เรื่อง: วีริสา ลีวัฒนกิจ และ พรรณรมณ ศรีแก้ว
อดีตผู้ปราศรัย “ม็อบ10สิงหา” ชี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ มีมูลเหตุเพื่อล้มล้างการปกครอง จะยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงในเวทีสาธารณะมากขึ้น
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 10 พ.ย. 2564 ให้การชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” หรือ “ม็อบ10สิงหา” ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการปราศรัยถึง 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และอานนท์ นำภา ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 โดยสั่งให้ 3 ผู้ถูกร้องและกลุ่มองค์กรเลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งในคำวินิจฉัยมีส่วนหนึ่งระบุว่า “อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด” นั้น
ณฐนภ ศรัทธาธรรม พนักงานของหน่วยงานภาคประชาสังคมแห่งหนึ่ง อดีตนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. และหนึ่งในผู้ร่วมปราศรัยใน “ม็อบ10สิงหา” กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนมากขึ้นในการชุมนุมสาธารณะ เพราะคำวินิจฉัยสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทยอาจจะผิดหลักการสากล รวมถึงมีการพยายามใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจน
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันถูกประชาชนตั้งคำถามว่า เป็นคุณหรือโทษกับประชาชนขนาดไหน และเป็นคุณหรือโทษกับฝั่งผู้มีอำนาจขนาดไหน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นศาลที่มีบทบาททางการเมืองสูงทั้งที่มาและการใช้อำนาจ” ณฐนภกล่าวและว่า นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจทำให้มีการฟ้องปิดปากหรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP) มากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งอาจมีผลกระทบถึงการสั่งฟ้องและรูปแบบของการตัดสินคดีที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น คดีที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาหรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลยังมีลักษณะที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตคือการสั่งห้ามไปถึงในอนาคต ซึ่งสามารถตีความได้ในหลายแง่มุม
เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มธ. และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อลองวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาดูแล้ว เหมือนเป็นสัญญาณทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ต้องการให้มีการหยุดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งหากจะมีการชุมนุมครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และอาจมีความรุนแรงที่มากขึ้นตามมาได้
เกียรติชัยกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชัดเจนและตีความกว้าง ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าต่อไปจะสามารถพูดถึงข้อเรียกร้องอะไรได้บ้าง ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คืออาจจะไม่สามารถปราศรัยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อีก อาจทำให้การเรียกร้องในการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 มีความยากลำบากมากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้อีกเลยก็เป็นได้ และอาจมีการนำกฎหมายมาตรา 113 ข้อหากบฏมาบังคับใช้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ปกรณ์ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) และรองโฆษกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า อมธ. สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาและประชาชนอย่างเต็มที่ โดย อมธ. มีหน้าที่และพันธกิจในฐานะตัวแทนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยสามารถช่วยประสานงานอาจารย์ ทนายหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ หากมีกรณีที่นักศึกษาถูกดำเนินคดีหรือได้รับบาดเจ็บ