคนทั้งห้องยิ้มแหย หรือเวลาไปร้านเหล้าแล้วเพื่อนเมาทำตัวสะเหล่อไปขอไอจีคนที่เขาควงแขนมากับแฟน
แต่ถ้าแฝงด้วยความรู้สึกเชิงลบก็จะรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าและมองว่าคนที่ทำเรื่องน่าอับอายด้อยกว่า เพราะมองว่าเป็นคนที่ไม่รู้มารยาท กฎเกณฑ์ทางสังคม หรือไม่ยอมทำตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด เป็นความรู้สึกรังเกียจไม่อยากคบหา ถ้าอยู่ในกลุ่มก็จะถูกขับออก ถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มก็จะกีดกันไม่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หากรุนแรงมากๆ จะนำไปสู่การบูลลี่ (นี่อาจจะเป็นความรู้สึกของไจแอนท์และสึเนโอะ เวลาที่แกล้งโนบิตะ หรือเรจิน่า จอร์จ หัวหน้าแก๊งพลาสติกจากเรื่อง Mean girls ที่กลั่นแกล้งเคดี้ก็เป็นได้)
.
กับดักความ Cringe
มันเป็นเรื่องปกติของสมอง ที่เราจะประเมินการกระทำของคนอื่นว่ามันน่าอับอายหรือไม่ อะไรที่คิด (ไปเอง) ว่าสะเหล่อก็จะไม่ทำ เพราะเราต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคมและกลัวการถูกปฏิเสธอยู่เสมอ ในขณะที่สมองตัดสินคนอื่น เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าคนอื่นก็ตัดสินเราเหมือนกัน มันเลยเป็นความคาดหวังที่จะให้ตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา
ในแง่หนึ่งความกลัวสะเหล่อก็มีประโยชน์ เพราะทำให้เราตระหนักรู้การกระทำของตนเองที่มีต่อสังคม แต่ในทางกลับกันมันก็อาจจะมากจนทำให้เราไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย แม้ว่ามันจะไม่ได้เดือดร้อนใครก็ตาม ความลังเลที่จะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) เพราะเอาแต่กลัวคนอื่นจะคิดยังไง อาจทำให้เราไม่มีวันได้เป็นเพื่อนกับคนแปลกหน้าที่น่าสนใจสุดๆ ทำให้เราไม่มีวันได้ทำตามความฝัน ทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป และทำให้เราไม่มีวันได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้จริงๆ เพียงเพราะว่ากลัวจะดูโง่และสะเหล่อในสายตาคนอื่น
.
จริงไหมที่ไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น?
‘ไม่มีใครสนใจเราเท่ากับที่เราสนใจตัวเองหรอก เพราะพวกเขาก็กำลังสนใจตัวพวกเขาเองเหมือนกัน’
Spotlight Effects แนวคิดทางจิตวิทยาสังคมที่เราคิดว่ามีสายตาของคนอื่นสนใจเราเกินความเป็นจริง เสมือนว่ามีแสงสปอตไลท์ส่องมาที่เรา ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่มีใครสนใจเราเลย
ในปี 2000 Thomas Gilovich ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ได้แบ่งกลุ่มให้นักศึกษาทำแบบสำรวจในห้องประชุม แต่ละกลุ่มจะมีการสุ่มเลือกนักศึกษาหนึ่งคนที่ต้องสวมเสื้อยืดสกรีนลายแบร์รี แมนิโลว์ (นักร้องชาวอเมริกันยุค 70s) และจะได้รับเวลานัดหมายช้ากว่าคนอื่น 5 นาที เมื่อเขามาถึงทุกคนในห้องจะนั่งทำแบบสำรวจกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนที่นักศึกษาจะเข้าห้องพร้อมกับเสื้อลายแบร์รี แมนิโลว์ ทีมผู้ทำวิจัยได้ถามเขาว่า “คุณคิดว่าจะมีสักกี่คนในห้องที่สามารถบอกชื่อหรือจดจำนักร้องบนเสื้อยืดคุณได้” ซึ่งผลการศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาที่ถูกบังคับให้ใส่เสื้อยืดสกรีนลายแบร์รี แมนิโลว์ คิดว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนในห้องนั้นสามารถจดจำเสื้อยืดของพวกเขาได้ แต่แท้จริงแล้วมีเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของคนในห้องเท่านั้นที่สังเกตเห็น
จริงอยู่ที่ไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น แต่นั่นก็ไม่จริงเสมอไป เพราะอาจจะมีใครสักคนที่สังเกตเราอยู่ก็ได้ (แม้ว่าอีกสักพักเขาคงจะลืมก็เถอะ) วิธีบรรเทาความทรงจำแย่ๆ คือการนึกถึงเหตุการณ์น่าอายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ แล้วเปลี่ยนไปสนใจรายละเอียดในเรื่องที่ไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจแทนอย่างรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สถานที่ เวลา สภาพอากาศ และบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็จะช่วยคลี่คลายปมอันน่าอับอายในอดีตได้ง่ายขึ้นทีเดียว
.
