เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีย์
คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าหรือไร้ค่าบ้างไหม?
คุณเคยรู้สึกเจ็บช้ำจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือเปล่า?
คุณเคยมองความสำเร็จของคนอื่นแล้วถามตัวเองหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่?
หากคุณเคยรู้สึกหรือเคยถามตัวเองแบบนั้น คุณอาจเป็นเหมือนสามตัวละครหลักจาก Only murders in the building ซีรีส์คอมเมดี้ – ดราม่าสัญชาติอเมริกัน ว่าด้วยมนุษย์ต่างวัย 3 คนในอะพาร์ตเมนต์ ‘the Arconia’ ที่นอกจากจะมีจุดร่วมเดียวกันคือการชอบฟังพอดแคสต์สืบสวนเรื่องฆาตกรรมแล้ว พวกเขายังเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต จนวันหนึ่งเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นในตึก พวกเขาจึงตัดสินใจร่วมมือกันทำพอดแคสต์และสืบคดีที่เกิดขึ้น ทว่าสิ่งที่พวกเขาได้ไขไม่ใช่แค่ปริศนาของเหตุฆาตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นนิยามของคำว่า ‘สำเร็จ’ ที่ชวนให้คนดูอย่างเราได้เรียนรู้และเข้าใจว่าแท้จริงแล้วความสำเร็จคืออะไร
ตลอด 4 ซีซัน 40 ตอน ของซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากจะชวนเราดูฝีมือการตามล่าฆาตกรด้วยวิธีที่แสนจะพิสดารแล้ว มันยังพาเราไปสำรวจความว่างเปล่า ความหวัง และความเชื่อของตัวละครหลักทั้ง 3 ตัว อย่าง‘Charles Haden Savage’ แสดงโดย Steve Martin ‘Oliver Putnam’ แสดงโดย Martin Short และ ‘Mable Mora’ แสดงโดย Selena Gomez
.
ชาร์ลส์: คนไร้จุดหมายและโอกาสครั้งสุดท้ายในการใช้ชีวิต
“การอยู่คนเดียวก็ไม่ได้แย่นะ ฉันชอบอยู่คนเดียว”
สำหรับ ชาร์ลส์ เฮเดน-ซาเวจ (Charles Haden-Savage) อดีตดาราละครทีวีวัย 78 ปี ปัจจุบันเป็นเพียงลุงแก่ๆ ที่ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวและใช้ชีวิตทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ อย่างในเรื่อง เขาทำออมเล็ตใส่พริกหยวกทุกวันเหมือนที่เคยทำให้ลูกติดที่เขารักมากของแฟนเก่ากิน ก่อนจะเทมันลงถังขยะโดยไม่แตะต้องมันสักนิดเดียว เป็นสัญญาณว่าภารกิจในหนึ่งวันของเขาหมดลงแล้ว
ตัวละครนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนความว่างเปล่าของชีวิตที่มีอยู่ไปวันๆ เพราะสำหรับเขาการตื่นขึ้นมายามเช้าไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรมากนัก ไม่มีอะไรต้องทำมากไปกว่าออมเล็ต ไม่มีใครต้องดูแลและเป็นห่วง มีเพียงแค่ตัวเขาเองที่ต้องอยู่กับความเหงาและความสำเร็จในอดีตที่บางครั้งก็เป็นเหมือนดาบทิ่มแทงเขาอยู่ทุกวัน เพราะทุกครั้งที่เขาหันไปเห็นโปสเตอร์ละครที่เขาเคยเล่น เขาก็ได้แต่ย้อนนึกถึงอดีตที่เคยมีชื่อเสียง แม้จะไม่ได้ดังมาก แต่ก็ยังดีกว่าปัจจุบันที่เขาเป็นแค่ดาราตกอับ ไม่มีงาน ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีความฝันหรือเป้าหมายในชีวิต
