SocialWritings

ถ้าอวัยวะไม่ได้ตัดสินว่าเราปกติ

         บนวีลแชร์ไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชีวิตของวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง เช่นเดียวกันกับมือที่คอยคลำทาง เพื่อไม่ให้ตนเองกระแทกเข้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น การเดินไม่ได้ หรือความมืดมิด ไม่ได้ทำให้รอยยิ้ม และความสุขของการเป็นวัยรุ่นของพวกเขาหายไปเลย

         และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

ถ้าไม่ดิ้นรนด้วยตัวเอง ก็คงไม่มีวันที่เป็นของเรา

       บ่ายวันศุกร์ที่แสนธรรมดา ชัย แซ่ม้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแต่กำเนิด เธอเคลื่อนวีลแชร์ไฟฟ้ามายังจุดนัดหมายของเรา บริเวณหน้าห้องศูนย์บริการนักศึกษาพิการภายในมธ.ศูนย์รังสิต เราเริ่มคุยกันถึงตอนที่เธอยังเป็นเด็กนักเรียน เธอเรียนโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับผู้พิการมาก่อน จนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมศึกษาจึงเริ่มเรียนรวมกับเพื่อนคนอื่น ณ ตอนนั้นเพื่อน ๆ เข้าใจเธอเป็นอย่างดี เพราะเธอคือนักเรียนผู้พิการเพียงคนเดียว ทำให้เพื่อนคอยดูแลและช่วยเหลือเธอมาตลอด

         พอเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย ชัยบอกกับเราว่าเธอต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะไม่เคยต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนมากขนาดนี้มาก่อน และเพื่อนในมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถเรียนหรือใช้ชีวิตด้วยกันตลอดเวลาได้เหมือนกับเพื่อนมัธยม ทำให้เธอต้องปรับตัวให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

         “เข้าห้องน้ำยังไง”

         “อาบน้ำเองได้ไหม”

         “ขอทราบหน่อยว่าผู้พิการมีประจำเดือนไหม”

         ข้อความเหล่านี้คือคำถามที่ชัยต้องเจอ เมื่อเธอเข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เธอกลับยิ้มให้ และบอกว่าเธอเข้าใจว่าบางคนอาจไม่เคยใช้ชีวิตร่วมกับผู้พิการก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมา ซึ่งสำหรับเธอแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกเสียด้วยซ้ำ ส่วนเพื่อนสนิทในกลุ่มของน้องชัย เธอมีทั้งเพื่อนที่เป็นนักศึกษาผู้พิการ และนักศึกษาปกติ ซึ่งก็เหมือนกับนักศึกษาทั่วไปที่มีเพื่อนสนิทก็จะคอยจับกลุ่มกัน เรียนในวิชาเดียวกัน คลาสเรียนเดียวกัน        เมื่อถามว่าการมีห้องศูนย์บริการนักศึกษาผู้พิการนั้นดีหรือไม่ดี รู้สึกว่าถูกแบ่งแยกออกมาบ้างไหม เธอตอบกลับมาว่า แม้ว่าห้องศูนย์บริการนักศึกษาพิการจะเป็นสังคมของนักศึกษาผู้พิการ แต่เธอก็ยังสามารถมีเพื่อนที่เป็นนักศึกษาปกติได้ อยู่ที่ว่าจะเปิดใจรับและเข้าใจกันได้มากแค่ไหนมากกว่า         “ถ้าไม่มาเรียน อาจารย์ก็เช็กขาด อาจารย์ไม่ให้สิทธิพิเศษกับเราอยู่แล้ว ในความคิดเราถ้าเขาให้สิทธิพิเศษขนาดนั้นเราจะมาเรียนทำไม” ชัยบอกว่าอาจารย์ไม่เคยมองว่าเธอพิเศษกว่าเพื่อน เธอได้ทำทุก ๆ อย่างเหมือนคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะการเรียนหรือการสอบ นอกจากนี้เธอยังร่วมกิจกรรมชมรมรวมถึงไปออกค่ายอาสา ส่วนนอกเวลาเรียนเธอก็มักจะไปทานข้าว หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อนในวันหยุดบ้างตามประสาวัยรุ่นทั่วไป