ไม่ยากถ้าอยากเลิกกลัวสะเหล่อ
“เราต่างทุกข์ทรมานในจินตนาการมากกว่าทุกข์ทรมานในความเป็นจริง”
ประโยคนี้มีที่มาจาก เซเนกา (Seneca) นักปรัชญารุ่นเดอะสมัยกรีก-โรมัน ว่าด้วยแนวคิดทางปรัชญา ‘สโตอิก’ (Stoicism) มันคือการไม่กังวลไปกับสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างโลกภายนอก และมอบพลังงานของเราไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราปรารถนา มันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องหมกหมุ่นอยู่กับการคาดเดาในเรื่องแย่ๆ และเอาแต่หวาดกลัว ในเมื่อสิ่งดีๆ ที่เราคาดหวังอาจไม่มีวันมาถึง ในขณะเดียวกันสิ่งแย่ๆ ที่เรากังวลก็อาจไม่มีวันมาถึงเช่นกัน
เหมือนกับความสะเหล่อของเราในความคิดคนอื่นก็ไม่สามารถควบคุมได้ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องกังวลจนไม่กล้าทำอะไร เพราะเราก็คงไม่มีทางรู้อยู่ดี ยกเว้นว่าจะมีคนพูดออกมา (ถึงตอนนั้นค่อยว่ากัน แค่อย่ากังวลไปก่อน)
.
Do it for the plot ก็แค่เล่นไปตามบท
บางครั้งความสนุกของหนังที่เราดูก็มาจากการที่ตัวเอกทำเรื่องน่าอายหรือความผิดพลาดโง่ๆ แม้ว่ามันจะรู้สึกอายแทนจนต้องยิ้มแหยและเบือนหน้าหนี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าตัวเอกไม่ทำตัวสะเหล่อในตอนนั้น เรื่องราวก็คงไม่ดำเนินมาถึงจุดนี้ สุดท้ายแล้วความเป็นตัวเองของตัวเอกก็พาไปประสบพบเจอกับเรื่องราวอะไรสักอย่างอยู่ดี แล้ว ‘ตัวเรา’ ที่เป็นตัวเอกในชีวิตตัวเองจะกลัวสะเหล่อไปทำไม ถึงแม้ว่าสะเหล่อก็ไม่เป็นไร คิดซะว่าทำไปเพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปก็พอ
บางครั้งเราต้องทำอะไรโง่ๆ บ้าง จะได้มีเรื่องตลกให้เล่าได้ในภายหลัง เราไม่มีทางที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มีข้อผิดพลาด หรือปราศจากการตัดสินของคนอื่นได้เลย การให้อภัยและปล่อยให้ตัวเองได้ลองผิดลองถูกถือเป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของชีวิต อย่างน้อยก็เอาไว้เรียกเสียงหัวเราะจากคนอื่นได้
จริงๆ แล้วทุกคนล้วนมีความรู้สึกน่าอับอายกับตัวเองและคนอื่นกันทั้งนั้น ไม่แปลกเลยที่เราจะกลัวการทำตัวสะเหล่อ การรู้เท่าทันความรู้สึกนี้และไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจจะทำให้เราพบกับความสุขที่ไม่ผูกติดกับการยอมรับจากคนในสังคม เราจะเจ็บปวดน้อยลงจากการถูกปฏิเสธ เราจะอยู่เหนือสัญชาตญาณที่ติดตัวมา เราจะกล้าใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองลิขิตในแบบที่ไม่เดือดร้อนใคร (จนเกินไป) ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่อย่างน้อยมันก็มีหนทาง
ดังนั้น…ตอกย้ำ เชื่อมั่น ไว้ใจ ลงมือทำ ว่าแล้วก็ออกไปทำตัวสะเหล่อๆ กันดีกว่า \(^o^)/~
อ้างอิง
ฆนาธร ขาวสนิท. (14 ตุลาคม 2564). Stoicism เก็บทรงไม่อยู่ กังวลตลอดเวลา เมื่อจินตนาการคือหายนะของมนุษย์ผู้มีภาวะ Anxiety. เรียกใช้เมื่อ ธันวาคม 2567 จาก becommon: https://becommon.co/culture/thought-stoicism/
พัชชา พูนพิริยะ. (14 กรกฎาคม 2560). Spotlight Effect ทฤษฎีจิตวิทยาที่ทำให้เราไม่ต้องนอยด์อีกต่อไป เมื่อเกิดเรื่องน่าอาย. เรียกใช้เมื่อ ธันวาคม 2567 จาก thestandard: https://thestandard.co/opinion-double-tap-spotlight-effect/
รัน ธีรัญญ์. (12 เมษายน 2560). เข้าถึงใจผู้อื่นผ่านเซลล์สมองกระจกเงา : empathy through mirror neuron. เรียกใช้เมื่อ ธันวาคม 2567 จาก runwisdom: https://www.runwisdom.com/2017/04/empathy-through-mirror-neuron/
Worakan J. (6 ตุลาคม 2566). ทนดูไม่ไหว อายแทนจะแย่? Second-Hand Embarrassment กับเหตุผลที่เรารู้สึกอายแทนคนอื่น. เรียกใช้เมื่อ ธันวาคม 2567 จาก thematter: https://thematter.co/lifestyle/second-hand-embarrassment/214559
Chonticha.m. (19 พฤศจิกายน 2564). วิจัยเผย! การถูกปฏิเสธสามารถสร้างความเจ็บปวดเหมือนที่เกิดกับร่างกายได้. เรียกใช้เมื่อ ธันวาคม 2567 จาก Womgmai: https://today.line.me/th/v2/article/5ykW6ex
Spiegel, T. J. (2566). Cringe. Social Epistemology, 1–12. https://doi.org/10.1080/02691728.2023.2268588
Jesus, S., Costa, A., Simões, G., Dias Dos Santos, G., Alcafache, J., & Garrido, P. (2565). THAT’S SO CRINGE: Exploring the Concept of Cringe or Vicarious Embarrassment and Social Pain. European
Psychiatry, 65(S1), S669–S670. doi:10.1192/j.eurpsy.2022.1722