จนวันหนึ่งชีวิตเขาก็พลิกผันไป เมื่อเขาได้รู้ว่ามีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นในตึกของเขา แม้ว่าตำรวจจะปักใจเชื่อว่าเป็นเหตุฆ่าตัวตายและไม่มีอะไรต้องสืบหาต่อ อย่างไรก็ตามไม่ว่าการตายครั้งนี้จะเป็นเหตุฆาตกรรมหรือเหตุฆ่าตัวตาย แต่สำหรับเขาแล้วมันเป็นโอกาสในการกลับมามีเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้ตื่นขึ้นมาและรู้ว่ามีสิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากออมเล็ตที่เขาไม่เคยกิน และเป็นโอกาสให้เขาได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง เขาจึงเริ่มทำพอดแคสต์เพื่อสืบหาคนร้ายตัวจริง
ท้ายที่สุดความพยายามก็มอบสิ่งพิเศษให้กับเขา เพราะหลังจากที่เขาสามารถไขคดีปริศนาได้ เขาก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง จากดาราหน้าเก่าคนหนึ่งที่เดินไปไหนมาไหนไม่มีใครรู้จักก็เริ่มกลายเป็นคนที่ถูกจับตามองอีกครั้ง แต่นั่นมันเทียบไม่ได้เลยกับความสำเร็จที่เขาได้กลับมามีเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง
.
โอลิเวอร์: คนที่ล้มกี่ครั้งก็ยังมีความหวังเสมอ
“ทำไมไม่มีใครเห็นเหมือนที่ฉันเห็น ไม่มีใครเห็นในสิ่งที่ฉันทำสักที”
โอลิเวอร์ พัตนัม (Oliver Putnam) ผู้กำกับละครเวที วัย 77 ปี อาชีพของเขากำลังอยู่ในช่วงขาลง เขาเป็นตัวละครที่สดใส ชอบแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย และดูมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ทว่าลักษณะนิสัยเหล่านั้นเป็นเพียงภาพภายนอกที่คนอื่นเห็นเท่านั้น แท้จริงแล้วเขาเป็นเพียงชายแก่ที่เก็บงำความรู้สึกผิดหวังกับชีวิตที่ไม่มีใครให้ค่าหรือชื่นชมกับสิ่งที่เขาทำได้ดี
ตัวละครนี้ทำให้เราเห็นภาพของคนบอบช้ำกับชีวิตที่พยายามแค่ไหนก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีเพียงแค่ความหวังเล็กๆ หล่อเลี้ยงให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้เท่านั้น ซึ่งความหวังนั้นคือการกลับมากำกับละครเวทีอีกครั้ง หลังจากละครเรื่องล่าสุดของเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้ไม่ว่าจะเสนอบทละครใหม่กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ไม่มีนายทุนคนไหนอยากร่วมงานกับเขาอีก
จนในที่สุดเมล็ดพันธุ์ความหวังเล็กๆ ของเขาก็เติบโตขึ้น เพราะหลังจากที่ชื่อของเขากลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังจากปิดคดีไปได้ถึงสองครั้ง เขาก็ได้รับโอกาสในการกำกับละครเวทีเรื่องใหม่อย่าง ‘Death rattle dazzle’ แม้ว่าโอกาสที่เขาตั้งตารอจะใช้เวลาเกือบสองทศวรรษกว่ามันจะตกมาอยู่ในมือเขา แต่สุดท้ายแล้วความหวังที่เขามีมาตลอดก็ไม่ทรยศเขาและสำเร็จเป็นความจริงเสียที
.