         คำถามที่ทำให้ผมได้รับฟังเรื่องของชัยมากขึ้นคือฐานะทางบ้านมีผลกับการศึกษาของผู้พิการไหม เธอบอกว่า แม้ว่าผู้พิการจะได้รับทุนค่าศึกษาเล่าเรียนฟรีจนจบระดับปริญญาตรี แต่ก็ยังมีภาระค่าหอพักที่ต้องอยู่หอพักที่มีลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งก็จะราคาสูงขึ้น แต่เธอไม่ได้ขอเงินจากที่บ้านมานานแล้ว ก่อนที่เธอจะเล่าว่าเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากบนดอย ส่วนความพิการตั้งแต่กำเนิดก็เกิดจากการที่แม่ของเธอตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และทำคลอดด้วยฝีมือคุณยายที่เป็นหมอตำแย เธอเติบโตมากับคุณตา คุณยาย ในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีแม้แต่ถนนจากตัวอำเภอเข้าไปยังหมู่บ้าน รวมทั้งไฟฟ้าก็ยังเข้าไม่ถึง “จริง ๆ เพิ่งได้สัญชาติไทยตอนอายุ 15 ค่ะ ก่อนหน้านี้เป็นสัญชาติมอญ ขอย้ายสัญชาติตั้งแต่ 2 ขวบ แต่เพิ่งได้”

         “คุณตาคุณยายคิดว่าเขาต้องเสียชีวิตก่อนแน่ ๆ เพราะเขาคิดว่าตัวเองอายุมากแล้ว เขาพยายามที่จะให้ชัยมีความรู้ และพยายามให้อยู่ด้วยตัวคนเดียวให้ได้ เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ลำบาก” นี่คือเหตุผลที่ทำให้คุณตาของเธอพยายามหาโรงเรียนที่รับผู้พิการ จนทำให้เธอได้เรียนในโรงเรียนเฉพาะทางจนจบชั้น ป.6 และเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตามที่ได้เล่ามา ก่อนที่เธอจะตัดสินใจมาสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีด้วยตัวเอง

         “ตอนนั้นชัยมาคนเดียว เพราะคิดว่าถ้ารอให้ทุกคนพาไป เราไม่มีโอกาสนั้นแน่นอน เราไม่มีทางรู้เลยว่าถ้ารอผู้ปกครองพาไปสมัครเรียนที่นู่นที่นี่ แล้วเขาพาไปไม่ได้ คุณตาคุณยายก็อายุมากแล้ว ถ้าไม่ดิ้นรนเอง เราก็ไม่รู้เลยว่าสามารถทำได้มั้ย สามารถมีวันนั้นของเราจริง ๆ หรือเปล่า”

เมื่อครอบครัวคือแรงผลักดัน ที่ทำให้กล้าใช้ชีวิต

         ครอบครัวคือแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับผู้พิการ ไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม เช่นเดียวกับ นิว-กฤติมา ลอย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ผู้พิการทางด้านการมองเห็นที่มีครอบครัวเป็นแรงสนับสนุน และผลักดันให้เธอได้มีโอกาสใช้ชีวิตในแบบที่เธอมีความสุข

         นิวเล่าว่า ย้อนกลับไปตอนเธอเป็นนักเรียน เธอเรียนร่วมกับเพื่อนปกติมาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ซึ่งเธอเขียนหนังสือไม่ได้ และงานเก็บคะแนนส่วนใหญ่ก็เป็นงานเขียน ทำให้เธอส่งงานได้ช้ากว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งบางครั้งเธอก็ถูกลืม เนื่องจากพวกเขาไม่ชินกับการอยู่ร่วมกับผู้พิการ ทำให้บางทีเธอก็หลุดออกจากวงสนทนาไปบ้าง

         “ด้วยความที่หนูส่งงานอาจารย์ช้าด้วย แล้วหนูก็เขียนหนังสือไม่ได้ อาจารย์ก็เลยแนะนำว่าจริง ๆ หนูควรจะไปเรียนสายอาชีพมากกว่าไหม ถ้าเรียนไม่ไหว ก็เลยแบบรู้สึกไม่ค่อยโอเคว่าหนูแค่เขียนหนังสือไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าหนูไม่ได้ตั้งใจเรียน” เธอเล่า

         แต่การเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยก็ทำให้เธอได้เจอเพื่อนที่โตขึ้น เข้าใจเธอมากขึ้น ทำให้เธอได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ มากกว่าเดิม และเธอเองก็อยู่ในจุดที่ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือมากเท่าเดิมแล้ว เพราะงานที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ส่วนใหญ่ก็สามารถพิมพ์ได้ ทำให้เธอสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

         แม้เธอจะมีเพื่อนที่เป็นนักศึกษาปกติอยู่บ้าง แต่กลุ่มเพื่อนสนิทของเธอก็ยังคงเป็นนักศึกษาผู้พิการเช่นกัน เธอให้เหตุผลว่า เพราะเรียนโรงเรียนเฉพาะทางมาเหมือนกัน เคยเจอ เคยผ่านอะไรมาคล้ายกัน รวมทั้งนิวยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยกลมกลืนกับกลุ่มเพื่อนปกติ ทำให้เวลาเข้าสังคมร่วมกับคนมาก ๆ เธอจะรู้สึกถึงเส้นบาง ๆ ที่กั้นอยู่

         “ด้วยความที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหนกับเพื่อนปกติด้วย ไลฟ์สไตล์ชีวิตมันไม่เหมือนกัน” นิวพูดยิ้ม ๆ ก่อนจะเล่าว่าเธอได้ไปเที่ยวข้างนอกกับกลุ่มเพื่อนบ้างเหมือนกัน แต่ก็จะเป็นในกลุ่มนักศึกษาผู้พิการทางการมองเห็นด้วยกัน ซึ่งบางครั้งก็หลงทางบ้าง แต่เธอมองว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกไปอีกแบบหนึ่ง

         แม้ว่าในการเรียนการสอนบางครั้งเธอจะพบปัญหาว่าไฟล์เอกสารประกอบการเรียนไม่รองรับกับโปรแกรมช่วยเหลือผู้พิการ แต่ก็ยังมีบุคลากรที่ศูนย์บริการนักศึกษาพิการคอยดูแลให้ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังต้องเจอปัญหาในเวลาเรียน เนื่องจากการใช้โปรแกรมช่วยเหลือผู้พิการในการอ่านเอกสาร ทำให้เธอต้องเลือกว่าจะฟังอาจารย์อธิบาย หรือฟังเสียงจากโปรแกรมอ่านเอกสาร

         “เราจะอ่านแบบสไลด์พร้อมเพื่อนไม่ได้ เพราะเราต้องฟังอาจารย์บรรยาย อย่างเพื่อนตาดูสไลด์ แล้วหูก็ฟังอาจารย์ก็ได้ แต่ถ้าสมมติเราจะดูสไลด์ในโทรศัพท์เราก็ต้องฟัง แล้วก็จะไม่ได้ยินอาจารย์ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” นิวอธิบาย

         ยังดีที่เธอได้เรียนกับอาจารย์ที่เข้าใจข้อจำกัดนี้ และมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้เธอรู้สึกโอเคที่สุดกับการเรียนการสอน และสามารถเข้าใจบทเรียนได้มากที่สุด

         แม้เธอจะเห็นด้วยว่าฐานะทางครอบครัวที่ดี จะมีผลอย่างมากในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของผู้พิการ แต่สำหรับเธอเอง เธอกลับรู้สึกว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเธอเท่าไรนัก เพราะเธอเชื่อว่าครอบครัวของเธอเลี้ยงดูและสั่งสอนเธอมาอย่างดีที่สุดแล้ว

         นิวเล่าให้ผมฟังว่าตอนแรก ๆ ครอบครัวก็ไม่กล้าปล่อยให้เธอได้ลองใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับเธอ และนั่นทำให้ครอบครัวของเธอต้องพูดคุยกันอยู่นานพอสมควร ก่อนจะเริ่มให้เธอลองเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

         อีกหนึ่งกิจกรรมที่เธอชอบทำคือการไปดูคอนเสิร์ต นิวบอกกับผมว่าการไปดูคอนเสิร์ตทำให้เธอมีพลังใจกลับมา ซึ่งปกติเธอจะไปดูคอนเสิร์ตอยู่บ่อย ๆ แต่ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้เธอยังไม่มีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตเลย นิวมีวงดนตรีที่ประทับใจคือวง Cocktail เพราะเธอเคยไปร่วมงาน Meet&Greet กับศิลปินกลุ่มนี้ และได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากศิลปิน ทำให้เธอประทับใจ การไปดูคอนเสิร์ตของนิวทุกครั้งก็จะเป็นการไปกับสมาชิกในครอบครัว แต่เธอก็รู้สึกว่าอยากลองไปด้วยตัวเองดูสักครั้ง