เมเบิล: คนธรรมดาที่ศรัทธาในตัวเอง
“นี่ฉันทำอะไรอยู่ อายุ 30 แล้ว ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย”
ในซีรีส์เราจะเห็น เมเบิล โมรา (Mable Mora) เป็นหญิงสาวธรรมดาวัย 30 ปี ที่ภายนอกดูเป็นคนเย็นชา ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ และดูไม่เป็นมิตรมากนัก แต่นั่นเป็นแค่เพียงเครื่องมือป้องกันตัวเองจากสังคมที่ใจร้ายกับเธอ เพราะตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นว่าคนรอบตัวของเมเบิลคอยแต่ตั้งคำถามกับเธอว่าเมื่อไหร่เธอจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับชีวิตบ้าง เธอจึงเป็นคนไม่ค่อยนิ่งๆ ไม่ค่อยเปิดใจกับใครง่ายๆ
เมเบิลที่เราได้เห็นในเรื่องจึงเป็นผู้หญิงที่สงสัยในตัวเองตลอดเวลาว่าเธอควรทำอะไรกับชีวิต เพราะแม้ว่าเธอจะทำพอดแคสต์ได้ดี แต่คนรอบข้างเธอตั้งแต่ป้าเพื่อนบ้านในตึก ไปจนถึงแม่ของเธอเองก็ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เธอทำอยู่มันคืออะไร แต่ยิ่งคนอื่นสงสัยในตัวเธอมากเท่าไหร่ เธอยิ่งเชื่อมั่นและยิ่งพิสูจน์ตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เธอทำอยู่อย่างการทำพอดแคสต์สืบหาฆาตกรคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ในช่วงเวลานี้
จนวันหนึ่งเธอได้เข้าประชุมบทกับค่ายหนังใหญ่ที่มาขอซื้อลิขสิทธิ์พอดแคสต์ของเธอและเพื่อนๆ ไปทำภาพยนตร์ แต่เมื่อเธอได้ฟังคำอธิบายตัวละครของเธอ เธอกลับรู้สึกไม่ดีมากๆ เพราะบทดังกล่าว เขียนให้เธอดูเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เธอจึงออกมาคิดทบทวนตัวเองอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มเข้าใจว่าแท้จริงแล้วมันไม่สำคัญเลยว่าคนอื่นจะมองเธอยังไงหรือว่าบทภาพยนตร์จะสะท้อนตัวตนของเธอออกมาแย่แค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วเธอยังเชื่อว่าตัวเองมีค่ามากกว่าที่คนอื่นมอง อีกทั้งยังมีค่ามากพอจะทำให้เธอเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์จากค่ายหนังเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งท้ายที่สุดค่ายหนังก็ตกลงรับข้อเสนอ และนั่นก็ยิ่งพิสูจน์ว่าเธอประสบความสำเร็จได้ตราบใดที่เธอเชื่อมั่นต่อตัวเองและต่อสิ่งที่ทำมาตลอด
.
ไม่ว่าจะสำเร็จช้าหรือเร็ว มันก็ล้วนเป็นความสำเร็จทั้งนั้น
สำหรับผู้เขียนตัวละครทั้งสามเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตจริงของมนุษย์ที่ต้องอยู่ภายใต้เส้นมาตรฐานของสังคมที่กำหนดให้เราต้องดิ้นรน แข่งขัน และทะเยอทะยาน เพื่อความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยหรือประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
ทั้งที่จริงแล้วคนเราต่างก็ต้องลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานกันทั้งนั้น อย่างชาร์ลส์ ที่รู้สึกว่างเปล่ากับชีวิต แต่เขาก็ลุกขึ้นมามีเป้าหมายอีกครั้ง หรืออย่างโอลิเวอร์ที่เจอความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังคงมีความหวังเสมอ หรือแม้กระทั่งเป็นคนธรรมดาที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักที แต่ยังคงมีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเมเบิล
เพราะท้ายที่สุดความสำเร็จแบบคนอื่นๆ หรือแบบที่สังคมเชื่อว่ามันคือความสำเร็จ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการมีชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีความหวัง และความเชื่อ ที่แม้ว่ามันอาจจะใช้เวลานานหรืออาจจะตามหลังคนอื่นๆ ไปหลายก้าว แต่สักวันหนึ่งจังหวะชีวิตและเวลาที่เหมาะสมอาจจะตอบแทนคุณด้วยความสำเร็จในแบบที่คุณนิยามด้วยตัวเอง