         “จริง ๆ ชอบไปดูคอนเสิร์ตค่ะ ก็จะแบบเก็บเงินไว้ เพื่อไปดูคอนเสิร์ตเลยส่วนนึง แต่ว่ายังไม่เคยลองไปเองเลย คิดว่าจะลองไปดูด้วยตัวเองเหมือนกัน”

การเปิดใจ ไม่ด่วนตัดสิน คือสิ่งที่เขาต้องการ

         “ผมว่าคนพิการอะ ถ้าพิการมาตั้งแต่กำเนิด ตั้งแต่เด็ก ๆ โดนล้อ…100% โดนล้ออยู่แล้ว”

         ไอซ์-จารุวัฒน์ เลไธสง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวตั้งแต่กำเนิด เล่าให้ฟังในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ถึงความรู้สึกและสิ่งที่เขาต้องเจอในตอนเป็นนักเรียน เขาเรียนร่วมกับเพื่อนที่เป็นเด็กปกติมาตลอด และสิ่งที่เขาต้องเผชิญคือการถูกล้อเลียนในสิ่งที่เพื่อนมองว่าผิดปกติ

         “ตอนแรกเราก็แอนตี้กับโรงเรียนอยู่หลายปีนะ อย่างช่วงอนุบาลอะ เราไม่มีความสุขเลย” ไอซ์เล่า

         เขาเริ่มปรับตัว และมีความสุขกับชีวิตนักเรียนได้ก็ตอนขึ้นชั้นประถมศึกษาแล้ว เรียนได้อยู่ 1-2 ปี ไอซ์ก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อพ่อแม่ของเขาต้องย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อนใหม่ โรงเรียน สังคมใหม่ ๆ ทำให้เขาต้องปรับตัวอีก เขาบอกว่าการล้อเลียนเรื่องความพิการเป็นสิ่งที่ต้องเจอมาตลอดในช่วงเรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือเขาเริ่มแข็งแรงขึ้น เข้าใจเรื่องแบบนี้มากขึ้น

         ไอซ์เล่าว่าตั้งแต่ชั้นอนุบาลเขามีเพื่อนผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่มาตลอด เขามองว่าอาจเป็นเพราะความเห็นอกเห็นใจที่มีในกลุ่มเพื่อนผู้หญิงมากกว่า และการทำกิจกรรมส่วนใหญ่ของเพื่อนผู้ชายจะเป็นกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย และต้องออกแรง ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าเข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่มากนัก

         จนกระทั่งเข้ามาใช้ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ไอซ์บอกว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทำให้เขาได้เจอกับนักศึกษาที่เป็นผู้พิการมากขึ้นและหลากหลายขึ้น กลุ่มเพื่อนก็จะมีทั้งเพื่อนจากคณะเดียวกัน ทั้งนักศึกษาผู้พิการและนักศึกษาปกติ แต่กลุ่มเพื่อนสนิทของเขาคือกลุ่มเพื่อนผู้พิการที่ได้ทำความรู้จักกันจากโครงการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ เหมือนกับคนที่รู้จักกันมาก่อนก็จะสนิทกันมากกว่า

         ส่วนการจับกลุ่มของนักศึกษาผู้พิการ แม้จะมีคนที่ตั้งแง่ว่าผู้พิการชอบเกาะกลุ่มกัน หรืออยากให้ผู้พิการแยก ๆ กันบ้าง เขากลับมองว่าการรวมกลุ่มของผู้พิการไม่ได้ต่างจากกลุ่มเพื่อนสนิทของคนปกติทั่วไปแต่อย่างใด

         “มันก็เหมือนคนทั่วไปที่…ถ้าคุณสนิทกับใครคุณก็อยากอยู่กับคนนั้น ผมมีโอกาสที่จะสนิทกับเค้าหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนกลุ่มนี้มากกว่า ผมสนิท ผมก็เลยอยู่กับเค้ามาก มันก็เหมือนคนทั่วไปที่สนิทกัน”

         ไอซ์เล่าว่ากลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัยของเขาจะเข้าใจ พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งที่เขาทำได้ไม่ถนัดนัก ในขณะที่การเข้าสังคมใหม่ ๆ เขาอาจจะต้องยืนยันกับคนรอบ ๆ ตัว เช่น คุณครู เพื่อนว่าเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเข้าสังคมของผู้พิการ แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็ต้องเผชิญกับบางคนที่ไม่เข้าใจ และมองว่าความพิการนั้นเกิดจากเคราะห์กรรม

         “แบบว่าคนแปลกหน้าเลยนะ เดินผ่านเราแล้วมาตัดสินแบบ…ดูสิ เป็นแบบนี้ เออ มันทำกรรมมาเยอะเนี่ย โห…ชาติที่แล้วเนี่ย แย่มากเลย ทำกรรมมาเยอะล่ะสิ ถึงได้เป็นแบบนี้ บางคนมาด่าแม่เราเลย เนี่ย…แม่มึง ทำแท้งเหรอ อะไรแบบนี้”

         เช่นเดียวกับอาจารย์บางท่านที่เคยตัดสินเขาไปก่อน เขาเล่าว่าเคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เมื่อเห็นว่าเขาเป็นผู้พิการก็เข้ามาตักเตือนว่าต้องพยายามมากขึ้นนะ หรือต้องขยันนะ จะเป็นคนขี้เกียจไม่ได้ ซึ่งเขารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องที่จะเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาตัดสินผู้พิการทั้งหมด หรือพยายามแสดงความเป็นห่วงจนมากเกินไป แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไอซ์บอกว่าส่วนใหญ่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะเข้าใจกับการเป็นผู้พิการของเขา

         ในแง่มุมของนักกิจกรรม เขาเคยเป็นประธานชมรมเพื่อนโดมสัมพันธ์ เมื่อปี 2562 ซึ่งชมรมนี้คือชมรมประเภทบำเพ็ญประโยชน์ โดยเน้นการทำกิจกรรมที่เปิดให้นักศึกษาผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แม้ว่าจะมีสายตาของสมาชิกใหม่ที่มองเขาด้วยความสงสัย หรือมองด้วยสายตาแปลก ๆ แต่ไอซ์ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่สมาชิกใหม่เหล่านั้นจะได้เรียนรู้ และเข้าใจผู้พิการมากขึ้น

         “อย่างน้อยเค้าเปิดใจ…เราก็เชื่อว่ามันไม่ผิด สำหรับคนที่ไม่รู้นะ” เขาเสริมขึ้น

         เรื่องฐานะทางครอบครัว ไอซ์บอกว่า เขาไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะทางบ้านที่ดีเท่าไรนัก สิ่งนี้ทำให้เขาได้เห็นว่าฐานะทางครอบครัวทำให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าได้ การเข้าถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมยังอธิบายต่อว่ามุมมองของผู้พิการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ต่างกัน หรือโรงเรียนสำหรับผู้พิการแม้จะเป็นมูลนิธิเดียวกันก็ยังมีมุมมองที่ต่างกันออกไป

         “ทำไมการศึกษาเรามันต้องขึ้นอยู่กับเรื่องของเศรษฐกิจ หรือทุนทรัพย์ของแต่ละคนอะ มันควรจะเป็นเรื่องที่ว่าคุณจะเรียนที่ไหนก็ได้ อาจจะอุดมคตินิดนึงนะ แต่ว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นไหม”

         เขาพูดต่อว่า ผู้พิการบางคนอาจจะไม่มีโอกาสคิดถึงการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย การทำงานในอาชีพที่ฝันได้อย่างที่พวกเขาตั้งใจ เพียงเพราะขาดทุนทรัพย์

         “พวกเขาอาจจะมองว่า เออ…ออกไปขายลอตเตอรี่ได้เงินเท่าไหร่ เหลือใช้เท่าไหร่ อะไรแค่นั้นพอ ความฝันของคนที่ขาดทุนทรัพย์ ขาดโอกาส มันก็ไม่เท่ากันแล้ว…แค่ความฝัน”

การได้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา

       ถึงแม้ว่าเรื่องราวของพวกเขาจะมาจากต่างที่มา แต่เมื่อพูดถึงการเป็นนักศึกษาผู้พิการ แล้วมีปัญหาอะไรบ้างในรั้วมหาวิทยาลัยที่พวกเขาต้องเจอ?

         “ทุกที่มีทางลาดจริง แต่ใช้ไม่ได้สักที่ ทุกที่มีลิฟต์จริง แต่ลิฟต์ไม่ได้ดีทุกที่ ทุกที่มีเบรลล์บล็อกจริง แต่เบรลล์บล็อกไม่ได้คุณภาพ เขาบอกว่าเขามีทุกอย่างให้คนพิการ แต่เขาไม่ได้เป็นคนพิการที่มาใช้พื้นที่นั้นเอง เขาไม่เข้าใจว่าพื้นที่นั้นยังไม่เหมาะกับคนพิการ”

         นี่คือเสียงสะท้อนของชัยต่อสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เธอยังเสริมอีกว่าอาคารเรียนใหม่ ๆ บางอาคาร เช่น กิตติยาคาร ยังหาทางสำหรับรถเข็นวีลแชร์ได้ยาก แม้ว่าเธอจะเข้าใจว่าปัญหานี้กับตึกที่มีอยู่เดิมอาจจะแก้ไขได้ยาก แต่หากเป็นอาคารที่สร้างใหม่ก็ควรคำนึงถึงการใช้งานของผู้พิการด้วย

         “บางทีก็คิดว่ายังมีเราอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้รึเปล่า” ชัยตอบ

         เช่นเดียวกับไอซ์ที่เล่าว่า ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างวีลแชร์ หรือการเดินทางในมหาวิทยาลัยจะไม่ได้เป็นปัญหากับการใช้ชีวิตของเขา แต่จากประสบการณ์ 4 ปีของเขา ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือการออกแบบตึกเรียนที่ยังไม่ได้มาตรฐานสำหรับผู้พิการ ซึ่งไอซ์มองว่านี่คือปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาแล้วในมหาวิทยาลัย

         “อย่าง SC3 (อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3) ตึกใหม่ใช่ไหม ยังไม่ได้มาตรฐานเรื่องทางลงทางลาดอะไรต่าง ๆ แต่ว่ามันเป็นตึกใหม่อะ ที่คนพิการอยู่เต็มมหาวิทยาลัย แต่เขากลับมองไม่เห็น กลับมองเห็นเป็นภาพความสวยงามของการออกแบบมากกว่าความจำเป็นที่คนจะเข้าไปใช้ได้จริง”

         สำหรับนิวปัญหาที่เธอเจอคือ การออกแบบผังอาคารที่ทำให้ผู้พิการทางการมองเห็นอย่างเธอหาห้องเรียนไม่เจอ ซึ่งตัวอย่างที่เธอยกขึ้นมาคือ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC) ที่เธอหลงทางบ่อย ๆ ช่วงแรกที่เข้ามา และต้องใช้เวลาจดจำตำแหน่งของห้อง เพื่อจะได้เดินทางได้ถูก

ผู้พิการก็มีอนาคตที่วาดไว้ ไม่ต่างไปจากคนอื่น

       สำหรับชัยเหตุผลที่เธอเลือกเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพราะเธอคิดว่าเธอถนัดวิชาคณิตศาสตร์ และการทำงานบัญชีน่าจะเป็นตำแหน่งที่เธอสามารถทำงานได้สะดวก ก่อนจะตอบอย่างมั่นใจว่าอย่างไรเสียเรียนจบมาเธอจะต้องมีงานทำแน่นอน เธอเพียงอยากมีหน้าที่การงานที่มั่นคง และกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของเธอ

        “อยากให้เขาเห็นว่า จริง ๆ แล้วคนพิการยังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้มากกว่าสิ่งที่เขามอง เพราะว่ายิ่งเป็นชนเผ่า ยิ่งเป็นแบบนี้ คนพิการจะไม่มีค่าในสายตาคนใดเลย เพราะว่าไปไหนไม่ได้นอกจากอยู่ในบ้าน ทุกคนจะมองว่าคนพิการไม่มีค่าเลย แต่ว่าน้องชัยอยากให้เขารู้ว่าคนพิการเรียนสูง เรียนจบได้เหมือนกัน”

         ส่วนไอซ์ ณ ตอนนี้เขาได้รับโอกาสในการทำงานเกี่ยวกับผู้พิการกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเขามองว่าจนถึงหนึ่งปีข้างหน้าเขาก็จะยังคงทำงานที่นั่นต่อ ก่อนจะเริ่มทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตามที่ได้เรียนมา แม้ว่าจะยังไม่ได้วางแผนว่าจะไปในสายงานด้านใดต่อ แต่เขาก็คิดว่าการทำงานในเรื่องของผู้พิการน่าจะเป็นทางที่เขามีความเข้าใจมากที่สุด พร้อมบอกว่า “เรารู้สึกว่าเราไปได้สุดกับเรื่องนี้ แต่ว่าส่วนตัวคืออยากเป็นนักสังคม (สงเคราะห์) นี่แหละ”

         “อยากทำงานแล้วก็แบบเลี้ยงดูพ่อแม่ได้เหมือนที่เขาทำที่เลี้ยงดูเราอย่างดีมาตลอด”

         นี่คือสิ่งที่นิววาดหวังเอาไว้ในอนาคตของเธอ เธออยากสอบใบประกอบวิชาชีพของนักสังคมสงเคราะห์ โดยที่เธอบอกว่าหากเธอไม่สามารถทำได้จริง ๆ เธอก็พร้อมที่จะทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตามที่เธอได้เรียนมา ก่อนจะบอกผมว่า “หรือไม่ก็ด้านอื่น ๆ ก็ได้ค่ะ หนูชอบทำงาน…การจบออกไปมีงานทำเลี้ยงดูครอบครัวได้ก็คือเป้าหมายของชีวิตเราแล้วค่ะ ไม่ได้หวังอะไรสูงไปกว่านั้น”

การศึกษาของผู้พิการที่ยังต้องก้าวต่อไป

       สำหรับชัย เธอมองว่าการศึกษาสำหรับผู้พิการยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกลมาก เพราะผู้พิการก็สามารถเรียนได้ดีไม่ต่างจากนักศึกษาปกติเลย และเธอต้องการให้คนเข้าใจว่าผู้พิการไม่ใช่เพียงแค่เรียนแล้วจบไป แต่ก็เป็นหนึ่งในทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญ และสามารถต่อยอดได้เช่นกัน

         ส่วนมุมมองของไอซ์ เขาคิดว่าก้าวแรกที่ต้องเริ่มคือ การมีอิสระในการเลือกเรียน ให้ผู้พิการสามารถเรียนได้ในแบบที่ตนเองต้องการจะเรียนจริง ๆ แล้วก้าวที่ไกลขึ้นของการศึกษากับผู้พิการก็คือ การเปิดกว้างทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะในพื้นที่ใด ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี และบุคลากรในการศึกษา เช่น ล่ามภาษามือ หรือการเข้าถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด

         เช่นเดียวกับนิว ที่เธอมองว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการศึกษาให้กับผู้พิการ คือก้าวที่สำคัญในการพัฒนาให้คุณภาพของการศึกษาของผู้พิการดียิ่งขึ้น

         มีหนึ่งสิ่งที่พวกเขาทั้งสามได้เรียนรู้เหมือน ๆ กันจากการได้มาใช้ชีวิตนักศึกษา และอยู่ร่วมกับคนที่หลากหลายในสังคม นั่นคือการอยู่ในสังคมนี้โดยที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง และเข้าใจสภาพสังคมปัจจุบันที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมนั้นได้มากขึ้น

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

8 Comments

  1. Your article helped me a lot, is there any more related content? Thanks!

  2. [url=https://azithromycinhq.com/]buy zithromax no prescription[/url]

  3. [url=https://asynthroid.com/]generic synthroid 200 mcg[/url]

  4. Can you be more specific about the content of your article? After reading it, I still have some doubts. Hope you can help me.

  5. Your article helped me a lot, is there any more related content? Thanks!

  6. [url=http://isynthroid.com/]synthroid 250 mg[/url]

  7. Your article helped me a lot, is there any more related content? Thanks!

  8. [url=http://azithromycinmds.online/]can you buy azithromycin online[/url]

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save